บทวิเคราะห์ : อนาธิปไตยจะทำลายชนชั้นนำ

ใบต้องแห้ง 9 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1964 ครั้ง

นายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจน ว่าพร้อมยุบสภา พร้อมลาออก แต่ม็อบยืนกราน ยุบก็ไม่เลิก ออกก็ไม่เลิก พรรคประชาธิปัตย์แทนที่จะช่วยหาทางออกกลับให้ท้ายม็อบ วันนี้มาลาออก แม้บอกให้ยุบสภา แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะลงเลือกตั้ง ขณะที่นักวิชาการเครื่องเคียงอย่างสุรพล นิติไกรพจน์, สมคิด เลิศไพฑูรย์ ในนามที่ประชุมอธิการบดี ชิงดักคอก่อนนี้แล้วว่า ถ้ายุบสภา ก็จะเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกแล้วตั้งนายกฯ คนกลาง

ซึ่งเท่ากับปิดทางการแก้ไขปัญหาในระบอบประชาธิปไตย

แน่นอน พรรคประชาธิปัตย์คงไม่มุ่งหวังให้มวลชนล้มรัฐบาล “รัฐประหารโดยม็อบ” ตั้งสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน ตามความฝันเพ้อของคนบางส่วน ที่ตกเป็นเครื่องมือ นั่นเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะถ้าเป็นจริงมันก็คือรัฐอนาธิปไตย แล้วกองทัพ ศาล ระบบราชการ จะยอมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

สิ่งที่พวกเขามุ่งหวังอย่างแท้จริง คือต้องการนายกฯ คนนอก โดยพยายามระดมมวลชนสร้างเงื่อนไข บีบให้กองทัพหรือคนกลางยื่นมือมาเกี่ยวข้อง แต่จะทำได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรง จะให้ม็อบก่อจลาจลหรือ จะบุกยึดทำเนียบหรือ รัฐบาลก็เชิญทูตานุทูตมาสังเกตการณ์

ม็อบจะทำอะไรได้ เดี๋ยวคงรู้คำตอบ แต่ขอมองข้ามช็อตว่า รัฐประหาร หรือนายกฯ คนนอกจะนำไปสู่อะไร

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเผยเบื้องลึกเบื้องหลังการเจรจาระหว่างนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผบ.เหล่าทัพ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าหลังเจรจาไม่สำเร็จ นายกฯ หญิงถึงกับเสนอ (หรือท้า) ผบ.เหล่าทัพให้ทำรัฐประหารไปเลยดีกว่าไหม แต่ทหารไม่กล้า

ข่าวนี้มีทั้งแง่ฮาและแง่ลึก ทหารกล้าทำรัฐประหารไหม ทหารอยากทำรัฐประหารไหม อำนาจใครก็อยากได้ แต่ ผบ.เหล่าทัพคงเห็นแล้วว่าอำนาจที่จะได้มาคือเผือกร้อนลวกมือ คุณจะอ้างความชอบธรรมอะไรมาทำรัฐประหาร คุณจะอ้างความชอบธรรมอะไรมาล้มรัฐบาล ในเมื่อรัฐบาลเดินตามกติกาประชาธิปไตยทุกอย่าง แต่มีม็อบดันทุรัง ไล่รัฐบาลแล้วจะตั้งรัฐบาลเอง ตั้งสภาเอง

เช่นกัน ที่เรียกร้อง “นายกพระราชทาน” ในหลวงทรงปฏิเสธตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วว่าทำไม่ได้ ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ที่รัฐบาลไม่ได้ปราบม็อบ รัฐบาลถูกตามราวีไล่ยึดสถานที่ราชการ ยังจะเรียกร้องพระองค์ท่านลงมาบอกให้รัฐบาลลาออก แล้วพระราชทานนายกฯ โดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างนั้นหรือ

สมมตินะ สมมติ ม็อบบานปลายควบคุมไม่ได้ ทหารอาจทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล แต่ก็ใช้ข้ออ้างว่า เพราะรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ไม่สามารถบอกว่ารัฐบาลผิด ไม่สามารถอ้างเรื่องทุจริตหมิ่นเหม่อย่างที่ใช้กับทักษิณ เพราะสังคมโลกจับตาอยู่ UN สหรัฐ จีน อียู ฯลฯ ล้วนสนับสนุนให้แก้ปัญหาตามวิถีประชาธิปไตย สังคมโลกรับรู้ว่ารัฐบาลพร้อมยุบสภา ลาออก แต่ม็อบจะเอาสิ่งที่ไม่เคยมีในโลก

รัฐประหารถ้าจะทำก็เพื่อสยบม็อบ อ้างได้แค่นั้น แล้วต้องจัดการกับม็อบอีกต่างหาก ต้องจับเทพเทือก แกนนำ แต่จะทำอย่างไรกับรัฐบาล จะเล่นงานนายกฯ ข้อหาอะไร ข้อหาคนกรุงคนใต้เกลียด “อีปู” อย่างนั้นหรือ อย่างเก่งก็ให้นายกฯ อยู่ในบ้านแล้วให้ทหาร “อารักขา” แล้วจะจัดการอย่างไรกับมวลชนทั้งสองสี จะฉีกรัฐธรรมนูญไหม (ถ้าฉีกต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญ) จะให้เลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่ จะร่างรัฐธรรมนูญอีท่าไหน ให้มันแย่กว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ฯลฯ ปัญหาโลกแตกเหล่านี้รอให้กองทัพหรือนายกฯ คนนอก มาจัดการ

อ้อ แล้วยังมี จะทวงคืน ปตท.ไหม จะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ไหม

มาก็ยาก ปกครองก็ยาก

สังคมไทยเติบโตขึ้นจากรัฐประหารปี 49 กระแสประชาธิปไตยหยั่งราก อย่างน้อยสังคมก็ตระหนักว่า ถ้าต้องการความสงบ ทำมาหากิน ก็ต้องเอาชนะกันด้วยการเลือกตั้ง คงมีเสียงข้างน้อยในเสียงข้างน้อยเท่านั้นที่เกลียดชังจนไร้สติ

กระแสสาธารณะ คนกลางๆ ล้วนเห็นว่าพรรคเพื่อไทยทำผิด ข่มขืนใจ ลักหลับ ยัดเยียดนิรโทษสุดซอย แต่ม็อบที่นำโดยอดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กลับเรียกร้องในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ซ้ำยังใช้วิธียึดสถานที่ราชการ บุกสถานีโทรทัศน์ คุกคามสื่อ สร้างทางตันให้ประเทศ กระแสสาธารณะที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยผิด ก็เห็นว่าม็อบทำผิดเช่นกัน

            “นายกฯ คนกลาง” หรือรัฐประหาร ถ้าจะเข้ามาในสถานการณ์นี้ แม้ดูเหมือนเป็นทางออกที่ง่าย แต่เอาเข้าจริงไม่ง่าย เพราะอันดับแรกต้องถูกถาม ว่าเข้าข้างใคร อย่างน้อยการมาแทนที่รัฐบาล ก็ถูกมองได้ว่าเข้าข้างม็อบ (อยู่แล้ว เพราะเจตนาที่แท้จริงของแกนนำม็อบก็ต้องการบีบให้รัฐประหารหรือได้นายกฯ คนกลาง)

ฉะนั้น ตั้งแต่แรก “นายกฯ คนกลาง” หรือรัฐประหาร ก็จะเข้ามาแบกรับความไม่ชอบธรรมของการเคลื่อนไหวอนาธิปไตย เป็นเครื่องมือ ช่วยล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ยังไม่ต้องทำอะไรเลย ก็เปื้อนตั้งแต่แรก

ทุกคนมองออก กองทัพก็มองออก ถึงไม่กล้าทำรัฐประหาร เพราะสถานการณ์ไม่เหมือนปี 49 แม้ได้อำนาจก็เหมือนได้ไปเปล่าๆ เพราะจัดการยาก

แน่นอน วิกฤติเกิดจากพรรคเพื่อไทยใช้อำนาจไม่ชอบธรรม แต่พรรคเพื่อไทยยังได้อำนาจมาอย่างชอบธรรมจากการเลือกตั้ง แล้วรัฐประหารหรือคนนอก ที่มาโดยไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามกระบวนการ สามารถใช้อำนาจอย่างชอบธรรมหรือเปล่า

ในขณะที่จะถูกต่อต้าน หรืออย่างน้อยก็บอยคอตต์ จากมวลชนเสื้อแดง จากผู้รักประชาธิปไตย (แล้วจะทำอย่างไร จะปล่อยให้มีเสรีภาพหรือปราบปรามอย่างอำมหิต ซึ่งก็ถูกประณามจากนานาชาติ) กองทัพ หรือนายกฯ คนกลาง ยังจะถูกเรียกร้องต้องการสารพัด จากม็อบอนาธิปไตย เช่น ต้องการให้ปฏิรูปการเมือง (ปฏิรูปแบบไหนให้พรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้ง) ต้องการให้วางระบบที่ปราศจากคอร์รัปชั่น (กองทัพ ชนชั้นนำ ก็หนีไม่พ้น) ต้องการให้กระจายอำนาจ (ขัดกันสิ้นเชิงกับระบอบอำมาตย์)

หรือถ้าเป็นพวกเกลียดชังอาการหนัก ก็คงต้องการให้ไล่ตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศ

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยบ่นแกมพ้อ ตอนพ้นนายกฯ ว่าพันธมิตรไม่ใช่พวกท่าน จะเอานั่นเอานี่ พอไม่ได้ดังใจก็โวย 7 ปีผ่านไป อาการฟุ้งซ่านของขบวนการ “โค่นระบอบทักษิณ” ยิ่งเป็นหนัก บางกลุ่มไปไกลถึงขนาดจะให้มีสภาประชาชนจากภาษีเหล้าบุหรี่เป็นอำนาจที่ 4 บางคนเสนอให้เลือกนายกฯ โดยตรง

คนพวกนี้ไม่ใช่ปกครองง่ายนะครับ เอาเข้าจริง กองทัพ หรือนายกฯคนกลาง เท่ากับเข้ามาอยู่ในเขาควาย ขณะที่นานาชาติก็จับตา วิพากษ์วิจารณ์เสียๆ หายๆ เสียไปถึงไหนก็รู้กันอยู่

ความขัดแย้งในสังคมไทย ปลุกกันบานปลายจนถึงขั้นที่ปกครองไม่ได้ ไม่มีใครยอมใคร ความคิดฟุ้งซ่านกระจัดกระจาย จะเอานั่นเอานี่ ใครมีอำนาจก็ไม่สามารถทำให้ถูกใจ เว้นแต่คนที่ตัวเองเลือกไป รัฐบาลจากเลือกตั้งอยู่ได้เพราะมีผู้สนับสนุนมากกว่า แต่พอเสียความชอบธรรม ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามลุกฮือ สถานการณ์อย่างนี้ ไม่ใช่นายกฯ คนกลางหรือรัฐประหารฐานลอย จะเดินเข้ามาแก้ปัญหาได้ ต่อให้เป็นกลางจริงๆ ก็เถอะ

กองทัพ ชนชั้นนำ ถึงไม่รับ “ความปรารถนาดี” ที่พยายามชงลูกให้ เพราะเอาเข้าจริงมันเป็นผลร้าย จะทำลายทุกคน ทุกอำนาจ ที่เข้ามาสอดแทรก นอกวิถีประชาธิปไตย

ถ้าใครรับ ก็ทัศนวิสัยสั้นสิ้นดี

สร้างฉันทามติยุบสภา

ภายใต้เงื่อนไขที่ 152 ส.ส.ปชป.ลาออก ในท้ายที่สุด รัฐบาลก็ต้องยุบสภา แต่ต้องสร้างฉันทามติให้สังคมยอมรับว่านี่คือวิถีทางแก้ไขปัญหา ให้สังคมบีบคั้นพรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง ถ้าพยายามจะสร้างสถานการณ์ให้เกิดรัฐประหารหรือคนกลางแล้วไม่สำเร็จ

รัฐบาลไม่ยุบสภาไม่ได้ แต่จะยุบทันทีก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะยุบทันทีก็จะหาว่า “ยุบโดยพลการ” แล้ว ปชป.บอยคอตต์ ฉะนั้นต้องหาคนกลางในอีกความหมายหนึ่ง เช่น ภาคธุรกิจ เช่นเครือข่ายสันติวิธี หรือกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ มาช่วยกันบีบคั้นประชาธิปัตย์

รัฐบาลไม่ยุบสภาไม่ได้ เพราะถ้ายื้อไป ปลายเดือนธันวาคมก็จะครบ 90 วันที่ทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ปปช.ก็ไม่สามารถไว้วางใจว่าจะชี้มูลถอดถอนนายกฯ เมื่อไหร่ จะชี้มูลถอดถอน 312 ส.ส. ส.ว.เมื่อไหร่ ซึ่งจะทำให้เกิด “สูญญากาศทางการเมือง” เป็นข้ออ้างแทรกได้อีก

รัฐบาลต้องยืนหยัดตามกติกา ยืนอยู่ในความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจลาจล รัฐประหาร นายกฯคนนอก มีแต่จะทำให้ผู้ที่ไม่ยึดวิถีประชาธิปไตยเสื่อมลงไป จากความไร้หลักไร้เหตุผล

ถ้าเกิดรัฐประหาร หรือนายกฯ คนนอก มวลชนเสื้อแดงไม่จำเป็นต้องต่อต้านด้วยความรุนแรง แต่ไม่ยอมรับ วิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้านในหลักการ หรือบอยคอตต์ เพราะเชื่อเถอะว่าพวกเขาจะเสื่อม จะทำลายตัวเอง

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่ควรรับฟัง คือการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง แต่รัฐบาล รัฐสภา ต้องยืนยันว่าการปฏิรูปไม่ใช่เสียงข้างน้อยจะมาทำเองฝ่ายเดียว จะเอาแต่พวกของตน จะทำตามใจตน อย่างน้อยถ้าจะปฏิรูปต้อง “แลกกัน” ทั้งปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ปฏิรูปประชาธิปไตย กระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำ

 

ทางที่ดีที่สุดคือให้ภาคประชาสังคมของทั้งสองฝ่าย ภาควิชาการของทั้งสองฝ่าย ที่ยอมรับและพูดคุยกันได้ ไปตกลงตั้งคณะกรรมการปฏิรูป โดยไม่ต้องมีนักการเมืองไม่ว่าเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ เสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทย แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วทำประชามติ ตามข้อเสนอของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

นั่นจึงจะเป็นทางออกที่ยอมรับกันได้มากที่สุด

 

ขอบคุณภาพจาก Google และ Facebook

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: