ชี้‘พีฟอร์พี’ทำวงการแพทย์ร้าวลึก ทั้งหนุน-ค้านสั่งใช้แล้วแต่ยังไม่ยุติ หมอชนบทแนะใช้2ระบบตามพื้นที่

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 9 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2682 ครั้ง

 

ความพยายามเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขจากระบบเหมาจ่าย เป็นระบบพี4พี หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay For Performance: P4P) กำลังสร้างความปั่นป่วน ขัดแย้ง และแตกแยกขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก

 

แม้ว่าจะมีการทดลองใช้ระบบพี4พีมาก่อนหน้านั้น แต่เมื่อเจ้ากระทรวงอย่าง น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ตัดสินใจใช้ระบบพี4พีทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลชุมชน นำโดยชมรมแพทย์ชนบทก็ออกมาคัดค้านทันที และลามไปถึงการขับไล่ น.พ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง

 

 

จากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายถึงพี4พี

 

 

เดิมทีภาครัฐมีการกำหนดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ให้แก่แพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นทุรกันดาร มาตั้งแต่ปี 2514 เพื่อจูงใจแพทย์ให้อยู่ในชนบท จำนวนเงินดังกล่าวคงเดิมเรื่อยมา โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

กระทั่ง ปี 2551 น.พ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จึงเสนอขึ้นค่าเบี้ยงเลี้ยงเหมาจ่ายต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข ในครั้งนั้น และได้รับการเห็นชอบ โดยแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 3 ปีแรก ได้เบี้ยงเลี้ยงเหมาจ่าย 10,000 บาท ส่วนปีที่ 4-10 แพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กได้ 30,000 บาท ขนาดกลางได้ 25,000 บาท และขนาดใหญ่ได้ 20,000 บาท ส่วนปีที่ 11-20 แพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กได้ 40,000 บาท ขนาดกลางได้ 30,000 บาท และขนาดเล็กได้ 25,000 บาท ส่วนแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน  21 ปีขึ้นไป ขนาดเล็กได้ 50,000 บาท ขนาดกลางได้ 40,000 บาท และขนาดใหญ่ได้ 30,000 บาท ส่วนในพื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 เพิ่มให้อีก 10,000 บาท ระดับ 2 เพิ่มให้อีก 20,000 บาท

 

การขึ้นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเฉพาะแพทย์และทันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ทำให้กลุ่มพยาบาลและแพทย์โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัดออกมาเรียกร้องบ้าง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็ยินยอมตาม โดยยังคงยึดหลักที่ว่า ต้องได้น้อยกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อป้องกันการสมองไหลของแพทย์จากชนบทเข้าสู่เมือง แต่สุดท้ายกลับประสบปัญหาเรื่องการเงินและระเบียบราชการ พ.ญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์-โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า

 

 

            “แต่พอปี 2555 กระทรวงการคลังไม่ได้ให้เงินแล้ว โรงพยาบาลจังหวัดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์จึงยังไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยง เพราะคาดว่ากระทรวงสาธารณสุข จะของบได้อีก แต่ปรากฎว่าไม่มี พอได้งบปี 2556กระทรวงการคลังจะให้งบอีก 3,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขพ่วงคือ ต้องทำพี4พี ปีที่แล้วจึงปรับเปลี่ยนการทำงานมาพอสมควรในกลุ่มโรงพยาบาลจังหวัด”

 

 

พี4พีทำแพทย์แตกแยก-สมองไหลไปร.พ.ใหญ่

 

 

จุดนี้นำไปสู่การยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมด ไปเป็นระบบพี4พี ซึ่ง น.พ.ประดิษฐ เชื่อว่าจะเป็นการยกเครื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้เกิดความเป็นธรรมและสมดุล โดยหลักการของระบบพี4พีคือ ผู้ที่ทำงานมากควรได้รับค่าตอบแทนมาก ซึ่งในมุมของ น.พ.ประดิษฐ เห็นว่า ที่ผ่านมาแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนที่ได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสูงกลับทำงานไม่คุ้มกับเงินที่ได้ เกิดความขัดแย้งทางแนวคิด ระหว่างประสิทธิภาพกับการจูงใจแพทย์ให้อยู่ในชนบท

 

น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งออกมาคัดค้านระบบพี4พี กล่าวว่า พี4พีเหมาะกับงานที่นับเชิงปริมาณ แต่ไม่เหมาะกับงานเชิงวิชาชีพและเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณ

 

 

            “ยกตัวอย่างเช่นโรงพยาบาลผมมีหมอ 2 คน คนหนึ่งตรวจช้า ดูแลคนไข้ละเอียด ชอบอธิบายกับผู้ป่วย ชั่วโมงหนึ่งตรวจได้ 10 คน อีกคนเป็นหมอที่มีความกระตือรือร้น ตรวจเร็ว ตัดสินใจเร็ว ตรวจได้ 20 คน พยาบาลหน้าห้องตรวจจะรู้ว่าคนไข้แต่ละคนควรจะถูกส่งไปพบหมอคนไหน คนที่ตรวจเร็วไม่รู้สึกเลยว่าคนที่ตรวจช้าเอาเปรียบ ทั้งคู่รักกันดี เป็นเพื่อนกัน ถ้าจ่ายตามพี4พี หมอตรวจช้าได้ 10 แต้ม ตรวจเร็วได้ 20 แต้ม สิ้นเดือนได้ค่าตอบแทนไม่เท่ากัน แต่ถ้าระบบนี้เข้ามา 3 เดือน แตกแยกทันที ความสามัคคีไม่มี”

 

            “พี4พียังจะทำให้หมอถูกดูดไปอยู่โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน สมมติหมอคนหนึ่งทำภาระงานได้ 2,000 คะแนน ทำที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัดก็ไม่ต่างกัน เพราะเป็นการทำแต้ม จะตรวจที่ไหนก็ได้ นำแต้มไปแลกเงินได้ มันจึงไม่จูงใจให้หมออยู่ในชนบท ขณะที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ยิ่งไกลยิ่งได้มาก เพราะถือว่าคุณเสียสละและเป็นค่าเสียโอกาส”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้สภาพการทำงานของโรงพยาบาลชุมชนยังแตกต่างจากโรงพยาบาลจังหวัด เพราะบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลชุมชน จะต้องมีการลงพื้นที่ชุมชน พูดคุยกับชาวบ้าน ติดตาม ประเมินผลการดูแล-รักษาสุขภาพ ซึ่งเนื้องานทำนองนี้ไม่สามารถคิดวัดเป็นคะแนนได้

 

 

ยอมรับส่งต่อมาก เพราะขาดแพทย์เชี่ยวชาญ

 

 

 

ข้อโต้แย้งประการหนึ่งของฝ่ายที่สนับสนุนระบบพี4พียกขึ้นมาคือ ปัจจุบัน โรงพยาบาลชุมชนส่งต่อคนไข้จำนวนมากไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเท่ากับโยนภาระงานออกไป แต่ยังคงได้เบี้ยเลี้ยงเท่าเดิม จุดนี้ น.พ.สุภัทร ยอมรับว่า เป็นความจริงที่มีการส่งต่อมาก แต่นั่นเป็นเพราะโรงพยาบาลชุมชนไม่มีผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีนโยบายกระจายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ลงสู่โรงพยาบาลชุมชนมานับ 20 ปี เพิ่งจะมีนโยบายนี้เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งกว่าจะได้ผลก็คงอีก 5 ปีข้างหน้า

 

 

          “เมื่อเราไม่มีหมอเชี่ยวชาญ เราก็ต้องส่งต่อ เมื่อโรงพยาบาลศูนย์งานหนักขึ้น ทางกระทรวงก็ต้องช่วยเหลือโดยให้ค่าตอบแทนเขามากขึ้น แต่ไม่ใช่บังคับโรงพยาบาลชุมชนต้องใช้พี4พีด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบท”

 

 

โต้พี4พีช่วยแพทย์ได้เงินเพิ่ม-เผยที่ผ่านมาหมอเก่าเอาเปรียบหมอใหม่

 

 

ด้าน พ.ญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์ ร.พ.ศูนย์ ร.พ.ทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ที่สนับสนุนระบบพี4พี กล่าวว่า การนำระบบพี4พีมาใช้ ยังคงควบคู่ไปกับการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิมในกลุ่มที่มีอายุงานไม่เกิน 3 ปี หมายความว่า แพทย์กลุ่มนี้จะได้ทั้งเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและค่าตอบแทนจากระบบพี4พี ส่วนแพทย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ยังคงได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามปกติ ไม่มีการแตะต้องใด ๆ ไม่ว่าจะอายุงานกี่ปีก็ตาม กลุ่มที่จะได้ลดลงคือแพทย์ที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป แต่ก็ลดลงเพียง 10,000 บาท คือจาก 50,000 บาท เหลือ 40,000 บาท จึงไม่นำไปสู่ปัญหาสมองไหลแต่อย่างใด

 

            “ดังนั้นค่าตอบแทนที่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนได้ ยังแตกต่างกับแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์อยู่เยอะ บางคนจะได้เพิ่มกว่าเดิมถ้าทำงานจริงจัง เพราะระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แพทย์ที่จบมาใหม่ ๆ ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยซ้ำ ได้หมื่นเดียวอยู่ 3 ปี แต่แพทย์รุ่นพี่ที่นั่งเฉยๆ ได้ 4 หมื่น ถือว่ากินแรง คนอายุราชการ 20 ปี ตำแหน่งซี 9 เงินเดือน 5 หมื่นกว่า เงินประจำตำแหน่ง 2 หมื่น ไม่ทำคลินิกได้อีก 1 หมื่น เงินเพิ่มเติมตามวิชาชีพอีก 1 หมื่น ขณะที่น้องใหม่ได้น้อยกว่า แต่คนทำงานคือน้องใหม่ แล้วหมอก็ได้เงินมากกว่าพยาบาลเยอะมาก ทั้งที่หมอบางคนให้พยาบาลทำงานแทน ส่วนหมอระดับบริหาร ค่าตอบแทนลดลงนิดหน่อยจาก 5 หมื่นเป็น 4 หมื่น และต่อให้ไม่ตรวจเลยก็ยังได้แต้มพี4พีจากการทำงานบริหารเพิ่มเข้าไปอีก”

 

 

ชี้หมอเร่งทำคะแนนไม่ได้ เพราะมีมาตรฐานวิชาชีพคุม-วอนอย่าดูถูกหมอกันเอง

 

 

ส่วนกรณีที่เกรงว่าแพทย์จะเร่งตรวจผู้ป่วยเพื่อทำคะแนน พ.ญ.ประชุมพร กล่าวว่า ผู้ที่คิดเช่นนี้กำลังดูถูกวิชาชีพแพทย์ของตนเอง พ.ญ.ประชุมพรกล่าวว่า การตรวจคนไข้ไม่สามารถเร่งได้ เนื่องจากถูกควบคุมด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ

 

 

          “และเป็นไปไม่ได้ที่ความประณีตในการรักษาลดลง เช่น หมอผ่าตัดจะมีนิสัยการทำงานแบบหนึ่ง เวลาผ่าตัดก็จะยังคงเป็นอย่างนั้น ไม่มีการรีบผ่าตัด ถามว่าหมอโรงพยาบาลเอกชนรับค่าตอบแทนตามเนื้องานเหมือนกัน ทำไมเขาไม่รีบๆ ทำ แล้วเวลาคนไข้นั่งรอตรวจหน้าห้องอยู่เต็มหมด หมอก็ต้องเฉลี่ยเวลาให้ทุกคน เพราะทุกคนก็อยากรักษา อยากกลับบ้าน เราก็เร่งตามปกติอยู่แล้วไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงิน มีแต้มหรือไม่มีแต้ม”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลักการ-วิธีการ เถียงกันคนละจุด

 

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากแพทยสภา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นการเห็นไม่ตรงกันระหว่างหลักการและวิธีการ ทางโรงพยาบาลศูนย์เห็นว่าหลักการดี แต่โรงพยาบาลชุมชนเห็นว่าวิธีการไม่ดี ดังนั้นจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะเถียงกันคนละจุด โดยหลักการที่ว่าใครทำงานมากควรได้ค่าตอบแทนมากเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ปัญหาอยู่ที่วิธีการวัดผลควรจะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนเสียประโยชน์ คนทำงานมีกำลังใจ และกระบวนการเปลี่ยนแปลงจะทำอย่างไรให้มีความเหมาะสม

 

 

          “การวัดผลต้องมีทั้งคุณภาพและปริมาณ สิ่งที่ฝ่ายหนึ่งพูด พูดแต่เรื่องปริมาณ ไม่ได้พูดเรื่องคุณภาพ แต่พี4พีต้องพูดทั้งสองอย่าง ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องของวิธีปฏิบัติ ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่วิธีปฏิบัติ ถ้านับแต่จำนวนหัวก็จะมีปัญหา ดังนั้น ต้องหาวิธีนับจากจำนวนหัวและคุณภาพควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องไปคิดโจทย์ คือต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพด้วย”

 

 

แหล่งข่าวรายนี้เห็นว่า การใช้ระบบพี4พีต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ และทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาระบบ แต่ไม่ควรเกิดด้วยการบังคับ

 

 

          “โดยหลักการโรงพยาบาลที่จะทำพี4พีต้องไปถามชุมชนว่าต้องการอะไร เช่น คนในชุมชนเป็นเบาหวานจำนวนมาก อยากจะแก้ไขปัญหานี้ ก็เอาพี4พีมาจับ เช่น คนไข้ตาบอดน้อยลง น้ำตาลลดลง เราก็จะได้มีเงินเพิ่มเติมให้ ชุมชนก็เป็นคนคิดเองว่าปัญหาเขาคืออะไร คิดเสร็จก็มาช่วยกันทำ คิดว่าทางกระทรวงก็พยายามทำแบบนี้อยู่ คือให้แต่ละโรงพยาบาลไปคิดกันเอง กระทรวงให้เงินอย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ทุกโรงพยาบาลไปชวนกันคิดว่า อยากจะช่วยคนไข้ตรงไหน แล้วเอาตัวนั้นมานับแต้ม ก็จบ แต่ถ้ากระทรวงบอกให้นับแต้มเหมือนกันทั้งประเทศย่อมเป็นไปไม่ได้ ก็ถูกด่าแบบนี้แหละ ดังนั้น พี4พีที่ดีต้องปรับตามพื้นที่”

 

 

 

แพทย์ชนบทเสนอใช้ทั้ง 2 ระบบตามแต่สมัครใจ ห้ามบังคับ

 

 

แม้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะประนีประนอม โดยการกำหนดให้ใช้ทั้งระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและพี4พีควบคู่กันไปในช่วงปีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556-31 มีนาคม 2557 ส่วนเฟส 2 จะลดระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายลง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูเหมือนความขัดแย้งยังไม่เบาบางลง โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งขึ้นป้ายประท้วง ไม่ยอมรับอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ชนบทยังคงมีการลาออกรายวัน

 

พ.ญ.ประชุมพร เปิดเผยว่า น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข วางแนวทางจะใช้ทั้งสองระบบควบคู่กันในเฟสแรก 1 ปี และหาข้อบกพร่องเพื่อนำไปปรับปรุงต่อในเฟส 2 แต่เพราะกระแสต้านที่แรงมาก จึงเห็นว่าหากแนวทางในเฟส 1สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ก็อาจจะไม่มีการปรับในเฟส 2 ดังที่มีการประกาศออกมาก่อนหน้านี้

 

ด้าน น.พ.สุภัทรกล่าวว่า ทางชมรมแพทย์ชนบทไม่ได้คัดค้านระบบพี4พีโดยสิ้นเชิง หากโรงพยาบาลศูนย์แห่งใดเห็นว่า การใช้พี4พีมีประสิทธิภาพกว่าก็สามารถเลือกใช้ได้ แต่ทางกระทรวงไม่ควรบังคับให้ใช้ระบบพี4พีกับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละแห่งมีบริบทแตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรมี 2 ระบบแยกจากกัน

 

 

          “เราเชื่อว่าพี4พีใช้ได้กับโรงพยาบาลจังหวัดที่มีคนไข้และหมอจำนวนมาก การจะทำให้หมอในโรงพยาบาลจังหวัดทำงานขยันขันแข็ง พี4พีก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ก็ยังทำให้หมอแตกแยกกันได้ ทำให้วัฒนธรรมการทำงานในระยะยาวเปลี่ยน แต่ถ้าโรงพยาบาลจะใช้ระบบนี้ เราก็ไม่ได้ค้าน แต่บริบทโรงพยาบาลชุมชนที่เน้นทำงานเป็นทีม มีหมออยู่สามคนห้าคน โอกาสที่จะขี้เกียจไม่ง่ายนัก ก็น่าจะมีกลไกอื่น วิธีอื่น คือสมมติฐานไม่ถูก วิธีการแก้ปัญหาจึงนำมาตรการที่ไม่ถูกต้องมาใช้ และไม่เห็นต้องใช้มาตรการเดียวทั้งประเทศ เพราะบริบทต่างกัน” น.พ.สุภัทรกล่าว

 

 

หาเกณฑ์นับคะแนนใหม่ยาก 2 ฝ่ายเห็นต่าง

 

 

เมื่อถามทั้ง น.พ.สุภัทร และ พ.ญ.ประชุมพร ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะพูดคุยหารือ เพื่อวางเกณฑ์การให้คะแนนในระบบพี4พีใหม่ โดยคำนึงถึงคุณภาพและลักษณะงานที่มีความแตกต่างกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน

 

น.พ.สุภัทรกล่าวว่า “ยากครับ มีความพยายามที่จะใส่เกณฑ์วัดคุณภาพเข้าไป เช่น ตรวจคนไข้และอธิบายอย่างละเอียด ตรวจคนไข้ได้ 1 คะแนน อธิบายได้ 2 คะแนน คำถามคืออะไรคือการอธิบายอย่างละเอียด แล้วใครเป็นคนจดคะแนน ถ้าหมอจดเอง หมอไม่ติ๊ก 2 หมดเหรอ สุดท้ายก็วัดอะไรไม่ได้ เพราะการวัดเชิงคุณภาพไม่ได้วัดโดยการเก็บแต้ม หรือถ้าจะวัดคุณภาพจากผลลัพธ์ เช่น ตรวจเบาหวานตอนต้นปี แล้วมาดูผลตอนปลายปี ถ้าคนไข้คุมน้ำตาลได้ดี หมอเอาไปเลย 20 คะแนน อันนี้เป็นการวัดจากผลลัพธ์ คือพี4พีมีหลายแบบ แต่ที่กระทรวงทำเป็นพี4พีแบบนับแต้ม อย่างไรก็ตาม พี4พีแบบวัดผลลัพธ์ก็วัดได้ยากมาก”

 

ขณะที่ พ.ญ.ประชุมพร กล่าวว่า พี4พีมีวิธีคิดแต้มในเชิงคุณภาพอยู่แล้ว อีกทั้งงานในโรงพยาบาลชุมชนก็ไม่ได้ซับซ้อนมาก ดังนั้น การคิดคะแนนจึงง่ายมาก พร้อมตั้งคำถามว่า “การจะวางเกณฑ์การให้คะแนนทั้งปริมาณและคุณภาพใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ถามว่าทุกฝ่ายที่ว่าคือฝ่ายไหน เพราะพวกหมอยอมรับเกณฑ์นี้กันตั้งแต่แรกแล้ว”

 

ท้ายที่สุด ความไม่ลงรอยกันในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนของทั้งสองฝ่าย ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนกรานในแนวทางของตน และมีธงอยู่แล้วในใจ ซึ่งเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการเมืองในแวดวงหมอ ๆ จึงได้แต่หวังว่า เรื่องนี้จะจบลงโดยที่ประชาชนเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด

 

การเมืองเรื่องหมอ

 

เป็นที่รับรู้กันดีว่า นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. งบประมาณและอำนาจที่เคยอยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุขก็หดหายลงไปมาก พร้อมๆ กับการผงาดขึ้นมาของกลุ่มแพทย์สาย น.พ.ประเวศ วะสี ที่มีแนวหลังอันแข็งแกร่งอย่างชมรมแพทย์ชนบทและเอ็นจีโอบางกลุ่ม

 

เครือข่ายหมอประเวศมีแนวคิดต้องการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศตามแนวทางของตน (เหมาะ-ไม่เหมาะ ดี-ไม่ดี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องถกเถียง) ด้วยการวางเครือข่ายในกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.

 

อย่างไรก็ตาม การทำงานของ สปสช. กลับสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะด้านงบประมาณ และยิ่งลุกลามหนักยิ่งขึ้น เมื่อเครือข่าย สปสช. และเอ็นจีโอหนุน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นเหตุให้แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และแพทยสภาออกมาประท้วงจนเป็นข่าวใหญ่สะเทือนสังคมเมื่อ 2 ปีก่อน

 

การเมืองเรื่องหมอจึงแบ่งฝักฝ่ายออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งคือกระทรวงสาธารณสุข แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ และแพทยสภาพ กับฝ่ายเครือข่ายหมอประเวศ ชมรมแพทย์ชนบท และเอ็นจีโอ ฝ่ายแรกต้องการดึงอำนาจและงบประมาณจาก สปสช. กลับคืน ขณะที่ฝ่ายหลังไม่ต้องการให้ สปสช. อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขเพราะเกรงจะกระทบกับหลักประกันสุขภาพ โดยปีที่แล้ว ชมรมแพทย์ชนบทและเอ็นจีโอได้ออกมาประกาศแผนล้ม สปสช. ของฟากการเมืองจนเป็นที่ฮือฮา

 

แต่ในที่สุด น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีความใกล้ชิดกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และโรงพยาบาลเอกชน ก็เข้ามากุมบังเหียนกระทรวงหมอ พร้อม ๆ กับกระแสข่าวการเขย่าองค์กรตระกูล ส. ไล่ตั้งแต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ฝ่ายการเมืองพยายามส่งคนเข้าไปนั่ง แต่ทาง สสส. ไหวตัวก่อนจึงสามารถสกัดได้ทัน แต่ในกรณี สปสช. กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อคณะกรรมการ สปสช. สายเอ็นจีโอและเครือข่ายหมอประเวศหลายคนต้องหลุดจากตำแหน่ง รวมถึงกรณีการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช. เพิ่มอีก 2 ตำแหน่งโดยเปิดให้มีการรับสมัครจากคนนอก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดย 2 คนที่ได้รับตำแหน่งก็มีความสนิทสนมกับฝ่ายการเมือง

 

การเปลี่ยนมาใช้การจ่ายค่าตอบแทนเป็นระบบพี4พี แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวการล้มองค์กรตระกูล ส. แต่ก็ทำให้เครือข่ายหมอประเวศ ชมรมแพทย์ชนบท และเอ็นจีโอใช้เป็นเหตุผลขับไล่เจ้ากระทรวงได้เป็นอย่างดี บวกกับอารมณ์ทางการเมืองที่ยังคงคุกรุ่น และค้างคามาก่อนหน้าในแวดวงหมอ ก็เท่ากับดึงฝ่ายต่าง ๆ ที่อยู่ตรงข้ามกันเข้ามาประสมโรงเพื่อหวังแตกหักกับอีกฝ่าย สร้างความร้าวลึกในวงการแพทย์อีกครั้ง

 

ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ แนวหน้า ผู้จัดการ มติชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: