‘ตำรวจ-ดีเอสไอ’ใต้เงาการเมือง 10ปีองค์กรใหม่ไม่วายถูกล้วงลูก อธิบดีปัจจุบันตีบทแตกทั้ง2รัฐบาล

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 8 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 4779 ครั้ง

 

‘ตำรวจ-ดีเอสไอ’ในกำมือการเมือง

 

 

องค์กรตำรวจ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ นับว่าเป็น 2 หน่วยงานรัฐที่ถือว่าให้คุณให้โทษกับประชาชนมากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลกับการเมืองเช่นกัน

 

แต่ในมุมกลับเป็น 2 หน่วยงาน ที่มักตกเป็นเหยื่อการเมืองในทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะทั้งตำรวจและดีเอสไอ ถือได้ว่าเป็นองค์กรแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ในแต่ละครั้ง

 

หลังจากปีพ.ศ.2541 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ประกาศใช้ด้วยผู้ร่างมองว่า ‘กรมตำรวจ’ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย มักถูกรมว.มหาดไทย เข้ามาแทรกแซงการทำงาน จึงยกขึ้นเป็นองค์กรที่สูงกว่า‘กรม’ ดึงมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้นายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลด้วยตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ในการสัมมนาหัวข้อ “ตำรวจกับการเมือง” นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงองค์กรตำรวจว่า เรื่องตำรวจกับการเมืองที่ยุ่งอยู่ทุกวันนี้ เพราะตำรวจไปแทรกแซงการเมือง และการเมืองมาแทรกแซงตำรวจ อีกทั้งตำรวจและการเมืองต่างเข้ามามีอิทธิพลต่อกันและกัน ซึ่งปฎิสัมพันธ์เช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหา แต่ไม่ได้เกิดปัญหาเฉพาะกับตำรวจ แต่เกิดขึ้นกับข้าราชการในทุกหน่วยงาน

 

 

ที่แก่งแย่งเพราะอยากมียศสูง-มีอำนาจ

 

 

            “สิ่งที่ตำรวจแตกต่างจากข้าราชการประเภทอื่นคือ ตำรวจมีอำนาจที่มาจากกฎหมาย ทั้งการจับกุมคุมขัง มียศ ยศนี่แหละที่จะเอาเป็นเอาตายกันให้ได้ และมีโอกาสที่จะสร้างประโยชน์หรือโอกาสที่จะทำให้เสียประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง โอกาสที่จะทำให้คนรวยขึ้นหรือจนลง โอกาสที่จะทำให้คนชนะหรือแพ้ สิ่งเหล่านี้ข้าราชการอื่นไม่มี ทั้งหมดนี้ฝรั่งพูดไว้นานเเล้วว่า คือ PRO (โปร) ตัว P (Power) คือ ตำรวจมีอำนาจ R (Rank) คือ มียศ และ O (opportunity) คือ มีโอกาสทุกวันนี้ที่ตำรวจขวนขวายจะเป็นจะตายก็เพราะโปรนี่แหละ ที่มีอำนาจก็อยากจะมีให้มากขึ้น อยากมียศที่สูงขึ้น และมีโอกาสในการฉกฉวยโอกาสจากหน้าที่การงาน ปัญหาทั้งหมดที่ว่านี้ทำให้ฝ่ายการเมืองรู้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนตรงนี้” นายวิษณุกล่าว

 

นายวิษณุกล่าวต่อว่า นักการเมืองที่อยากเลี้ยงตำรวจ ก็มอบโปรให้กับตำรวจคนนั้น แต่ถ้าไม่ชอบหน้าตำรวจคนไหนก็จะบั่นทอนโปรตรงนี้ เช่นถ้าอยู่ในนครบาลแล้วอำนาจเยอะ ก็ส่งไปอยู่ที่สุไหงปาดี เป็นต้น ฉะนั้นถ้าเขาจะสร้างคุณ เขาก็จะให้สิ่งที่ดี แต่ถ้าเขาเหม็นหน้าเขาก็จะสร้างโทษด้วยสิ่งเหล่านี้

 

การเมืองมี 2 มิติ เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านแรกคือ การเมืองคืออำนาจ การจัดสรรอำนาจ การจัดระเบียบสังคม อีกด้านหนึ่ง การเมืองก็คือ วิชามาร เล่ห์เพทุบาย มายา และการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ฉะนั้นหากตำรวจตกไปในเหรียญด้านใดด้านหนึ่ง ประโยชน์ที่ประเทศได้รับก็จะต่างกัน หากเป็นเหรียญด้านแรก ก็จะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นคุณ และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน แต่เหรียญอีกด้านทำให้ตำรวจใช้ความพยายามทุกอย่าง เพื่อให้ได้โปรไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และถ้าได้ในสิ่งที่ต้องการเเล้วก็พยายามรักษาสิ่งนั้นไว้ให้นาน รวมทั้งพยายามทำให้ตำแหน่งสูงขึ้น

 

 

 

‘วิษณุ’ชี้ทำดีต้องแหวกกรอบหลายชั้น

 

 

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ตำรวจที่ปฎิบัติงานทุกวันนี้ถูกล้อมกรอบอยู่หลายชั้น และท่านจะแหวกกรอบเหล่านั้นออกไปได้ยาก กรอบแรกคือ หลักนิติธรรม กรอบที่สองคือหลักธรรมาภิบาล กรอบที่สามคือ คุณธรรมจริยธรรม ส่วนทางออกของปัญหาทั้งหมดคือ ข้อแรก คือ ต้องให้ความรู้และการศึกษาแก่ข้าราชการตำรวจให้มาก ทั้งเรื่องหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล เรื่องความเป็นกลางทางการเมือง และเรื่องคุณธรรมจริยธรรม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่

 

ข้อสองคือ กระจายอำนาจของตำรวจออกเป็นกรมกองต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกรอบป้องกันอำนาจการแทรกแซงทางการเมืองได้ดี ข้อสามคือ ตำรวจต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจนในการเป็นช่องทางลดช่องว่างการทุจริต ข้อสี่คือ แก้เรื่องโปรของตำรวจให้ลดลง ทั้งอำนาจ ยศ และโอกาสในการทุจริตคอร์รัปชั่น ข้อห้าคือ การตั้งสหภาพแรงงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อหกคือ การตั้งคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม เพื่อป้องกันอำนาจทางการเมือง และข้อเจ็ดคือ ตำรวจต้องคิดว่าตัวเองเป็นประชาชน และอยากให้ความคิดเรื่องตำรวจเพื่อชุมชนเป็นรูปธรรมที่สุด เพราะชุมชนและประชาชนจะได้เป็นเกราะป้องกันให้ตำรวจ

 

อย่างไรก็ตาม กว่า 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะยกระดับกรมตำรวจ ขึ้นเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว แต่ดูเหมือนสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก

 

 

หวังตั้งดีเอสไอขึ้นมาหวังให้ปลอดการเมือง

 

 

จึงเป็นที่มาของแนวคิดแยกอำนาจตำรวจออกไป เป็นหน่วยงานใหม่คือ ‘ดีเอสไอ’ ซึ่งมีหลักการและหน้าที่คล้ายกับหน่วย ‘เอฟบีไอ’ หรือ สำนักสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Bureau of Investigation-FBI) ด้วยหวังว่า จะเป็นองค์กรใหม่ ที่มีความเป็นอิสระ ปลอดการแทรกแซงจากการเมือง เพื่อเข้าไปร่วมสอบสวนคดีที่เกินอำนาจของตำรวจ หรือคดีที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้าน อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

 

การก่อตั้งดีเอสไอในยุคแรก เมื่อพ.ศ.2545 ใช้วิธีโอนย้ายบุคคลากรจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีทักษะเฉพาะด้าน มาเป็นข้าราชการในสังกัด เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ เป็นต้น โดยแบ่งโครงสร้างและหน้าที่รับผิดชอบ เช่น สำนักคดีภาษีอากร ,สำนักคดีการเงินการธนาคาร ,สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา, สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ,สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ, สำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ, สำนักคดีอาญาพิเศษ, สำนักคดีความมั่นคง เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะพยายามตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างสมดุล หรือกระจายหน้าที่ แต่อธิบดีดีเอสไอคนแรก ก็ยังเป็นคนที่โอนย้ายมาจากตำรวจคือ พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับหน่วยอื่น ๆ ของกระทรวงยุติธรรม แต่ไม่รุนแรงมากนัก ต่อมาเมื่อพล.ต.ท.นพดล เกษียณอายุราชการ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ จึงเข้ามารับหน้าที่แทนในปี 2547 ต่อมาพล.ต.อ.สมบัติ ถูกสั่งย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากดีเอสไอสอบสวนคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ล่าช้า ก่อนจะทำเรื่องขอกลับไปเป็นรองผบ.ตร. และมีการแต่งตั้งนายสุนัย มโนมัยอุดม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ มาดำรงตำแหน่งแทน

 

ในห้วงเวลาดังกล่าว ดีเอสไออยู่ภายใต้รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีบทบาทอย่างสูงในการดำเนินคดีกับตระกูลชินวัตร และพวกพ้อง เนื่องจากผู้มีอำนาจในเวลานั้นมองว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีบารมีและเครือข่ายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ไม่น้อย จึงเลี่ยงการใช้งานตำรวจในการทำคดี ส่วนผู้บริหารดีเอสไอระดับรอง ๆ ลงไป ที่โอนย้ายมาจากตำรวจก็ถูกลดความสำคัญลงไป

 

กระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ปี 2551 พรรคพลังประชาชน (ไทยรักไทยเดิม) ขึ้นมาเป็นรัฐบาล นายสุนัยถูกโยกย้ายออกไป และแต่งตั้งพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งก็ถูกมองว่าเป็นคนของพรรคพลังประชาชน ที่จะเข้ามาดูแลคดีพ.ต.ท.ทักษิณและพวก จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องในที่สุด ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนผันทางการเมืองครั้งใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาเป็นรัฐบาล จึงแต่งตั้ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ เมื่อเดือนกันยายน 2552 และดำรงตำแหน่งยาวนานมาจนปัจจุบัน

 

แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลจากประชาธิปัตย์ เป็นพรรคเพื่อไทย (พลังประชาชนเดิม) แต่นายธาริต ยังเหนียวแน่นกับเก้าอี้นี้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

 

จาก99ศพถึงฮั้วสร้างโรงพัก

 

 

หากพลิกปูมนายธาริตจะพบว่า มีความแนบแน่นกับกลุ่มชินวัตรมานานนับสิบปีแล้ว โดยข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่า ก่อนรับราชการอัยการ นายธาริตเป็นผู้ช่วยอาจารย์สอนกฎหมาย จนกระทั่งได้พบกับศ.ดร.คณิต ณ นคร ในฐานะอาจารย์พิเศษ จึงแนะนำให้นายธาริตไปสอบอัยการหลังเรียนจบนิติศาสตร์มหาบัณฑิต และนายธาริตก็สอบได้เป็นอัยการ จนกระทั่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้ระดมนักกฎหมายหลายคน เช่น ศ.ดร.คณิต ณ นคร นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม ร่วมก่อตั้งพรรค ซึ่งในจำนวนนั้นมีนายธาริตอยู่ด้วย ทำให้หลังจากที่พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง นายธาริตจึงได้รับแต่งตั้งให้ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยทำงานกับน.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันนายธาริตยังเป็นคณะที่ปรึกษาของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อีกด้วย

 

เมื่อมีการจัดตั้งดีเอสไอ ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ นายธาริตได้โอนมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดี และต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

 

 

นอกจากนี้นายธาริตยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อครั้งมีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ.2553 นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดีด้วย

 

นายธาริตรับบทหัวหมู่ทะลวงฟันบรรดาแกนนำและดำเนินคดีม็อบ ชนิดถึงลูกถึงคน ในส่วนของคดีผู้เสียชีวิต 99 ศพ ดูเหมือนจะดำเนินการไปอย่างเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ จนเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาครองอำนาจ เก้าอี้อธิบดีดีเอสไอจึงถูกเพ่งเล็งว่าต้องปรับเปลี่ยนแน่นอน

 

แต่กาลกลับเป็นว่านายธาริต สามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้ พร้อมการทำหน้าที่ซึ่งเปลี่ยนไป จนถูกฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกรณีสลายม็อบ 99 ศพ ซึ่งเป้าใหญ่ไม่พ้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผอ.ศอฉ. ซึ่งดีเอสไอทำสำนวนการสอบสวนและพบว่า ทั้งสองคนเข้าข่ายถูกดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรม หลังศาลอาญาไต่สวนการตายของเหยื่อบางราย และมีคำสั่งว่าเป็นการตายโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ยังโดนกระหน่ำอีกรอบกรณีโครงการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันมีแต่เสาเท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อนุมัติให้รวบประมูลงานเป็นสัญญาเดียว จากแต่เดิมสำนักงานตำรวจแห่งชาติสรุปว่าให้ประมูลงานแยกเป็นรายภาค ซึ่งดีเอสไอ สรุปว่า โครงการนี้เข้าข่ายฮั้วประมูล

 

 

            “ห้ามไม่ได้ เพราะงานที่เราทำมันกระทบกับคนวงกว้าง บ้านเมืองแบ่งแยกเป็น 2 ค่าย เพราะฉะนั้น ถ้าถูกใจฝ่ายหนึ่งก็ชม อีกฝ่ายหนึ่งไม่ถูกใจก็ด่า แต่ว่าสิ่งที่เรายืนยันมาตลอดคือทำไปตามกฎหมาย เราไม่ได้ทำโดยอคติ เราไม่ช่วยใคร และไม่แกล้งใคร” นายธาริต เพ็งดิษฐ์ กล่าว

 

 

 

 ยากหลุดพ้นการเมือง

 

จากบทบาทและเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและดีเอสไอ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตกระทั่งถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมือง เข้ามามีอิทธิพลเหนือทั้ง 2 หน่วยงานไม่มากก็น้อย

 

แต่หากไม่นับคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองโดยตรง ทั้งตำรวจและดีเอสไอทำหน้าที่ในขอบเขตอำนาจของตน ได้ดีในระดับหนึ่ง ขณะที่ตำรวจอาจถูกกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วนดีเอสไอยังไม่มีเรื่องนี้มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะดีเอสไอไม่ได้ทำงานใกล้ชิด หรือให้คุณให้โทษกับประชาชนมากเท่ากับตำรวจนั่นเอง แต่หากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือนักการเมือง ดีเอสไอจะถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลแทบทุกครั้ง

 

ถึงวันนี้แม้รัฐจะพยายามสร้างหน่วยงานใดขึ้นมาเพื่อคานอำนาจ กระจายอำนาจหน้าที่ ให้มีลักษณะคล้ายการทำงานของตำรวจ สนับสนุนงานที่สลับซับซ้อนกว่า หรือกว้างกว่า แต่หากรัฐยังแสวงหาอำนาจโดยใช้หน่วยงานเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองก็ตาม ก็ยากที่หน่วยงานนั้นจะเป็นอิสระหรือปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: