คดีปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อนที่จะมีการตัดสินกันในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ กำลังเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่ง ที่รอระเบิดใส่รัฐบาล หากผลคำพิพากษาของศาลโลกออกมาเป็นลบต่อฝ่ายไทย เชื่อแน่ว่าจะเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น จากเดิมที่ร้อนหนักอยู่แล้วจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้ว่าจะมีการถอนร่างพ.ร.บ.ออกมาแล้วทั้ง 6 ฉบับก็ตาม
ทว่า ความร้อนแรงดังกล่าวดูจะเป็นมุมมองจากส่วนกลาง จากรัฐบาล และจากคนชั้นกลางในเมือง ไม่ใช่ความร้อนแรง ณ พื้นที่พิพาท โดยเฉพาะชาวบ้านที่หมู่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่ต้องแบกรับความเดือดร้อน-มิใช่ความร้อนแรง-จากการเมืองระดับประเทศและระหว่างประเทศ
เป็นเวลานานที่มุมมองต่อกรณีปราสาทพระวิหาร ถูกมองผ่านแว่นของส่วนกลาง-หมายถึงรัฐและคนชั้นกลางในเมือง-มาโดยตลอด โดยเฉพาะอุดมการณ์ชาตินิยม ที่ปลุกเร้าสถานการณ์ให้ตึงเครียดได้ทุกเมื่อ แต่ละเลยหลงลืมผู้คนในพื้นที่ ไร้เสียงสะท้อนเกือบจะสิ้นเชิง ว่าพวกเขามองกองหินแห่งความขัดแย้งอย่างไร
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยผู้ลงไปศึกษาประวัติศาสตร์ผู้คนในพื้นที่ เจ้าของหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ผู้คนบนเส้นพรมแดนเขาพระวิหาร’ เผยให้เห็นว่า เส้นพรมแดนที่ไม่มีชีวิตกระทบชีวิตชาวบ้านอย่างไร
ประวัติศาสตร์ผู้คนบนเส้นพรมแดน
พิพัฒน์กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีการศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้คนในบริเวณนั้นค่อนข้างน้อยและมุ่งเน้นไปในกรอบขนาดใหญ่ เช่น รัฐต่อรัฐ หรือในมุมของโบราณคดี เขาจึงหันมาศึกษาในประเด็นนี้ ซึ่งพบว่า ผู้คนและชุมชนบนเส้นพรมแดนบริเวณเขาพระวิหาร มีการก่อตั้งและโยกย้ายไปมาประมาณ 200 ปีมาแล้ว โดยคำว่าผู้คนในที่นี่มิได้หมายถึงคนไทยหรือกัมพูชาตามกรอบของรัฐชาติ แต่หมายถึงผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นโดยไม่เกี่ยวกับความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่
“เรากำลังพูดถึงคนที่อยู่ตรงนั้นทั้งหมดที่ไม่มีพรมแดน ส่วนใหญ่การศึกษาประวัติศาสตร์มักจะให้ความสำคัญกับข้อมูลระดับรัฐ แต่ความคิดของผมมีฐานข้อมูลวิธีคิดจากการศึกษาผู้คนที่เป็นคนเล็กคนน้อยหรือ Micro History ซึ่งค่อนข้างให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่”
คนที่อยู่บริเวณดังกล่าวมีอยู่ 3 ชาติพันธุ์หลักคือ ชาวเขมร ชาวกูยหรือชาวส่วย และชาวไทยอีสานหรือชาวลาว โจทย์ที่พิพัฒน์ตั้งคือการทำความเข้าใจกรณีปราสาทพระวิหาร ไม่สามารถมองเพียงตัวปราสาท แต่ต้องทำความเข้าใจพลวัตรของผู้คนในพื้นที่ โดยเลือกเก็บข้อมูลจากกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในเขตประเทศไทยหรือคนเขมรที่มีสัญชาติไทยเป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อทำการค้าและมีความเข้าใจในการปรับตัวต่อปัญหาพรมแดน
ความสัมพันธ์ทางเครือญาติข้ามพรมแดน
พิพัฒน์ค้นพบมิติความเป็นเครือญาติแบบคู่ขนาน ระหว่างชาวเขมรในเขตกัมพูชากับเขตประเทศไทย ขณะที่คนไทยส่วนกลางมักมองว่า คนเขมรไม่ภักดีต่อความเป็นชาติ เพราะไม่ใช่คนไทย แต่เวลาที่คนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ กลับมีวิธีจัดการกับอัตลักษณ์ทั้งสองอัตลักษณ์ในแบบของตน คือมีทั้งความเป็นไทยในเชิงสัญชาติ และมีความเป็นเขมรในเชิงชาติพันธุ์
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
“เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้คนไทยที่ไปประท้วงรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมคนเขมรไม่ออกมาเรียกร้องพื้นที่ตรงนี้ด้วย เขาเรียกร้องไม่ได้ เขาไม่สามารถทำอย่างนั้นได้อย่างชัดเจน เพราะเขามีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ทั้งในเชิงญาติกันจริงๆ และญาติในเชิงวัฒนธรรมอยู่”
การแสดงออกของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรจึงไม่ส่งผลดี และส่งผลกระทบตามมามากมาย ทั้งในเชิงความบาดหมางกับเครือญาติ การอยู่กับพื้นที่พรมแดนอย่างยากลำบากขึ้น หรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่เกษตรในบริเวณพรมแดนได้ พิพัฒน์กล่าวว่า คนส่วนกลางที่ไปประท้วง ต้องแยกมิติความเป็นชาติหรือความเป็นสัญชาติให้ออก เนื่องจากมักเหมารวมคนในพื้นที่ว่าเป็นคนเขมร โดยลืมคิดว่าคนเหล่านี้ก็มีความเป็นคนไทยในเชิงสัญชาติด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ชาวบ้านบริเวณนั้นหลายคนยังมีญาติอยู่ในฝั่งกัมพูชา ทุกครั้งก่อนที่จะเกิดปัญหาตามแนวชายแดนหรือมีการยิงปะทะ ญาติทั้งสองฝั่งจะโทรศัพท์บอกกล่าวให้อีกฝ่ายรับทราบสถานการณ์ เพื่อเตรียมตัวรับมือ ด้วยความสัมพันธ์ลักษณะนี้เอง ที่ทำให้ชาวบ้านพอที่จะอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นได้
พรมแดนตามจารีต
แม้ในระดับรัฐและความรู้สึกของคนส่วนกลาง เส้นพรมแดนระหว่างไทยกัมพูชาจะมีอยู่จริงและแตะต้องไม่ได้ แต่ก็เป็นเส้นที่พรมแดนที่แข็งตัว จนเป็นปัญหาต่อคนในพื้นที่ไม่น้อย เพราะในมิติของวิถีชีวิตที่ต้องทำมาหากิน หาของป่า เส้นพรมแดนเป็นสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็น
“เขารู้ เขาสนใจไหม เขารู้และสนใจ แต่ก็มองไม่เห็น ผมเคยถามชาวบ้านว่าแล้วทำอย่างไร ชาวบ้านตอบว่ายึดพรมแดนตามธรรมชาติหรือพรมแดนตามจารีตที่บอกเล่ากันมาว่าให้ใช้แนวหน้าผาของพนมดงรักเป็นตัวแบ่งทั้งหมดเลย”
ดังนั้น ในความรับรู้จากพรมแดนตามจารีตของชาวบ้าน หากถามว่าพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ควรเป็นของประเทศใด ชาวบ้านตอบว่าควรเป็นของประเทศไทย เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า เขตเขมรสูง พิพัฒน์กล่าวว่า ในปี 2505 ที่มีการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ชาวบ้านในพื้นที่ก็รู้สึกไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงเป็นของกัมพูชา เนื่องจากผิดจากจารีตเรื่องพรมแดนที่รับรู้มาแต่อดีต
พิพัฒน์ขยายความเพิ่มเติมว่า การแบ่งแนวเขตของชาวบ้านมิได้อิงกับกรอบของรัฐชาติ แต่เป็นการรับรู้เส้นพรมแดนที่สืบทอดกันมาแต่ปู่ย่าตายายในการแบ่งว่า บริเวณใดคือสยามและบริเวณใดคือกัมพูชา อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีในปี 2505 สำหรับคนในพื้นที่ ถ้ามองแบบจารีตก็ถือเป็นคำตัดสินที่ขัดกับความรู้สึกและไม่น่ายอมรับ แต่ชาวบ้านก็บอกด้วยว่า กรณนี้เป็นเรื่องทางกฎหมาย เรื่องระหว่างรัฐ เมื่อคำตัดสินออกมาก็ต้องยอมรับ
“ผมคิดว่ามันคงมีแต่คนส่วนกลางที่รู้สึกว่า ไม่สามารถยอมรับคำตัดสินได้ เพราะเรารู้สึกว่าปราสาทพระวิหารเป็นของเรามานาน ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี”
พระวิหารจะเป็นของใครก็ได้ ขอเพียงอยู่อย่างสงบ
ส่วนผลกระทบของชาวบ้านในเชิงเศรษฐกิจ พิพัฒน์อธิบายว่า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ทำร้านค้าบริเวณปราสาทพระวิหารได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่สามารถขายสินค้าได้ บางรายที่พึ่งพิงรายได้ส่วนนี้จะมีความไม่พอใจค่อนข้างมาก ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำให้เดือดร้อน
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ทำการค้าข้ามพรมแดน และกลุ่มที่3 คือ กลุ่มที่ปลูกยางพาราและพืชเศรษฐกิจ ในพื้นที่ใกล้พรมแดน ในรัศมีห่างจากเทือกเขาพนมดงรักประมาณ 20 กิโลเมตร เพราะกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยทำให้ไม่สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
“ในภาพรวมผมเชื่อว่า ได้รับผลกระทบหมด นับรวมไปถึงชาวบ้านที่ทำอาชีพอื่น โดยเฉพาะนักเรียนจะได้รับผลกระทบมาก ตอนปี 2553 ก็มีระเบิดไปลงหลังคาโรงเรียนบ้านภูมิซรอล”
ดังนั้น สำหรับชาวบ้านแล้ว ปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาทจะเป็นของไทยหรือกัมพูชาก็ไม่มีปัญหา ขอเพียงสามารถอยู่อย่างสงบได้ถือว่าสำคัญที่สุด
“เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ว่าทำไมคนพื้นที่ตรงนั้นส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง เพราะช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พื้นที่มีปัญหาตลอด แต่พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้น พรมแดนมันสงบ ตอนปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ กับชาวบ้านภูมิซรอลถึงรุนแรง และถูกนิยามเป็นเรื่องการเมืองระหว่างสี แต่ความจริงไม่เกี่ยวกับสี ใครเป็นรัฐบาลแล้วสงบ ชาวบ้านก็พอใจแล้ว”
เกมแห่งอัตลักษณ์
ถามต่อไปว่า คนในพื้นที่มีมุมมองต่อความเป็นชาติไทยอย่าง พิพัฒน์ตอบว่า ต้องแยกมิติระหว่างชาติกับชาติพันธุ์ออกจากกัน
“ทหารไทยมักถามชาวบ้านว่า เป็นไทยหรือเขมร เพราะต้องการเช็คว่ามีสายลับหรือเปล่า ชาวบ้านเวลาเจอทหารไทยก็บอกว่าเป็นไทยโดยสัญชาติ ถูกไหม ถูก แต่ถามว่าชาติพันธุ์อะไร เป็นคนอะไร ถ้าไม่สนิทกันจริง ๆ จะบอกว่าเป็นคนไทย แต่พูดเขมร แต่ถ้าเริ่มสนิทเริ่มไว้ใจก็บอกว่าเป็นคนเขมร คือมันขึ้นอยู่กับว่าเขาตอบใคร เขาต้องการแสดงอัตลักษณ์แบบไหนกับใคร อัตลักษณ์จึงคล้าย ๆ กับการเล่นเกมเพื่อรักษาผลประโยชน์ ถ้าตอบแล้วไม่มีประโยชน์ต่อตัวเอง เขาก็เลือกที่จะใช้คำตอบอย่างอื่น แต่ถามว่าแล้วความรู้สึกล่ะ ผมว่าเขาก็เป็นคนไทยโดยสัญชาติ”
อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จึงเป็นเรื่องของการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในวัฒนธรรม หรือในชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา มากกว่าการกล่าวถึงอัตลักษณ์ที่สถิตนิ่ง ในปัจจุบัน ชาวเขมรก็มีการเลือกว่าจะเก็บอัตลักษณ์ส่วนไหนไว้ เช่น หากเป็นคนรุ่นเก่าก็ยังรักษาไว้ได้ทั้งภาษา ประเพณี วัฒนธรรม ขณะที่คนรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันมากกว่าภาษาเขมร เด็กรุ่นใหม่บางส่วนก็เริ่มพูดภาษาเขมรไม่ได้แล้ว
ส่วนที่เลือกเก็บไว้มักเป็นประเพณี โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษ เพราะชาวเขมรมองว่าประเพณีเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนความกตัญญูต่อพ่อแม่ ต่อบรรพบุรุษ ซึ่งประเพณีที่ถือกันค่อนข้างเคร่งครัดคือพิธีแซนโดนตาหรือพิธีเซ่นผีปู่ย่า ที่มีลักษณะคล้ายกับประเพณีสงกรานต์ที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องกลับบ้านพร้อมหน้าพร้อมตา
“ชาวบ้านเล่าว่า สมัยก่อนบางครอบครัวจะไปเยี่ยมญาติทางฝั่งกัมพูชาเพื่อทำพิธีนี้ร่วมกัน ถือเป็นประเพณีที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ทางเครือญาติเอาไว้ เพราะในพิธีจะมีการเรียกชื่อบรรพบุรุษ ว่าใครเป็นโคตรเหง้าของใคร”
ไม่รู้จะเรียนประวัติศาสตร์ชาติไปเพื่ออะไร
ส่วนในแง่ของประวัติศาสตร์ชาติที่มักกดทับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเสมอมา พิพัฒน์ตอบว่า ชาวบ้านผู้ให้ข้อมูลบางคนบอกว่า ประวัติศาสตร์ชาติก็คือประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งแยกส่วนออกไป ขณะที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกลับไม่มีในหลักสูตร ตัวชาวบ้านเองตอบว่าไม่ได้รู้สึกถึงการกดทับของประวัติศาสตร์ชาติ เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์กับตัวชาวบ้าน เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ก็เรื่องของคนไทย ซึ่งมักมองชาวเขมรในแง่ลบ
ประเด็นอยู่ที่ว่า ชาวเขมรหรือกลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่ถือสัญชาติไทย มองแยกส่วนกันระหว่างตัวพวกเขากับชาวเขมรในประวัติศาสตร์ชาติ หมายความว่าชาวเขมรในประวัติศาสตร์ชาติก็คือชาวเขมรในกัมพูชา แต่พวกเขาคือชาวเขมรที่ถือสัญชาติไทย
“แต่คนไทยจะเหมารวมว่าคนเขมรก็คือคนเขมร ไม่ว่าจะอยู่ในเขตกัมพูชาหรือเขตไทย คุณคือคนอื่น แต่คนในพื้นที่เขาแยกออกเป็นส่วน ๆ สัญชาติไทยก็เรื่องหนึ่ง ความเป็นเขมรก็เรื่องหนึ่ง ชาวบ้านมองว่าประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องของชาติ ไม่มีเรื่องของคนเขมรก็ไม่เป็นไร ผมจึงไม่แน่ใจที่บอกว่า ประวัติศาสตร์ชาติกดทับคนในท้องถิ่น มันน่าจะมีคำอธิบายที่มากกว่านี้ กดทับไหม ถ้ามองว่ากดทับก็อาจเป็นได้ แต่ชาวบ้านเขามองว่าไม่ใช่เรื่องของเขาแค่นั้นเอง
“ขณะที่คนส่วนกลางมองเพียงมิติเดียว แต่คนในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เท่าที่ผมทำงานมาค่อนข้างมาก เขาแยกออกระหว่างสำนึกความเป็นชาติกับชาติพันธุ์ และมีวิธีการจดจำประวัติศาสตร์ของตัวเอง ประวัติศาสตร์ไทยอาจสร้างความรู้สึก หรือความสำนึกความเป็นชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะกลืนความเป็นชาติพันธุ์ไปโดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าจุดนี้เป็นปัญหาที่เรายังใช้ทฤษฎีใหญ่ไปครอบหรืออธิบายอยู่”
'ปราสาทพระวิหาร'แค่กองหินที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับประโยชน์
สำหรับผลคำพิพากษาที่มีขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร พิพัฒน์มีทัศนะว่า ทุกฝ่ายไม่ควรก่อปัญหาเพิ่มในพื้นที่ เพราะไม่ส่งผลดีต่อตัวคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว เพิ่มความบาดหมางระหว่างประเทศโดยใช่เหตุ รวมถึงไม่ส่งผลดีต่อชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจที่พิพัฒน์ได้จากการลงพื้นที่ และต้องการเสนอแนะคือ ควรให้ชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่มีอำนาจการบริหารและตัดสินใจในระดับหนึ่ง
“ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่า กรณีที่ชาวบ้านโดนทหารกัมพูชาจับตัวไป ถ้าคุยกันเองในระดับเล็ก ๆ อย่างอบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) อย่างนี้คุยได้ แต่พอกลายเป็นข่าว มันจะกลายเป็นเรื่องระดับประเทศ การพูดคุยกลายเป็นเรื่องลำบาก ผมจึงมองว่าถ้าคนในพื้นที่มีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่ พื้นที่ชายแดนอาจจะสงบมากกว่านี้หรืออาจจะบริหารจัดการได้ง่ายกว่านี้”
หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องมรดกโลก ชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่า มรดกโลกไม่มีความสำคัญสำหรับพวกเขาเลย เพราะไม่ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นไร กลุ่มที่ได้ประโยชน์ท้ายสุดคือกลุ่มนายทุน ที่จะเข้ามาลงทุน ทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ขณะที่คนในพื้นที่ไม่มีโอกาสเข้าไปบริหารจัดการหรือได้รับประโยชน์อะไรมากไปกว่าการขายสินค้าที่ระลึก
“ชาวบ้านบอกว่า ไม่ว่าไทยกับกัมพูชาจะแย่งปราสาทพระวิหารกันอย่างไร มันก็แค่กองหินกองหนึ่งที่ท้าย ที่สุดพวกเขาก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่กลับได้รับผลกระทบเวลาที่เกิดข้อพิพาท”
เส้นพรมแดนที่ไร้ชีวิต
ในช่วงท้าย พิพัฒน์กล่าวว่า คนส่วนกลางมองความเป็นพรมแดนในแบบตายตัวและแข็งกระด้าง ซึ่งเอาไปใช้กับชีวิตจริงของชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ ที่แม้ว่าจะมีพรมแดนเชิงจารีตอยู่ในความคิด แต่ก็มีความลื่นไหลมากกว่า อีกทั้งยังเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนได้ดีกว่า ผู้คนที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนจึงมีคุณสมบัติพิเศษ เพราะพวกเขามีหลายอัตลักษณ์ในตัวเอง ทำให้สามารถอ่านสถานการณ์ของพรมแดนเป็น
“รัฐและคนส่วนกลางมองเส้นพรมแดนในเชิงกฎหมาย ไม่มีความยืดหยุ่น แต่ชาวบ้านจะมองว่า จะอยู่อย่างไร ถ้าจะข้ามไปต้องปรับตัวยังไงดี ผมจึงคิดว่ามันเป็นข้อดี ถ้าให้คนในพื้นที่ชายแดนมีอำนาจบางอย่าง ซึ่งจำเป็นที่รัฐและคนส่วนกลาง ต้องมองข้ามแนวคิดของความรัฐแบบที่เป็นอยู่”
อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน คนคนหนึ่งอาจมีได้หลายอัตลักษณ์และปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การมองเห็นเพียงอัตลักษณ์เดียวของคน ถ้าไม่เหมือนเท่ากับเป็นคนอื่น และการยึดมั่นในอุดมการณ์ชาตินิยมจนเกินควรจึงสร้างความบอบช้ำแก่คนเล็กคนน้อยในพื้นที่
“ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย-กัมพูชาด้วยกระแสชาตินิยมโดยคนในส่วนกลาง มักจะไม่สนใจคนที่อยู่ในพื้นที่ คนจากส่วนกลางไปประท้วง เสร็จแล้วก็กลับออกมา แต่สิ่งที่ถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง คือคนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากการกระทำของคนในส่วนกลางไปอีกยาวนาน เขาไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างปกติ อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็น จึงอยากเป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่ทำให้คนอื่น ๆ ที่กำลังประท้วงหรือเรียกร้องเรื่องดินแดน รู้สึกระมัดระวังมากขึ้น กับการปลุกกระแสชาตินิยม อยากให้ห่วงใยคนในพื้นที่สักหน่อย ก่อนที่จะทำการเคลื่อนไหว”
ขอบคุณภาพประกอบจาก Google ผู้จัดการออนไลน์ www.thailandlandoffroad.com
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ