ทางเลือกของชาวคริสต์3จังหวัดภาคใต้ ‘นิ่ง’และ‘เงียบ’คือวิถี ในพื้นที่อันซับซ้อน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 6513 ครั้ง

การเจรจาระหว่างฝ่ายความมั่นคงและบีอาร์เอ็นกำลังเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย ด้วยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มอดดับไปเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ภาพมักถูกฉายผ่านสื่อให้เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐ และผู้ก่อความไม่สงบ หรือไม่ก็เป็นเรื่องระหว่างศาสนาพุทธและอิสลาม โดยเฉพาะในรูปแบบหลังได้สร้างความบาดหมาง และไม่เข้าใจผิดกันระหว่างศาสนาจนน่าตกใจ เป็นการปะทะกันระหว่างอัตลักษณ์แบบอิสลาม ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่กับอัตลักษณ์แบบพุทธซึ่งมีรัฐไทยหนุนหลัง แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีเพียงชาวมุสลิมและชาวพุทธ

ประเด็นที่สังคมภายนอกพื้นที่ไม่ได้รับรู้หรือรับรู้เพียงน้อยนิด ก็คือการดำรงอยู่ของชาวคริสต์ ในพื้นที่ โปรเตสแตนท์คนหนึ่งในพื้นที่กล่าวว่า หากนับชาวคริสต์ทั้งนิกายโปรเตสแตนท์และคาทอลิกในพื้นที่ 3 จังหวัดรวมกัน น่าจะมีจำนวนประมาณ 1,000 คน ต้นๆ เท่านั้น ขณะที่ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ นักศึกษาปริญญาเอก สหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่องคาทอลิกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวคาทอลิกใน 3 จังหวัดภาคใต้ เหลืออยู่เพียง 281 คนเท่านั้น ทั้งที่ก่อนปี 2547 ชาวคาทอลิกมีจำนวนหลักพันคน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นหลายครอบครัว จึงอพยพออกจากพื้นที่

ท่ามกลางสุ้มเสียงอันดัง ทั้งจากฝ่ายรัฐ ชาวมุสลิม และชาวพุทธ เสียงเล็กๆ ของชาวคริสต์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลับถูกกลบกลืน เพียงเพราะจำนวนที่น้อยกว่า แต่ในกระบวนการสันติภาพที่กำลังเดินหน้า เราสามารถละเลย ‘เสียงเล็กๆ’ ของพวกเขาได้หรือ?

จำนวนที่ไม่ถูกนับ

การศึกษาของพัทธ์ธีรา อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 10,660 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4,621 คน แบ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,728 หรือร้อยละ 59.03 และผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,765 คน คิดเป็นร้อยละ 38.20 ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ มีจำนวน 7,505 คน เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,468 คน คิดเป็นร้อยละ 32.88 และผู้นับถือศาสนาพุทธ 4,512 คน หรือร้อยละ 60.12

นอกจากนี้ พัทธ์ธีรายังตั้งข้อสังเกตต่อการนับและจำแนกเหยื่อความรุนแรงด้วยว่า มีการจำแนกหลายประเภท แต่การจำแนกตามการนับถือศาสนาถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือพุทธ มุสลิม และ ‘ไม่สามารถระบุศาสนาได้’ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีชุดความเชื่อบางประการที่แฝงอยู่ในวิธีการ ‘นับ’

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเมืองเรื่องจำนวนนับ ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 19 ที่ระบุว่า ให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งจํานวนไม่เกินสี่สิบเก้าคน โดยในข้อที่ 3 กำหนดว่า ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและอิหม่ามประจํามัสยิดจังหวัดละหนึ่งคน ผู้แทนเจ้าอาวาสในพระพุทธศาสนาจังหวัดละหนึ่งรูป และผู้แทนศาสนาอื่นจํานวนหนึ่งคน

หมายความว่าผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ หรือศาสนาอื่น เช่น ฮินดูหรือซิกข์ ถูกนับรวมกันเป็น ‘ศาสนาอื่น’ และมีผู้แทนได้เพียง 1 คน ซึ่งก็ตั้งคำถามได้อีกว่า หากตัวแทน 1 คน เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์แล้ว จะสามารถเป็นปากเสียงให้แก่ผู้นับถือศาสนาซิกข์และฮินดูได้หรือไม่

พัทธ์ธีราย้ำว่า มีความเป็นการเมืองแทรกอยู่ในการนับจำนวนเสมอ ไม่ว่าจะจงใจไม่นับหรือลืมนับก็ตาม ทว่า สิ่งที่ไม่ถูกนับหรือไม่สามารถนับได้มิได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่ แต่สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นอยู่ ก็ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า เสียงของคนกลุ่มน้อยอย่างผู้นับถือศาสนาคริสต์ (และผู้นับถือศาสนาอื่น) ในพื้นที่แทบไม่เคยถูกได้ยิน

เลือกที่จะเงียบ

ชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์ ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่าที่สอบถามได้จากปากคำชาวบ้าน พบว่า มีการตั้งถิ่นฐานกันมาไม่ต่ำกว่า 30-50 ปี ชาวคาทอลิกบางคนที่มีอายุเกือบ 80 ปี กล่าวว่า อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เกิด และยังมีชาวคาทอลิกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อพยพมาอยู่ในยุคนโยบายผสมกลมกลืน

ถึงกระนั้น ข่าวสารที่ปรากฏกลับไม่พบว่า มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่ถูกนับหรือไม่ถูกมองเห็น ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะชาวคาทอลิก ต้องเผชิญกับแรงกดดันอยู่เป็นระยะ ทั้งก่อนและหลังปี 2547 เช่น การลอบเผาโบสถ์ การทุบไม้กางเขนในสุสาน เป็นต้น การตอบสนองของสถานการณ์ของชาวบ้านคือ เลือกที่จะเงียบ ไม่ต้องการต่อความยาว สาวความยืด เนื่องจากเกรงกลัวผลกระทบที่จะตามมา ทั้งชาวบ้านเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการกระทำของใครกันแน่ หรือการวางระเบิดหน้าโรงเรียนคาทอลิกแห่งในปี 2548 และปี 2553

แหล่งข่าวชาวคาทอลิกในพื้นที่กล่าวว่า ชาวคาทอลิกไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ถูกเบียดเบียนหรือทำร้ายจากใคร ผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบทางธุรกิจ เช่น การลอบวางเพลิงเครื่องมือประกอบธุรกิจ ซึ่งแหล่งข่าวเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาสนา แต่เป็นความจงใจของผู้ก่อการที่ต้องการสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อพื้นที่มากกว่า ขณะที่ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์คนหนึ่ง กล่าวว่า เคยมีชาวโปรเตสแตนท์คนหนึ่งถูกลูกหลงเสียชีวิต

สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเกือบ 10 ปี เลี่ยงไม่ได้ที่ความสัมพันธ์ของผู้คนระหว่างศาสนาต้องเกิดรอยร้าว แหล่งข่าวผู้นับถือศาสนาคริสต์ทั้งสองนิกายยืนยันว่า ยังคงมีปฏิสัมพันธ์เป็นปกติกับมิตรชาวมุสลิม แต่เมื่อการพูดคุยดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ พบว่า ยังมีอคติบางประการต่อชาวมุสลิมแฝงฝังอยู่ในความคิดความเชื่อ ด้านพัทธ์ธีรากล่าวว่า ในเชิงความสัมพันธ์ เกิดการหวาดระแวงและระมัดระวังตัวกันมากขึ้น

เลือกที่จะปิดหู-ปิดตาตนเอง

            “เรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ มันพูดยาก เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเขาทำเพื่ออะไร แรก ๆ ก็ได้ยินตามข่าว แต่ผมทำงานกับมุสลิม ทางมุสลิมเองเขาก็ไม่สบายใจ เขาก็เบื่อหน่ายเหตุการณ์ตรงนี้ แต่เขาก็ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร มุสลิมที่อยู่ก็ไม่มีใครอยากจะแบ่งแยก เพราะเขาก็รักกันทั้ง 3 ศาสนา

            “มุมมองส่วนตัวผมมองว่า ตอนนี้เราอาจไม่รู้จริง ๆ ด้วยซ้ำ ว่าใครเป็นคนทำ บางครั้งมันก็มีเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่บอกไม่ได้ ว่าเกิดจากอะไร เกิดจากโจรหรือเกิดจากคนของรัฐที่ทำเพื่องบประมาณหรือเปล่า เราไม่มีใครตอบ อย่างที่ผมบอกว่าเราอยู่ตรงนี้เราเชื่อพระ (หมายถึงพระเจ้า) เราจึงไม่ได้คิดถึงตรงนี้เลย คืออะไรจะเกิดก็เกิด ตอนนี้เราก็ได้แต่ภาวนาว่าเมื่อไหร่จะสงบ เมื่อไหร่จะกลับมาเหมือนเดิม” แหล่งข่าวผู้นับถือศาสนาคริสต์คนหนึ่งกล่าว

ทัศนะของชาวคริสต์อีกคนเชื่อว่า ความรุนแรงไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องศาสนา แต่น่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์มากกว่า ส่วนอีกคนบอกว่า ชาวคริสต์ส่วนใหญ่ไม่รับรู้ด้วยซ้ำ ว่าสถานการณ์ในพื้นที่มีสาเหตุจากอะไร ทัศนะเหล่านี้สะท้อนภาพบางอย่างได้

พัทธ์ธีรากล่าวว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ชาวคาทอลิกแทบจะไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอะไรบ้างในพื้นที่ เหตุที่ไม่สนใจติดตามข่าวสาร ชาวคาทอลิกตอบว่า รู้มากดูมาก ก็เกิดความเครียด จะพาลทำมาหากินกันไม่ได้ อีกทั้งความรุนแรงก็ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่พวกเขา ดังนั้นจึงเลือกที่จะไม่สนใจ เพื่อจะไม่ทำให้ตนเองกลัวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ชุมชนชาวคริสต์ก็มีหนทางเยียวยากันเอง ด้วยรูปแบบทางศาสนา คือการสวดภาวนาร่วมกัน การรับฟังกันและกัน การเยี่ยมเยือน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติของชาวคริสต์อยู่แล้ว นอกจากนี้แนวคำสอนของศาสนาคริสต์ ซึ่งมีส่วนที่คล้ายคลึงกับศาสนาอิสลามในแง่ที่ว่า ชีวิตในโลกนี้เป็นสิ่งชั่วคราว หากพระเจ้าอนุญาตให้ตายที่ไหนก็ต้องตาย หากยังไม่ถึงเวลาพระเจ้าก็จะปกป้องคุ้มครอง ความคิดนี้นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจชาวคริสต์ ให้คลายจากความวิตกหวาดกลัวได้ทางหนึ่ง

เลือกที่จะถูกลืม

ต่อประเด็นเสียงที่เหือดหายของชาวคริสต์ ไม่ถูกรับรู้ ไม่ถูกมองเห็น แหล่งข่าวตอบคล้ายคลึงกันว่า ไม่รู้สึกอะไร เฉย ๆ แต่หากอ่านนัยจากคำพูด จะพบว่า เป็นความเฉย ๆ ที่ซุกความหวาดกลัวไว้เบื้องหลัง ชุมชนชาวคริสต์จึงเลือกที่จะอยู่เงียบ ๆ ไม่ขอเป็นข่าว และไม่ขอเข้าไปมีส่วนร่วมใด ๆ กับกระบวนการเจรจาหรือการแก้ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งหมายความด้วยว่า การเยียวยาที่พวกเขาควรจะได้ย่อมไปไม่ถึง

            “เราเฉย ๆ เพราะเราไม่ต้องการเรียกร้องอะไรว่า ลืมเราไป เราอยู่ของเราแบบนี้ เราพอใจ เราไม่ได้คิดจะเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม และเราก็ไม่ได้มองว่ารัฐทิ้งเรา คือเรามองว่าเราอยู่อย่างนี้ได้ เราไม่ต้องการเรียกร้อง เราก็อยู่เงียบๆ ตามประสาของเรา ไม่ได้ซีเรียสว่าต้องมีข่าว

            “ถ้าบอกว่าไปมีบทบาทแล้วมีความเสี่ยงก็ไม่ใช่ แต่กลุ่มเราเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ถามว่า ธุรกิจเราได้รับผลกระทบไหม ได้รับ อยากจะมีส่วนร่วมไหม ผมว่าทุกคนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็อยากให้มันเกิดความสงบ อยากจะมีส่วนร่วม แต่เราไม่รู้จะไปยืนตรงไหน ต่อให้เป็นชาวพุทธเองเขาก็ไม่มีที่ยืน เพราะว่าเรื่องมันก็เงียบ ครูชาวพุทธถูกยิง ถามว่ารัฐเยียวยาอะไรบ้าง อาจจะมาเยี่ยมแต่ถามว่าเงินที่คุณเยียวยาถึงพวกเขาไหม เหมือนทหารที่โดนยิง ถามว่าเขาได้อะไรบ้างหรือเปล่า เพราะบางคนบอกว่าได้มาเหมือนกัน ได้แค่ซอง แต่เงินยังมาไม่ถึง บางคนบอกว่าได้น้อยกว่าคนร้ายที่ได้รับการเยียวยา บอกว่าค่ามนุษยธรรมที่โดนยิง โจรได้มากกว่า คือเราก็มองว่า ถ้าเราเข้าไป เราก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ดีไม่ดีเราอาจจะเป็นเป้าด้วย”

แหล่งข่าวชาวคาทอลิกอีกคนกล่าวว่า

            “ไม่เอา เราขออยู่เงียบ ๆ อย่างนี้ดีกว่า เพราะถ้าเรายิ่งเข้าไป เราไม่รู้ว่าเขาเป็นผู้ดีหรือผู้ร้าย เขารู้ว่าเราเป็นคาทอลิก แต่ถ้าเมื่อไหร่เราออกทีวีไปว่า เราร่วมมือกับตรงโน้นตรงนี้ เดี๋ยวก็มีเรื่องเข้ามาแน่นอน”

พัทธ์ธีรากล่าวว่า เมื่อถามลงลึก ชาวคาทอลิกไม่อยากเข้าไปยุ่งกับสถานการณ์ เนื่องจากมีจำนวนน้อย การพูดอะไรมากไม่รู้ว่าผู้ฟังจะคิดอย่างไร ตัวชาวบ้านจึงเลือกไม่พูดจะดีกว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นแม่เหล็กดึงปากกระบอกปืนเข้าหาตัว

ที่ทางบนเส้นทางสู่สันติภาพ

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้นับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีบทบาทหรือไม่ และถ้าควรมี ควรมีบทบาทอย่างไร เพราะมีข้อสังเกตที่ชวนฟังเช่นกันว่า การที่ไม่ดึงผู้นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหา อาจเป็นเพราะไม่ต้องการเพิ่มตัวแสดง ที่อาจทำให้สถานการณ์ทวีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้ พัทธ์ธีรา กล่าวว่า

            “ถ้ามองในแง่หลักการประชาธิปไตยว่า ชาวคริสต์ควรมีส่วนร่วมหรือไม่ จะตอบว่าใช่เลยก็ยังไม่ได้เสียทีเดียว สมมติรัฐบอกว่าจะแก้ปัญหา ถามว่ารัฐรู้หรือยังว่าใครเป็นคนทำ มีสาเหตุอะไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง ถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ หากชาวคริสต์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรอาจจะถูกตัดออกด้วยซ้ำ ไม่ควรนำเข้ามา แต่ถ้าเรามองโครงสร้างสังคมที่หลากหลาย ชาวคริสต์ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม สังคมจะอยู่ได้ต้องลงไปดูระดับนี้ ถ้าชาวบ้านทั่ว ๆ ไปอยู่กันได้ รัฐน่าจะมองว่าชาวคริสต์มีดีอะไรจึงอยู่ร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ทั้งพุทธและมุสลิมได้ ทำไมโครงสร้างสังคมของคน 3 กลุ่ม จึงอยู่ร่วมกันได้ รัฐน่าจะหาคำตอบ จะเชิญมาช่วยตรงไหน ไม่ใช่ตัดออก เพราะรัฐคงอยู่ไม่ได้ถ้าคนเล็ก ๆ ในสังคมไม่คุยกัน”

เมื่อถามพัทธ์ธีราว่า หากเกรงว่าตัวละครจะเพิ่ม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ชาวคริสต์เข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ต้องอิงหรือตัดอัตลักษณ์ความเป็นชาวคริสต์ออกไป

            “เป็นไปได้ยากที่จะไม่ผูกกับอัตลักษณ์ความเป็นคริสต์ ถ้าจะให้ออกมาพูดโดยไม่บอกว่าเป็นชาวคริสต์ แล้วจะพูดเพื่ออะไร จะมีประโยชน์อะไร เราอาจต้องยอมรับในอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม แล้วคุยกัน ถ้าให้ลบอัตลักษณ์ความเป็นคริสต์ออก ชาวคริสต์อาจจะตั้งคำถามว่าจะให้ลบอย่างไร ไม่มีใครทำได้ แต่ต้องยอมรับและทำความเข้าใจกัน หาจุดที่รับกันได้และแลกเปลี่ยนกัน”

เราได้มีโอกาสสอบถามเอ็นจีโอชาวมุสลิมในพื้นที่คนหนึ่ง ที่ทำงานด้านกระบวนการสันติภาพ แน่นอนว่าไม่ใช่เสียงที่จะสามารถแทนเสียงของชาวมุสลิมทั้งหมด แต่เขาก็มีมุมมองว่า จำเป็นที่ชาวคริสต์ควรมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ แต่ก็ต้องถามด้วยว่า ชาวคริสต์พร้อมจะเข้ามาหรือไม่ ประตูเปิดอยู่แล้ว ถ้าชาวคริสต์จะเข้ามาในฐานะที่เป็นศาสนาหลักของโลกที่มีบทเรียนความขัดแย้ง มีมิติทางศาสนาในการจัดการกับความขัดแย้งเข้ามาช่วยแก้ปัญหา มันจะเป็นมิติใหม่ที่สังคมจะไม่ปฏิเสธ

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจต้องเริ่มจากการนับและการมองเห็นว่า ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากความเป็นอิสลามและความเป็นพุทธในพื้นที่ เพื่อให้เสียงของพวกเขาถูกได้ยินเสียก่อน

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google และ ASTV ผู้จัดการ

หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดใช้เพื่อประกอบข่าวเท่านั้น อาจมิได้มีความหมายเหมือนเนื้อหาของข่าวแต่ประการใด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: