คุณภาพการศึกษาเด็กไทยต่ำจนน่าห่วง ‘จาตุรนต์’สั่งเร่งเพิ่มคะแนนสู้กับอาเซียน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 9982 ครั้ง

ประเมินจากผลการสอบ PISA หลายปียังไม่พัฒนา เกรงสู้ เวียดนาม มาเลเซียไม่ได้ แม้นักการศึกษาจะระบุพบสาเหตุตรงกันไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงของเด็กเมืองกับชนบท กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ได้ ล่าสุด รมว.ศธ.สั่งเร่งบูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาคุณภาพด้านการศึกษา 4 ประเด็นหลักพร้อมอีก 8 ประเด็นเสริม ยกเป็นวาระแห่งชาติหวังแก้ปัญหาเรื้อรังการศึกษาไทย

ความพยายามในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย ยังเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่พยายามผลักดันให้เด็กไทย มีการศึกษาในระดับที่เท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในภาคการศึกษาของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันในรูปแบบของประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้

สถิติเด็กไทยได้เรียนมากขึ้น แต่คุณภาพต่ำ

สำหรับนโยบายของรัฐบาลการเปลี่ยนแปลงในระดับผู้บริหาร ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเดินหน้าพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่สามารถเคลื่อนไปได้ตามจุดประสงค์ เพราะแม้ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 11 ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2555-2558) ด้านการศึกษาคือ “การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน” ที่มีเป้าหมายให้จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 12 ปี และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ประมาณจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยล่าสุด พบว่า แม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 7.2 ปี ในปี 2545 เป็น 8.0 ปี ในปี 2553 แต่ “คุณภาพการศึกษา” ของนักเรียนไทยกลับยังไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

จากผลการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เมื่อวันที่ 5-6มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำคะแนนไปใช้ประกอบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบรับตรง  เป็นข้อมูลหนึ่ง ที่ทำให้เห็นข้อเท็จจริงด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่ง โดยปรากฎว่านักเรียนไทยมีคะแนนตามรายวิชา ดังนี้

วิชาภาษาไทย คะแนนเต็ม 100 ได้เฉลี่ย 50.43 คะแนน

วิชาสังคมศึกษา คะแนนเต็ม 100 ได้เฉลี่ย 29.18 คะแนน

วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเต็ม 100 ได้เฉลี่ย 30.01 คะแนน

วิชาคณิตศาสตร์ คะแนนเต็ม 100 ได้เฉลี่ย 20.95 คะแนน

วิชาฟิสิกส์ คะแนนเต็ม 100 ได้เฉลี่ย 29.84 คะแนน

วิชาเคมี คะแนนเต็ม 100 ได้เฉลี่ย 25.38 คะแนน

วิชาชีววิทยา คะแนนเต็ม 100 ได้เฉลี่่ย 30.40 คะแนน

จากผลคะแนนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีเพียงวิชาภาษาไทยเท่านั้น ที่เด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยเกินกว่าครึ่งของคะแนนเต็ม (50.43 คะแนน) ขณะที่วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด คือ 20.95 คะแนน ซึ่ง  สะท้อนคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้หากพิจารณาคะแนนต่ำสุดและคะแนนสูงสุดเป็นรายวิชาจะพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่ปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่คุณภาพการศึกษาของเด็กไทย โดยเฉพาะในวิชาหลัก ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมีความห่วงใยอย่างมาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ที่ควรจะต้องหันกลับมาทบทวนหลักสูตร วิธีการสอน รวมถึงคุณภาพของครูผู้สอนด้วย เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีศักยภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยูนิเซฟเผยข้อมูลการศึกษาไทยยังน่าห่วง

นอกจากนี้จากรวบรวมข้อมูลด้านการศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ระบุข้อมูลด้านสถิติการศึกษาที่น่าสนใจไว้ดังนี้

• ถึงแม้ว่าสมองของเด็กจะมีการพัฒนาที่รวดเร็วในช่วงห้าปีแรกของชีวิต แต่มีเด็กเพียงร้อยละ 75 ในประเทศไทยเท่านั้น ที่ได้รับบริการจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบใดแบบหนึ่งในระหว่างปี 2548 และ 2549

• เด็กวัยประถมศึกษา (อายุ 6 ถึง 11 ปี) จำนวนประมาณ 600,000 คน ไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือเข้าเรียนล่าช้ากว่าเกณฑ์อายุ

• ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศของโลกที่มีสัดส่วนเด็กวัยประถม ที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนรวมกันถึงกว่าครึ่งหนึ่งของสัดส่วนเด็กวัยดังกล่าว ที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนทั้งหมดของโลก

• เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2541 ไม่ได้เรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

• การประเมินคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งหมด 8,276 แห่ง พบว่าเพียงร้อยละ 34 เท่านั้น ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในการให้บริการดูแลเด็กเล็ก

• ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 50 สำหรับการอ่าน ลำดับที่ 50 สำหรับคณิตศาสตร์ และลำดับที่ 49 สำหรับวิทยาศาสตร์ จากประเทศที่เข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ทั้งหมด 65 ประเทศ

• คะแนนเฉลี่ยของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใน 4 วิชาหลักคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในรอบหลายปีที่ผ่านมาต่ำกว่าร้อยละ 50

ผลสอบ PISA เด็กไทยยังไม่พัฒนา

ข้อมูลบ่งชี้ถึงคุณภาพการศึกษาของนักเรียนไทยอีกชุดหนึ่ง ที่กลายเป็นประเด็นให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการทบทวนนโยบายด้านการศึกษาของชาติ คือข้อมูลจากโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student  Assessment) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกด้วย ซึ่ง เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and  Development) มีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อตรวจสอบว่า เยาวชนวัยจบการศึกษาภาคบังคับ หรือวัยอายุ 15 ปีของประเทศต่าง ๆ มีศักยภาพ หรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพียงใด และจากการศึกษางานวิจัยในอดีต ทำให้ PISA ตัดสินว่า ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นตัวชี้วัดศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การรู้เรื่อง (Literacy) สามด้าน คือ การอ่าน (Reading Literacy) คณิตศาสตร์ (Mathematics Literacy) และวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) โดย PISA มีการประเมินต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี แต่ละครั้งประเมินครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน แต่ให้น้ำหนักด้านใด ด้านหนึ่งเป็นหลัก และอีก 2 วิชาเป็นรอง สำหรับประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 (PISA 2000)

โดยผลการประเมินจาก PISA 2000 ถึง PISA 2009 พบว่า นักเรียนไทยกลุ่มอายุ 15 ปี มีผลการประเมินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง และการทดสอบในปี 2009 ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศ และจากการแบ่งผลคะแนนของ PISA ออกเป็น 6 ระดับ คือ 5 ถึง 1 และต่ำกว่า 1 ซึ่งระดับตั้งแต่ 2 ลงมาก็ถือว่าแย่มาก ๆ  ก็ปรากฏว่าเด็กไทย จำนวนเกิน 70 เปอร์เซนต์ มีคะแนนอยู่ในช่วง 0-2

และด้วยเหตุผลที่ว่า ผลการสอบ PISA ถือเป็นดัชนีชี้วัดหนึ่งในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพิจารณาความน่าลงทุน  ผลคะแนน PISA ที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคุณภาพการศึกษาของไทย ที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นประเด็นที่มีศักยภาพต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สิงคโปร์ เวียดนาม หรือมาเลเซีย อันจะส่งผลถึงการแข่งขันอื่น ๆ ของประเทศด้วย

นักการศึกษาชี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ขาดงบประมาณแต่อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำ

สำหรับสาเหตุของความล้มเหลวในความพยายามพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย มีความความพยายามในการวิเคราะห์จากนักการศึกษาของไทยมานาน แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริง เพื่อการนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน โดยในมุมมองของ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยระบุไว้ในบทความเรื่อง “แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย : เราจะเริ่มที่ไหนดี?” ว่า สาเหตุของปัญหามีมากมาย จนมองไม่เห็นหนทาง ว่าจะรักษากันอย่างไร และเริ่มกันที่จุดใด ซ้ำร้ายการแก้ไขปฏิรูปในบางด้านกลับยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลง เช่น ระบบประกันคุณภาพเพิ่มภาระงานเอกสารให้ครู ทำให้ครูมีเวลาในการเตรียมสอนน้อยลง โดยยังไม่สามารถทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างจับต้องได้เลย

นอกจากนี้ในบทความของ ศ.ดร.อัมมาร ยังระบุด้วยว่า ไม่เชื่อว่า ความขาดแคลนทรัพยากร จะเป็นสาเหตุของความล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย เพราะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาขึ้นมาก ไม่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ในขณะที่นักเรียนไทยยังใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากกว่านักเรียนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และผู้ผู้ปกครองและนักเรียนอีกมากมายที่ทุ่มเทกับการเพิ่มความรู้ให้กับบุตรหลานของตัวเองจากการกวดวิชา

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.อัมมารได้ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย เพราะแม้งบประมาณการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาจช่วยให้เด็กวัยเรียนจากครอบครัวยากจน เข้าถึงการศึกษามากขึ้นในเชิงปริมาณก็ตาม แต่ผลการเรียนของนักเรียน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพการศึกษาโดยรวม ขณะที่นักเรียนไทยจากโรงเรียนมีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ สามารถสอบแข่งขันได้เหรียญรางวัลระดับโลกต่าง ๆ อยู่ทุกปี  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ และชี้ว่าการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนไทยที่ผ่านมาเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง

ยูเนสโกระบุครูไทยขาดคุณภาพ

ทั้งนี้บทความของ ดร.อัมมารสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.กวาง โจ-คิม ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ ที่เคยกล่าวระหว่างการประชุมด้านการศึกษาในประเทศไทย โดยเห็นว่า ในปี 2010 ประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณ 3.8 เปอร์เซนต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ หรือ GDP สำหรับด้านการศึกษาจากสถาบันสถิติของยูเนสโกพบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน ที่ใช้งบประมาณด้านการศึกษามากที่สุด แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา อาทิ เด็กในเมืองหรือพื้นที่ที่เศรษฐกิจเติบโตเข้าถึง จะสามารถเข้าถึงการศึกษาในอัตราที่สูง ส่วนพื้นที่ห่างไกลในชนบทหรือผู้อพยพ ในสลัม หรือจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ จะเข้าถึงการศึกษาได้น้อย

            “ความท้าทายที่สำคัญของไทย คือคุณภาพของการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทย ผล PISA ซึ่งประเมินการเรียนรู้เปรียบเทียบนานาชาติของเด็กอายุ 15 ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD แสดงว่าเด็กไทยทิ้งห่างในการเรียนรู้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น สาเหตุใหญ่อาจเป็นเพราะขาดครูที่มีคุณภาพ ขาดการฝึกอบรม และขาดแรงจูงใจในการสอนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ดร.กวาง โจ-คิม ระบุ

ปัญหาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยจึงยังคงเป็นภาระสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องแก้ไขให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะถือว่าเป็นขาสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

จาตุรนต์ประกาศ 4 นโยบายหลัก เพิ่มคุณภาพ-ขจัดเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ตามที่ล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เพิ่งกลับเข้ามารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง ได้ประกาศนโยบายด้านการศึกษาให้กับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด โดยมุ่งประเด็นหลัก 4 ประการ และการเพิ่มคุณภาพการศึกษาเป็นหนึ่งนโยบายสำคัญด้วย โดยนโยบาย 4 ประการคือ 1.เร่งเพิ่มอันดับที่ดีขึ้นให้กับนักเรียนไทยในการจัดอันดับของ PISA เข้าในนโยบายด้านการบริหารจัดการระบบการศึกษาของไทย 2.เพิ่มสัดส่วนการเรียนระหว่างสายสามัญ กับอาชีวศึกษา เป็น 50 : 50 3.ผลักดันให้มหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับโลกมากขึ้น 4.กระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น และเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบจัดและสนับสุนการจัดการศึกษามากขึ้น โดยจะผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ

            “การจะขับเคลื่อนเรื่องการจัดลำดับของ PISA ให้ดีขึ้น จะต้องมีการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ และต้องขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยเลื่อนไปอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น แต่เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ จึงไม่เห็นผลเท่าที่ควร ดังนั้นจึงต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ในภาพรวมโดยเฉพาะ ซึ่งองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้ ควรมีความหลากหลาย ซึ่งนอกจากจะต้องมีหน่วยงานหลักต้นสังกัดของสถานศึกษา ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แล้วนั้น ยังควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญ คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา ด้านการสอน นักการศึกษามาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย โดยสพฐ.จะเป็นแม่งานในการขับเคลื่อนไทยเลื่อนอับดับ PISA ยกร่างแผนการทำงานรวมถึงไปเตรียมการเรื่องการตั้งคณะทำงานด้วย พร้อมกันนี้ ได้ฝากให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าไปช่วย สพฐ.จัดทำแผนขับเคลื่อนด้วย” นายจาตุรนต์กล่าวพร้อมกับระบุว่า การทำงานด้านการเพิ่มคุณภาพการศึกษาจะต้อง ขับเคลื่อนกันไปเป็นระบบทั้ง ในส่วนของ ครู นักเรียน และผู้ปกครองที่จะต้องร่วมมือกันทั้งหมด

เพิ่มอีก 8 ข้อ ปฏิรูปการศึกษาไทย

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ยังระบุด้วยว่า ในการเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษา มีความจำเป็นต้องเร่งรัดตามตามนโยบายรัฐบาลและสานต่องานที่ทำไว้แล้ว 8 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เร่งรัดปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน 2.ปฏิรูประบบผลิตพัฒนาครู  3.เร่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้ 4.พัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบได้กับระดับสากล 5.ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานมากกว่าการขยายเชิงปริมาณ 6.ส่งเสริมให้เอกชนและทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น 7.เพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และ 8.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะเดียวกันยังต้องเร่งรัดจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จัดตั้งสถาบันวิจัยหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอน สร้างความเข้มแข็งของกลไกวัดผล ประเมินผล เร่งรัดให้มี พ.ร.บ.อุดมศึกษา เพื่อประกันความอิสระและความรับผิดชอบต่อสังคม และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสำคัญต่าง ๆ และจัดประชุมปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ เพื่อระดมความคิดในการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย

เป็นการมอบนโยบายให้กับหน่วยงานด้านการศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องจับตาดูว่าการทำงานจะเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด เพราะคนไทยก็ตั้งความหวังด้านการเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กไทยที่พบว่า ยังไม่เคยประสบความสำเร็จเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: