ถอดนัยยะทางการเมือง3จว.ใต้   ถกสันติภาพ-ถล่มบ้านกลุ่มวาดะห์ กับแนวรุกการเมืองของเพื่อไทย

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 10 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3617 ครั้ง

ความเคลื่อนไหวในการจัดตั้ง ให้นักการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าสังกัดพรรคการเมืองใหญ่ เริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง หลังการพูดคุยสันติภาพ ผ่านไปแล้ว 2 รอบ ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหัวหน้าผู้ก่อการบีอาร์เอ็น และพูโล ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556ท่ามกลางข่าวที่โหมสะพัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดโต๊ะเจรจาล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

 

หลังเหตุการณ์ดักสังหารรถของ นายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ นายเชาวลิต ไชยฤกษ์ ป้องกันจังหวัดยะลา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

หลังเกิดเหตุการณ์ใหญ่ในรอบ 10 ปี เมื่อกลางดึกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่าน มีผู้ก่อเหตุประมาณ 80 คน แต่งกายเหมือนเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมอาวุธปืนครบมือ บุกโจมตีฐานปฏิบัติการทหาร ร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 32 บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส  และเกิดการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 16 ศพ

 

 

 

หลังเหตุคนร้ายใช้เอ็ม 79 ยิงถล่มใส่บ้านของนายนัจมุดดีน อูมา แกนนำกลุ่มวาดะห์ และที่ปรึกษา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 5 ถ.ระแงะมรรคา หมู่ 1 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา

 

นายนัจมุดดีน ให้การว่า ขณะหลับอยู่พลันต้องตกใจตื่นจากเสียงระเบิดบริเวณหน้าบ้าน จึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งจากการสอบถามคนในละแวกได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุมีคนร้าย 2 คน ใช้เอ็ม 79 ยิงใส่ก่อนรีบขี่รถหลบหนีไป โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ถูกยิงใส่บ้านด้วยเอ็ม 79 ซึ่งครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 31มีนาคม 2555 ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ร้ายของกลุ่มผู้ไม่หวังดีแน่นอน

 

ก่อนหน้านั้นกลุ่มวาดะห์ กลับมาเคลื่อนตัวทางการเมืองอีกครั้ง นับตั้งแต่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ กลุ่มวาดะห์ จัดสัมมนากลุ่มในวาระ “ก้าวต่อไปของพวกเรา” มีองค์กรมุสลิมในพื้นที่เข้าร่วม 26 องค์กร เป็นการรวมตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ทศวรรษ หลังจากกลุ่มวาดะห์แพ้การเลือกตั้ง และไม่มีส.ส.อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียว ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 2 สมัย (ตั้งแต่สมัย 2548-2554)

 

 

กลุ่มวาดะห์เดิมเป็นชมรมผู้นำมุสลิม 4 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีผู้นำคนแรกคือ นายหะยีอามัน โต๊ะมีนา ในปี 2519 มีส.ส.ได้เข้าสภาผู้แทนราษฎรถึง 8 คน แต่ปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 6 เดือนก็ถูกปฏิวัติ

การเลือกตั้งสมัยต่อมาในปี 2522 มีส.ส.เข้าสภาได้เพียงคนเดียวคือ นายเด่น โต๊ะมีนา ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

 

จากนั้นสมาชิกชมรมผู้นำมุสลิมก็กระจัดกระจาย นายเด่นพยายามติดต่อพรรคการเมืองในกรุงเทพฯ ทุกพรรค ทั้งกิจสังคม กิจประชาคม พรรคชาติไทย พรรคก้าวหน้า และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็รวมตัวกันไม่ติด

กว่าจะรวมตัวกันได้ และเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของกลุ่มวาดะห์ ก็เป็นสมัยเลือกตั้ง 2529

 

นักการเมืองในกลุ่มวาดะห์ เล่าตำนานการหักหลัง-การต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์คล้ายกัน 2 ปม ปมแรก ยุคที่กลุ่มวาดะห์สังกัดประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร 5 คน นายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ตกลงว่าจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรี 1 เก้าอี้ แต่ในที่สุดกลุ่มวาดะห์ก็ไม่ได้ครอบครอง เพราะถูกเบี้ยว

 

 

ปมที่สอง หลังการเลือกตั้งในปี 2519 พรรคประชาธิปัตย์สัญญาว่าจะให้เก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง หากได้ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร 8 คน แต่เมื่อชมรมโต๊ะครูเลือก นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นตัวแทนเป็นรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ กลับแต่งตั้งนายเด่น ให้เป็นเพียงเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

กระทั่งยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เรืองอำนาจ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคคความหวังใหม่ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มวาดะห์ ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด (2535/1 มีส.ส. 7คน) เมื่อสมาชิกกลุ่มได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานรัฐสภา นายเด่น นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ได้เป็นรัฐมนตรีกันถ้วนหน้า

 

พรรคประชาธิปัตย์ ได้เก้าอี้ส.ส.เพียง 1 เสียง ในจังหวัดสงขลา

 

 

เหตุการณ์ประท้วงที่ตากใบ-เหตุการณ์กรือเซะ (วันที่ 28 เมษายน 2547) ทำให้กลุ่มวาดะห์ได้รับบทเรียนทางการเมือง เมื่อชาวมุสลิมใน 3 จังหวัด ส่งเสียงสวรรค์ มีนัยว่า มีกลุ่มวาดะห์อยู่ในรัฐบาล แต่ช่วยชาวบ้านไม่ได้

 

เลือกตั้งสมัยปี 2548 เป็นต้นมา กลุ่มวาดะห์จึงไม่มีส.ส.อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกเลย มีแต่ภาพจำว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ยังอยู่ฝ่ายไทยรักไทย -พลังประชาชน และเพื่อไทย

 

 

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 กลุ่มวาดะห์สอบตกทั้งหมด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 9จาก 11 เก้าอี้ ที่เหลือเป็นของพรรคมาตุภูมิ กับพรรคชาติไทยพัฒนา การรวมตัวของกลุ่มวาดะห์ เพื่อเป็นที่ปรึกษา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มนักการเมืองมุสลิมหึกเหิมอีกรอบ คาดการณ์ทำนายผล จะกวาดส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด

 

หมุดหมายใหม่ของกลุ่มวาดะห์ ยังเป็นทางสามแพร่ง แพร่งแรก สมาชิกส่วนใหญ่ อยากตั้งพรรคใหม่ แพร่งที่สอง สมาชิกจำนวนหนึ่ง อยากสังกัดพรรคเพื่อไทย แพร่งที่สาม สมาชิกอาวุโสของพรรค อยากมีพรรคการเมืองเป็นของชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นเครือข่ายกับพรรคเพื่อไทย ทั้งสามแพร่งมีเงื่อนไขเรื่องทุนในการก่อตั้งพรรค เป็นกับดักสำคัญ

 

ทั้ง 3 แพร่ง มีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องพัวพัน ทางอ้อม ทักษิณกำลังทำอะไรในการเมืองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่กลุ่มการเมืองวาดะห์ ยกทีมเข้าเป็นที่ปรึกษา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยร่วมชายคาพรรคความหวังใหม่ ในร่มเงาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นักการเมืองทั้งกระดานอาจเข้าใจ เชื่อใจไปแล้วว่า พรรคเพื่อไทยต้องการใช้บริการกลุ่มการเมืองวาดะห์ เป็นเครื่องมือในการร่วมวงแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แกนนำกลุ่มวาดะห์ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ในการเข้าร่วมชายคาพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

 

พูดกันในวงการเมืองว่า ราคาค่างวด ของการเลือกตั้ง ต่อคนในพื้นที่นี้ มีตัวเลขต่อคนสูงถึงรายละ 30 ล้าน การเคลื่อนย้ายทุน ย้ายพรรค ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงผันผวนแทบทุกครั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

 

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักการเมืองใต้ถุนสภาผู้แทนราษฎร กล่าวขานกันว่าผู้มีบารมีในพรรคเพื่อไทย ได้ส่งตัวแทนส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ไปเจรจากับแกนนำส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อต่อสายให้ทุน “ตั้งพรรคจังหวัดชายแดนใต้” เป็นลูกข่ายให้พรรคเพื่อไทย

 

ซึ่งการเจรจาการเมืองรอบใหม่นี้ ต่างจากรูปแบบการเจรจาทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ต้องการตัวส.ส.ต่างพรรค มาเป็นสมาชิก ลงรับเลือกตั้งในนามเพื่อไทย แต่รูปแบบใหม่ จะดำเนินรอยตามพรรคอัมโนในมาเลเซีย โดยเปิดโอกาสให้มีการตั้งพรรคใหม่ในชายแดนใต้ แต่ขึ้นตรงกับพรรคเพื่อไทย ในกรุงเทพฯ

 

เสียงระเบิดเอ็ม 79 ที่บ้านแกนนำกลุ่มวาดะห์ -การเจรจาสันติภาพที่มาเลเซีย-การลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจรายวัน และการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชายแดนใต้  อาจเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: