แฉรัฐบาลเร่งดันกม.กองสลากใหม่ เปิดช่องขายหวยบนดิน-พนันบอล รายได้ไม่ต้องส่งคลัง-หวั่นโกงอื้อ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 8 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1911 ครั้ง

 

ศูนย์ข่าว TCIJ เคยนำเสนอความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขกฎหมายการพนัน ซึ่งเนื้อหากฎหมายเป็นการปูทางให้เปิดคาสิโนขึ้นในประเทศไทย โดยให้อำนาจรมว.มหาดไทยสามารถโยกย้ายประเภทการพนันจากบัญชี ก. ไปบัญชี ข. ได้

 

แต่ ร่าง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.... ไม่ใช่ความพยายามเดียวของรัฐบาลชุดนี้ในการแก้ไขกฎกติกาของประเทศว่าด้วยการพนัน ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่...) พ.ศ.... ยังเป็นกฎหมายอีกฉบับที่อยู่ระหว่างการผลักดันในสภาผู้แทนราษฎร ที่เนื้อหามีการสอดรับ เชื่อมโยงกัน เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐแสวงหารายได้จากการพนันรูปแบบต่าง ๆ

 

เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ที่เสนอโดย ส.ส. รัฐบาลกลุ่มหนึ่ง บางประเด็นเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามอง โดยเฉพาะการอำนาจสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลให้สามารถออกสลากรูปแบบอื่น ๆ ได้ รวมถึงการนำเงินจากการขายสลากรูปแบบอื่น ๆ ไปใช้โดยไม่ต้องนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน

 

 

แก้กฎหมายกองสลาก หวังไม่ต้องส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดิน

 

 

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ นักวิชาการด้านกฎหมายการพนันและกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย รวมถึงเป็นอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดสรรเงินจากการจำหน่ายสลากของรัฐเพื่อพัฒนาสังคม และลด ละ เลิกพนัน วุฒิสภา (พ.ศ.2555-2556) อธิบายว่า ในอดีตนับแต่มีการก่อตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี พ.ศ.2482 จนถึงก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เงินรายได้ที่ได้จากการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาลไม่มีการควบคุม ตรวจสอบ  ทำให้กลุ่มนักการเมืองและผู้มีอำนาจบริหารประเทศในบางยุคสมัยสามารถเข้ามาฉกฉวยหาผลประโยชน์ เมื่อถึงสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้มีการผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมเงินก้อนนี้

 

ในมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ จึงกำหนดให้แบ่งเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล เงินรายได้อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 28 ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และอีกไม่เกินกว่าร้อยละ 12 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย

 

ส่วนร่างกฎหมายฉบับใหม่ แม้ว่าการจัดแบ่งเงินรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลตามเดิม แต่ก็มีบางประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะกรณีสลากรูปแบบอื่น ไพศาล กล่าวว่า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          “หลักการและเหตุผลของผู้เสนอร่างกฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแก้เพื่ออะไร แต่ที่ผมทราบจากอดีตผู้อำนวยการกองสลากฯ ท่านหนึ่งว่า รัฐบาลต้องการหารายได้จากสลากรูปแบบใหม่เพื่อใช้โครงการต่าง ๆ เช่น การให้ทุนการศึกษา กิจกรรมกีฬา ฯลฯ ผมมีข้อสังเกตคือ ร่างกฎหมายสลากของ ส.ส.รัฐบาล กำหนดให้ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ค่อนข้างมาก ไม่มีระบบตรวจสอบการใช้เงินเพราะเป็นเงินนอกงบประมาณ”

 

 

กม.พนัน-กม.กองสลาก หารายได้จากพนันบอลถูกกฎหมาย

 

 

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในร่างกฎหมายสำนักงานสลากฯ ฉบับใหม่ คือในมาตรา 5 ซึ่งของเดิมกำหนดให้สำนักงานสลากฯ มีหน้าที่แค่ออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเท่านั้น แต่มาตรา 5 ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สำนักงานสลากฯ ให้สามารถออก ‘สลากรูปแบบอื่น’ ได้ เช่น สลากตัวเลข, สลากล็อตโต, สลากกีฬา และสลากรู้ผลทันทีหรือสลากแบบขูด เป็นต้น

 

 

 

 

นายไพศาลขยายความคำว่า สลากกีฬา ว่า เป็นการทายผลกีฬาต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายการพนันของไทยยังไม่อนุญาตให้ทำได้ แต่กรณีนี้ไม่สามารถพิจารณาแยกเฉพาะกฎหมายสำนักงานสลากฯ ยังต้องเชื่อมโยงกับร่างกฎหมายการพนันที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งรมว.มหาดไทย มีอำนาจทำให้การพนันฟุตบอลเป็นการพนันที่ถูกกฎหมาย เพียงแค่โยกการพนันบอลจากบัญชี ก. ที่ไม่อนุญาตให้เล่น ไปยังบัญชี ข. ที่อนุญาตให้มีการพนันได้ หากเป็นไปตามนี้ สำนักงานสลากฯ ก็สามารถเปิดทายผลฟุตบอลได้

 

 

กม.เปิดช่องไม่ต้องส่งรายได้เข้าคลัง หวั่นเป็นถังเงินนักการเมือง

 

 

นอกจากนี้ มาตรา 22 เดิม ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังถูกแยกย่อยออกเป็นมาตรา 22/1 และ 22/2

 

มาตรา 22/1 ระบุว่า เงินที่สำนักงานสลากฯ ได้รับจากการจำหน่ายสลากรูปแบบอื่นให้จัดสรรเป็น 2 ส่วนคือ ร้อยละ 80 เป็นกองทุนสะสมเงินรางวัลและให้นำเงินจากกองทุนนี้มาจ่ายเป็นเงินรางวัล ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและค่าใช้จ่ายในการจำหน่าย

 

ส่วนมาตรา 22/2 ระบุว่า เมื่อกองทุนเงินสะสมมีเงินเกินกว่า 10,000 ล้านบาท ให้คณะกรรมการสลากฯ พิจารณาจัดสรรเงินส่วนที่เกินเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมด้านการศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 สาธารณสุขไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 การกีฬาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และที่เหลือจัดสรรให้สังคมสงเคราะห์และสาธารณะประโยชน์ด้านต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

 

 

เห็นได้ว่า มาตรา 22/1 และ 22/2 เขียนขึ้นเพื่อรองรับกับมาตรา 5 โดยรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลยังคงถูกจัดสรรในสัดส่วนเดิม แต่จะสังเกตว่าการจัดสรรรายได้จาก ‘สลากรูปแบบอื่น’ สำนักงานสลากฯ ไม่ต้องจัดแบ่งรายได้เป็นรายได้แผ่นดิน

 

นายไพศาลชี้ว่า หากมองโดยผิวเผินจะคิดว่า มาตรา 22/1 และ 22/2 เป็นเรื่องที่ควรให้การสนับสนุนคือ เป็นการนำเงินไปช่วยพัฒนาสังคม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเปิดช่องให้สำนักงานสลากฯ สามารถนำเงินจากกองทุนสะสมเงินรางวัลหลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปีไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่อ้างว่าเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่ไม่มีระบบการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก เพราะให้อำนาจแก่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลในการพิจารณา ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากนักการเมืองเพื่อดึงเงินส่วนนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ของตน วิธีการบริหารจัดการเงินกองทุนลักษณะนี้ในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษจะมีหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่บริหารกองทุน และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติเงินทุนให้แก่ผู้ขอทุน ไม่ใช่การหว่านเงินตามนโยบายรัฐบาล

 

 

เพิ่มเงินค่าบริหารและจัดจำหน่าย ไร้การตรวจสอบ หวั่นคอร์รัปชั่น

 

 

จุดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือเงินค่าบริหารจัดการและจัดจำหน่าย ไพศาล อธิบายว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่กำหนดเรื่องนี้เป็น 2 กรณีคือ กรณีแรกสลากกินแบ่งรัฐบาลยังคงกำหนดไว้เหมือนเดิมคือ ไม่เกินร้อยละ 12 แต่กรณีที่ 2 ในส่วนของรายได้จากการจำหน่ายสลากรูปแบบอื่น กลับกำหนดเงินค่าบริหารจัดการและจัดจำหน่ายแยกออกมา มากถึงร้อยละ 20 ซึ่งยังไม่เคยมีประเทศไหนในโลกที่กำหนดเงินค่าบริหารจัดการไว้สูงขนาดนี้ นอกจากนี้ ในมาตรา 35 ยังระบุอีกว่า ในกรณีที่ได้รับเงินช่วยราชการจากตัวแทนจำหน่าย ให้นำเงินส่วนนี้สมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งกฎหมายเดิมระบุให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

 

 

หมายความว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและจัดจำหน่ายของสำนักงานสลากฯ จะสูงขึ้นจากเดิมมาก

 

 

            “กฎหมายปัจจุบันกำหนดค่าบริหารจัดการของสำนักงานสลากฯ ไว้ไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ก็ใช้เต็ม 12 เปอร์เซ็นต์ ค่าบริหารจัดการจริงๆ ของสำนักงานสลากประมาณร้อยละ 2-3 ต่อปีเท่านั้น ที่เหลือจัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายที่เป็นองค์กรการกุศล กลุ่มยี่ปั๊วที่ได้โควต้าสลาก และผู้ว่าราชการจังหวัดในรูปของเงินส่วนลด แต่ปัจจุบันก็ยังมีการขายสลากเกินราคาคือ คู่ละ 100-200  บาท ถ้าเลขสวยหรือสลากชุดอาจสูงถึง 150 บาท เพราะมีการกินหลายทอด ระบบโควตาสลากจึงเป็นสาเหตุของปัญหาสลากเกินราคา และยังมีการคิดค่าหัวคิวของมูลนิธิบางแห่งที่มิได้ตั้งเพื่อกิจการสาธารณกุศลและกลุ่มนักการเมือง

 

 

            “สำนักงานสลากฯ ให้โควตาสลากแก่ยี่ปั๊ว องค์กรการกุศล ผู้ว่าราชการจังหวัดในรูปส่วนลดประมาณร้อยละ 7-9 ของราคา สลากคือ สลาก 1 คู่ (2 ฉบับ) ไม่ได้ขายให้ในราคา 80  บาท แต่ขายต่ำกว่านั้น เงินส่วนลดนี้ปีหนึ่งหลายพันล้าน เงินส่วนนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย เพราะสำนักงานสลากไม่มีศักยภาพในการจำหน่ายสลากเอง  จะเห็นว่าสำนักงานสลากฯ ทำงานไม่กี่อย่าง แต่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการค่อนข้างเยอะ ซึ่งหากคิดตามกฎหมายใหม่เงินค่าบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากจะถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษที่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณรวมกันทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 9.5” นายไพศาลกล่าว

 

โดยในปี 2552 สำนักงานสลากฯ มีรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งสิ้น 44,160 ล้านบาท ในรายงานงบการเงินปีงบประมาณ 2552 พบว่า เงินค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายของสำนักงานสลากฯ (เงินส่วนลด) สูงถึง ราว 4,141 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะสูงขึ้นอีกมาก หากมีกฎหมายสลากฉบับใหม่และอาจเป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่น เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้

 

 

 

วุฒิฯ แนะแบ่งคณะกรรมการเป็น 3 ชุด สร้างความเป็นอิสระ ตรวจสอบได้

 

 

แม้ร่างกฎหมายสำนักงานสลากฯ ฉบับใหม่จะเพิ่มอำนาจและเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่สำนักงานสลากฯ แต่ประเด็นความโปร่งใสและการตรวจสอบได้กลับถูกละเลย

 

มาตรา 11 ทั้งในกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายฉบับใหม่ ตำแหน่งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลยังคงโครงสร้างเดิมคือปลัดกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการ และผู้ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 3 คน

 

นายไพศาลกล่าวว่า โครงสร้างคณะกรรมการมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและประเด็นผลประโยชน์ขัดกัน เนื่องจากทั้งกระทรวงมหาดไทยและสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยต่างเป็นหน่วยงานที่ได้รับโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสำนักงานสลากฯ ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักธรรมาภิบาล

 

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย วุฒิสภา เสนอว่า ควรปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาลออกเป็น 3 ส่วนคือ คณะกรรมการกำกับกิจการสลาก (Lottery Regulation Board) คณะกรรมการบริหารกิจการสลาก (Lottery Operation Board) และคณะกรรมการบริหารกองทุน (Lottery Grant Board) โดยคณะกรรมการทั้ง 3 ส่วนจะต้องมีความเป็นอิสระ แยกอำนาจหน้าที่ออกจากกันอย่างชัดเจน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

นายไพศาลอ้างอิงคำพูดของ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

 

            “เช่น ในอังกฤษ การออกรางวัลสลากจะมีอีกองค์กรหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการสำนักงานสลากฯ ของเขาจะไม่ยุ่งกับการออกรางวัล แต่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสลากเท่านั้น เนื่องจากจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส เพราะปัญหาข้อสงสัยเรื่องล็อกเลขก็เกิดจากตรงนี้ คือให้องค์กรเดียวเป็นคนทำและไม่มีองค์กรอื่นมาตรวจสอบ จึงควรแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 3 ชุด จะแยกหน้าที่กันชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ มีความเป็นอิสระ ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ตลอดเวลา ทั้งการได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิก็จะต้องมีกระบวนการสรรหา ไม่ใช่ได้มาโดยการแต่งตั้งจากมติคณะรัฐมนตรี แต่ต้องมีกระบวนการสรรหาอย่างเปิดกว้าง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มองในแง่หนึ่ง การปรับแก้กฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2517  ให้มีความทันสมัยขึ้น โดยหลักการนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การแก้กฎหมายโดยเพิ่มอำนาจหน้าที่และเม็ดเงินให้แก่สำนักงานสลากฯ แต่กลับละเลยเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดูจะตอบคำถามเรื่องธรรมาภิบาลแก่สังคมไม่ได้

 

ทั้งการให้สำนักงานสลากฯ สามารถออกสลากรูปแบบอื่นได้ ก็ดูจะสร้างความวิตกกังวลว่า จะเป็นการส่งเสริมการพนันให้แพร่ระบาดยิ่งขึ้นในอนาคต

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง ‘แฉแก้กม.การพนัน-ปูทาง'คาสิโน' ให้อำนาจรมว.มหาดไทยทำได้เอง น่าห่วงดันหนี้พนันให้ถูกกฎหมาย’ http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=2010

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: