นักวิชาการแนะแก้นิรโทษเฉพาะผู้ชุมนุม ติงอย่าถึงขั้นตีตก-ปชช.ไม่ได้ประโยชน์

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 9 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1914 ครั้ง

ยังไม่จบสำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้รัฐบาลประกาศถอนร่างทุกฉบับออกจากสภาฯ แล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงขั้นวุฒิสภา กลับยังไม่สามารรถลงมติได้ เนื่องจากจำนวนสมาชิกในที่ประชุมไม่ครบ ต้องเลื่อนออกไปลงมติในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ขณะที่หลายฝ่ายมองแตกไปเป็นหลายประเด็นทั้งควรแก้ไขเนื้อหากลับไปเริ่มที่วาระแรกใหม่ หรือควรยับยั้ง

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนารัฐศาสตร์ภาคประชาชน “หลากหลายความคิดต่อการคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม” โดยมี ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์เสื้อแดง ผู้ร่วมเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันหาทางออกสำหรับประเทศในขณะนี้

หลักการนิรโทษกรรม

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงหลักการการนิรโทษกรรมว่า หลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นหลักการที่คิดขึ้นเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและนำมาซึ่งความยุติธรรมในสังคม โดยตัวกฎหมายจะต้องควบคุมการใช้อำนาจของภาครัฐ ซึ่งในบางครั้งการปกครองโดยกฎหมายอาจจะนำมาซึ่งความอยุติธรรม หรืออาจจะไม่ยุติธรรม ระบบกฎหมายจึงนำมา ซึ่งการกำหนดกลไกต่าง ๆ เพื่อเยียวยาปัญหาดังกล่าว การที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะใช้กฎหมายที่ผิดจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย กระบวนการตรากฎหมายไม่ถูกต้อง หรือการตรากฎหมายที่เข้าไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐนิติธรรม จึงเยียวยาด้วยการคิดหลักนิรโทษขึ้น คือการละเว้นโทษความผิดให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการกระทำความผิด การละเว้นโทษดังกล่าวเนื่องมาจากกระบวนการที่บกพร่องในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นบุคคลที่ถูกบังคับใช้กฎหมายหรือบุคคลที่เจตนาใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้องก็สามารถเข้าสู่การนิรโทษได้

            “หลักการนิรโทษตามระบบกฎหมายนั้น จะนิรโทษให้กับผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย หมายถึงตัวประชาชน และไม่นิรโทษให้กับผู้ใช้กฎหมาย เพราะถือว่าตัวประชาชนถูกกระทบสิทธิ์จากการใช้กฎหมาย เป็นการกระทบสิทธิ์โดยไม่ชอบ ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ฉะนั้นการนิรโทษกรรมจึงเข้ามาเยี่ยวยาตรงนี้ แต่ไม่นิรโทษกรรมผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิ์ มีบ้างที่ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งถือเป็นกรณียกเว้นมาก ๆ” ดร.พนสันต์ กล่าว

ปัจจุบันมีการพูดกันมากว่า การนิรโทษกรรมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขัดกับหลักนิติรัฐนิติธรรม จากหลักการข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การนิรโทษกรรมสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐนิติธรรม เมื่อพูดถึงการนิรโทษกรรม ประเด็นที่สำคัญคือ ต้องมีการตรากฎหมาย ซึ่งอำนาจในการนิรโทษกรรมในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งมีอยู่ 3 ระบบ 1.ให้อำนาจกับฝ่ายบริหารพิจารณาเพียงผู้เดียว 2.อำนาจอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ 3.อำนาจอยู่ที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ร่วมกันใช้ดุลยพินิจในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งระบบการนิรโทษกรรมในประเทศไทย ให้อำนาจเรื่องการนิรโทษที่ฝ่ายนิติบัญญัติ การตรากฎหมายนิรโทษกรรม ต้องดูที่กฎหมายสูงสุดของประเทศ หรือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก และดูกฎเกณฑ์กติการะหว่างประเทศ เพื่อกำหนดเนื้อหาการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าไปลงนามในกฎกติกานั้น ๆ ซึ่งการลงนามดังกล่าวจะส่งผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ๆ ซึ่งเนื้อหาการตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องมีความชัดเจน คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ สรุปคือ โดยหลักการนิติรัฐนิติธรรมจะถูกสอดแทรกและบังคับใช้กฎหมายอยู่ 2 ระบบ คือ กฎหมายภายในหรือรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเข้าไปลงนาม แล้วนำไปสู่กำหนดให้รัฐสภาตรากฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา

นอกจากนี้ ดร.พรสันต์ยังได้แสดงจุดยืนคัดค้านการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การตรากฎหมายที่คุมเครือ จึงเกิดการถกเถียงว่าใช้กับใคร ซึ่งตามหลักการแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่สามารถได้รับการนิรโทษกรรมตามกฎหมายได้ และไม่สามารถบังคับใช้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่นกัน กรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ มีการฟ้องร้องและถูกตัดสินเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นควรให้มีการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและตัดสินใหม่

ชี้ไม่ควรล้มพ.ร.บ.แต่เน้นให้นิรโทษประชาชน

ด้าน ดร.พวงทองกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับสมาชิกวุฒิสภาที่ยับยั้ง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งฉบับ แต่ควรพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมาย ให้เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในวาระที่ 1 ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 หรือ ศปช. ได้เสนอว่า ‘ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน’ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้อื่น ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554

ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกคำสั่ง บังคับบัญชา หรือกระทำการใด ๆ อันนำไปสู่ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 และไม่นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ของบุคคลไม่ว่าฝ่ายใดที่ถูกดำเนินคดี หรืออาจถูกดำเนินคดีในอนาคต ในความผิดต่อชีวิต และสุดท้ายเสนอให้ ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 แต่อย่างใด

พ.ร.บ.นิรโทษฯตบหน้าคนทั้งชาติรวมถึงเสื้อแดงที่เกลียดอภิสิทธิ์

ขณะที่ น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ได้แสดงจุดยืน เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ผู้มาชุมนุมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเชื่อว่าความรุนแรงในปี 2553 เกิดจากการวางแผนของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน เชื่อว่าการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯกำลังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอ้างว่าเสียงข้างมากในสภา เป็นไปตามคำสั่งของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการตบหน้าคนทั้งชาติ ตบหน้าคนเสื้อแดงที่เกลียดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทหารที่สั่งฆ่าคนเสื้อแดง

ทางด้านศ.ดร.จรัส ซึ่งระบุว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากไม่ชอบด้วยหลักการ ซึ่งหลักการที่ควรจะเป็นคือการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมทางการเมือง แต่การเพิ่มข้อความที่รวมผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักการ และควรให้มี พ.ร.บ.ที่นิรโทษ เหยื่อทางการเมือง ไม่ใช่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเสียงข้างมากให้สภา และหวังให้ประชาชนสร้างกลไกขึ้นมาตรวจสอบภาครัฐ

รัฐบาลควรถอยก้มหน้ายอมรับผิดจนกว่าสังคมจะพอรับได้

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการสอดไส้คดีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แสดงความเห็นว่า ตัวแทนประชาชนที่ออกกฎหมายกระทำการอย่างย่ามใจ การที่ประชาชนทักท้วงเป็นวิธีการที่มีความหวังของประชาธิปไตยไทย เนื่องจากการลุกขึ้นมาตรวจสอบตัวแทนที่ประชาชนเป็นผู้เลือก ซึ่งประเทศจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยพลเมืองและเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม

            “มั่นใจว่ารัฐบาลจะต้องถอย แต่คนในสังคมยังอยู่ในอารมณ์กรุ่นโกรธและกำลังสนุก เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องอดทนและแสดงความรับผิดชอบ ต้องรับฟังและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในขณะนี้คือมีคนกลุ่มหนึ่งยืนอยู่ที่ถนนใหญ่ใส่เสื้อสีแดงรอปกป้องรัฐบาลอยู่ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ก้มหัวยอมรับจนกว่าสังคมจะพอรับได้” นายสมบัติกล่าว

นอกจากนี้  ดร.พรสันต์ยังกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การเสนอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถทำได้ จึงต้องมาที่การให้วุฒิสภายับยั้งร่างกฎหมายด้วยการตีตกไม่รับหลักการดังกล่าวเลย และจะกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง และต้องรอ 180 วัน

อย่างไรก็ตามดร.พรสันต์แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับการตีตก เพราะจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ แต่เสนอให้วุฒิสภาแก้ไขร่างดังกล่าว ให้เนื้อหาครอบคลุมเฉพาะประชาชนเท่านั้น เพราะประการสำคัญที่สุดของพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคือ การนำประชาชนผู้บริสุทธิ์ออกจากคุกให้เร็วที่สุด

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: