ความปลอดภัยในอาหารของคนไทย เริ่มมีปัญหามากขึ้น เพราะนอกจากพืช ผักสด จะเต็มไปด้วยสารเคมีตกค้างแล้ว อาหารสำเร็จรูป เช่น ขนมปัง แซนด์วิช ครัวซอง เค้ก ฯลฯ ยังเต็มไปด้วยสารกันบูดจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาหารเหล่านี้เป็นอาหารว่างที่คนทั่วไปชื่นชอบ เพราะหาได้ง่ายและราคาไม่แพง จากร้านสะดวกซื้อ และในห้างสรรพสินค้าทั่วไป ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน ได้ดำเนินการทดสอบสารกันบูดในขนมปัง –เค้ก พร้อมบริโภค จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้าน เบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง
พบสารกันบูดจากขนมปังในห้างดัง
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ฯ เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 โครงการได้ร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สุ่มซื้อขนมอบพร้อมบริโภค ทั้งขนมปัง และเค้กยี่ห้อต่าง ๆ จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากกำกับว่า ใช้วัตถุกันเสีย 8 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ระบุว่า ไม่ใช้วัตถุกันเสีย 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างที่ฉลากไม่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ 5 ตัวอย่าง แล้วส่งทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อหาสารกันบูดที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid)
ผลการทดสอบพบว่า 1 ใน 3 จาก 5 ตัวอย่าง มีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน ทั้งค่ามาตรฐานอาหารของไทยและค่ามาตรฐานอาหารสากล ได้แก่ ขนมปังไส้ถั่วแดง จากห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส ในแผนกเทสโก เดอะเบเกอรี่ ที่ปริมาณรวม 1,656 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./ก.ก.) แบ่งเป็น กรดซอร์บิก 650 มก./ก.ก. และ กรดโปรปิโอนิค 1,006 มก./ก.ก. , เค้กโรลวนิลา sun merry ที่ปริมาณกรดซอร์บิก 1,583 มก./ก.ก. , ขนมปังแซนวิช จากเทสโก โลตัส ที่ปริมาณรวม 1,279 มก./ก.ก. แบ่งเป็น กรดเบนโซอิก 17 มก./ก.ก. และ กรดโปรปิโอนิค 1,262 มก./ก.ก. , ขนมปังไส้เผือก ตราเอพลัส ปริมาณรวม 1,274 มก./ก.ก. แบ่งเป็น กรดเบนโซอิก 15 มก./ก.ก. กรดซอร์บิค 339 มก./ก.ก. และ กรดโปรปิโอนิค 1,262 มก./ก.ก. และ ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์ ที่ปริมาณรวม 1,195 มก./ก.ก. แบ่งเป็นกรดเบนโซอิก 311 มก./ก.ก. และ กรดโปรปิโอนิค 884 มก./ก.ก. อีกทั้งยังพบว่า หนึ่งในตัวอย่างที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน คือ ขนมปังแซนวิชตราเทสโก้ มีการระบุในฉลากว่า ไม่ใช้วัตถุกันเสีย บนฉลาก
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ตัวสินค้าที่ไม่ได้ระบุว่าใส่วัตถุกันเสีย แต่พบวัตถุกันเสียในอาหารนั้น และสิ่งที่สังเกตง่ายๆ ถ้าขนมปังชนิดไหนเปิดมาแล้วมีกลิ่นหืนแรงมาก นั่นหมายถึงมีการใส่วัตถุกันเสียจำนวนมาก”
จี้อย.ให้ผู้ประกอบการใส่ชื่อวัตถุกันเสีย
จากตัวอย่างเกือบทั้งหมดที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (3) เรื่องอาหารผิดมาตรฐานมีบทลงโทษตามมาตรา 60 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ขณะที่มีหนึ่งตัวอย่างคือ ขนมปังแซนวิช จากเทสโก โลตัส ที่เข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 25 (2) เรื่องอาหารปลอม มีบทลงโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
นอกจากนี้ นายพชรตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่ของสินค้าที่นำมาทดสอบ เป็นตัวอย่างที่ระบุบนฉลากว่า ใช้วัตถุกันเสีย และเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายของสำนักงานอาหารและยา (อย.) และเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ซึ่งควรเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ก็พบว่า มีถึง 3 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง ที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งยังพบการใช้สารกันบูดหลายชนิดร่วมกันอีกหลายตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งเป็นไปตามมาตรฐานและสูงกว่าค่ามาตรฐานซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล
ดังนั้นอย.ควรมีการทบทวนเรื่องการออกใบอนุญาต และต่ออายุใบอนุญาต โดยนำข้อมูลการกระทำความผิดมาประกอบการพิจารณา สำหรับการแสดงข้อมูลบนฉลาก อาจจะมีการใช้วิธีการเดียวกับวัตถุปรุงแต่งรสอาหารคือกำหนดให้ระบุว่า ใช้สารใดเป็นวัตถุกันเสีย บนส่วนประกอบเพื่อแสดงความโปร่งใส และเป็นการให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับผู้บริโภค รวมถึงควรดำเนินการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้เกี่ยวกับการใช้วัตถุกันเสียอย่างถูกต้องและเหมาะสม
สารกันบูดในขนมปังทำให้เกิดโรคไต
ด้าน น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ให้ข้อมูลว่าวัตถุกันเสียทั้ง 3 ชนิด ที่ทดสอบเป็นสารเคมีที่อุตสาหกรรมนิยมใช้ แต่ละตัวมีหน้าที่ในการยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหาร แต่มีฤทธิ์ต่างกัน บางตัวเหมาะสมกับการยับยั้งแบคทีเรีย บางตัวเหมาะกับการยับยั้งเชื้อรา การใช้ให้เหมาะสมถูกต้องกับวัตถุประสงค์จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดลำดับโดยความเป็นพิษต่อร่างกาย กรดเบนโซอิคจะมีความเป็นพิษสูงสุด ตามมาด้วยกรดซอร์บิคและกรดโปรปิโอนิค ซึ่งแม้ว่าร่างกายจะสามารถขับถ่ายสารเคมีทั้งสามตัวออกได้เอง เมื่อมีการบริโภค แต่หากมีการรับประทานเข้าไปในปริมาณ ที่เกินกว่าค่าสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวัน อย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน และอาจนำมาซึ่งการเพิ่มความเสี่ยงของโรคไตอันเนื่องมาจากการที่ไตต้องทำงานหนักต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานานได้
น.ส.ทัศนีย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การซื้อขนมอบ (เบเกอรี่) จากระบบอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยงจากการใช้สารกันบูดสูงกว่าการซื้อจากร้านเบเกอรี่แบบทำวันต่อวัน ดังนั้น การเลือกซื้อเบเกอรี่ พร้อมบริโภค ให้เลือกซื้อจากร้านเบเกอรี่ที่ทำสดวันต่อวันจะดีกว่าเลือกซื้อเบเกอรี่ที่อยู่ในซอง
“แต่ถ้ายังชื่นชอบความสะดวกของเบเกอรี่แบบซอง ให้สังเกตคำว่า ไม่ใช่วัตถุกันเสีย บนฉลากตรงส่วนประกอบ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง แต่ไม่แนะนำให้บริโภคผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกวัน เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงเรื่องสารกันบูดแล้วยังมีความเสี่ยงจากโซเดียมซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลัก (ผงฟู) อันอาจนำมาซึ่งโรคไตได้อีกด้วย”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ