ชี้นิรโทษฯไม่ทำให้ชายแดนใต้ปรองดอง ตำหนินายกฯอย่าท่องแค่คำว่า‘ให้อภัย’

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 7 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2087 ครั้ง

กระแสคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ....กำลังลุกลามไปทั่วประเทศ หลังรัฐสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวาระ 3 แม้ถึงวันนี้พรรคเพื่อไทยจะพยายามออกมาแถลงรายวันว่า ความตั้งใจหลักของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หวังเพื่อให้เกิดความปรองดองในชาติ ล่าสุดพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงมีมติคว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อปล่อยให้ทุกคดีเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมก็ตาม

ไม่เชื่อว่าพ.ร.บ.นิรโทษฯจะสร้างปรองดองใน 3 จว.ใต้

อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจ และยังคงต้องติดตามต่อไปคือ ประเด็นเนื้อหาของ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. ฉบับนี้ กับความเชื่อมโยงต่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลังผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะครอบคลุมไปถึงคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่ โดยหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจของในความพยายาม ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยตามที่ประกาศไว้

นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมสันติภาพ ออกมาแสดงความคิดเห็นหลัง พ.ร.บ.ผ่านการเห็นชอบใน สภาฯ ไม่กี่ชั่วโมง โดยตั้งคำถามต่อความชัดเจนของรัฐบาล โดยระบุว่า หากไม่มีการเขียนรายละเอียดไว้ให้ชัดเจนว่า กฎหมายครอบคลุมอะไรบ้าง ก็เชื่อว่าจะต้องรวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดในคดีต่าง ๆ ในภาคใต้อย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ของผู้สูญเสียและเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เพราะนั่นหมายถึง ผู้ที่เป็นต้นเหตุทำให้ประชาชนเสียชีวิต ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรเลย จึงไม่น่าเชื่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสามารถสร้างความปรองดองขึ้นได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้

“ให้อภัย”ไม่ใช่ทางออกของปัญหาทุกเรื่อง

และหลังจากการรับฟังการแถลงจุดยืนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำท่าว่าจะไม่เดินหน้ากระบวนการผลักดันต่อ นางอังคณาให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ เพิ่มเติมว่า แม้ดูเหมือนว่า กฎหมายฉบับนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่หากพิจารณาถึงการทำงานในเชิงของกระบวนการสันติภาพ ตามหลักการคงจะต้องให้ความสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะสังคมไทยอยู่ในภาวะของความขัดแย้งมานาน ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในหลายประเทศที่สามารถแก้ปัญหา จนทำให้เกิดสันติภาพได้สำเร็จนั้น ต้องมีกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ต้องใช้ปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องความจริงใจ การเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะมาเรียกร้องให้มีการให้อภัย แต่ประเทศไทยทำข้ามขั้นตอนไปหมด ที่อยู่ดี ๆ ก็จะมาเรียกร้องให้เราให้อภัยกัน แต่ถามว่าเราจะให้อภัยใคร เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีออกมาพูดให้อภัยตลอดเวลา ซึ่งตามหลักมนุษยชนสากล การทำผิดจะต้องมีการลงโทษ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และดูว่าเราจะลงโทษอย่างไร โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่า การให้อภัยถือเป็นประเด็นสุดท้าย หากดูกรณีในต่างประเทศ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อตรวจหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ และเมื่อได้แล้วผู้กระทำผิด จะต้องออกมาขอโทษกับเหยื่อ

นางอังคณา นีละไพจิตร

            “ดิฉันได้ฟังนายกรัฐมนตรีแถลง และพูดเรื่องนี้ตลอดมา ทำให้เห็นชัดเจนว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่เข้าใจเรื่องของความปรองดองเลย เพราะเพียงแค่มาบอกว่าให้เราให้อภัยกัน แล้วให้ลืมทุกอย่าง มันเป็นไปไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้เจอผู้เชี่ยวชาญสำคัญ ๆ จากต่างประเทศอย่าง โคฟี อันนัน และอื่น ๆ แต่กลับไม่เข้าใจว่า การสร้างสันติภาพ ความปรองดองในแต่ละประเทศ มีขั้นตอนในการทำงานที่ไม่ใช่เพียงการออกมาพูดแค่ว่า ให้อภัย ให้ลืม เพราะผู้สูญเสียย่อมลืมไม่ได้” นางอังคณากล่าว พร้อมกับระบุว่า ตนเห็นว่ารัฐบาลไม่เคยใส่ใจกับกระบวนการสันติภาพ เพื่อให้เกิดความปรองดอง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่เพิ่งเคยเห็นว่า มีคนไม่เห็นด้วยออกมาแสดงเจตนารมย์อย่างชัดเจน ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วนของสังคม

เผยคนในพื้นที่เครียดหลังพ.ร.บ.นิรโทษฯผ่านวาระ 3

นางอังคณากล่าวต่อว่า หลังพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 3 ทำให้บรรยากาศในพื้นที่ภาคใต้ส่วนหนึ่งเกิดความตึงเครียดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นเหยื่อ ทำให้เกิดความกลัวและหวาดระแวงว่า ผลกระทบจากการนิรโทษกรรมจะกลับมาสร้างปัญหามากขึ้น เพราะที่ผ่านมาในพื้นที่ซึ่งมีกฎหมายพิเศษในการดูแล โดยให้อำนาจหน้าของรัฐจัดการได้ ในขณะที่พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็น กฎหมายที่รัฐบาลแสดงออกแบบคลุมเครือต่อประเด็นภาคใต้ แม้จะมีการสอบถามในชั้นกรรมาธิการแปรญัติก็ยังไม่มีคำตอบ ในลักษณะที่ปล่อยว่างไว้ นั่นหมายถึงจะเอาอะไรยัดไส้ใส่ลงไปก็ได้ และหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จริง เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มิหนำซ้ำยังจะเป็นการซ้ำเติม ให้เกิดปัญหาหนักมากขึ้นด้วย

            “สำหรับคนในพื้นที่โดยเฉพาะคนที่เป็นเหยื่อค่อนข้างหวาดกลัว ในภาคประชาสังคมมีการออกมาพูดกันบ้างว่า เห็นด้วยในเนื้อหาบางส่วน เพราะพ.ร.บ.เป็นไปตามข้อเสนอของบีอาร์เอ็น นั่นคือปล่อยทุกกลุ่ม ทุกคน รวมถึงพวกที่ไปตัดคอชาวบ้าน ก็ออกมาหมด ถ้าบอกว่าปล่อยแล้วไปของโทษชาวบ้านนั่นจบก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว” นางอังคณากล่าว

แค่กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับชาวบ้านได้รับผลกระทบอยู่แล้ว

นางอังคณากล่าวอีกว่า ล่าสุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการออกมาพูดว่า การมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจจะเป็นการดี เพราะกรณีของสถานการณ์ภาคใต้ ถึงอย่างไรเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ต้องรับผิดอยู่แล้ว ฉะนั้นหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกนำมาใช้ ก็น่าจะเป็นการดีที่ประชาชนที่ติดคุกอยู่จะได้ออกมา แต่ถามว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะมีกฎหมายสำหรับลงโทษผู้กระทำผิดไว้ทำไม หากมีกฎหมายออกมาล้างผิดให้ แล้วเหยื่อจะอยู่อย่างไร ที่อยู่ดีๆ ผู้กระทำผิดที่เคยฆ่าตัดคอชาวบ้านถูกปล่อยออกมา ย่อมทำให้เกิดความหวาดระแวง ความกลัวขึ้นในพื้นที่ ซึ่งนั่นคือผลกระทบหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็น

            “ที่ผ่านมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลใช้กฎหมายพิเศษในการดูแลจัดการในพื้นที่อยู่แล้ว 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ชาวบ้านถูกจับกุมไปโดยไม่รู้ชะตากรรม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผลที่ตามมามีมากอยู่แล้ว หากมีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งตามความเข้าใจเชื่อว่าจะคลอบคลุมถึงคดีต่าง ๆ ในภาคใต้ด้วย จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับเหยื่อ ดังนั้นจึงมองไม่เห็นว่า พ.ร.บ.นี้จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นตรงไหน”

แนะปฏิรูปความมั่นคง-ตำรวจ-ทหารด้วย

นอกจากนี้ นางอังคณายังเสนอทางออกต่อประเด็นนี้ โดยถือตามจุดยืนเดิมคือ ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อเดินหน้าเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ เพื่อหาคนกระทำความผิด และเมื่อรู้ความจริงแล้วคนทำผิดก็จะต้องได้รับโทษ รวมทั้งจะต้องมีหลักประกันว่า จะไม่กระทำผิดอีก พร้อมทั้งปฏิรูปความมั่นคง ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปทหารไปพร้อมๆ กัน นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเข้าใจว่าระบบสันติภาพ การปรองดองนั้น ไม่ใช่การล้างผิดเพียงอย่างเดียว เพราะจะต้องมีกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมาย และสันติภาพความปรองดองไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงการเจรจาบนโต๊ะ

นักกฎหมายระบุไม่เกิดปรองดอง แต่ยิ่งไม่เท่าเท่าเทียม

ขณะที่อนุกูล  อาแวปูเต๊ะ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ปัตตานี มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ทำให้เกิดความปรองดองขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามกลับจะเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น เพราะความไม่ชัดเจนในเนื้อหากฎหมาย โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำต่าง ๆ ทำให้เข้าใจได้ว่า กฎหมายนี้จะครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะไม่ได้มีข้อความใดระบุว่า ให้งดเว้นหรือมีเงื่อนไขใด ๆ เลย จึงเข้าใจได้ว่า กฎหมายมีความพยายามที่จะนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก่อนหน้าปี 2549 นั่นคือรวมปี 2547 ไปด้วย

สภาสังคมชายแดนใต้ชี้อาจดีกับการเจรจาบีอาร์เอ็น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทิศทางความเห็นของผู้ทำงานในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกัน คือไม่เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บ.เจ้าปัญหานี้ แต่บางส่วนกลับมองว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ อาจส่งสัญญาณที่ดี ที่จะทำให้การเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายมั่นคง และขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะถือว่ามีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นข้อหนึ่ง ที่ต้องการให้นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกจับกุม และยกเลิกหมายจับทั้งหมดอยู่แล้ว หากร่างพ.ร.บ.เดินหน้าและสามารถออกมาใช้จริงได้ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ก็อาจจะนำไปใช้ในการเจรจาได้ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาสังคมชายแดนใต้ ระบุว่า

            “ผมไม่ได้เห็นด้วยกับทั้งหมด แต่เห็นว่ามีบางส่วนอาจจะเป็นโอกาสที่นำไปขยายผลได้ เพราะบีอาร์เอ็นจะมั่นใจกับข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกัน ก็เป็นเพียงแค่นั้น แต่ขณะนี้ทิศทางมันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ในพื้นที่มองว่าเป็นเพียงเกมการเมืองหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้หรือไม่ คิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่เท่าใดนัก โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของตัวเองมาเป็นเวลาร้อย ๆ  ปี การจะนิรโทษกรรมหรือไม่ คงไม่มีผลต่อความคิดของพวกเขา อาจจะมีบ้างในกลุ่มคนที่มีอายุ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อระบบราชการไทยอยู่แล้ว และหากรัฐบาลกลางของไทยทะเลาะกันมากเท่าไหร่ นั่นย่อมเป็นผลดีกับบีอาร์เอ็นมากเท่านั้น”

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา ในฐานนะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษา ติดตาม และประเมินผลกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ออกมาแถลงถึงข้อคิดเห็นของคณะกรรมาธิการฯ ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนที่จะมีการพิจารณาในสภาฯ โดยตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น คือ 1.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีระยะเวลาที่ครอบคลุมถึงการกระทำความผิด ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2547 ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 ซึ่งจะทำให้ผลของกฎหมายครอบคลุมถึงการกระทำดังกล่าวที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 2.ผู้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ด้วยแนวคิดของความต้องการให้ทุกฝ่ายมาเริ่มต้นกันใหม่ โดยขอให้ลืมอดีตและมองสู่อนาคต ถือเป็นความปรารถนาดีที่จะเป็นแนวทางที่จะแก้ไขความขัดแย้งสังคม อันรวมถึงกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้

3.แม้การนิรโทษกรรมจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ แต่ในขณะนี้ยังมีการทำความจริงของเหตุการณ์รุนแรงให้ปรากฎต่อสาธารณะ และปราศจากการสำนึกผิด และยอมรับจากผู้กระทำความผิดไม่ว่าจากฝ่ายใด จึงมีคำถามว่า การนิรโทษฯจะสามารถลบความเจ็บปวดจากการสูญเสียของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ในทางกลับกันจะเป็นการตอกย้ำความร้าวลึก และความไม่ไว้วางใจในพื้นที่ระหว่างกลุ่มบุคคลต่าง ๆ มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกระทำผิดรุนแรงต่อประชาชน เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมมากกว่าที่ประชาชนได้รับ 4.หากมีการนิรโทษกรรมทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปต่อเหตุแห่งความขัดแย้ง และแนวทางแก้ไขที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ก็จะเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ จึงไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าเมื่อเริ่มต้นกันใหม่แล้ว ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: