ที่นี่สะพานควาย....จักรวาลการพิมพ์ ดาวดวงเล็กที่อาจหลุดจากวงโคจร...

นภัทร พิลึกนา โรงเรียนนักข่าว TCIJ 10 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2594 ครั้ง

เวลานี้ พ.ศ.2556 ห่างไกลจากยุคสมัยของเหมาเจ๋อตุง หรือช่วงการปฏิวัติของคณะราษฎร โรงพิมพ์ลึกลับที่ทำงานในเวลากลางคืนยังมีอยู่หรือไม่ คงอาจจะไม่สามารถหาคำตอบได้จากที่นี่สะพานควายแห่งเดียวได้ แต่ที่นี่จักรวาลการพิมพ์ คงจะให้คำตอบได้บ้างว่า ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่มีอยู่และเติบโตอยู่ทุกหัวระแหง อะไรที่ทำให้พี่น้องโรงพิมพ์ขนาดเล็กทยอยปิดตัวลง และผู้ที่มีชีวิตอยู่รอดยังต้องต่อสู้กับเรื่องอะไรบ้าง บรรทัดต่อจากนี้จึงจะให้ผู้ที่ประสบกับชะตากรรมเข้ามาถ่ายทอดด้วยตัวเอง

คุณดรัญรัตน์ ฤทธิสิทธิ์ หรือที่จะเรียกต่อไปนี้ว่า ‘คุณแอ๋ว’ ผู้จัดการจักรวาลการพิมพ์ เล่าว่า จักรวาลการพิมพ์เริ่มเปิดทำงานตั้งแต่ พ.ศ.2529 เหตุที่ตั้งชื่อจักรวาลการพิมพ์ เพราะเห็นว่ามีความเป็นสากลดี งานที่รับทำตั้งแต่ช่วงแรกคือ งานพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทำสินค้าส่งออกต่างประเทศ และต่อมาก็ได้ย้ายไปใกล้ ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ จึงห่างหายจากลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีลูกค้าประจำอยู่

ปัจจุบันงานที่รับทำจะหลากหลายมากขึ้น ใบเสร็จรับเงินก็ยังพิมพ์อยู่ ถุงกระดาษที่ใช้ตามห้างสรรพสินค้าก็รับทำ งานพิมพ์หนังสือนาน ๆ จึงจะมีสักครั้ง ซึ่งเป็นงานที่ทำกำไรได้มาก พูดพลางหันไปหยิบหนังสือเล่มข้างๆ มาประกอบคำอธิบาย หนังสือที่เธอหยิบมามีขนาดเท่ากับ A 4 ความหนาประมาณครึ่งนิ้ว เธอเล่าว่า อย่างเล่มนี้ต้นทุนพิมพ์ประมาณ 18-19 บาท แต่ขายให้ลูกค้าได้ถึงเล่มละ 48 บาท

เมื่อถามถึงต้นทุนของโรงพิมพ์ขนาดเล็กว่ามีอะไรบ้าง คุณแอ๋วชี้แจงว่า หลักๆ ก็จะมีค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์ ค่าแรง ค่าน้ำยาล้างเพลต ซึ่งหนัก ๆ จะอยู่ที่ค่ากระดาษและค่าแรง โดยเฉพาะช่างเครื่องพิมพ์เพราะหายากและค่าแรงแพง

เธอเล่าต่อถึง ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โรงพิมพ์ขนาดเล็กปิดตัวหรืออยู่รอดมี 3 ประการ คือ 1.ลูกค้า เพราะถ้าไม่มีลูกค้าก็อยู่ไม่ได้  2.ทุน หากไม่มีทุนก็จะทำอะไรไม่ได้เลย  3.ช่าง หากทักษะช่างไม่ดีก็อยู่ลำบาก ส่วนเหตุผลที่โรงพิมพ์ขนาดเล็กละแวกนี้ทยอยปิดตัวลง น่าจะมาจากการไม่มีลูกค้า พอไม่มีลูกค้าเครื่องก็ว่างและอาจจะเสื่อมได้ จักรวาลการพิมพ์ยังอยู่ได้เพราะมีลูกค้าประจำ ลูกค้าจรมีน้อยและนาน ๆ จึงจะมีสักครั้ง งานที่รับก็ไม่ซับซ้อน ทำให้งานเสร็จเร็ว

ต่อข้อถามว่า เวลารับงานกับลูกค้าจะเสียเปรียบโรงพิมพ์ขนาดใหญ่เรื่องอะไรบ้าง เธอเล่าว่า โรงพิมพ์ขนาดใหญ่จะมีเครื่องพิมพ์ 4 สี ซึ่งจะพิมพ์ได้สวยและจะได้งานที่ละเอียด ถ้าลูกค้าต้องการจักรวาลการพิมพ์ก็จะเสียเปรียบ เพราะที่มีอยู่เป็นเครื่องพิมพ์ 2 สี  และถ้างานล็อตใหญ่มาก ๆ ก็จะรับยาก เพราะคนงานจะมีจำกัด แต่โรงพิมพ์ขนาดใหญ่ก็จะไม่ค่อยยืดหยุ่น เพราะลดราคาให้ลูกค้าไม่ค่อยได้ ซึ่งอาจจะเพราะว่าเค้ามีต้นทุนมาก ส่วนโรงพิมพ์ขนาดเล็กคิดว่าลดให้ลูกค้าได้บ้าง คือคุยกันได้ เพราะเราไม่ต้องการกำไรมาก เราต้องการให้พออยู่ได้ เศรษฐกิจพอเพียง แต่ต้นทุนการพิมพ์ทุกวันนี้ก็สูงขึ้นมาก ทั้งหมึกและกระดาษ อย่างกระดาษที่เห็น เธอพูดพลางชี้มือไปที่กองกระดาษ แผ่นบางมีความยาวประมาณ เมตรครึ่ง และเล่าต่อว่าแต่ ก่อนราคาแผ่นละ 95  สตางค์ แต่หลังจากทองขึ้นราคา ทำให้ราคากระดาษขยับขึ้นมาเป็นแผ่นละ 125  สตางค์ พอขึ้นแล้วก็ไม่ลงด้วย ซึ่งบางครั้งลูกค้าก็จะสู้ราคาไม่ได้ ส่วนงานที่ค่อย ๆ หายคือไปพวกสื่อประชาสัมพันธ์ โบร์ชัวร์ ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นงานของกลุ่มโรงพิมพ์ขนาดเล็ก

เมื่อถามว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อโรงพิมพ์ขนาดเล็กหรือไม่ เธอตอบอย่างมั่นใจว่ามีแน่นอนเครื่องจักรพิมพ์งานที่ทันสมัยก็ทำงานได้ละเอียดขึ้น แต่งานที่จักรวาลการพิมพ์รับอยู่ก็ไม่ซับซ้อนอะไร เครื่องที่มียังมีศักยภาพทำได้จึงไม่ค่อยกระทบเท่าไหร่ แต่ถ้าเทคโนโลยีการสื่อสาร โฆษณา ที่มีหลายช่องทางมาก ตรงนี้ก็จะกระทบ เพราะว่างานพวกโบรชัวร์ สื่อโฆษณา เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีเลย นานๆ ถึงจะมีสักครั้ง

ต่อคำถามสำคัญที่ถามว่าโรงพิมพ์ขนาดเล็กจะไปรอดหรือไม่ คุณแอ๋วเล่าว่า จักรวาลการพิมพ์ที่ยังอยู่ได้เพราะเอากำไรจากลูกค้าน้อยมาก เอาแค่พออยู่ได้ แต่ก็เสี่ยง ที่สะพานควายแห่งนี้ เคยมีโรงพิมพ์ขนาดเล็กเยอะมาก เป็นสิบแห่ง แต่เปิดได้ 2-3 ปี ก็ปิดลง

คำบอกเล่าของผู้จัดการจักรวาลการพิมพ์ อาจขัดแย้งกับข้อมูลของหลายภาคส่วน ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทย เมื่อธันวาคม พ.ศ.2555 นางศรีรัตน์ รัฐปานะ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์สินค้าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ว่า การส่งออกในช่วงตุลาคม 2555 ขยายตัวถึงร้อยละ18 คิดเป็นมูลค่า 146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกในปี พ.ศ.2555 คือระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8 และคาดว่าในปี พ.ศ.2556 ก็ยังคงจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็จะทำให้เข้าถึงตลาดที่ใหญ่ได้มากขึ้น

เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ออกมาให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทยในปี 2555 เติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซนต์ และคาดว่าจะโตต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2558 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของการส่งออกสิ่งพิมพ์ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

เหตุที่ข้อมูลทั้งสองฝ่ายยังมีความย้อนแย้งกันอยู่ ก็เพราะอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทยได้แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกบรรจุภัณฑ์ซึ่งจะผลิตกล่องกระดาษ กล่องลูกฟูก และบรรจุภัณฑ์อ่อน กลุ่มที่สองพิมพ์สกรีน ผลิต สิ่งทอ ฉลากสินค้า ของเล่น อุปกรณ์กีฬา ไฟฟ้า ยานยนต์และแผ่น CD  และกลุ่มสุดท้ายคือสิ่งพิมพ์ ซึ่งจะผลิตหนังสือวารสาร บรรจุภัณฑ์กระดาษ เอกสารทางการค้า หนังสือพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไป ข้อมูลจากคุณแอ๋ว จักรวาลการพิมพ์จึงจัดประเภทอยู่ในกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์

ดังนั้นตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทย จึงเป็นการพูดถึงกลุ่มธุรกิจทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งกว้างมาก จนไม่สามารถสะท้อนอาการป่วยไข้ของโรงพิมพ์ขนาดเล็กที่ล้มตายไปแล้ว รวมทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ภาวะที่โรงพิมพ์ขนาดเล็กค่อย ๆ สูญหายไป จะถูกมองได้อย่างชัดเจนขึ้น หากกระโดดออกจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และมองไปรอบ ๆ ยังการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคมที่เกิดขึ้น ด้านหนึ่งที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและแหลมคมจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย ชี้ว่า อุตสาหกรรมการโฆษณาด้วยสื่อดิจิทัลในทุกประเภท เติบโตอย่างต่อเนื่อง และร้อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะยังเป็นอย่างนี้ต่อไป

การทยอยปิดตัวลงของโรงพิมพ์ขนาดเล็กจึงอาจไม่ใช่แค่เรื่อง เสียเปรียบ ได้เปรียบ หรือการผูกขาดของโรงพิมพ์ขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะการขยายวงของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ก็ส่งผลกระทบต่อโรงพิมพ์ขนาดเล็กด้วยเช่นกัน  สาเหตุที่ทำให้โรงพิมพ์ขนาดเล็กปิดตัวลงหรือ อยู่รอดจึงมาจากหลายปัจจัย และยิ่งกว่านั้นไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า โรงพิมพ์ขนาดใหญ่จะรอดพ้นจากการคุกคามของปัจจัยเหล่านั้น

การค่อย ๆ หายไปของโรงพิมพ์ขนาดเล็ก จึงอาจจะไม่ใช่สัญญาณที่ส่งผลดีต่อโรงพิมพ์ขนาดใหญ่เสมอไป

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: