รุมจวกขบวนการทำ‘อี-เอชไอเอ’ ชี้‘ผิด-มั่ว-ห่วย’ก็ฮั้วอนุมัติให้ผ่าน นักวิชาการระบุปรับหลายหนไม่คืบ

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 8 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2180 ครั้ง

 

 

‘ปากบารา’เปิดเวทีจวกอีไอเอไม่ชอบธรรม-ละเมิดชุมชน

 

 

เวที “ชำแหละขบวนการจัดทำอีไอเอ ว่าไม่ชอบธรรม ผิดขั้นตอนละเมิดสิทธิชุมชน ผิดขึ้นตอนอย่างไร” จัดขึ้นที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนชุมชน จากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เดินทางมาร่วมงาน อาทิ กรณีเหมืองหินชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิจ.สงขลา การขุดเจาะน้ำมัน จากเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี กรณีโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา กรณีท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรม บ้านปากบารา จ.สตูล โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ท่าเรืออุตสาหกรรม บริษัท เชฟรอน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

 

นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายบ้านเกิดท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวบนเวทีกับผู้มาร่วมงานว่า เราคงต้องมาพูดกันว่า ทำไมสิ่งแวดล้อมจึงถูกทำลาย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการไม่รักษาสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ กระบวนการอีไอเอเป็นเครื่องมือในการไม่รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นมิติของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งภาคใต้มีบทเรียนเรื่องนี้หลายกรณีด้วยกัน เช่น กรณีเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิจ.สงขลา การขุดเจาะน้ำมันที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี กรณีโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สขลา กรณีท่าเรืออุตสาหกรรมบ้านปากบารา จ.สตูล โรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ ท่าเรืออุตสาหกรรม บริษัท เชฟรอน อ.ท่าศาลาจ..นครศรีธรรมราช

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เป็นแค่ตรายางสร้างความชอบธรรมให้โครงการขนาดใหญ่

 

 

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นทิศทางที่จะนำพาสังคมประเทศสู่ความมั่นคงยั่งยืน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกป้อง รักษาซึ่งวิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาพื้นที่ภายใต้แผนและโครงการต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การมีส่วนร่วมเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นตรายางให้กับกลุ่มทุน ที่ใช้เงื่อนไข กลไกรัฐสร้างความชอบธรรมในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น เท่านั้น

 

นายประสิทธิชัยกล่าวต่อว่า กลไกสำคัญประการหนึ่ง ที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปล้นชิงและทำลายหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ กระบวนการที่เรียกว่า “การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ที่เรียกว่า EIA หรือ EHIA” กระบวนการนี้ได้อ้างความเหนือกว่า และถูกทำให้ดูเสมือนว่า เป็นคำตอบของทุก ๆ อย่าง ของการพัฒนาท้องถิ่นพื้นที่

 

ภาคใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เผชิญกับแนวคิดการพัฒนาสมัยใหม่ ที่อ้างว่าจะนำพาภาคใต้สู่ความรุ่งโรจน์ สู่ความเจริญวัฒนา ผ่านโครงการขนาดยักษ์มากมายเหมือนดอกเห็ด เช่น โครงการท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย ท่าเรือเชฟรอนท่าศาลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา การขุดเจาะน้ำมันเกาะสมุย ระเบิดหิน สร้างเขื่อน หรือกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้ และเช่นกัน พวกเขาก็ได้หยิบยกเอากระบวนการศึกษาดังกล่าวมาเป็นเครื่องนำทางสู่ผลประโยชน์ของเขาเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘อีไอเอ’ประเทศไทยทำผิด-ห่วยยังไงก็ผ่าน

 

 

 

            “วันนี้หลายชุมชนในหลายจังหวัดมาพบกัน ณ ที่ปากบารา เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการศึกษาอีไอเอดังกล่าว พบว่าแท้จริงแล้ว ระบบอีไอเอประเทศไทยเป็นเพียงกระบวนการฉ้อฉลหลอกลวงเท่านั้น เราพบว่าแทบไม่มีเลย ที่ทำอีไอเอแล้วไม่ผ่าน ทำผิดขั้นตอนก็ผ่าน เวทีประชาพิจารณ์ล่มทุกครั้งก็ผ่าน คนพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมก็ผ่าน ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงก็ผ่าน ชาวบ้านยกมือไม่เห็นด้วยท่วมท้นก็ผ่านการพิจารณา” นายประสิทธิชัยกล่าว

 

 

สรุปได้ว่าอีไอเอประเทศไทย ผิดอย่างไรก็ผ่าน และสิ่งสำคัญที่สุดกระบวนการทำอีไออี ทำให้สิทธิในการร่วมกำหนดการพัฒนาของประชาชนหายไปตลอดกาล ชี้ให้เห็นได้ว่า กระบวนการอีไออีเป็นกระบวนการที่ อยู่ผิดที่ ผิดเวลา และฉ้อฉลอย่างตั้งใจ ซึ่งการพัฒนาในพื้นที่ใด ๆ ก็ตาม ต้องเริ่มจากการค้นหาศักยภาพของตน เปิดให้ประชาชนร่วมวางแผนพัฒนา-ออกแบบโครงการ สอบถามความยินยอมจากชุมชน แล้วจึงค่อยศึกษาว่าโครงการนั้น ๆ มีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอย่างไร

 

นายประสิทธิชัยกล่าวอีกว่า เมื่ออีไอเอทำได้เพียงขบวนการฉ้อฉล จึงขอเรียกร้องให้รัฐหรือเอกชน จะต้องยุติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในทุกโครงการรัฐ ต้องทบทวนและแก้ไขข้อผิดพลาดของกระบวนการจัดทำอีไอเอ หรือ อีเอชไอเอ รวมทั้งจัดให้อยู่ถูกที่ ถูกเวลา ตามที่ควรจะเป็นก่อน หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เราจะถือว่ารัฐไม่รับฟังเสียงของประชาชาชน และจะไม่ยอมรับกระบวนการศึกษาใด ๆที่จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ในเครือข่ายโดยเด็ดขาด เราเห็นว่าการอนุมัติอนุญาตโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปก่อนแล้วโดยใช้ “กระบวนการอีไอเอประเทศไทย-ผิดก็ผ่าน” ถือว่า บุคคล หน่วยงานอนุมัติ อนุญาตนั้น ๆ อาจมีความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงประชาชน และใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ จึงให้ประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบ บุคคล หน่วยงานนั้น ๆ อย่างใกล้ชิด

 

 

ควรให้ชุมชนศึกษาก่อนว่าควรหรือไม่ควรทำโครงการ

 

 

ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี เลขานุการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า ภาคใต้มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ล่าสุดก็มีเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน หลายโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ก็อยู่ในนั้น หรือไฟดับที่ภาคใต้ ก็เกี่ยวข้อง ประเด็นที่สำคัญคือ การเริ่มโครงการขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มองว่าคำตอบอยู่ที่อีไอเอหรืออีเอชไอเอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ พบข้อเท็จจริงว่า หนึ่ง กระบวนการศึกษาอีไอเอ อยู่ผิดที่ผิดเวลา ควรมีการศึกษาหรือให้ประชาชนในพื้นที่ศึกษาเรื่องความเหมาะสม ยุทธศาสตร์พื้นที่ ศักยภาพพื้นที่ ก่อน จึงจะมาออกแบบว่า ควรมีโครงการอะไรในพื้นที่และหากประชาชนเห็นด้วยว่า ควรมีโครงการอะไร จึงต้องมาทำอีไอเอ

 

สองอีไอเอทุกพื้นที่เราพบว่าอีไอเอ ประเทศไทยผิดอย่างไรก็ผ่าน มีคำตอบอยู่แล้วว่าต้องผ่าน การทำอีไอเอ เป็นเพียงการลอกเพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น เพราะทำอีไอเอหรือไม่ได้ทำ มีคำตอบเหมือนกันคือโครงการเกิดขึ้นแน่นอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แฉเหมืองหินขโมยชื่อชาวบ้านไปประกอบอีไอเอ

 

 

ขณะที่ นายเอกชัย อิสระทะ ตัวแทนจากกรณีเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงอีไอเอ เราพูดในนามตัวแทนจากเหมืองหินหรือเหมืองแร่ทั่วประเทศได้ มุมของเราคือ การทำอีไอเอเหมืองหินเขาคูหา เป็นเพียงการขโมยรายชื่อจากการประชุมหมู่บ้านเรื่องผักสวนครัวรั้วกินได้ เพื่อนำไปใช้อ้างว่ามาจากการเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องเหมืองแร่ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ทำ ซึ่งทำให้อีไอเอ ฉบับดังกล่าวสมบูรณ์ เป็นปลายทางนำไปสู่การขออนุญาตให้เกิดเหมืองหินในที่สุด ซึ่งเป็นการทำร้ายประชาชน อย่างรุนแรง

 

 

            “ขั้นตอนการทำอีไอเอเหมืองหินเขาคูหา ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้มาก่อน รู้เพียงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร เมื่อทำหนังสือไปขออีไอเอจาก อบต. จากอำเภอ จากจังหวัด หน่วยงานดังกล่าวไม่มีเอกสาร ไม่มีรายละเอียดจึงต้องไปขอจากอุตสาหกรรมจังหวัด โดยการขอถ่ายเอกสารชุดหนึ่งต้องจ่ายเงิน 700 บาท เมื่อทางชุมชนได้เอไอเอมาก็นำไปถ่ายเอกสารเพื่อเผยแพร่สื่อสารในพื้นที่ชุมชน  ทำให้ชุมชนเห็นชื่อตนเองอยู่ในรายงานอีไอเอ โดยที่ตัวเองไม่ได้เห็นด้วยกับการทำเหมืองหิน แต่ถูกขโมยชื่อไปใช้ในการทำอีไอเอ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขบวนการทำอีไอเอ แม้แต่ขโมยชื่อชาวบ้านที่มาประชุมเรื่องผักสวนครัวรั้วกินได้มาประกอบ ก็สามารถได้รับการอนุมัติ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ได้” นายเอกชัยกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อีไอเอท่อก๊าซไทยมาเลย์ถูกสั่งแก้ถึง 6 ครั้ง

 

 

ทางด้านน.ส.สุภวรรณ ชนะสงคราม จากกรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย กล่าวว่า กรณีอีไอเอโครงการท่อส่งก๊าซและ โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มีการทำอีไอเอและมีการแก้ไข 6 ครั้ง เริ่มจากเจ้าของโครงการศึกษาอีไอเอเสร็จแล้วส่งให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญ (คชก. )  เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่ผ่าน ก็ส่งกลับให้ไปแก้ไขใหม่ แก้เท่าไหร่ก็ได้ให้ไปถึงคำตอบสุดท้ายให้ได้ว่าผ่าน เพราะคนจ้างคือบริษัท และลูกจ้างคือบริษัททำอีไอเอ เมื่อกติกามีช่องโหว่ สุดท้ายทำให้อีไอเอผ่านไปได้

 

โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย แก้ไขอีไอเอไปแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งมี อาจารย์ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในขณะนั้น มองว่าถ้าแก้แล้วผ่านไม่บรรลุเจตนา จึงไม่ให้อีไอเอผ่าน ประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อคชก.ไม่ให้ผ่านอีไอเอ  สผ.จึงทำหนังสือถึง บริษัท ทรานส์ไทยมาเลเซีย จำกัด โดยแจ้งว่าอีไอเอผ่านแล้ว แต่ ม.ล.วัลย์วิภายืนยันว่าไม่ผ่าน ทางด้าน อาจารย์วสันต์ พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จากการทำหน้าที่ของสผ.ว่า เป็นความผิดการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

 

แฉท่อก๊าซ-โรงแยกก๊าซสร้างทั้งที่อีไอเอไม่ผ่าน

 

 

น.ส.สุภวรรณกล่าวต่อว่า บทบาทของสผ.ส่งผลให้โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียก่อสร้างได้ทั้ง ๆ ที่อีไอเอยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงฟ้องศาลปกครอง เรื่องค้างอยู่ในศาลปกครอง 10 ปีแล้ว ศาลปกครองสูงสุดยังไม่พิพากษา แต่ตุลาการ แถลงออกมาแล้วว่า อีไอเอโครงการท่อส่งก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียไม่ถูกต้อง และการอนุญาตก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง ในส่วนของชุมชนจะนะ ได้ให้ความจำกัดความอีไอเอไปแล้วว่า เป็นตราประทับที่นำไปสู่สิ่งเลวร้ายในพื้นที่ เครื่องมือที่สร้างตราบาปให้เกิดขึ้นกับชุมชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เชฟรอนไม่เคยให้ความรู้ เน้นแจกของอย่างเดียว

 

 

ด้าน น.ส.จิตดา จิตนัง จากกรณีโครงการท่าเรือ อุตสาหกรรมท่าเรืออุตสาหกรรม บริษัทเชฟรอน อ.ท่าศาลาจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอีไอเอของเชฟรอน เริ่มจากการกำหนดพื้นที่ศึกษาอีไอเอ จากรัศมีของที่ตั้งโครงการเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น โครงการท่าเรืออุตสาหกรรม พื้นที่ตั้งอยู่ ต.กลาย แต่พี่น้องท่าศาลาไปออกเรือ ทำมาหากินกันข้ามตำบล ข้ามจังหวัด เกินกว่ารัศมีการศึกษาอีไอเอ

 

 

            “การสร้างการรับรู้ของบริษัท เชฟรอน มีน้อยมาก นับครั้งได้ แต่สิ่งที่เชฟรอนและบริษัทที่ปรึกษาทำมากที่สุด คือการแจกสิ่งของต่าง ๆ ผ่านวัด มัสยิด อบต. ชุมชนต่าง ๆ แม้แต่เรื่องการดูดส้วม ขบวนแจกของ มีคำถามว่าการดูดส้วมให้ชาวบ้าน อยู่ในกระบวนการทำอีไอเอด้วยหรือไม่ เวลาเราพูดถึงอีไอเอ บริษัทไม่ค่อยใส่ใจเรื่องกระบวนการ แต่ใส่ใจเรื่องการสร้างการยอมรับของประชาชน กิจกรรมซีเอสอาร์ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นจะบอกแต่คนที่เห็นด้วย คนไม่เห็นด้วยไม่บอก เก้าอี้ที่จัดไว้ ก็มีหมายเลข และระบุไว้เลยว่าใครนั่ง คนไม่เห็นด้วยไม่มีสิทธิเข้าไปร่วม ให้เงินห้าร้อยบาทสำหรับผู้เข้าร่วมเวที ประมาณสองปีที่แล้วจัดที่อบต.กลาย มีคนพาไปลงทะเบียนและพาไปนั่ง หลายครั้งคนที่ไม่เห็นด้วยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเวที” น.ส.จิตดากล่าว

 

 

มั่วข้อมูลอ้างมีเรือประมงแค่ 9 ลำ ทั้งที่มีถึง 2,000 ลำ

 

           

น.ส.จิตดากล่าวต่อว่า เจตนารมณ์เรื่องการมีส่วนร่วม ของการรับฟังความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถูกนำไปใช้ไม่ถูกต้อง ด้วยกระบวนการเหล่านี้ ทำให้การให้ข้อมูลผิดพลาด อีไอเอบอกว่ามีเรือชาวประมงเพียงเก้าลำ แต่ความเป็นจริง มีเรือในพื้นที่กว่า 2,000 ลำ อีไอเอบอกว่าทะเลท่าศาลาร้าง ซึ่งไม่จริง ชาวบ้านจึงเก็บรวบรวมข้อมูล เรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทะเลศาลา ข้อมูลที่ได้แตกต่างจากข้อมูลในอีไอเอของเชฟรอน อย่างมาก ชุมชนจึงมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าไม่เอาเชฟรอน และขอปกป้องทะเลแหล่งอาหารของชุมชนของประเทศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักวิชาการชี้ปรับวิธีการมาหลายรอบแต่ก็ไม่สำเร็จ

 

 

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม กล่าวว่า กระบวนการอีไอเอมีปัญหาอย่างมาก หลายฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะต้องแก้ไขปัญหา ต้องปฏิรูปโดยเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมายังปฏิรูปไม่สำเร็จ ทำได้เพียงการแก้ไขแบบอุดรอยรั่ว ปะผุ แต่จริง ๆ มันถึงขั้นต้องปฏิรูป มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา หน่วยงานภาครัฐก็อึดอัด สผ.ก็รู้ปัญหา พยายามผลักดันก็ไม่สำเร็จ เพราะฝ่ายที่ได้ประโยชน์ต่อต้านอย่างมาก ช่วงปี 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นปัญหาจึงผลักดันมาตรา 67 ออกมา ปี 2552 มีเอชไอเอ ปี2553 มีการกำหนดให้มีกรรมการสี่ฝ่าย เพิ่มเรื่องทำบัญชีรายชื่อโครงการ 11 ประเภทขึ้นมา ปี 2555 มีการผลักเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการรื้อโครงสร้างและระบบอีไอเอ ซึ่งมีสผ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมด้วย แต่เส้นทางการปฏิรูปยังไม่สำเร็จ

 

ดร.บัณฑูรกล่าวต่อว่า ปัญหาขบวนการ อีไอเอ ที่พูดถึงคือ 1.ปัญหาในส่วนโครงสร้างและระบบอีไอเอ คือ เจ้าของโครงการเป็นผู้จ้างบริษัทมาทำรายงาน ความเป็นอิสระของการทำรายงาน รายงานไม่ผ่านก็ไม่ได้เพราะต้องรับค่าจ้างงวดสุดท้าย ข้อเสนอคือ ควรมีกองทุนกลางเพื่อจ้างให้บริษัททำอีไอเอ

 

2.ต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่า การพัฒนาพื้นที่นี้ควรพัฒนาทิศทางไหน หลังจากนั้นอีไอเอจึงจะเข้ามา 3.เราใช้ระบบบัญชีโครงการ กำหนด เช่น โรงไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ ต้องทำอีไอเอ ข้อเสนอคือ ต้องทำระบบบัญชีแบบเปิด เพื่อให้ชุมชนเสนอเข้ามาได้ 4.ทำอย่างไรก็ผ่าน ต้องเปลี่ยนเป็นระบบว่า ถ้าเห็นแนวโน้มปัญหาอย่างรุนแรง ต้องมีข้อเสนอให้ยุติโครงการ ไม่ใช่ให้ไปแก้ ทุกวันนี้อีไอเอที่ผ่านความเห็นชอบไปแล้วสิบปีที่แล้ว สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก อีไอเอไม่มีอายุ ดังนั้นอีไอเอต้องมีอายุ

 

ดร.บัณฑูรกล่าวอีกว่า งานที่ต้องทำเดินหน้าต่อไป การทำกติกาสังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น ในการตัดสินใจการพัฒนา ตัวกติกาของระบบคือกฎหมาย ร่างตั้งต้น ซึ่งจะมีพลังได้นั้นต้องเชื่อมกับชุมชน ต้องทำกับเนื้อหากฎหมายให้สอดรับกับพื้นที่ ซึ่งต้องมาจัดเวทีเอาปัญหาจริง ไปร่วม และแปรเป็นเนื้อหากฎหมาย เพื่อตรงกับความต้องการมากที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ทำอีไอเอก็แค่เพื่ออนุมัติโครงการ คำตอบทุกอย่างมีธงอยู่แล้ว

 

 

ส่วน ดร.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจัดทำโครงการที่ผ่านมา การทำอีไอเอ เป็นการทำเพื่อการอนุมัติโครงการเท่านั้น โดยเฉพาะมีธงคำตอบอยู่แล้ว 2.ประเด็นที่ประชาชนไม่ยอมรับ คือกระบวนการการมีส่วนร่วม นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง และการไม่ยอมรับโครงการ 3.หลายพื้นที่ อนุมัติหนึ่งโครงการ แล้วมีโครงการที่สอง ที่สาม ตามมาด้วย เราจึงควรพิจารณา ควรมองตั้งแต่ทิศทางการพัฒนา ก่อนจะไปมองเรื่องโครงการ เช่น ทะเลมีตัวเลขมูลค่าการจับสัตว์น้ำ มากถึงสองล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ต่อชุมชนจำนวนมาก ถ้าทางเลือกการพัฒนามีมากกว่าหนึ่งท่าเรือ จะดีกว่าหรือไม่ เช่น มากกว่าเรื่องท่าเรือปากบารา ควรมีการวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ก่อน ต้องมีการศึกษาศักยภาพพื้นที่ก่อน และต้องบอกด้วยว่ามากน้อยเพียงใด โครงการที่จะมาจะเป็นโครงการแบบไม่สิ้นสุด ศักยภาพเหมาะเรื่องใด เรื่องใดไม่เหมาะไม่ควรนำเข้ามาสู่พื้นที่ การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์

 

            “ปัญหาตอนนี้เกิดจากการปฏิบัติ ในการนำแผนมาปฏิบัติ สมมติว่า มีอุทยานแห่งหนึ่ง มีแหล่งต้นน้ำลำธาร ถ้าพื้นที่นั้นต้องเปลี่ยนเป็นเขื่อน พื้นที่อุทยานก็เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม และมีโครงการสร้างเขื่อน ถ้าเราจะเก็บป่าไว้ แต่จะทำให้น้ำไม่ท่วมพื้นที่ด้านล่าง จะมีทางเลือกอื่นมากกว่าสร้างเขื่อนหรือไม่ ถ้านำนโยบายของรัฐมาเป็นตัวตั้ง แต่ขัดกับนโยบายจะเป็นครัวโลก  แต่จะสร้างท่าเรือ มันเป็นการพัฒนาที่สวนทางและนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ดร.สัญชัยกล่าว

 

 

อ่านขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ ได้ที่ http://www.onep.go.th/eia/page2/type34.pdf

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: