ตึกสูงในกรุง-เสี่ยงไฟไหม้แค่ไหน เร่งสำรวจอาคารเก่า1.2หมื่นแห่ง สปภ.ชี้อุปกรณ์พร้อมแต่ดูแลยาก

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 4711 ครั้ง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าในทุกฤดูหนาว หรือช่วงต้นปีเหตุเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือน มักมีสถิติไฟไหม้เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักนอกจากความประมาท และอุบัติเหตุจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่สมบูรณ์แล้ว สภาพอากาศแห้ง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังช่วยส่งเสริมให้มีโอกาสเกิดไฟไหม้ได้มากขึ้นด้วย

 

 

กทม.แชมป์ไฟไหม้ตลอดกาล

 

 

จากสถิติของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในช่วงเดือน มกราคม –เมษายน ของทุกปี มักจะเป็นช่วงที่เกิดเหตุอัคคีภัยมากที่สุด โดยจากการรวบรวมสถิติในปี 2554 พบว่ามีเหตุอัคคีภัยสูงถึง 1,524 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นเหตุที่เกิดในกรุงเทพฯ มากที่สุด 290 ครั้ง แม้ในปี 2555 การสรุปสถิติจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่จากการสำรวจจากเหตุที่เกิดขึ้นก็เชื่อว่า กรุงเทพฯ จะยังครองแชมป์ เจ้าของสถิติการเกิดอัคคีภัยมากที่สุดเช่นเดิม และที่สำคัญคือเหตุที่เกิดส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเหตุไฟไหม้ใหญ่ มีความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นการเกิดเหตุบนตึกสูง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการก่อสร้างอาคารสูงเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ละแห่งมักสูงเกินกว่า 30 ชั้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมหรูหรา ซึ่งเป็นที่พักอาศัย ต่าง ๆ ยังไม่นับรวมอาคารธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งสถานที่ในการก่อสร้างมักอยู่ในถนนแคบ หรือซอย ใกล้ย่านชุมนุมหนาแน่น โดยมักอ้างว่าเพื่อความสะดวกของผู้อยู่อาศัย แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าอาคารสูงเหล่านี้ จะถูกบังคับควบคุมให้มีการก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 แต่หลายครั้งที่เหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นบนตึกสูง ก็มักจะสร้างความหวาดหวั่นให้กับสังคมอยู่ไม่น้อย ว่าแท้จริงแล้วมาตรการเหล่านั้นจะสร้างความมั่นใจ เรื่องความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยได้มากน้อยแค่ไหน และอุปกรณ์ในการดับเพลิงของรัฐจะเพียงพอหรือพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกหรือไม่ อย่างไร เพราะในช่วงปีที่ผ่านก็ยังพบว่า มีเหตุเพลิงไหม้บนอาคารสูง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เป็นระยะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผอ.สปภ.ระบุไฟไหม้ตึกสูงไม่น่าห่วงเท่าตึกเก่า

 

 

 

พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ  เกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ว่า กทม.ถือเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุดในประเทศ ด้วยสภาพพื้นที่ อาคารบ้านเรือนที่ถูกปลูกสร้างขึ้นอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดเหตุมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า เหตุเพลิงไหม้จะมีมากเป็นพิเศษ เช่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน หรือสงกรานต์ เพราะนอกจากสภาพอากาศที่มีความชื้นน้อย การเดินทางท่องเที่ยวนอกบ้านของประชาชน ความอ่อนเพลีย ทำให้ไม่ละเอียดรอบคอบในการหุงหาอาหาร ทำให้เป็นปัจจัยส่งเสริมร่วมกันทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุไฟไหม้หญ้าลุกลามของพื้นที่ชานเมือง ก็เป็นเหตุให้เกิดเพลิงลุกลามได้เช่นกัน  โดยจากสถิติพบว่าในช่วงเดือนมกราคม- เมษายน เหตุเพลิงไหม้จะมีมากเป็นพิเศษ

 

กรณีเหตุเพลิงไหม้ในอาคารสูงนั้น พ.ต.อ.พิชัยยอมรับว่า ยังคงมีเหตุเกิดอยู่เป็นระยะ ๆ เช่น เหตุเพลิงไหม้ที่อาคารฟิโก เพลส ย่านอโศก หรือ เหตุเพลิงไหม้อาคารคอนโดมีเนียม และโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่ถ.สุขุมวิท ซึ่งทางสปภ. มีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการเกิดเหตุในอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ มักจะไม่น่าเป็นห่วง เพราะในการก่อสร้างจะถูกควบคุมด้วยกฎหมาย ควบคุมอาคารที่มีอยู่หลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบป้องกันอัคคีภัย ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจจับควัน ระบบปริงเกอร์ดับไฟ หรือ ระบบการเก็บกักน้ำไว้เพื่อการดับไฟ ซึ่งกฎหมายจะกำหนดไว้ในระดับที่เพียงพอต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือตึกที่สร้างก่อนปี พ.ศ.2535 ซึ่งยังไม่มีกฎหมายความปลอดภัยควบคุม และอาจมีการต่อเติมอาคารขึ้นไป เมื่อเกิดเหตุจะทำให้ยากต่อการแก้ไข

 

 

 

               “ตึกเหล่านี้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ จะทำให้เกิดอันตรายเพราะโครงสร้างไม่ได้มีระบบป้องกัน การลุกลามของไฟจะไปอย่างรวดเร็ว เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็นแบบเก่า เช่นกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้ที่ห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านถ.สุขุมวิท โรงแรมไม่ได้เปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อป้องกันไฟ เช่น พรมที่ใช้ ซึ่งปัจจุบันมีข้อกำหนดให้ใช้พรมที่ไม่ลุกลามไฟได้ง่าย จึงทำให้การดับไฟเป็นไปได้ยาก ครั้งนั้นทำให้ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนควันขึ้นไปรมห้องพักทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิต ซึ่งอาคารพวกนี้เป็นอาคารที่น่าเป็นห่วง ” พ.ต.อ.พิชัยกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บ้านไม่มาตรฐาน ที่ตั้งผิดจากผังเมือง เป็นอุปสรรคในการดับไฟ

 

 

นอกจากปัญหาเรื่องโครงสร้างของอาคารเก่าที่มีการต่อเติม จนทำให้ยากต่อการดับเพลิงแล้ว พ.ต.อ.พิชัย ยังระบุว่า การก่อสร้างบ้านเรือนที่ไม่มีแผน ผังเมืองไม่มีมาตรฐานก็ยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักงานดับเพลิงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดเหตุในบริเวณชุมชนใหญ่ ที่มีความแออัด ช่องทางเดินแคบเล็ก หรือการปลูกบ้านเรือนในลักษณะบุกรุกที่ดิน การสร้างบ้านไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้หาทางเข้ายาก เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงมักเกิดการสูญเสียมาก เพราะการดับเพลิงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในกรณีเช่นนี้ สปภ.จะพยายามสำรวจพื้นที่เพื่อหาช่องทางเตรียมไว้เป็นข้อมูลเสมอ เช่น การสำรวจเส้นทางเข้าอื่น ๆ  จุดการตั้งประปาหัวแดง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อเกิดเหตุและเข้าไม่ได้จะมีการประสานข้อมูล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ดีที่สุด โดยการสำรวจจะทำไว้เป็นประจำอยู่แล้ว

 

 

สำนักโยธาชี้มีตึกเก่า 12,000 แห่งต้องตรวจสอบ

 

 

สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องของโครงสร้างอาคาร ซึ่งต้องมีการสำรวจ ปรับปรุง และการตรวจสอบอาคารนั้น ก่อนหน้านี้ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เคยเชิญเจ้าของอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้ตรวจสอบอาคาร และเจ้าหน้าที่ภาครัฐมาทำความเข้าใจกับการดำเนินการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายกำหนดมาแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุป้ายโฆษณาตกลงมาทับประชาชน รวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ในอาคารสูง โดยเห็นว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากความละเลย ไม่ใส่ใจในความปลอดภัยต่อชีวิตประชาชน โดยอาคารที่เข้าข่ายจะต้องถูกตรวจสอบมีทั้งหมด 9 ประเภท เช่น อาคารสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป, อาคารชุมนุมคน เช่น ห้างสรรพสินค้า, อาคารที่พักอาศัย เป็นต้น

 

โดยในครั้งนั้น นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกรุงเทพมหานคร ระบุว่า มีอาคารที่ต้องตรวจสอบประมาณ 12,000 แห่ง ซึ่งมีอาคารขอยื่นตรวจสอบกว่า 5,000 แห่ง ส่วนอีกกว่า 6,000 แห่งได้รับการผ่อนผัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ขาดบุคลากร ทำให้ตรวจสอบไม่ทัน

 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ นายจุมพรยอมรับว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่มีความพร้อมในการตรวจสอบอาคาร เพราะขาดแคลนบุคลากรในสายงานโยธาและวิศวกรรม ทั้งนี้ได้บันทึกข้อตกลงร่วมกับสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบอาคาร ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นแบบตรวจสอบ และร่วมกันพัฒนาโปรแกรมเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พร้อมปรับหลักเกณฑ์ขั้นตอนการตรวจสอบทั้งในส่วนของเจ้าของอาคาร และผู้ตรวจสอบอาคาร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าภายในปี 2556 จะสามารถประกาศบังคับใช้

 

โดยระบบการตรวจสอบนั้น ทางกรุงเทพมหานครจะตรวจสอบ 4 รายการหลัก เช่น ความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร, สมรรถนะอุปกรณ์ประกอบอาคาร, ระบบอำนวยความสะดวก และ ระบบบริหารจัดการความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงประเด็นของความปลอดภัยด้านอัคคีภัยด้วย

 

 

ยันไทยมีอุปกรณ์ดับเพลิงทันสมัยที่สุดในอาเซียน

 

 

ซึ่งนอกจากประเด็นของโครงสร้างอาคาร ที่จะต้องให้ความสำคัญ และเข้มงวดต่อการดำเนินการกับเจ้าของอาคารต่าง ๆ แล้ว ในส่วนของประสิทธิภาพของอุปกรณ์การดับเพลิง เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายยังให้ความสนใจ โดยในประเด็นนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กล่าวยืนยันว่า ปัจจุบันนี้อุปกรณ์ด้านการดับเพลิงของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นับว่ามีความทันสมัยที่สุด ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น รถกระเช้าดับเพลิง ซึ่งปัจจุบัน สปภ.กทม. มีรถกระเช้าดับเพลิงที่มีความสูงถึง 90 เมตร หรือสามารถดับเพลิงได้ถึงตึกในระดับ 30-40 ชั้น นอกจากนี้ยังมีรถกระเช้าในระดับอื่น ๆ อีก ซึ่งในเหตุการณ์ไฟไหม้ที่อาคารฟิโก ถ.อโศก เมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา รถกระเช้าดังกล่าวก็สามารถเข้าดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สำหรับรถกระเช้าดับเพลิงสูง 90 เมตรคันนี้ กทม.สั่งซื้อมาจากประเทศฟินแลนด์ ตั้งแต่ปี 2552 มีมูลค่าอยู่ที่ 113 ล้านบาท สามารถยืดกระเช้าสูงสุดได้ 90 เมตร ใช้ปฏิบัติหน้าที่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารสูงที่มีระดับตั้งแต่ 10 ชั้นขึ้นไป แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพขอที่เกิดเหตุด้วยว่าจะสามารถนำเข้าไปใช้ได้หรือไม่ เพราะรถคันนี้จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการเตรียมอุปกรณ์ค้ำยันต่าง ๆ โดยการปฏิบัติหน้าที่จะมีเจ้าหน้าที่ประจำรถจำนวน 5-6 นาย ปฏิบัติหน้าที่ต่างกัน แบ่งเป็นผู้ขับ ผู้บังคับกระเช้า ทีมฉีดน้ำ โดยการทำงานของรถดับเพลิง 90 เมตร จะใช้คอมพิวเตอร์เป็นระบบสั่งการทั้งหมด โดยจอดประจำการอยู่ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พญาไท โดยถึงแม้ปัจจุบันจะมีอยู่เพียง 1 คัน แต่ประกอบกับรถกระเช้าดับเพลิงในระดับอื่นๆ นั้น พ.ต.อ.พิชัย ระบุว่าสามารถสร้างความมั่นใจการดับเพลิงได้อย่างแน่นอน

 

นอกจากรถกระเช้า 90 เมตรแล้ว ยังมีการจัดหาอุปกรณ์ทันสมัยทุกชนิดที่สามารถหาได้ รวมถึงระบบที่จะใช้ในการดับเพลิงต่าง ๆ เช่น ล่าสุดมีการจัดซื้อระบบดับเพลิงโดยการตัดเจาะด้วยน้ำ หรือ ที่เรียกว่า คอบร้า (cobra) เป็นเทคโนโลยีจากประเทศสวีเดน ที่จะใช้แรงดันน้ำเจาะเข้าไปในบริเวณผนังห้องเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะโดยปกติแล้วเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในห้องปิด อุณหภูมิจะสะสมเพื่อรออ๊อกซิเจนเข้าไปจุดระเบิด เพราะหากมีการเปิดให้อากาศเข้าไปไฟจะติดทันที ดังนั้นการตัดเจาะเพียงช่องเล็ก ๆ เพื่อไมให้อากาศเข้าไป แล้วพ่นน้ำเข้าไปดับก็จะทำให้ไม่เกิดการลุกลาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เพราะเกิดเหตุมาก พนักงานดับเพลิงจึงเก่งแต่ขาดแคลน

 

 

ขณะเดียวกันในส่วนของบุคลากรนั้น เนื่องจากในกรุงเทพมหานคร มีเหตุเพลิงไหม้อยู่เป็นประจำ ทำให้ พนักงานดับเพลิงของ สปภ.กทม. เป็นกลุ่มนักดับเพลิงที่มีความเชี่ยวชาญมาก นอกจากนี้ยังมีการจัดส่งบุคลากรเหล่านี้ไปฝึกอบรมเทคนิคต่าง ๆ ในต่างประเทศบ้าง หรือมีการนำผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้ความรู้ในประเทศ ทำให้มีความคล่องตัว รวดเร็วในการดำเนินการ

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ บุคลากรด้านนี้มีน้อย และค่อนข้างจะขาดแคลน  สาเหตุหนึ่งคือการขอย้ายกลับภูมิลำเนาของพนักงานดับเพลิง โดยขอกลับไปประจำที่บ้านเกิด ในขณะที่ในกรุงเทพฯ มีเหตุเกิดอยู่มาก ทำให้จำนวนพนักงานดับเพลิงไม่เพียงพอ ขณะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันกับอาสาสมัครต่าง ๆ  ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมีอาสาสมัครดับเพลิงหลายกลุ่ม และส่วนใหญ่อาสาสมัครเหล่านี้จะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี และหลายครั้งก็สามารถดับเพลิงได้ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะไปถึง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จนท.น้อยต้องอาศัยอาสาสมัครที่เสียสละ

 

 

 

               “การเป็นพนักงานดับเพลิงส่วนหนึ่งเป็นความภาคภูมิใจของนักดับเพลิง เพราะถือเป็นการช่วยเหลือประชาชน ช่วยชีวิตคน ช่วยไม่ให้เขาเสียทรัพย์สิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของคนอยู่แล้วที่จะรู้สึกดีกับการได้ช่วยเหลือคน ทำให้ที่ผ่านมาเรามีอาสาสมัครหนุ่มสาวมาช่วยงานมาก ส่วนใหญ่มาด้วยใจ พวกเขาไม่ได้เงินเดือน เสื้อผ้าต้องซื้อเอง แต่เขาก็ยินดี งานดับเพลิงเป็นงานที่จะต้องอาศัยจิตใจที่เสียสละ เข้มแข็ง มีคำพูดว่าในขณะที่เพลิงไหม้ ทุกคนหันหน้าวิ่งหนีไฟ แต่พนักงานดับเพลิงจะต้องหันหน้าเข้าหาไฟ มีชีวิตอยู่บนเส้นด้าย ดังนั้นพนักงานทุกคนจะต้องมีจิตใจเข้มแข็งและเสียสละ”

 

 

จากการทำงานของ สปภ.กทม.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.พิชัยระบุว่า สำนักงานฯ ต้องสูญเสียพนักงานดับเพลิงไป  1 คน และอาสาสมัครอีก 3 คนจากเหตุเพลิงไหม้ที่เขตรองเมือง จากเหตุตึกที่ไฟไหม้ถล่มลงมาทับ เนื่องจากพนักงานคนดังกล่าว พยายามเข้าไปตามอาสาสมัครให้ออกจากอาคาร แต่ไม่ทัน ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียสละ และความมีจิตใจที่เป็นห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเอง ของพนักงานดับเพลิงคนดังกล่าว

 

 

สภาพจราจรไม่เอื้อทำให้ถึงที่เกิดเหตุช้า

 

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุหลายครั้ง พบว่าเกิดความไม่พอใจของประชาชนผู้เสียหาย โดยเห็นว่าการทำงานของพนักงานดับเพลิงช้าเกินไป ไม่สามารถดับไฟได้ทันเวลา พ.ต.อ.พิชัยกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่พนักงานดับเพลิงประสบอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ตามอยากจะทำความเข้าใจว่า สาเหตุของการเดินทางไปยังที่เกิดเหตุช้านั้น มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เหตุเกิดในช่วงของเวลาเร่งด่วน การจราจรไม่เอื้ออำนวย เพราะปัจจุบันสถานีดับเพลิงอยู่เพียง 35 สถานีใหญ่ 15 สถานีย่อยเท่านั้น อาจจะทำให้เดินทางไปไม่ได้รวดเร็วหรือภายใน 8 นาที ตามมาตรฐานสากล แต่ก็จะมีการเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และมีอาสาสมัครไปก่อน นอกจากนี้ในการฉีดน้ำดับไฟ บางครั้งประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ฉีดไปที่บ้านที่เกิดเพลิงไหม้ แต่แท้จริงแล้วตามหลักการจะต้องฉีดเลี้ยงไปที่บ้านรอบ ๆ ข้าง เพื่อไม่ให้เพลิงลุกไหม้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้บางส่วนยังคิดว่ารถดับเพลิงบรรจุน้ำมาไม่เต็มถังหรือเปล่า เพราะฉีดไม่นานก็หมดแล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีรถดับเพลิงคันไหนบรรจุน้ำไม่เต็มรถ เพราะจะทำให้เกิดอันตราย ทำให้รถพลิกคว่ำได้ ดังนั้นรถทุกคันจะต้องบรรจุน้ำเต็ม บางคนเป็นรถแรงดันสูงบรรจุน้ำ 6,000-10,000 ลิตร แต่ด้วยการฉีดในระบบแรงดันสูง ทำให้ฉีดน้ำได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ได้มีความพยายามที่จะประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอยู่

 

 

                “ประชาชนบางคนบอกว่า ทำไมเราไปช้า ทำไมไม่ฉีดน้ำให้บ้านที่ไฟไหม้ไปฉีดบ้านอื่นทำไม ต้องจ่ายเงินจ่ายทองด้วยหรือ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะจริงแล้วมันมีหลักการการดับเพลิงอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้อยากให้ไฟไหม้เพิ่มขึ้น” พ.ต.อ.พิชัยกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตึกสูงในกรุงเทพฯ เกินระยะรถกระเช้า

 

 

สำหรับตึกสูงที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบัน 10 อันดับ จากข้อมูลของ travel.mthai.com คือ 1.ตึกใบหยก 2 ถ.ราชปรารภ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ สูง 85 ชั้น 304 เมตร 2.เดอะริเวอร์ ทาวเวอร์ เอ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามโรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ สูง 74 ชั้น 258 เมตร 3.สเตท ทาวเวอร์ ถ.สีลม สูง 68 ชั้น 247 เมตร 4.เซ็นทารา แกรนด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สูง 57 ชั้น 235 เมตร 5.เดอะเมท คอนโดมิเนียม สูง 69 ชั้น 228 เมตร 6.เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถ.สาทร สูง 62 ชั้น 227 เมตร 7.นอร์ท พอยท์ ทาวเวอร์ เอ พัทยา สูง 54 ชั้น 226 เมตร 8.จิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ถ.สีลม สูง 59 ชั้น 221 เมตร 9.ไชน่า รีซอสเซส ทาวเวอร์ สูง 53 ชั้น 210 เมตร 10.ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ สูง 42 ชั้น 208 เมตร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: