อปท.อุบลฯจับมือพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบสานการปั้นเตา-ปั้นหม้อ-สานตระกร้า-ทอเสื่อ

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 10 ก.ย. 2556


โครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินงานโดยศูนย์บริการวิชาการชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลตำบลคำน้ำแซบ อบต.ป่าโมง อบต.หนองเหล่า และสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาพลังเด็กเปลี่ยนโลก ตอน ภูมิปัญญาท้องถิ่น กับการพัฒนาเด็กเยาวชน มีผู้เข้าร่วมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เด็กเยาวชนและพี่เลี้ยง ผู้นำชุมชน และครูในโรงเรียนใกล้เคียง  โดยมีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่ห้องประชุมแคนค้ำคูณ เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

นายสุเมธ ตรีศูลรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลคำน้ำแซบ เปิดเผยว่า นโยบายของทางเทศบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งสภาเด็กเยาวชนตำบลคำน้ำแซบขึ้นมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่ให้มาทำความรู้จักกัน พบปะทำกิจกรรมร่วมกัน  เพื่อเป็นช่องทางขยายสู่การทำงานหรือประสานงานกับเครือข่ายอื่น ๆ ต่อไป

นางพิสมัย มีชัย หัวหน้ากองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ กล่าวว่า เดิมเด็กเยาวชนตำบลคำน้ำแซบต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยรู้จักกัน เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมสภาเด็กเยาวชนแล้ว เด็กสนิทสนมกันมากขึ้น กล้าแสดงออก กล้าเสนอความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ และเห็นได้ชัดคือเด็กมีศักยภาพมากขึ้น

ขณะที่นายพงศธร สองสี กรรมกาสภาเด็กเยาวชนตำบลคำน้ำแซบ พูดถึงกิจกรรมของเด็กและเยาวชนว่า ปัจจุบันสภาเด็กเยาวชนตำบลคำน้ำแซบมีสมาชิก 15 คน มีกิจกรรมที่ทำหลากหลายและต่อเนื่อง ในเรื่องภุมิปํญญาท้องถิ่น ได้ทำกิจกรรมวัยใสใส่ใจภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการไปเรียนรู้วิธีการปั้นเตา ปั้นหม้อ สานตระกร้า ทำเสื่อกับชาวบ้านในตำบลคำน้ำแซบ ทำให้เยาวชนรู้ว่าในชุมชนเรามีภูมิปัญญาท้องถิ่นหลาย ๆ อย่างที่พ่อแม่ใช้ประกอบอาชีพมายาวนาน นับเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตคนในชุมชน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนไปด้วย หลาย ๆ กิจกรรมของสภาเด็กเยาวชน ทำให้ตนได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง กล้าคิด กล้าเสนอความเห็น และมีภาวะผู้นำมากขึ้น

น.ส.กศณภา แฝงสีพล นักพัฒนาชุมชน อบต.หนองเหล่า ระบุว่า อบต.หนองเหล่า อ.เขื่องใน เป็นชุมชนชนบท เด็กเยาวชนรวมตัวได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้อาชีพและรายได้เป็นตัวดึงให้เด็กเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมกับสภาเด็กเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 30 คน ที่ผ่านมามีกิจกรรมเพาะเห็ดนางฟ้า และเห็ดนางรม ในนามสภาเด็กเยาวชน ซึ่งทำให้เด็กเยาวชนได้รู้จักวิธีการทำงาน ฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่น และได้เปิดโลกทรรศน์โดยการเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายในตัวจ.อุบลฯ เช่น งานถนนเด็กเดิน จนพัฒนาสู่เยาวชนจิตอาสา ทำถังขยะไปแจกในชุมชนของตัวเอง

ด้าน นางปัทมาภา พิมพ์พันธ์ นักพัฒนาชุมชน อบต.ป่าโมง กล่าวว่า ในพื้นที่อบต.ป่าโมง อ.เดชอุดม ได้ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรียนรู้การทำเทียนหอม ทั้งเทียนหอมสมัยใหม่ และเทียนหอมศิลปะ ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน วันเสาร์-อาทิตย์จะรวมตัวกันมาทำเทียน สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเด็กเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพตัวเองคือ เขาพยายามคิดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เทียนของตัวเองอย่างไร แล้วไปซื้อของมาทำ

ในการบันทึกเทปรายการ มีการสาธิตการทำเทียนหอมของสภาเด็กเยาวชนตำบลป่าโมง อ.เดชอุดม การทำขนมข้าวโป่งโบราณของสภาเด็กเยาวชนตำบลหนองเหล่า อ.เขื่องใน นิทรรศการการปั้นหม้อของชุมชนช่างหม้อ ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ ติดตามชมเทปรายการพลังเด็กเปลี่ยนโลกในช่อง sangsook วีเคเบิ้ลทีวี และ www.sangsook.net

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: