จี้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกรอบเจรจา'เอฟทีเอ'

8 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1059 ครั้ง

 

จากกรณี นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในเดือนม.ค.นี้ ฝ่ายไทยจะสามารถประกาศเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้จัดทำกรอบการเจรจาในการเปิดเสรีเสร็จแล้ว เพื่อให้การเจรจาแล้วภายใน 2 ปี มีผลบังคับใช้ปี 2558 จะได้ช่วยทดแทน หากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในปี 2557

 

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า เมื่อกรมเจรจาฯ ชี้แจงว่า กรอบเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรเปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะตั้งแต่ผ่านคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ร่างกรอบเจรจาดังกล่าวยังถูกปิดเป็นความลับ หากยังปิดเป็นความลับเช่นนี้ ใครจะไปให้ความเห็นหรือข้อกังวลตามที่กรมเจรจาประกาศได้

 

 

              “เมื่อมีกรอบเจรจาแล้ว ก็ควรจัดรับฟังความคิดเห็นในส่วนกลาง 1 ครั้ง ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาตามมาตรา 190 เพราะไม่ใช่ทุกภาคส่วน จะสามารถเข้าถึงผู้ใหญ่ในกรมเจรจาได้ จึงควรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกรอบเจรจาไม่ควรห่วงแต่ภาคธุรกิจ หากกรมเจรจาไม่เปิดเผยกรอบ ก็ไม่สามารถแสดงความกังวล-ข้อคิดเห็นที่จะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมและพัฒนาท่าทีการเจรจาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาควรมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษาร่างกรอบเจรจาและการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปนี้ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง”

 

 

 

ด้านน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สมาชิก เอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า วันนี้ 14 องค์กรภาคประชาสังคม ที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบด้านต่าง ๆ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป(Thai-EU FTA)

 

 

เครือข่ายประชาชน (ตามรายชื่อแนบท้าย) ได้ติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด พบว่า กระบวนการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ที่ดำเนินการโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรีจะต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ อีกทั้งร่างกรอบเจรจาฯไม่เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศต่อรัฐสภา ที่ระบุว่า “มีนโยบายขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการตลาดภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมทั้งวางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ” ซึ่งจะนำไปสู่การไม่มีแนวป้องกัน หรือการเตรียมมาตรการใด ๆ รองรับให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีที่จะมีขึ้น

 

นอกจากนี้ยังไม่มีการวางแนวป้องกันผลกระทบ ที่จะเกิดกับระบบสาธารณสุขของไทย ดังที่งานวิจัยของสถาบันวิจัยหลายสำนักที่หน่วยราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุมัติให้จัดทำได้เคยเสนอแนะไว้

 

การกระทำดังกล่าว ถือได้ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 และเป็นการกระทำที่ขาดธรรมาภิบาลที่ข้าราชการพึงมี ดังนั้นเครือข่ายประชาชน จึงขอให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะพฤติกรรมและธรรมาภิบาลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูง เพื่อพิจารณาเตรียมเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย และตรวจสอบผลกระทบของการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ต่อระบบสาธารณสุขไทยรวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและรัฐสภาในการปรับปรุงร่างกรอบเพื่อวางแนวป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: