เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ศาลจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ อ่านนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ในคดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว ซึ่งมีนายทอง กุลหงส์ อายุ 72 ปี และนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 48 ปี สองพ่อลูกชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นจำเลยในความผิดข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง และทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ลงโทษให้จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา พร้อมกำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวจากรายละ 100,0000 บาท ต่อมาเพิ่มเป็นรายละ 200,000 บาท ทำให้ชาวบ้านต้องนำหลักทรัพย์ในศาลชั้นต้นของทั้ง 2 ราย มารวมกัน เพื่อประกันตัวลูกชายออกมาก่อน เนื่องจากมีปัญหาบกพร่องทางสมอง ส่วนพ่อต้องถูกจำคุก กระทั่งน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวออกมา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลกำหนดหลักทรัพย์ประกันตัว รายละ 200,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นชาวบ้าน ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และหาเก็บเห็ด หน่อไม้ เพื่อยังชีพไปวัน ๆ ไม่สามารถจ่ายได้ ส่วนเงินที่ชาวบ้านช่วยเหลือรวบรวมกันมาได้ก็ไม่พอจ่าย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน จึงประสานไปยังกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และได้รับความช่วยเหลือในการประกันตัว เพื่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
ทั้งนี้ กรณีพื้นที่สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดินทำกิน นับแต่มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516 และมีโครงการปลูกสวนป่าด้วยการนำไม้ยูคาฯ มาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528 จนเกิดเป็นกรณีพิพาทที่ชาวบ้านเคยทำกินในพื้นที่มาก่อน กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ประมาณ 200 นาย โดยการนำของนายอำเภอคอนสาร บุกเข้ามาจับกุมชาวบ้านรวม 10 ราย
พร้อมทั้งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ในข้อหาร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์ โดยแยกเป็น 4 คดี ทั้งหมดถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ล่าสุดศาลชั้นต้นพิพากษาไปทั้ง 4 คดีแล้ว
นายศรายุทธ ฤทธิพิณ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า ชีวิตของชาวบ้านนั้นยากลำบากอยู่แล้ว แล้วยังถูกซ้ำเติมด้วยการที่หน่วยงานภาครัฐประกาศเขตป่าฯ ทับที่ทำกิน พร้อมกับอาศัยกลไกกระบวนการยุติธรรม ตั้งข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ และหลายต่อหลายครั้งคำพิพากษามักตกอยู่ที่ชาวบ้านเป็นผู้กระทำผิด
ทั้งนี้คำพิพากษากรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระบวนการยุติธรรมเปรียบเสมือนเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของชาวบ้าน ที่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งกระบวนการยุติธรรม ควรสะท้อนให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจปัญหาที่ดินทำกินด้วยว่า กลุ่มผู้ถูกคดีและผู้ต้องหาเป็นเพียงเกษตรกรและคนยากจนในสังคม เป็นชุมชนและชาวบ้านที่มีวิถีการดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ และต้องการเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและจัดสรรที่ดินให้อย่างเป็นธรรม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ