วันเสาร์ที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ศูนย์ข่าว TCIJ ได้จัดให้มีเวทีสาธารณะในหัวข้อ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้งกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย’ ท่ามกลางกระแสปฏิรูปและความไม่ลงรอยทางการเมือง ความขัดแย้งทางความคิดในประเด็นมาตรา 112 ร่างกฎหมายนิรโทษ และคดีความมากมายที่รอการสะสาง แล้วสังคมไทยจะก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร ศูนย์ข่าว TCIJ เชิญวิทยากรที่ประกอบด้วย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มาร่วมถกแถลงค้นหาหนทางร่วมกัน
สังคมไทยเปลี่ยนมหาศาล ผู้คนต้องการรัฐเพื่อประกันความเสี่ยง
“ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจความขัดแย้งก่อน เรามักนึกว่าความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือระหว่างสถาบัน ซึ่งไม่ใช่ แต่มันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กว้างและลึก ชนิดที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน” ศ.ดร.นิธิ เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นต้นตอของความขัดแย้ง
ห้วงเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แม้จะมีข้อตำหนิต่อระบบการศึกษา แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต มีคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่าภาคการเกษตร ประเทศไทยจึงไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมอีกแล้ว รายได้ของคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการในรอบ 10 ปีคือตั้งแต่ปี 2540-2550 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.4 สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้มากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงที่มากมายขนาดนี้ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องการรัฐ เพื่อทำให้ความเสี่ยงในชีวิตลดลง เพราะกลไกป้องกันความเสี่ยงในสมัยโบราณหายไปหมดแล้ว แต่ความเสี่ยงกลับเพิ่มมากขึ้น ประชาชนจึงต้องการให้รัฐช่วยดูแลและประกันความเสี่ยง
แต่ความสามารถของรัฐในการดูแลและประกันความเสี่ยงกลับมีไม่สูงนัก ซึ่ง ศ.ดร.นิธิ ชี้ว่ามีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ การเมืองการปกครองของไทยไม่เอื้ออำนวยให้เกิดกลไกของสังคมแบบใหม่ที่จะมีการป้องกันความเสี่ยง เช่น ไม่มีการปกครองส่วนท้องถิ่น มีแต่การปกครองส่วนกลางอย่างเดียว จึงยากมากที่จะกดดันนโยบายบางอย่างในท้องถิ่นให้ช่วยประกันความเสี่ยง ประการที่ 2 คือการเปลี่ยนผ่านสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการเวลานี้ค่อนข้างไม่มีความหมาย ยกตัวอย่างเช่น ร้อยละ 94.3 ของอุตสาหกรรมไทยเป็นโรงงานขนาดเล็กทั้งสิ้น การมีสหภาพแรงงานที่จะมีกำลังต่อรองจึงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งรัฐก็ไม่รู้จะเข้าไปช่วยอย่างไร
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
กระทั่งชนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษาก็มีความเสี่ยงมากขึ้น จากการขยายตัวของเสรีนิยมใหม่ เช่น จะป้องกันเงินเฟ้ออย่างไร รัฐก็ไม่ประกันเงินฝากในธนาคารอีกแล้ว ระบบอุดมศึกษาที่เชื่อว่าลูกของตนจะได้เรียน ก็ถูกแปรรูปเป็นเอกชนหรือกึ่งเอกชนไปแล้ว และจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่ความขัดแย้งที่ลึกกว่าระดับบุคลหรือสถาบัน ขณะที่บริบทแวดล้อมไม่ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะมีการพูดถึงการปฏิรูปมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว
ช่วงชั้นทางสังคมแบบเดิมๆ กำลังสั่นคลอน
“การปฏิรูปการเมืองของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงทุกวันนี้ มีลักษณะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ คุณอาจจะเปลี่ยนอะไรมากมายมโหฬารก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณพยายามรักษาเอาไว้ก็คือช่วงชั้นทางสังคม ขณะเดียวกันก็มี...จะเรียกว่าความสามารถหรือความจำใจก็ตามแต่ ในการที่ชนชั้นนำไทยเก่งพอที่จะยอมรับคนหน้าใหม่ที่โผล่เข้ามา เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 คนที่มีการศึกษาที่เข้ารับราชการ คนกลุ่มนี้เป็นคนหน้าใหม่ ถึงจะมีความพยายามกีดกันว่าข้าราชการน่าจะเป็นเชื้อสายผู้ดี แต่ก็ยอมกลืนในระดับหนึ่ง ยิ่งหลัง 2475 ผมว่ายิ่งเก่งในการกลืนคนเหล่านี้เข้ามาในกลุ่มชนชั้นนำทางสังคม แต่โครงสร้างอำนาจ ช่วงชั้นทางสังคม ถูกแช่แข็งเอาไว้”
ศ.ดร.นิธิ ตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีต แม้จะมีการเปิดช่องให้กลุ่มคนหน้าใหม่ปรับเปลี่ยนสถานะภาพทางสังคมได้ แต่ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก ผิดกับปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงที่มีกลุ่มคนที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองทางการเมือง ต้องการมีส่วนในการกำหนดนโยบายรัฐ เพราะต้องการรัฐมากขึ้น และคนกลุ่มนี้มีความผิดปกติ 2 ประการคือมีจำนวนมหาศาลและคนกลุ่มนี้ ‘ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง’ คือ ไม่รู้จัก ไม่สนใจช่วงชั้นทางสังคมที่มีอยู่ แต่ขอร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเท่า ๆ กับคนที่รู้จักที่ต่ำที่สูง
ดังนั้น การปรับตัวในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องยากมากในมุมมองของ ศ.ดร.นิธิ กล่าวคือไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยด้วยวิธีเก่า ระบบไม่สามารถผนวกคนหน้าใหม่เหล่านี้โดยให้ทุกอย่างคงเดิมได้
“ที่เราก้าวข้ามยาก เพราะมันไม่ใช่การก้าวข้ามแบบเก่า แต่ถ้าก้าวข้ามครั้งนี้ได้ สังคมไทยจะเปลี่ยนอย่างมโหฬาร เพราะช่วงชั้นทางสังคมที่มีมาก่อน จะไม่เป็นดังเก่าอีกแล้ว”
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ชนชั้นนำใหม่กับความสัมพันธ์แบบซื้อ-ขาย
ด้าน ศ.ดร.ชัยอนันต์ มีมุมมองต่อความขัดแย้งในปัจจุบันที่แตกต่างไปว่า เกิดจากความเปลี่ยนแปลงลักษณะของชนชั้นนำไทย จากแต่ก่อนที่ชนชั้นนำไทยมักผูกขาดอยู่ในกลุ่มเจ้านายและชนชั้นสูง จนกระทั่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของนายทุนจีนทำให้ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเชื้อสายจีนได้รับการยอมรับและเข้าสู่วงการเมืองเต็มรูปแบบ ศ.ดร.ชัยอนันต์ ตั้งคำถามด้วยว่า
“น่าสนใจที่ว่า เราเคยพูดกันว่าระบอบประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงเสียงส่วนน้อย และก็พูดด้วยว่าระบอบประชาธิปไตยจะดี ถ้ามีชนชั้นกลางจำนวนมาก แต่ก็มีงานที่ตั้งคำถามเช่นกันว่า กรณีที่ชนชั้นกลางเป็นเสียงส่วนน้อย จะทำให้ลักษณะของประชาธิปไตยทุนนิยมเปลี่ยนไปมากหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่ทุนมีอำนาจค่อนข้างมาก”
ศ.ดร.ชัยอนันต์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ควรศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำเป็นอย่างไร เมื่อเข้าสู่วงการเมืองแล้ว มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปกครองท้องถิ่นกว่าร้อยละเก้าสิบถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนพ่อค้าจีน ซึ่งมีความคิดความเชื่อต่างจากชนชั้นปกครองสมัยก่อน อย่างน้อยในแง่ที่ว่าการเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือส่วนราชการไม่แตกต่างจากการทำธุรกิจประเภทหนึ่ง จุดนี้เป็นเหตุที่ทำให้ลักษณะทางประชาธิปไตยของไทยแปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับสูงและระดับชนชั้นล่าง
ขณะที่ชนชั้นล่างก็ถูกเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ไป ซึ่งเดิมทีเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายกับไพร่ เป็นระบบอุปถัมภ์ แต่กับชนชั้นนำใหม่ ลักษณะความสัมพันธ์เป็นการแลกเปลี่ยน ซื้อและขาย ชนชั้นล่างเปลี่ยนสภาพจากการเป็นไพร่ที่ขึ้นกับระบบอุปถัมภ์ เป็นรูปแบบของการแลกเปลี่ยนแทน
“ผมว่าชนชั้นนำเก่าหมดอำนาจไปแล้ว จะหลงเหลือเฉพาะอิทธิพลและอยู่ในวงแคบมาก แต่ชนชั้นนำใหม่กุมอำนาจเต็มที่ เพราะระบบทุนนิยมเสรีเปิดโอกาสให้เป็นอย่างนั้น ไพร่และชนชั้นนำใหม่จึงเป็นการต่อรองในรูปของการแลกเปลี่ยน เป็นความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม เป็นการแลกเปลี่ยน ถ้าต้องการการยอมรับนับถือต้องเอาเงินมาให้ผม”
ขณะที่ความแตกต่างทางความเชื่อและจิตสำนึกยังมีอยู่ อย่างผู้ที่เชื่อในระบบเก่ายังมีหลงเหลือจึงยังมีความพยายามใช้คุณค่าแบบเก่ามาต่อสู้ในระบบใหม่ ขณะที่คนในระบบใหม่ไม่เชื่อในระบบเก่าอีกแล้ว จึงนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง
การเมืองแบบซีโร่ ซัมเกม ผลประโยชน์มหาศาล ความขัดแย้งสูง
นอกจากนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยังเพิ่มเติมว่า การที่ความขัดแย้งในอดีตไม่รุนแรงเช่นปัจจุบัน เพราะผลประโยชน์ที่จะได้เสียไม่มากเท่ายุคนี้ และเป็นผลประโยชน์ที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่อีกด้านหนึ่งความขัดแย้งในบางแห่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางความคิดด้วย ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำเพียงอย่างเดียว
“ระยะหลังจะเห็นว่า คนที่ได้อำนาจทางการเมืองก็พยายามทำลายคู่ต่อสู้ กีดกันจากงบประมาณแล้ว ยังส่งคนไปตรวจบัญชีอีก รวบการแต่งตั้งตำแหน่ง ลักษณะของการเมืองจึงเป็นซีโร่ ซัม เกม (Zero-sum game) คือ คนชนะได้หมด คนแพ้เสียหมด จึงต้องมีการสู้กัน แต่ในไทยจะเอาหมดเลย ลงไปกุมอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย แล้วยังใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจด้วย จึงเป็นปัญหา”
ความเหลื่อมล้ำต้นตอความขัดแย้ง
ในมิติด้านเศรษฐกิจ ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของคนกลุ่มต่างๆ มากมาย เกี่ยวกับตัวเอง ชีวิต ความคาดหวังต่อสังคมและรัฐ ยกเว้นชนชั้นนำที่ทัศนคติไม่เปลี่ยน
“ดิฉันมีสี่ประเด็นที่จะพูดในวันนี้ ประการที่หนึ่ง ตอนนี้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ขั้นกลางแล้ว ไม่ใช่ประเทศยากจนอีกแล้ว และในสามสิบปีที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวประชากรของทั้งประเทศเพิ่มขึ้นสามเท่า แปลว่าคนรุ่นปัจจุบันมีฐานะเศรษฐกิจดีกว่ารุ่นพ่อแม่ประมาณสามเท่า แต่ช่องว่างระหว่างระดับคนไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย”
หากใช้ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ถ้าค่าสูงหมายความว่าความเหลื่อมล้ำสูง ค่าจีนีต่ำคือความเหลื่อมล้ำต่ำ ค่าจีนีรายได้ครัวเรือนของไทยคือ 0.49 ซึ่งสูงกว่าจีนและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน และในระดับสากลค่าจีนีที่สูงกว่าระดับ 0.4 ถือว่าอยู่ในระดับอันตราย ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงจึงเป็นปัญหา แม้ในตัวมันเองอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของความขัดแย้ง แต่มันส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เช่น การเมือง ทรัพย์สิน ความยุติธรรม การศึกษา การได้รับความยอมรับนับถือ ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งได้ทั้งสิ้น
ประเด็นที่ 2 นักวิชาการบางคนยังไม่ยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำคือสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งในปัจจุบัน ศ.ดร.ผาสุก อธิบายว่า เมื่อมีการสอบถามว่าประชาชนมีความคับข้องใจอะไร คำตอบที่น่าสนใจคือคนอีสานมีความรู้สึกว่าถูกดูถูกเหยียดหยามว่ายากจน ใช้คำว่าเป็นคนชั้นต่ำกว่าคนในเมือง โดยเฉพาะในสายตาคนกรุงเทพ ทั้งยังพูดถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เรื่องเส้นสาย
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
“ในกรุงเทพฯ มอร์เตอร์ไซค์รับจ้างที่มาจากต่างจังหวัด ตอบว่าสำหรับเขาประชาธิปไตยคือความยุติธรรมทั้งด้านกฎหมาย การเมือง และการศึกษา คำพูดเหล่านี้มีนัยเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันชัดเจนที่สุด”
ศ.ดร.ผาสุก ยกตัวอย่างข้อมูลความเหลื่อมล้ำบางด้านว่า ขณะนี้เป็นที่รู้ว่าคะแนนของนักเรียนไทยในระดับระหว่างประเทศอยู่ในอันดับต่ำ ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว แต่เมื่อดูในรายละเอียด นักเรียนโรงเรียนสาธิตในกรุงเทพฯ มีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนของโรงเรียนในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการถึงเกือบ 2 เท่า และยังสูงกว่าคะแนนของนักเรียนในอังกฤษและฝรั่งเศส แสดงว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในเมืองไทยมีสูงมาก
ข้อมูลทรัพย์สินยังแสดงระดับการผูกขาดที่สูงมาก ค่าจีนีการถือครองที่ดินที่มีโฉนดในเมืองไทยเท่ากับ 0.89 คนที่มีโฉนดที่ดินมากที่สุดร้อยละ 10 มีที่ดินรวมกัน ร้อยละ 62 ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมดทั่วประเทศ คนระดับล่างที่มีที่ดินร้อยละ 50 มีที่ดินรวมกันแค่ร้อยละ 2 ของโฉนดที่ดินทั่วประเทศเท่านั้น ปัจเจกบุคคลและนิติบุคคลเพียง 837 รายมีที่ดินโฉนดมากกว่า 1,000 ไร่ ขึ้นไป และในจำนวนนี้ปัจเจกบุคคลคนหนึ่งมีที่ดินมากที่สุด 631,263 ไร่ ขณะที่ผู้ที่มีหุ้นมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 10 ราย มีมูลค่าหุ้นรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณประจำปีที่ใช้ในโครงการสุขภาพถ้วนหน้า และใน 10 รายนี้ 5 รายครองแชมป์ติดต่อกัน 3 ปี ในระหว่างปี 2552-2554
ประเด็นที่ 3 สังคมเหลื่อมล้ำสูงมักขาดสันติสุขและมีความขัดแย้งสูง ดังที่ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2544 กล่าวว่า ผู้คนไม่อาจรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกันได้อย่างสนิทใจเพราะความแตกต่างที่มีมากมาย
นอกจากนี้ ความคับข้องใจมักปะทุขึ้นเมื่อคนมีฐานะทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาก แต่ยังไม่ถึงจุดที่เป็นที่น่าพอใจ แต่กลับรู้สึกว่ากำลังถูกกีดกันหรือเผชิญขีดจำกัดที่ไม่สมเหตุผลโดยผู้มีอำนาจในสังคมกดทับเอาไว้ด้วยวิธีการต่าง ๆ
“ประเด็นที่สี่ อยากจะแก้ความเข้าใจผิดที่ว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่การเก็บภาษีคนรวยมาแบ่งกับคนจน ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมากมายที่ได้ผล และไม่กระทบคนรวย เช่น การจัดงบประจำปีของประเทศให้เป็นธรรมมากขึ้น การลดการคอร์รัปชั่น ลดงบทหารลง ก็จะมีเงินมหาศาลเป็นทุนการศึกษาเป็นจำนวนมาก”
ศ.ดร.ผาสุก สรุปว่า สังคมไทยสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ หากทำให้คนรู้สึกว่าสังคมจะมีความยุติธรรม ความเอื้ออาทร การแบ่งปัน และความขับข้องใจถูกปัดเป่าไปสู่อนาคตที่มีความยุติธรรมมากขึ้น หมายความว่าสังคมต้องยอมรับความจริงเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ เปลี่ยนทัศนคติและร่วมมือกันแก้ปัญหา
ก้าวข้ามความขัดแย้งต้องสร้างพื้นที่ความขัดแย้งอย่างสงบ
การจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้หรือไม่ ปัจจัยที่สำคัญมากในมุมมองของ ศ.ดร.นิธิ คือปัจจัยทางการเมือง พื้นที่ทางการเมืองคือเงื่อนไขสำคัญของการก้าวข้ามความขัดแย้ง ขณะที่เวลานึกถึงการปฏิรูป สิ่งสุดท้ายที่นึกถึงคือปฏิรูปการเมือง ไม่มีใครคิดว่าทำอย่างไรจะให้อำนาจกระจายอย่างเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ศ.ดร.นิธิ เชื่อว่า
“ความขัดแย้งทุกอย่างในโลกนี้ก้าวข้ามได้ โดยส่งเสริมให้ขัดแย้งกันมากขึ้น แต่ขัดแย้งในพื้นที่แห่งความงบ มีอำนาจต่อรองอย่างเป็นธรรม ไม่ได้เปรียบ เสียเปรียบมากจนเกินไป มีคนตัดสินที่เป็นธรรม ดังนั้น ถ้าอยากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องมาจัดการพื้นที่ทางการเมืองใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม แล้วปฏิรูประบบภาษี การศึกษา มันมาเอง เพราะคนไม่โง่ เมื่อเขามีอำนาจแล้ว เขาก็จะรู้ว่าเขาควรจะทำอะไร” ศ.ดร.นิธิ กล่าว
ศ.ดร.นิธิ อธิบายว่า พรรคการเมืองเป็นพื้นที่ประเภทหนึ่งที่ประชาชนจะสามารถผลักความคิดของตนเองขึ้นไปสู่ระดับรัฐได้ แต่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองของไทยไม่เคยทำหน้าที่นี้ ขณะเดียวกัน สังคมต้องมีสื่อที่มี ‘กึ๋น’ กว่านี้ ถ้าสื่อที่ทำได้แต่เพียงรายงานปรากฏการณ์ โดยไม่สนใจสืบค้นให้รู้ว่าต้นตอของปัญหาต่าง ๆ คืออะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อไทยไม่เคยสนใจ ทั้งที่สื่อก็คือ พื้นที่ของความขัดแย้งโดยสงบประเภทหนึ่ง พื้นที่เหล่านี้ที่ต้องช่วยกันสร้างขึ้น
ด้าน ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่าชนชั้นนำใหม่มีความกลัวพลังประชาชนมาก แล้วก็กลัวเสียอำนาจที่เคยมีทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อกระดานการเมืองเปลี่ยน ประชาชนก้าวเข้ามาในระบอบประชาธิปไตย นำความตระหนกตกใจต่อชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ เป็นความกลัวจับหัวใจและไม่รู้จะทำอย่างไร จึงพร้อมจับมือกับทหารหรือใครก็ได้ที่จะช่วยให้สภาวะเดิมกลับมา
“ชนชั้นนำจำนวนหนึ่งที่คุ้นเคยกับการมีอำนาจอยู่ในมือ ยังคิดว่าซีโร่ ซัม เกม ยังเวิร์คอยู่ ถ้ากองทัพของไทยซึ่งมีอำนาจมาก อยู่นิ่ง ๆ อาจทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเกิดขึ้นได้เร็วกว่านี้หรือไม่”
ศ.ดร.ผาสุก คิดว่า การจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ชนชั้นนำเดิมต้องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้กลับยังมองไม่เห็นว่าความเข้าใจนี้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม แม้กระทั่งในชนชั้นกลาง
นอกจากนี้ ศ.ดร.ผาสุก ยังเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านฉุกคิดว่าตนมีบทบาทสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นความขัดแย้ง ควรจะสร้างบทบาทในทางบวก แทนที่จะเลือกอยู่ในจุดอับเช่นที่เป็นอยู่ และปล่อยให้ระบบเดินหน้าต่อไปโดยไม่นำอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในระยะยาว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ