ศูนย์ข่าว TCIJ สนทนากับวิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและปรัชญา ว่าด้วยศีลธรรม คุณธรรม ความดี ความถูก ความผิด ในโลกยุคเสรีนิยมประชาธิปไตย
ศูนย์ข่าว TCIJ : ขอเริ่มด้วยคำถามแบบสุดโต่งว่า ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในโลกยุคนี้
วิจักขณ์ : จำเป็นครับ แต่ว่าชุดของศีลธรรมที่กำลังพูดถึง มันกำลังเปลี่ยนตามบริบทที่กว้างขึ้น ไร้พรมแดน เป็นสังคมแบบโลก ๆ และมีการปกครองที่เรียกว่า การปกครองที่ดีสุดเท่าที่มนุษย์จะคิดขึ้นมาและช่วยกันกำหนดสังคมที่ตนเองอยู่อย่างมีวิวัฒนาการนั่นคือ ประชาธิปไตย ผมมองว่าชุดความเชื่อทางศีลธรรมกำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับศีลธรรมสมัยใหม่ แต่ก็พยายามจะแฟร์กับคนที่เป็นอนุรักษ์นิยม บางทีเขาคงไม่อยากจะเปลี่ยน อยากโหยหาอดีต ยกตัวอย่างเช่น การปกครองแบบพ่อปกครองลูก เพียงแต่ว่าในด้านหนึ่งเราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยไม่ได้ปิดตัวเอง เรารับทุกอย่างเข้ามาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งเราบอกว่าอยากจะย้อนกลับไป แต่อีกด้านหนึ่งเรากลับเปิดรับตลอดเวลา สุดท้าย เราต้องยอมรับว่าเราหนีไม่พ้นกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้น เราจึงต้องมาศึกษาว่าระบบศีลธรรมจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของโลกความเป็นจริง
ศูนย์ข่าว TCIJ : ระบบคุณค่าแบบเดิมหรือศีลธรรมแบบเดิมที่อิงกับศาสนา ไม่ตอบโจทย์ในสังคมปัจจุบันอย่างไร
วิจักขณ์ : คุณค่าหรือศีลธรรมแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ เพราะศีลธรรมในพุทธศาสนายุคก่อนมีประชาธิปไตยเป็นชุดศีลธรรมแบบพุทธ ซึ่งผูกโยงกับการสร้างอุดมการณ์รัฐชาติแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือเป็นอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยม โครงสร้างคณะสงฆ์ในส่วนของรัฐถูกสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และพัฒนาควบคู่กับการรวมศูนย์อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจรวมศูนย์ ซึ่งแน่นอนว่ายุคนั้นเป็นการล่าอาณานิคมและมีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาด้วย พุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องผูกโยงเพื่อเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่ง และเพื่อบอกกับชาติตะวันตกว่า เรามีอารยธรรม มีศาสนา เราไม่ได้เป็นคนป่าเถื่อน อัตลักษณ์ของศาสนาพุทธ ซึ่งชักเย่อกับอุดมการณ์แบบศาสนาคริต์ที่ใช้ล่าอาณานิคมในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ แม้เปลี่ยนการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ราชาชาตินิยมผนวกกับความเป็นศาสนาแบบนี้ก็ยังพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ คณะสงฆ์ในแบบของรัฐ ซึ่งเรามองดูวิธีคิดแบบคณะสงฆ์นับว่าล้าหลังมาก ผมเรียกว่า ระบบกาฝาก เพราะไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลยและไม่สามารถตรวจสอบได้
สังฆราชคือราชา คณะสงฆ์ของรัฐเป็นที่พึ่งที่รวมอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอุดมการณ์แบบนี้มีปัญหา เพราะไม่ได้สอดรับกับความเปิดกว้างแบบประชาธิปไตย ที่คุณค่าทั้งหลายสามารถพูดคุยหรือถกเกียงกันได้ และคนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะส่งเสียง พูดคุยกันด้วยตรรกะและเหตุผลที่มีอยู่ เช่น เรามองเห็นได้ชัดเลยว่า คนรุ่นใหม่ เวลาเรียนหนังสือหรือเสพสื่อมีกรอบคิดเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา พอเจอกรอบคิดแบบศาสนาพุทธ ศีลธรรม กระทรวงวัฒนาธรรม กระทรวงศึกษาธิการที่ให้ตัดผมเกรียน เป็นต้น ซึ่งมันไม่สามารถไปด้วยกันได้ เนื่องจากไม่มีจุดร่วมเดียวกันเลย เด็กจึงมีปัญหากับพ่อแม่และทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว สุดท้ายเราจะปรองดอง เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร จะโตในด้านศีลธรรม ด้านจิตวิญญาณได้หรือไม่ หรือเราต้องทำให้เด็กรู้สึกแย่ตลอดเวลาที่ตั้งคำถาม
ศูนย์ข่าว TCIJ : หลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ อ้างตัวเองว่าเป็นอกาลิโกคือไม่ขึ้นกับเวลา ถ้าฟังอย่างคุณที่พูดก็แสดงว่าไม่จริง
วิจักขณ์ : เป็นเรื่องของการตีความ ตรงนี้เราไม่ได้ฝึกให้ชาวพุทธในบ้านเราตีความในหลาย ๆ รูปแบบ เราสนับสนุนการตีความในความในแง่กฎหมาย ในแง่พระคัมภีร์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนในแบบบนลงล่าง แต่จริงๆ แล้วความเป็นอกาลิโกหมายความว่า การรู้แจ้งหรือคุณค่าความหมายของชีวิตที่ไปพ้นจากความคิด ความเชื่อ พ้นจากเงื่อนไขทางโลก เพราะฉะนั้นคนทุกคนจึงสามารถเข้าถึงได้ เพราะความเป็นพุทธะอยู่ในตัวเรา ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร พุทธะมีอยู่ในสติปัญญาของคนทุกคน พอเรามองอย่างนี้ เราก็จะมองว่า ศาสนาพุทธเป็นการเสริมศักยภาพ ทำให้คนมองเห็นศักยภาพของตัวเอง แต่ถ้าตีความว่าศาสนาพุทธถูกต้องตลอดเวลา ศีลธรรมพุทธจะต้องอยู่ยั้งยืนยง ครอบจักรวาล ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างนี้มันจะสอดคล้องกับอำนาจที่ดึงศาสนาเข้าไปผูกจะอยู่ยั้งยืนยงตามไปด้วย ความดีงามก็จะเป็นความดีงามที่สูงส่ง สุดยอด ไม่มีอะไรมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงความดีได้ เป็นความดีที่จะอยู่คู่สังคมไทยตลอดกาล ถ้าตีความแบบนี้จะเกิดปัญหา เพราะเป็นศาสนาพุทธแบบอำนาจนิยมที่กดสถานภาพของปัจเจก
ศูนย์ข่าว TCIJ : ศาสนาคริสต์ในอเมริกา มีสภาพแบบศาสนาพุทธในไทยหรือเปล่า
วิจักขณ์ : ใช่ครับ คือผมไม่อยากจะมองว่ามันเป็นปัญหาของพุทธในเชิงคุณค่า ศาสนาทุกศาสนาเมื่อเราศึกษาอย่างจริงจัง และมีเสรีภาพในการตีความ เราจะเข้าถึงแก่นบางอย่างซึ่งเป็นมนุษยนิยม แต่ว่าพลวัตรพวกนี้เป็นพลวัตรทางการเมืองและสังคมของศาสนา ซึ่งศาสนาทุกศาสนาก็ผ่านช่วงของการพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันที่มีอำนาจทางการเมืองและสังคมรวมอยู่ เป็นเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมซึ่งสอดรับกับอุดมการณ์แบบศาสนาเป็นใหญ่ ทางตะวันตกก็ผ่านช่วงตรงนี้ ก่อนที่จะมีศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งเรียกยุคนั้นว่ายุคมืด
ยุคมืดคือมุมมองทุกมุมมองมองผ่านสายตาของศาสนจักรหมด พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก เพราะฉะนั้นมนุษย์ทุกคนต้องฟังตำนานนี้และไม่สามารถที่จะตั้งคำถามได้ เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ คนที่มีอำนาจทางศาสนามีอำนาจอธิบายโลกอธิบายความจริง อธิบายความดี แล้วศาสนาแบบนี้ก็สอดรับกับอำนาจการเมือง อย่างคนที่เป็นกษัตริย์จะออกรบ ต้องมีคนที่มีอำนาจทางศาสนารับรองในนามพระเจ้าไปปลดปล่อยผู้คน ถ้าคุณได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจทางศาสนาแล้ว ไปก่อสงครามก็ไม่ต้องตกนรกเพราะอยู่ฝั่งเดียวกับพระเจ้า มนุษย์ใช้อำนาจทางศาสนาในการปกครอง นักคิด นักปรัชญาจึงไม่สามารถแพร่ขยายหรือเป็นที่รับรู้ในสังคม หรือนักดาราศาสตร์ที่พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับดวงดาวจึงถูกเผา ถูกจับ มันคือยุคมืด ยุคที่ไม่สามารถตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า สิ่งที่สูงส่ง หรืออีกนัยยะหนึ่งสังคมก็ยังคงอยู่ในยุคมืด เพราะเราไม่สามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนาหรือสถาบันที่ใช้ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สถานะของตนเองศักดิ์สิทธิ์สูงส่งได้
ศูนย์ข่าว TCIJ : ปัจจุบันไม่ถือว่ามีการคลี่คลายหรือมีการตีความศาสนามากขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือ?
วิจักขณ์ : อย่างที่บอกว่าสังคมไทยมันมีหลายส่วนชักเย่อกันอยู่ ผมอธิบายว่ามันมีส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ยังมีจิตสำนึกที่ล้าหลัง อยู่ในศตวรรรษที่ 15 เพียงแต่ว่าในด้านอื่นๆ ยังมีด้านที่เปิดกว้างที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ จะเปิดคอร์สศาสนา ปฏิบัติธรรมหรือจัดคอร์สภาวนา แต่อย่าไปแตะเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง เพราะฉะนั้นศาสนาเป็นเรื่องที่คุณห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คุณเป็นคนดีได้ ถือศีลกินเจได้ แต่อย่ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ถ้าคุณเข้ามายุ่งเกี่ยวแปลว่าคุณไม่ใช่คนดี ซึ่งตรงนี้บ่งบอกว่ามันยังไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ยังไม่ถูกเปิดเผยในสังคม ไม่ถูกเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์
ศูนย์ข่าว TCIJ : ในยุคกลางของยุโรป ศาสนากับการเมืองคืออำนาจ 2 อำนาจที่ไม่ควรอยู่ด้วยกัน แต่กลับอยู่ด้วยกันและพากันไปสู่ยุคมืด จึงเกิดการต่อสู้ที่จะแยกอาณาจักรและศาสนจักรออกจากกัน แต่คุณพูดเหมือนกับว่า มันควรจะเป็นเนื้อเดียวกัน
วิจักขณ์ : ถ้าเรามองในแง่โครงสร้างทางสังคม คำตอบคือ ใช่ เพราะว่าเขามองเห็นปัญหาที่ศาสนาจักรกับส่วนของอาณาจักรมาสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันทางอำนาจ ครอบงำซึ่งกันและกันและมีผลประโยชน์ยึดโยงกัน เพราะฉะนั้นอำนาจทางความเชื่อเมื่อไปยึดโยงอยู่กับอำนาจการปกครองจะมีส่วนในการครอบงำคน จึงจำเป็นต้องแยกอำนาจทางศาสนาออกจากอำนาจรัฐ แต่ปัญหาของสังคมไทยคือมันยังไม่ได้แยกออกจากกัน
ในความคิดเห็นของผม ถ้าในอุดมคติอยากให้แยกออกจากกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการที่ว่า Secularization คือการแยกรัฐและศาสนาออกจากกัน เพื่อทำให้สังคมเป็นสังคมแบบโลกาวิสัยเป็นสังคมแบบฆารวาส ไม่มีอำนาจรัฐที่มากำหนดความเชื่อหรือศรัทธาของคน ไม่นำมาสร้างสิ่งศักดิสิทธิ์เหนือรัฐธรรมนูญ
แต่ปัจจุบันคณะสงฆ์ยังเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสถาบันกษัตริย์ยังมีส่วนร่วมอยู่กับการเมืองและมีส่วนเชื่อมโยงอยู่กับศาสนา ณ ขณะนี้ศาสนาพุทธเป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมือง คณะสงฆ์ทุกระดับเป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมือง และเป็นการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเรายังรักษาระบบนี้โดยให้ศาสนาและการเมืองมารวมกัน แล้วมีโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะทำให้พระกลายเป็นมาเฟีย พูดง่าย ๆ คือ พระทุกระดับเป็นมาเฟียท้องถิ่น แล้วยิ่งสูงขึ้นไปในมหาเถระสมาคมก็จะยิ่งเป็นมาเฟียทางการเมือง เพราะพระมีผลประโยชน์กับนักการเมือง เกี่ยวข้องกับการเมือง เกี่ยวข้องกับนโยบาย เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ผมมองว่าจะบอกว่าเราไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ เพราะสภาพของความเป็นจริงคือมันเป็นการเมืองในโครงสร้างแบบนี้ การพยายามจะบอกว่าพุทธศาสนาไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง เขาพยายามจะบอกพลเมืองที่ควรจะเป็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตยว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพื่ออย่ามาพูดให้เขาเสียผลประโยชน์ ให้เขาสามารถรักษาสถานะแบบนี้ต่อไป ผมจึงคิดว่าคนที่รู้ศาสนาลึกๆ ตอนนี้ต้องพูดเรื่องสังคมและการเมือง
ศูนย์ข่าว TCIJ : คุณพูดถึงการเมือง เหตุการณ์ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีการหยิบยกเอาเรื่องความดี คุณธรรม จริยธรรม มาใช้เป็นอาวุธเพื่อตอบโต้ทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งอาจจะพูดถึงว่าอีกฝ่ายไม่ดี ขณะที่อีกฝ่ายก็อาจจะยกความดีในแบบของตัวเองขึ้นมาเหมือนกันเพื่อโจมตีอีกฝ่ายหรือว่าประชดประชันความดีงามนั้น สิ่งนี้จะทำให้คุณค่าของสิ่งที่ควรเป็นบรรทัดฐานมันเลอะเลือนไปด้วยหรือเปล่า
วิจักขณ์ : การอ้างเรื่องความดีตอนนี้ทำให้บรรทัดฐานที่ควรจะเป็นมันลบเลือน ผมมองว่าบรรทัดฐานในสมัยนี้คือการเคารพในสิทธิและเสรีภาพที่คนทุกคนสามารถมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นหรือการถกเถียงด้วยเหตุและผล ไม่ได้อ้างเรื่องสถานะความดีงามเพื่อมาข่มหรือมาปิดปากคนอื่น การที่คนเอาความดีมาพูดแบบนี้เหมือนคุณเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแบ่งคน คนจะบอกว่า ฉันดี ฉันศักดิ์สิทธิ์กว่าคุณ ฉันมีสถานะสูงกว่าคุณ ฉันมีเสียงดังกว่า ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นว่าคุณเป็นคนดีคุณถึงมีสิทธิ์ที่จะพูด ประเด็นคือคนทุกคนควรจะมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ถ้าเอาเรื่องสถานะความดีมาพูดเรื่องตรงนี้จะเลอะเลือนไปหมด
ศูนย์ข่าว TCIJ : แนวคิดของพุทธศาสนามองทุกคนเท่ากันไหม
วิจักขณ์ : ผมว่าขึ้นอยู่กับการตีความ แน่นอนว่าสำหรับผมที่เน้นเรื่องพุทธะ ทุกคนมีศักยภาพความเป็นพุทธะในตัว ทุกคนมีความตื่นรู้ มีสติปัญญา และความไม่รู้เป็นเพียงเมฆหมอกบังตา ความจริงแล้วคุณอาจจะรู้แต่ถูกสอนหรือถูกกล่อมเกลามาแบบนี้ แต่คุณสามารถลองผิดลองถูก ค้นหาความจริงได้ด้วยตนเอง มีการค้นคว้า แลกเปลี่ยน เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายในประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งผมเน้นย้ำแบบนี้ในการสอนเชิงศาสนา สอนให้คนตีความด้วยการตั้งคำถามและสอนให้คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้วาทกรรมที่ปกคลุมเรา ให้ศาสนาพุทธแบบที่สอนเราให้เชื่อหรือเชื่อง มันแตกออก แล้วความเปิดกว้างหรือความรักในเพื่อนมนุษย์จะฉายออกมา ผมมองว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องนี้และมีความเป็นมนุษย์นิยมมาก มองเห็นคนเป็นคนเท่ากัน อย่างระบบสงฆ์ก็เป็นชุมชนทางเลือกที่คนทุกคนอยู่ร่วมกันและเคารพซึ่งกันและกัน เป็นกัลยาณมิตรและสามารถตักเตือนกันได้
แต่พุทธศาสนาแบบรัฐ เป็นพุทธศาสนาที่เราถูกกรอกจินตนาการ ถูกสะกดมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปัญหา เพราะพุทธศาสนายึดโยงโครงสร้างแบบศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง เป็นโครงสร้างที่ทำให้คนมองว่าเป็นเจ้าคนนายคน มียศถาบรรดาศักดิ์ ไต่เต้าการบรรลุธรรม ความดี ความสูงส่ง วิธิคิดแบบพุทธศาสนาแบบรัฐและเป็นรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีปัญหามาก ทำให้จินตนาการของคนเรื่องความดีงามเป็นแบบนี้หมดและไม่มีความเป็นมนุษย์
ศูนย์ข่าว TCIJ : ศีลธรรมในระบบเก่ามันไม่มีข้อดีอยู่เลยหรือ?
วิจักขณ์ : มันมีข้อดีในแบบของมัน เพียงแต่ศีลธรรมในยุคนั้น มันมีบริบทซึ่งสอดคล้องกันอยู่ ศีลธรรมแบบคนดีเป็นศีลธรรมแบบสังคมเล็ก ๆ ที่คนเห็นหน้ากันหรืออาจจะเรียกว่าเป็นสังคมการเกษตร ซึ่งสังคมไทยสมัยก่อนเป็นแบบนั้น ยกตัวอย่างถ้าเราอยู่ในห้องหนึ่งห้อง มีคนประมาณ 4-5 คน เราต้องการเลือกผู้นำ 1 คนมาปกป้องเรา เราเลือกเพราะเขาเป็นดีมีคุณธรรม เราเลือกเพราะเรามีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา ผ่านช่วงเวลาของการพิสูจน์ตัวเอง ทำให้เห็นว่าเราสามารถวางใจคนที่เราเลือกได้ สังคมที่ยึดคุณธรรมความดีจะเป็นแบบนี้
แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ สังคมมันใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น เป็นระบบแบบรัฐชาติ รัฐสมัยใหม่ ที่เราไม่ได้สนใจกัน ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เราเพียงแต่ต้องการคนที่เคารพในความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิมนุษยชน เคารพในปัจเจกบุคคล เคารพในสิทธิเสรีภาพ เขาไม่ได้ยกสถานะของตัวเองเหนือคนอื่น ซึ่งเราต้องการเพียงเท่านี้ คนที่ยกสถานะความดีแบบเก่ากลายเป็นอีโก้ ไม่ได้เคารพคนอื่น ไม่ฟังคนอื่น ไม่เปิดกว้าง คนที่อ้างตัวเองว่าเป็นคนดี กลายเป็นคนที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ไม่เคารพคนอื่น ไม่เคารพคนว่าเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นตามค่ามาตรฐานในโลกสมัยใหม่ คนพวกนี้ถือว่าไม่ดี มันพลิกกลับ
ศูนย์ข่าว TCIJ : ในยุค Gen Me ที่อะไร ๆ ก็หมุนรอบตัวเอง คุณบอกว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตีความศาสนาที่ตนเองนับถือ จึงเกิดคำถามว่า ทุกวันนี้ที่เรายึดตัวเองเป็นศูนย์กลางและตีความตามที่เราจะได้ประโยชน์ ถ้าเราเปิดให้ตีความอย่างเสรีมันจะนำไปสู่อะไรบ้าง ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ
วิจักขณ์ : จริง ๆ เรื่องพวกนี้ห้ามไม่ได้ ผมมองว่าเรามองเรื่องศาสนาเหมือนเรื่องการศึกษา คือการเรียนรู้ การฝึกฝนสติปัญญา อาจจะมีเรื่องความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นด้วย ซึ่งผมมองว่าไม่ต่างอะไรกับการศึกษาในโลกสมัยใหม่ สุดท้ายคือต้องเปิดกว้างให้ศึกษา ถกเถียง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ คือคุณอาจจะมีสำนักต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ อย่างในมหาวิทยาลัยบางมหาวิทยาลัย ทำใบปริญญาขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงิน ให้คนมีใบปริญญาเพื่อไปสมัครงาน มันมีอยู่ในสังคมปัจจุบัน
ถามว่าเราเดือนร้อนไหม ก็อาจจะเดือดร้อน แต่คนในสังคมก็อยู่กับมันได้ ถามว่ามีคนที่ถูกหลอกไหม คำตอบคือ มี แต่มีคนที่จะถูกให้หลอกไหม ก็มีอีกเช่นเดียวกัน ถามว่าเมื่อเราเปิดเสรีเรื่องศาสนาให้คนตีความเอง เปิดสำนักของตนเอง ถามว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้ไหม มี แต่เราก็ต้องอยู่กับมัน เมื่อเราเปิดอิสระทุกอย่างก็จะมีความเป็นมนุษย์อยู่ ศาสนาก็จะไม่เป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งสำหรับผมความบริสุทธิ์ผุดผ่องมันไม่มีอยู่จริง เราต้องยอมรับความจริงว่า ศาสนาต้องอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง สอดคล้องอยู่กับความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนอยู่ในปริมณฑลของศาสนาทั้งหมด และจะเปิดโปร่งใสให้คนเข้าไปเรียนรู้ เข้าไปตรวจสอบ เข้าไปตั้งคำถาม เข้าไปศรัทธา แต่ละคนจะศรัทธาอะไรก็แล้วแต่ และคุณก็ปฏิบัติอย่างเต็มที่ ถ้าคุณโดนหลอกก็คือโดนหลอก แต่สุดท้ายศาสนาไหนอยู่ไม่ได้ มันก็ตายไปซึ่งจะเป็นพลวัตรตามธรรมชาติ แต่มันก็เป็นพลวัตรในแง่สติปัญญาด้วย สิ่งสำคัญคือต้องส่งเสริมการเรียนรู้ศาสนา ต้องมีนักวิชาการ นักบวชที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถูกต้อง มีแง่มุมที่ครอบคลุม ซึ่งก็เหมือนกับเรื่องการศึกษาทั่วไป
ศูนย์ข่าว TCIJ : ในเชิงตัวบุคคล ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอาจจะมองในเชิงเป็นห่วง ถ้าหลาย ๆ คนสามารถกำหนดบรรทัดฐานได้เอง บรรทัดฐานที่เราจะปฏิบัติต่อผู้อื่น แน่นอนว่าเรามองว่าเรื่องผิดหรือถูกไม่เหมือนกัน ตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้น
วิจักขณ์ : ตรงนี้ผมว่าน่าสนใจ เพราะว่าบางทีคนที่ยึดความเชื่อทางศีลธรรมแบบเก่า เมื่อมองเสรีนิยมประชาธิปไตย เขาจะเป็นห่วงเพราะมันจะเป็นอะไรที่เสรีมาก แต่สำหรับผมมองว่า ไม่จริง เราอาจจะต้องเรียนรู้ประชาธิปไตยพื้นฐานควบคู่ไปด้วย ซึ่งเราแทบจะไม่ได้เรียนกันในโรงเรียนอย่างจริงจังว่าการเคารพสิทธิเสรีภาพคืออะไร แล้ววิวัฒนาการของประชาธิปไตยคืออะไร มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่มันเกิดจากคนที่เติบโตทางจิตสำนึกของตนเอง จนถึงจุดที่เขาเรียกร้องว่าขอกำหนดหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดสังคมที่เขาอยู่ แล้วประชาธิปไตยในแง่ปัจเจกคือการที่คนแต่ละคนยืนขึ้นมาแล้วบอกว่า ขอรับผิดชอบตัวเอง ขอพึ่งตัวเอง ไม่ขอพึ่งอำนาจข้างนอกที่มากำหนดคุณค่าของตนเอง ซึ่งผมว่ามันยิ่งใหญ่ในแง่ของจิตสำนึกทางสังคม เพราะสมัยก่อน มนุษย์มีความกลัว ต้องมีคนมาช่วยปกครอง แต่พอถึงจุดหนึ่งคนมีจิตสำนึกที่ยืนขึ้นมาแล้วบอกว่า ฉันขอกำหนดคุณค่าของสังคมที่ฉันอยู่
ถ้าเราจะมองสังคมประชาธิปไตย อย่ามองแค่พื้นที่ว่าง ๆ แบบเปิดโล่ง มันมีคุณค่าอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ลึกลงไปเป็นรากของประชาธิปไตย และนี้คือความเป็นมนุษยนิยม คุณค่าแบบประชาธิปไตย ศีลธรรมแบบประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของคนทุกคน มีรากของความเป็นมนุษยนิยมอยู่ คือรักในเพื่อนมนุษย์ รักในความเป็นมนุษย์ซึ่งบ่งบอกถึงความรักในตัวเอง เชื่อในศักยภาพของตนเอง เชื่อมั่นว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้และสามารถคิดเองได้ สามารถลองผิดลองถูกและเลือกตามประสบการณ์ของเขา และเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกไปด้วยกัน ถ้าเรามองไปที่รากจะไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เพราะสังคมเป็นเสมือนผู้ใหญ่ เราเรียนรู้ไปด้วยกัน ความดี ความไม่ดี ความรู้ผิดรู้ชอบ เชื่อมั่นว่าคนทุกคนสามารเรียนรู้ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีคิดศีลธรรมแบบเก่าที่ไม่ไว้วางใจมนุษย์ มองคนในสังคมเป็นเด็กตลอดเวลา ซึ่งผมมองว่าเป็นอำนาจนิยมแบบดูถูกมนุษย์ ไม่สอดคล้องอำนาจนิยมกับโลกสมัยใหม่
ศูนย์ข่าว TCIJ : มองศีล 5 ของศาสนาพุทธอย่างไร
วิจักขณ์ : ในโลกสมัยใหม่ศีล 5 เป็นเพียงแค่การเคารพตัวเองและการเคารพผู้อื่น
ศูนย์ข่าว TCIJ : ศีล 5 ในศาสนาพุทธถูกมองว่าเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันทั่ว ๆ ไป แต่บางข้อของศีล 5 บางครั้งก็ไม่ทำงานหรือไม่ก็ทำงานมากเกินไป คุณมองศีล 5 อย่างไร ล้าหลังหรือว่าต้องการการตีความแบบที่คุณพูด
วิจักขณ์ : ศีล 5 ไม่ได้ล้าหลังครับ ศีล 5 เป็นศีลธรรม เป็นชุดความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมเกษตร โดยเฉพาะเถรวาท เพราะฉะนั้นมันอธิบายกลุ่มคนเล็กๆ ที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งศีล 5 คือการอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เกิดสันติสุข พื้นฐานเป็นการเคารพตัวเองและผู้อื่น เพียงแต่ศีล 5 ถูกดึงมาเป็นอุดมการณ์ด้านศีลธรรมของรัฐ โดยการพยายามจะนำมาเป็นบรรทัดฐานของพลเมือง มากำหนดและออกกฎหมายเพื่อมาบังคับคน เช่น ต้องไม่ดื่มเหล้าหรือถ้าจะดื่มหรือซื้อเหล้าก็ต้องเป็นเวลา หรือมองคนสูบบุหรี่เป็นอาชญากร ถึงขนาดที่ว่าเรามองเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ มันหลุดจากบริบทแรกของมัน ที่ว่าเป็นมนุษย์รู้จักกัน เข้าใจกัน ห่วงใยกันในแบบมนุษย์ แต่นี่กลายเป็นอำนาจอะไรก็ไม่รู้
ศูนย์ข่าว TCIJ : ศีล 5 ก็ปรากฎในพระไตรปิฎก การห้ามดื่มเหล้าหรือห้ามผิดลูกผิดเมีย สิ่งนี้คือตัวบทที่เขียนไว้ เราจะตีความยังไง ในเมื่อทุกวันนี้เราก็กินเหล้า มีผู้หญิงมากกว่าหนึ่งคน มีผู้ชายมากกว่าหนึ่งคน ตัวบทมันแข็ง แต่ตัวสังคมมันเปลี่ยน แล้วจะปรับเข้ากันได้อย่างไร
วิจักขณ์ : จุดเริ่มต้นคือตัวบทของศีล 5 ยืดหยุ่นและเป็นมิตร และสังคมก็ต้องเป็นมิตรด้วย จินตนาการถึงสังคมสมัยก่อน สังคมเกษตร คนก็เล่นกันหยอกล้อกัน แล้วคนก็ผิดศีลเป็นเรื่องธรรมดา เป็นปกติของมนุษย์แบบโลก ๆ ที่มีชีวิตชีวา ศีล 5 เป็นเหมือนตัวกำกับเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ถ้ามาวัดก็ถือศีลสักนิด เพื่อจะรับรู้ถึงความสงบ แต่ถ้าเรามองว่าตัวบทก็ง่ายและตัวพื้นฐานสังคมก็เป็นเรื่องง่ายๆ สุดท้าย ผมมองว่าพื้นฐานทางสังคมจริง ๆ เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล
ศีล 5 หรือข้อคำสอนในพุทธศาสนามีจิตวิญญาของความเป็นอเทวนิยม เป็นข้อกำหนดที่ให้คนมองตัวเอง ไม่ใช่กฎเกณฑ์เพื่อไปตัดสินคนอื่น เพราะฉะนั้นกฎเกณฑ์ง่าย ๆ คนก็เข้าใจได้ง่าย พระก็ไม่ได้มาด่าให้เรารู้สึกแย่หรือรู้สึกผิด แต่เป็นเพียงว่า วันนี้วันพระ งดช็อตปลา แล้วหันมาถือศีลภาวนา หาความสงบที่มันลึกกว่าการกินปลา ฆ่าปลา มาสัมผัสความสุขที่ลึกลงไปในจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณทำและเห็นด้วยตนเอง หรือการที่คุณไม่ดื่มเหล้า คุณก็ค้นพบความสุขที่ละเอียดด้วยตัวคุณเอง ไม่ใช่เพราะทำเพื่อให้คุณเป็นคนดี มีความสุขเพราะสถานะสูงกว่าคนอื่นหรือมีคนมายกยอ แต่เป็นเรื่องของการมองจิตใจของตัวเองและนำเอาข้อปฏิบัติเหล่านี้มาปฏิบัติ
แต่เมื่อศีล 5 ถูกนำมาตีความแบบรัฐ ศีลพวกนี้จึงไม่ทำงาน กลายเป็นกฎหมาย อย่างทุกวันนี้ถ้าตั้งข้อสังเกต พุทธศาสนาในเมืองไทยทำไมมีปัญหามากมาย พระเป็นข่าวตลอดเวลา ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือพระธรรมวินัยที่ใช้กันในพระสงฆ์แบบรัฐหรือพุทธศาสนาแบบรัฐ มันไม่ทำงาน เป็นธรรมวินัยแบบกฎหมายที่เป็นข้อๆ และสุดท้ายก็เป็นได้แค่พระธรรมวินัยที่ใช้จับผิดพระมีเซ็กส์เท่านั้นเอง พระจะปฏิบัติตัวอย่างไรก็ได้ เพียงแต่อย่าให้คนจับได้ว่ามีเซ็กส์ คุณก็สามารถเป็นพระได้ นอกเหนือจากนั้น คุณตีความเขาข้างตัวเองได้ทั้งหมด เช่น ในยุคหนึ่งหลวงตาบัวอ้างตัวเองว่าเป็นพระอรหันต์ คำถามที่ตามมาคืออวดอุตริหรือเปล่า แต่สุดท้ายถามว่าเราตีความอะไรได้บ้าง มีใครบอกได้บ้างว่าผิดหรือไม่ผิด ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ เพราะเป็นเรื่องที่พระต้องตรวจสอบตัวเอง แต่เมื่อบริบทไม่ได้เป็นบริบทแบบเดิม พระธรรมวินัยไม่ทำงาน ทุกวันนี้พระมีกิ๊กมีอะไรก็ไม่ผิด ทุกวันนี้พระไปนวดกระปู๋ก็ไม่ผิด เพราะเขาตีความให้ไม่ผิดได้ในเมื่อไม่มีเซ็กส์
ศูนย์ข่าว TCIJ : จากที่ฟังคุณวิจักขณ์มา คุณเชื่อมั่นในการตีความเอง เชื่อมั่นในเสรีนิยม แนวคิดที่เป็นเสาหลักของเสรีนิยมกล่าวว่า ตราบใดที่การกระทำของผู้ใดผู้หนึ่งยังไม่ได้ไปก่อภยันตรายต่อผู้อื่น รัฐหรือใครก็ตาม ไม่สามารถนำมุมมองทางศีลธรรมหรือคุณค่าใด ๆ มาบอกเขาว่าควรทำหรือไม่ควรทำ แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นผลร้ายต่อตัวคนคนนั้นก็ตาม แนวคิดนี้ค่อนข้างมีความเป็นปัจเจกสูง แต่การที่ใครสักคนกระทำสิ่งที่ส่งผลร้ายตัวเอง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ส่งผลร้ายกับคนอื่นเลย เพราะทุกอย่างมันมีความเชื่อมโยงกัน คุณมองประเด็นนี้อย่างไร
วิจักขณ์ : อันนี้น่าสนใจ เวลาเราพูดเรื่องศีลธรรม ชีวิตเราผูกโยงกับชีวิตคนอื่นค่อนข้างมาก เช่น เราทำให้พ่อแม่เสียใจ ซึ่งผมมองว่าเป็นกรอบคิดคนละชุด เหมือนกับบ้านเราโหยหาสังคมแบบรวมหมู่ ศีลธรรมจะต้องตอบโจทย์ทางสังคมก่อน คิดถึงคนอื่นก่อนแล้วจึงคิดถึงตัวเอง ไม่ค่อยมีศีลธรรมที่ส่งเสริมปัจเจกบุคคล ส่งเสริมให้แต่ละคนสามารถใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระ แต่ชุดศีลธรรมจะผูกโยงกับความคิดคนอื่นค่อนข้างมาก สุดท้าย เราเลือกที่จะเคารพอะไรก่อน ถ้าเราไม่เคารพตัวเอง เราก็จะเคารพคนอื่นไม่ได้ เราจะไม่มีความเข้าใจเลยว่าเราจะเคารพคนอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นมนุษย์ สมมติว่าถ้าเราจะพูดเรื่องการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเอง เราจะไม่พูดในแง่ว่าการกระทำนั้นผิด แต่เราจะพูดในแง่ว่าการกระทำนั้นเคารพตัวเองหรือไม่ เคารพความเป็นมนุษย์หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องแยกย่อยที่ว่าคุณเคารพพ่อแม่ เคารพตัวเองหรือไม่ แต่มองแบบองค์รวมที่มนุษย์ทุกคนเท่ากัน ทำให้เปิดกว้างในแนวราบ
ศูนย์ข่าว TCIJ : ถ้าการแสวงหาตนเอง การเคารพตนเอง นำไปสู่การทำให้คนที่รักเราและเรารักผิดหวัง มันจะมีหนทางประนีประนอมหรือไม่
วิจักขณ์ : พยายามพูดคุยกันให้มากที่สุด ในสังคมเสรีทางความเชื่อ คนสามารถเชื่อต่างกันได้ หัวใจสำคัญคือทักษะการพูดคุยสื่อสารแลกเปลี่ยนว่ารสนิยมต่างกัน วิถีชีวิตต่างกัน ความเชื่อต่างกัน คุณค่าต่างกัน แต่เราสามารถอยู่ร่วมกันและเห็นคุณค่าของเขา เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ทั้งที่มีความเชื่อต่างกัน ในแง่นี้เราก็เคารพพ่อแม่ในความเป็นมนุษย์ พ่อแม่ก็เคารพลูกในความเป็นมนุษย์ และเคารพกันในแง่ที่ว่าต่างก็มีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิต ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เราสามารถสื่อสารกันได้ ความปรองดองสามารถเกิดขึ้นได้จากการสื่อสารและจะต้องสื่อสารกันให้ลึกถึงความต้องการของเขา เพราะคนแต่ละคนมีความต้องการต่างกัน แต่พื้นฐานของความต้องการเหมือนกันคือ ความต้องการการเคารพ ต้องการความรัก ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ต้องการอิสรภาพ
ศูนย์ข่าว TCIJ : ณ ขณะนี้ โลกยุคใหม่กำลังสร้างระบบศีลธรรมของตัวเองอยู่
วิจักขณ์ : ใช่ ผมเรียกมันว่า ระบบศีลธรรมแนวราบ เป็นจิตวิญญาณของมนุษย์ที่กระจายอยู่ในแนวราบ ในชีวิตประจำวัน ในหนังสือที่คุณอ่าน ในทางที่คุณลือก ในกิจกรรมที่คุณทำ มันกระจายอยุ่ในทุกอย่าง
ศูนย์ข่าว TCIJ : เมื่อถึงจุดนั้น คุณคิดว่าศีลธรรม คุณธรรม หรือคุณค่าชุดเดิมๆ หรือแม้แต่ตัวศาสนาเอง จะมีที่อยู่ที่ยืนหรือเปล่า
วิจักขณ์ : มีครับ ผมว่าสุดท้ายแล้ว แต่ละครอบครัว แต่ละคู่สมรม แต่ละโรงเรียนก็สามารถสร้างทางเลือกของตัวเองได้ แต่ขอบเขตคือคุณต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ผมมองว่าศาสนาจะหลากหลายมากขึ้น จะทำให้เราลึกซึ้ง ทั้งในความลี้ลับ จิตวิญญาณ ความแปลก หรือบางคนอาจจะมีความเชื่อแบบงมงาย ไสยศาสตร์ แต่สุดท้ายแล้วคุณค่ากลางจะเป็นแบบโลกาวิสัย เป็นคุณค่าแบบจิตวิญญาณมนุษย์ ซึ่งจะมีความเป็นสากลมากขึ้นในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นพุทธศาสนาในบ้านเราเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท ซึ่งค่อนข้างมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม แต่ถ้าหากคุณได้เห็นเถรวาทในโลกตะวันตก จะเห็นได้ชัดเลยว่า มีความเปิดกว้าง แม้ว่าคุณจะนับถือครูบาอาจารย์ ธรรมวินัยยังไง แต่โดยกลิ่นไอจะมีความเปิดกว้าง ทำให้เถรวาทคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งดีมากสำหรับผม ตรงข้ามกับเถรวาทในเมืองไทยที่อยู่ในคณะสงค์แบบรัฐที่ไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่เลย การตีความพุทธศาสนาเถรวาทในเมืองไทยก็ยิ่งไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่หนักขึ้นไปอีก กลายเป็นความเชื่อที่ถูกใช้ไปในแนวทางอำนาจนิยมได้ง่ายมาก ผมจึงคิดว่าพื้นที่กลางที่เป็นโลกาวิสัยมันดีที่สุดแล้วที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ มีความหลากหลาย ความเชื่อทั้งหมดมีจุดร่วมอยู่ด้วยกันคือความเป็นมนุษย์
ศูนย์ข่าว TCIJ : ในฐานะปัจเจกบุคคล เรามีสิทธิ์ที่จะสร้างเกณพ์ของเราได้ แต่วางอยู่บนบรรทัดฐานที่คุณวิจักขณ์เชื่อว่าคือการเคารพคนอื่น
วิจักขณ์ : ใช่ครับ จะทำให้คุณเป็นตัวของตัวเอง ทำให้คุณเป็นคนแปลก คนเพี้ยน เป็นคนที่หมกมุ่นกับเรื่องที่สนใจสุด ๆ ส่งเสริมให้คนเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องเป็นแบบใคร ทำให้เกิดความหลากหลาย เกิดพลวัตรการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นมนุษย์และพัฒนาการทางสังคมที่มันก้าวหน้า
ศูนย์ข่าว TCIJ : จะทำให้คนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้นด้วยหรือไม่ หรือเป็นผลพวงที่เราก็ต้องยอมรับ
วิจักขณ์ : ทำให้คนเป็นปัจเจกมากขึ้น และสำหรับผม มันเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ เพราะว่ามันคือโลกยุคนี้ที่ส่งเสริมการเป็นปัจเจกบุคคล แต่ผมมองว่าเมื่อปัจเจกบุคคลสุกงอมจนถึงที่สุดจะทำให้คนกลับมาอยู่ร่วมกัน คล้ายกับวัฏจักรที่อยู่ร่วมกันมาก่อน จนคนแต่ละคนไม่มีเสียงของตนเอง หาตัวเองไม่พบ ทำให้ปัจเจกบุคคลเกิดขึ้นมา แสวงหาคุณค่าและทำให้สังคมเห็นคุณค่าของปัจเจกบุคคลเป็นคุณค่าหลัก คล้ายกับสังคมตะวันตกที่เขาก็หันกลับมามองว่าเขาจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เขาเริ่มสนใจเรื่องการ Localization มันย้อนกลับมาโดยที่ความเป็นปัจเจกบุคคลหรือว่าความเป็นมนุษย์ของเขาไม่ได้ถูกลดทอนลงไป
ศูนย์ข่าว TCIJ : ขณะนี้สังคมไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรดังกล่าว
วิจักขณ์ : ผมคิดว่าตอนนี้เราควรเป็นประชาธิปไตยก่อน เคารพสิทธิเสรีภาพกันก่อนและเลิกนำความดีมาข่มกัน
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ