โรงเรียนจีนกลางหุบเขาเปียงหลวง ที่เชียงใหม่-ปั้นเด็กดอยสู่โอกาส เป็นทั้งครูเป็นทั้งไกด์และเป็น’ไทย’

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 9 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 7282 ครั้ง

 

หรือคือเมืองหลวง

 

จากทางหลวงหมายเลข 107 เข้าสู่ 1171 ตรงทางแยกอำเภอเชียงดาว จนถึงเส้นทาง 1322 สู่เวียงแหง เป็นเส้นทางคดเคี้ยวที่คนเมืองเชียงใหม่บอกว่า "จิ๊งวิ้ง" คือเลี้ยวลดคดเคี้ยวจนชวนให้เกิดอาการคลื่นเหียนเวียนไส้

ไม่แพ้เส้นทางหักศอกของเมืองปาย และอาจเป็นเพราะ”เปียงหลวง” เป็นเพียงหมู่บ้านจนๆ ติดชายแดนพม่า ที่มิได้มีแหล่งท่องเที่ยวหรือเทศกาลสีสันตามความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวประเภท "แชะช้อปฉี่" เปียงหลวงวันนี้ จึงยังคงคลับคล้ายเมืองชายแดนในประเทศด้อยพัฒนาเมื่อสิบปีก่อน  ห่างไกลความรับรู้ของนักท่องเที่ยวทั่วไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประวัติศาสตร์ของเปียงหลวง อาจเริ่มต้นโดยชาติพันธุ์ไทยใหญ่จากรัฐฉานของพม่า อพยพย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาข้าวปลาอาหารอันอุดม เมื่อกว่า100 ปีมาแล้ว  เปียงหลวงจึงอาจมีนัยยะของการเป็นเมืองแห่งการตั้งรกราก เสมือนหนึ่งหรือเพียงประหนึ่งเป็นเมืองหลวง  และเป็น”เปียงหลวง”ตามสำเนียงชาวไทยใหญ่ในที่สุด จากนั้นมาราวปี 2493 เมื่อจีนคอมมิวนิสต์สู้รบกันจนกองทัพเจียงไคเช็คแตกพ่ายข้ามน้ำข้ามทะเลไปเกาะไต้หวัน นายพลแห่งกองพล 93 จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็คือเจ้าที่ดินในสมัยนั้นพร้อมด้วยครอบครัว หนีข้ามแม่น้ำแยงซีเข้าสู่พม่า ประกาศต่อสู้กับจีนคอมมิวนิสต์ ทำให้กองทัพจีนคอมมิวนิสต์ร่วมมือกับกองทัพพม่า ทำการปราบปรามอย่างหนัก พี่ใหญ่อย่างอเมริกาต้องเข้ามาเจรจาทางลับกับรัฐบาลไทย  ยอมให้กองพล 93 ถอยร่นเข้ามาตั้งกองกำลังในฝั่งไทย โดยมีวาระซ่อนเร้นหวังให้กองพล 93 ช่วยต้านคอมมิวนิสต์ในดินแดนแถบนี้  กองพล 93 จึงสืบลูกสืบหลานที่เรียกว่าชาว”จีนฮ่อ” ( หรือ Yunanese) อยู่ร่วมกับคนไทยใหญ่และเชื้อสายเผ่าพันธุ์อันหลาก หลายของดินแดนแห่งนี้  ทั้งกะเหรี่ยง มูเซอ เย้า รวมถึงคนล้านนาเดิมที่เรียกว่าคนเมืองในปัจจุบัน

 

 

 

 

หนังสือท่องเที่ยวบางเล่ม  แนะนำเปียงหลวงในฐานะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งก็ไม่ผิดความจริง  เพราะนี่เป็นเสน่ห์ล้ำลึกของเมืองเล็กๆที่มีเพียง 3,661 ครัวเรือนแห่งนี้ การอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมจีน  กับไทยใหญ่และชนเผ่าต่างๆ  ที่ต่างยังรักษาเอกลักษณ์ทางภาษา วิถีชีวิต ประเพณี แสดงออก อยู่ในตัวตนของผู้คนและบ้านเรือนทั่วไป ประชากร 28,882 คน ประกอบด้วยลูกหลานชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ไทยใหญ่รองลงมา และชนเผ่าอื่น ๆ  ประกอบเข้าเป็นบรรยากาศที่ดูแปลกไปจากวัฒนธรรมกระแสหลักที่เราคุ้นชิน บ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้นที่เกาะขอบถนนเล็ก ๆ  ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์สิ่งปลูกสร้างง่ายๆ เป็นร้านค้าและตลาดอันคึกคักที่สุดของเมืองแห่งนี้ โดยร้านค้าหรือบ้านเรือนของชาวจีนยังรักษาธรรมเนียมการติดป้ายชื่อแซ่ของผู้เป็นเจ้าของบ้านไว้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“แสงสว่าง” ทางปัญญา

 

 

ใครไม่รู้บอกว่า  คนจีนคือยิวแห่งบูรพาทิศ ฟังดูเป็นทัศนคติเชิงลบ  อาจเป็นเพราะคนจีนไปอยู่ที่ไหน  ก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจการค้า  คนจีนค้าขายเก่งและขยันอดทน  ตั้งเนื้อตั้งตัวจนกลายเป็นผู้มีฐานะหรือไต่เต้าเข้าสู่ระบบอำนาจ  ในขณะเดียวกัน  คนจีนก็ยังยึดมั่นในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม  ภาษา และศาสนาความเชื่อ  ลูกหลานจีนเปียงหลวงก็เช่นกัน  แม้วันนี้พวกเขาส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์  หากแต่ปรัชญาขงจื๊อที่หล่อหลอมฝังลึกอยู่ในตัวตนและอัตลักษณ์ชาวจีนเปียงหลวง  บวกกับความเป็นชุมชนที่ค่อนข้างปิด  ทำให้แทบไม่น่าเชื่อว่าคนจีนที่นี่จำนวนมาก  ยังคงพูดภาษาไทยไม่ได้  และใช้เพียงภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวันในชีวิตประจำวัน    บรรยากาศของบ้านเรือน  บุคลิกผู้คน  จึงทำให้บางมุมของเปียงหลวง ดูคล้ายชุมชนชาวจีนบนผืนแผ่นดินจีนจริง ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ลูกหลานจีนเปียงหลวง  ไม่เพียงแต่เข้าโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับ  ที่เรียนภาษาไทยด้วยหลักสูตรเดียวกันกับเด็กไทยในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ  เด็ก ๆ ที่นี่แทบทุกคน  ยังต้องเข้าโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งเพื่อเรียนภาษาจีน  ให้อ่านออกเขียนได้จนถึงระดับประถมอีกด้วย  โรงเรียนแห่งนี้เปิดเรียนภาคค่ำตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 3 ทุ่ม เรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ มีวันหยุดและฤดูกาลปิดเทอมใหญ่เช่นเดียวกับโรงเรียนปกติทั่วไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“กวงหัว” อันแปลว่าแสงสว่าง  คือชื่อโรงเรียนกลางหุบเขาแห่งนี้  พื้นที่กว้างใหญ่พร้อมอาคารเรียน 2-3 ชั้น  สนามเด็กเล่น ลานจอดรถและหนองน้ำใหญ่  รวมทั้งเสาธงที่มีธงชาติไทยสะบัดพลิ้ว  นอกไปจากฉากหลังที่เป็นเทือกเขาห้อมล้อมแล้ว  ก็ดูไม่มีอะไรต่างไปจากโรงเรียนทั่วไป  ที่นี่มีนักเรียนถึง 800 กว่าคน  พูดได้ว่า  เด็ก ๆ แทบทุกคนในเปียงหลวงต้องมาเรียนภาษาจีนที่นี่  ในจำนวนนี้เป็นเด็กชาวจีนฮ่อมากที่สุด รองลงมาคือไทยใหญ่  และชนเผ่าอื่น ๆ  เรียนกันตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถม 4 และกำลังจะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส  ทำการเรียนการสอนได้ถึงมัธยมต้น

 

ในวันที่เช้ามืดของเปียงหลวงมีอุณหภูมิลดเหลือ 4 องศา  กว่าเราจะตัดสินใจไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้  ก็ต้องรีรอให้แดดจัดช่วยคลี่คลายความหนาวเหน็บ  คุณครูใหญ่ออกมาต้อนรับเราด้วยสีหน้างงงวย  เพราะไม่เคยปรากฎมีอาคันตุกะเดินทางไกลมาเพราะอยากสนทนากับครู  หลังจากที่เราส่งภาษาจีนกลางกระท่อนกระแท่นสร้างความงงงวยให้คุณครูใหญ่ซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้หนักขึ้นไปอีก  เราก็โชคดีมีครูผู้ช่วยวัยหนุ่มที่พูดภาษาไทยได้ดี  ช่วยมาเป็นล่ามให้ตลอดช่วงการสนทนา คุณครูใหญ่”เสสิง แช่หยาง”  ผู้ซึ่งเป็นลูกหลานจีนกองพล 93  แต่เกิดที่ไต้หวันจบการศึกษาจากไต้หวัน  ย้ายจากอำเภอไชยปราการมาเป็นครูใหญ่ที่นี่ได้ 6 ปีแล้ว  เล่าให้ฟังว่า  “จริง ๆ เราเป็นโรงเรียนเอกชน  เก็บตังค์ค่าเรียนเฉลี่ยเดือนละ 150 บาท  ถ้านับเป็นวันก็เท่ากับเด็กอนุบาลจ่ายวันละ 2 บาทกว่า  เด็กประถม 3-4 บาท “ คุณครูเสสิง  ต้อนรับขับสู้เราด้วยอัธยาศัยดียิ่งกับชาจีนร้อนๆ  ตามวิถีธรรมเนียมชาวจีนแท้  ที่ถือปฏิบัติต่อแขกผู้มาเยือนว่าคือ ”คนพิเศษ” คุณครูผู้ช่วย “ไคเหลียง แซ่เส่ง”  ยังบอกเราด้วยว่า ขอให้อยู่ทานอาหารพิเศษของชาวจีนฮ่อที่นี่ด้วย  เขาได้บอกแม่ครัวให้ไปปรุงแล้ว  รับรองว่าหาทานที่ไหนไม่ได้เลย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่นี่มีครูทั้งหมด 24 คนซึ่งล้วนเป็นคนในชุมชน  บางคนเป็นศิษย์เก่า  ด้วยโรงเรียนกวงหัวแห่งนี้ทำการเรียนการสอนมายาวนานกว่า 40 ปีแล้ว  “เงินที่เก็บจากเด็ก ๆ ไม่พอจะจ่ายเงินเดือนให้ครูหรอกครับ  ครูส่วนใหญ่ต้องทำงานอื่นควบคู่ด้วย  เราได้รับเงินบริจาคจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กบ้าง  พ่อแม่เด็กบางคนก็สามารถติดต่อกับนักธุรกิจที่อยู่ในเชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ เราก็ได้รับเงินบริจาคมาเรื่อย ๆ รวมทั้งจากรัฐบาลไต้หวันบริจาคปีหนึ่งประมาณ 1 แสนบาท  แล้วเราก็เคยได้รับบริจาคสร้างอาคารเรียนจากมูลนิธิของเติ้งลี่จวินด้วย”  คุณครูเสสิง หมายถึงเติ่งลี่ จวิน นักร้องสาวซุปเปอร์สตาร์ชาวไต้หวัน  ที่มาเสียชีวิตที่เชียงใหม่เมื่อประมาณปี  2547 ซึ่งโรงเรียนกวงหัวเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับเงินบริจาคเพื่อการศึกษาจากมูลนิธิเติงลี่จวิน

 

 

เป็น”ไทย”ด้วยภาษาจีน

 

 

โรงเรียนกวงหัวจึงเป็นโรงเรียนชุมชนที่อุปถัมภ์โดยชุมชน  มีผู้อาวุโสในชุมชนเป็นกรรมการโรงเรียนทั้งสิ้น 15 คน ปณิธานของโรงเรียน  ถูกเขียนประกาศไว้ด้วยอักษรจีนตัวใหญ่ที่กำแพงหน้าประตูทางเข้า ระบุว่าโรงเรียนมุ่งเน้นจะทำให้ลูกหลานเป็นคนดี มีความรู้และรักชาติไทย ถัดเข้าไป มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ขนาดใหญ่ติดอยู่ด้านหน้าอาคาร

 

 

เมื่อถามถึงหลักสูตรการเรียนการสอน ครูใหญ่เสสิง อธิบายว่าที่นี่สอนให้อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่อักษรตัวแรก  และการผสมคำ ด้วยสำเนียงและอักษรจีนแบบไต้หวัน  ที่มี 10,000 กว่าตัว  ดังนั้น  เด็กที่อ่านออกเขียนได้แล้ว   ก็จะสามารถอ่านอักษรจีนของสาธารณรัฐจีนที่ปัจจุบันปฏิรูปเหลือเพียง 280 ตัวได้ด้วย  ส่วนหลักสูตรอื่นๆก็คือ  วิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  และวิชาสามัญทั่วไปที่มีเนื้อหาเดียวกันกับสาระวิชาในโรงเรียนปกติ  เพียงแต่เรียนเป็นภาษาจีน  ครูใหญ่บอกเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า  เด็กๆที่เรียนจบจากโรงเรียนกวงหัว  ไปทำงานที่เชียงใหม่  ไปเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนในมหาวิทยาลัยเอกชน  และไปเป็นไกด์ในบริษัทท่องเที่ยวใหญ่ๆหลายคน  ลูกศิษย์ของที่นี่  มักได้รับการกล่าวขวัญว่า  มีความโดดเด่นจากบรรดาโรงเรียนสอนภาษาจีนรวมกว่า 100 แห่ง  ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย  ครูใหญ่ยังให้แง่คิดว่า การที่โรงเรียนเปิดสอนภาคค่ำ หลังจากเด็ก ๆ กลับจากโรงเรียนปกติ กินข้าวอาบน้ำอาบท่าแล้ว  เด็กส่วนใหญ่ของเปียงหลวงจะมาเข้าชั้นเรียนที่นี่  นับเป็นกุศโลบายที่ทำให้เด็ก ๆ ไม่จับเจ่าเอาแต่ดูโทรทัศน์หรือติดเกมส์ ไม่เหลือเวลาไปมั่วสุม เสี่ยงต่ออบายมุข “เราสอนให้เขาซื่อสัตย์ มีคุณธรรม เคารพบิดามารดา รักประเทศไทย รักในหลวงและพระราชินี “ครูใหญ่บอกเล่าด้วยรอยยิ้มอ่อนโยนผ่านล่าม  และอธิบายเพิ่มเติม “เรามีวันปิดเทอม  เพื่อให้พ่อแม่พาเด็กไปเยี่ยมญาติหรือไปเที่ยวไกลๆได้บ้าง  โรงเรียนของเราจึงปิดเทอมพร้อมกับโรงเรียนปกติ  แต่ปิดเพียง 1 เดือนคือเดือนมีนาคม”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมเปียงหลวง  ในสายตาคุณครูใหญ่เห็นว่า  “คนหนุ่มสาวเขาอยากไปทำงานในเมือง  เดี๋ยวนี้รู้ภาษาจีนก็มีงานดีๆมากขึ้น  ลูกศิษย์ของเราไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนที่เชียงใหม่หลายคน  แต่คนรุ่นพ่อแม่ก็ยังเหมือนเดิม นี่อาทิตย์หน้า เราก็จะมีเทศกาลตรุษจีน  เปียงหลวงจะคึกคักมาก  ทั้งคนมูเซอ  กะเหรี่ยง  ก็มีงานไหว้เจ้าฉลองกัน  แล้วยังมีงานปอยส่างลอง  (หรือบวชเณรที่ชาวไทยใหญ่เรียกว่า บวชลูกแก้ว)  ตอนเดือนเมษายน  ก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก”

 

โรงเรียนกวงหัวแห่งนี้ จึงเป็นโรงเรียนขยายโอกาสในความหมายที่แท้จริง  ที่ไม่ใช่การขยายชั้นปีเก็บเด็กไว้ในโรงเรียนให้นานขึ้นเท่านั้น เพราะลำพังเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาระดับมัธยม แม้แต่ในกรุงเทพฯ หรือ หัวเมืองใหญ่ ล้วนประสบปัญหาการหางานทำทั้งสิ้น โอกาสของคนหนุ่มสาวจากดินแดนชายขอบเช่นนี้  ส่วนใหญ่คงเป็นได้เพียงแรงงานหรือเสมียน   หากแต่ความสำเร็จในอาชีพการงานของศิษย์รุ่นพี่ จากการบ่มเพาะของโรงเรียนจีนแห่งนี้  ได้กลายเป็นแรงจูงใจและเป็นตำนานบอกเล่าสู่ชีวิตที่ดีกว่า  ให้ศิษย์รุ่นหลัง ๆ ของที่นี่  มุ่งมั่นเรียนรู้ภาษาจีนภูมิปัญญาจีน ไปพร้อม ๆ กับการหล่อหลอมความเป็นไทยจากโรงเรียนปกติ

 

 

 

เปียงหลวงที่รัก

 

 

อาจเป็นด้วยความอ่อนไหวในฐานะดินแดนรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนหน้าการปฏิรูปครั้งใหญ่ในพม่า  คนรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นพ่อแม่ของเปียงหลวง ยังคงถือเอกสารต่างด้าวและบัตรผู้พลัดถิ่น  มีเพียงลูกหลานในชั้นหลังที่ได้เป็นคนไทยโดยกำเนิด และอีกจำนวนหนึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้บัตรประชาชน ชายแดนแถบนี้เคยถูกฝ่ายความมั่นคงและราชการจับตา ด้วยว่ามีทั้งขบวนการลักลอบข้ามแดนมาขายแรงงานและสิ่งเสพติด  ทำให้วันนี้ ตลอดเส้นทางถนนสายหลักของอำเภอเวียงแหง ที่ทอดยาวมาจนถึงตำบลเปียงหลวง เต็มไปด้วยมือไม้แขนขาของหน่วยราชการ ฝ่ายปกครองท้องถิ่น สาธารณสุข โรงเรียน ฯ และนี่อาจเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่ว่าเราจะนิยามว่าเป็นความเจริญหรือความเสื่อม

 

การสนทนาระหว่างบรรทัด ทำให้รู้ว่าเปียงหลวงวันนี้ไม่ใช่ดินแดนชายขอบอันงดงามของผู้ผ่านทางอีกแล้ว ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์  ไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็นความงดงามและเป็นจุดขายชั้นเลิศของการท่องเที่ยว หากแต่ลึกลงไป ยังมีความขัดแย้งในความแตกต่างทางความเชื่อและวิถีวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย

 

เสียงรำพึงของคุณครูใหญ่วัยใกล้เกษียณ ที่อยากเห็นความสามัคคีรักใคร่ปรองดองกันระหว่างเผ่าพันธุ์เหมือนดังแต่ก่อน น่าจะชี้ร่องรอยปัญหาบางประการ  ทีเป็นปัญหาเหมือน ๆ กันกับที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจเป็นปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้าง  เช่นเดียวกับปัญหาความแตกต่างในความคิดทางการเมืองและประชาธิปไตย  ของคนไทยที่ถูกแบ่งเป็นเหลือง-แดง  ไพร่-อำมาตย์  เสรีนิยม-อนุรักษ์นิยม ทุนสามานย์-เศรษฐกิจพอเพียง ฯ ตลอดจนคู่ขัดแย้งอีกมากมายมหาศาลในวิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทุกเมื่อเชื่อวัน

 

 

 

 

ไม่มีคำตอบในสายลมของเปียงหลวง และไม่มีคำตอบในสายลมของสังคมไทย เพราะเราไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ด้วยการเพรียกหาความรักความสามัคคี รักใคร่ปรองดองเหมือนดังก่อนเก่า ในเมื่อสายน้ำไม่เคยไหลย้อนกลับ  เช่นเดียวกับสังคมไทยทุกหย่อมหญ้าที่  “ไม่เหมือนเดิม” อีกต่อไป หนทางเดียวที่อาจมีอยู่บ้างคือ การเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่ออยู่ร่วมกันต่อไปให้ได้

 

หลังจากอิ่มหนำกับรสชาติแสนประทับใจของ “ซีเต้าเฝิ่น”  หรือก๋วยเตี๋ยวจีนฮ่อสีเหลืองนวลที่ทำจากถั่วลันเตา  เส้นเหนียวนุ่มที่ราดด้วยน้ำครีมข้นหอมกรุ่น คลุกเคล้าถั่วป่น กระเทียมเจียวและพริกผัดน้ำมัน โรยหน้าผักชี...

เป็นอาหารมื้อพิเศษ  ที่คนแปลกหน้าอันเพิ่งเคยพบกันครั้งแรกในชีวิต ได้มานั่งรับประทานร่วมกันอย่างอิ่มอกอิ่มใจและอิ่มท้อง

 

ก็แค่หวัง...อยากให้รสชาติ”ซีเต้าเฝิ่น” เป็นเช่นนี้ตลอดไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: