เมื่อวันที่ 10 เมษายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ “โทษประหารชีวิต ปี 2555 : แม้จะมีความถดถอย แต่โลกที่ปลอดจากโทษประหารชีวิตเริ่มใกล้ความจริงมากขึ้น” ระบุว่า แม้จะมีความถดถอยที่น่าผิดหวังอยู่บ้างสำหรับปี 2555 แต่แนวโน้มระดับโลกที่จะยุติการใช้โทษประหารยังเดินหน้าต่อไป เป็นข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลค้นพบในรายงานประจำปีว่าด้วยโทษประหารและการประหารชีวิต
ปี 2555 เป็นปีที่มีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในหลายประเทศ ซึ่งยุติการใช้โทษประหารมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน และแกมเบีย รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการประหารชีวิตในอิรัก แต่การใช้โทษประหารยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มประเทศไม่กี่แห่ง และทั่วทุกภูมิภาคในโลก เราได้เห็นแนวโน้มที่มุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหาร มีเพียง 21 ประเทศในโลก ที่มีสถิติการประหารชีวิตในปี 2555 เท่ากับปี 2554 แต่ถือว่าน้อยกว่า 28 ประเทศ ในช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนหน้านี้หรือในราวปี 2546
ในปี 2555 เรามีข้อมูลว่า มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 682 ครั้งทั่วโลก มากกว่าปี 2554 สองครั้ง เราสามารถยืนยันข้อมูลว่า มีการลงโทษประหารครั้งใหม่อย่างน้อย 1,722 ครั้ง ใน 58 ประเทศ เปรียบเทียบกับ 1,923 ครั้งใน 63 ประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้ง ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งมีการเก็บตัวเลขเป็นความลับ
ซาลิล เช็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ความถดถอยในบางประเทศสำหรับปีนี้ถือว่าน่าผิดหวัง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการไม่ใช้โทษประหารของโลก ในหลาย ๆ พื้นที่ในโลก การประหารชีวิตได้กลายเป็นเรื่องราวในอดีตไปแล้ว มีเพียงหนึ่งใน 10 ของประเทศในโลกที่ยังคงประหารชีวิตบุคคล ผู้นำประเทศเหล่านี้ควรถามตนเองว่า พวกเขายังจะใช้การลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมต่อไป ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในโลกพากันถอนตัวไปหมดแล้วหรือ ซึ่งประเทศที่ประหารชีวิตบุคคลมากสุดในโลก 5 ประเทศ คือ จีน อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ โดยมีเยเมนตามมาใกล้ ๆ
วิธีการประหารชีวิตในปี 2555 ได้แก่ การแขวนคอ การตัดศีรษะ การยิงเป้า และการฉีดยาพิษ ที่ซาอุดิอาระเบีย มีการนำศพของชายคนหนึ่งที่ถูกตัดศีรษะเพื่อประหารชีวิตไปประจาน โดยถือว่าเป็นการตรึงกางเขนเพื่อให้ตายอย่างทรมานอย่างหนึ่ง มีคนที่ต้องโทษประหารเนื่องจากความผิดทางอาญาหลายประการ รวมทั้งความผิดที่ไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและด้านเศรษฐกิจ และยังมีผู้ที่ต้องโทษประหารเนื่องจากการละทิ้งศาสนาของตน (apostasy) การหมิ่นศาสนา และ การล่วงประเวณี ซึ่งเป็นการกระทำไม่ควรถือเป็นอาชญากรรมด้วยซ้ำไป
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความถดถอยที่น่าผิดหวังในปี 2555 กล่าวคืออินเดีย ญี่ปุ่น และปากีสถาน รื้อฟื้นการประหารชีวิตหลังจากหยุดมาเป็นเวลานาน และเป็นช่วงที่ปลอดจากการประหารชีวิต ในเดือนพฤศจิกายน อินเดียประหารชีวิตบุคคลเป็นครั้งแรกนับจากปี 2547 โดยการแขวนคอนายอัชมาล กาสับ มือปืนที่รอดมาได้จากเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงมุมไบเมื่อปี 2551 ที่ญี่ปุ่น มีการประหารชีวิตนักโทษสามคนเมื่อเดือนมีนาคม และอีกสี่คนในเวลาต่อมา หลังจากงดเว้นมาเป็นเวลา 20 เดือน อีกครั้งหนึ่งที่จีนประหารชีวิตบุคคลเป็นจำนวนรวมกันมากกว่าทุกประเทศที่เหลือในโลกรวมกัน แต่สืบเนื่องจากการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทษประหาร เป็นเหตุให้เราไม่สามารถได้ข้อมูลที่แสดงถึงภาพความจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับโทษประหารในประเทศนั้น
แต่ก็มีพัฒนาการเชิงบวกในภูมิภาคนั้น อย่างเวียดนามซึ่งไม่ประหารชีวิตบุคคลเลย ในขณะที่สิงคโปร์ยินยอมปฏิบัติตามความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชั่วคราวและมองโกเลียได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญซึ่งแสดงเจตจำนงของประเทศที่มุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร
สำหรับอนุภูมิภาคแปซิฟิก (Pacific sub-region) ยังคงเป็นเขตปลอดโทษประหารเกือบสิ้นเชิง แม้ว่าตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะมีพัฒนาการในเชิงบวกอยู่บ้าง แต่การใช้โทษประหารในภูมิภาคนี้ยังเป็นข้อกังวลที่สำคัญ อิหร่าน, อิรัก, ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน ยังคงมีสถิติประหารชีวิตมากถึง 99% ของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของการใช้โทษประหารในอิรัก โดยมีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 129 คน เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากจำนวน 68 คนในปี 2554
อีกครั้งหนึ่งที่อิหร่านมีสถิติการประหารชีวิตเป็นรองเพียงประเทศจีน โดยทางการประกาศยอมรับว่ามีการประหารชีวิต 314 ครั้ง แต่จำนวนที่แท้จริงคาดว่าต้องมากกว่านี้มาก เนื่องจากทางการไม่ยอมรับว่ามีการประหารชีวิตอีกหลายครั้ง และไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้ ความขัดแย้งในซีเรียทำให้แทบจะไม่สามารถยืนยันว่ามีการใช้โทษประหารหรือไม่สำหรับปี 2555
สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศเดียวที่ยังมีการประหารชีวิตบุคคลในทวีปอเมริกา จำนวนการประหารชีวิต 43 ครั้ง เท่ากับปี 2554 แต่รัฐที่ประหารชีวิตคนเพียงเก้ารัฐเปรียบเทียบกับ 13 รัฐในปี 2554 คอนเนตทิคัตเป็นรัฐที่ยกเลิกโทษประหารลำดับที่ 17 ส่วนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย กฎหมายที่กำหนดให้ยกเลิกโทษประหารไม่ผ่านการรับรองด้วยคะแนนเสียงเพียงเฉียดฉิวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ประเทศที่พูดภาษาอังกฤษในแถบทะเลแคริบเบียนยังคงปลอดจากการประหารชีวิต โดยมีข้อมูลว่ามีการลงโทษประหารเพียง 12 ครั้งในสามจาก 12 ประเทศในอนุภูมิภาคนี้
ทวีปแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะเลทรายซาฮาราลงมา มีความคืบหน้าเพิ่มเติมที่มุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหาร เบนินดำเนินการทางนิติบัญญัติเพื่อยกเลิกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนกานามีแผนยกเลิกโทษประหารในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะไม่มีนักโทษประหารในเซียร์ราลีโอนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้โทษประหารเพิ่มขึ้นอย่างมากในภูมิภาคนี้นับแต่ปี 2554-2555 โดยเป็นผลมาจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในซูดานและแกมเบีย
ในเดือนสิงหาคมมีการประหารชีวิตบุคคลเก้าคนในแกมเบีย ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสามทศวรรษ แม้จะมีเสียงร้องเรียนจากนานาชาติ ประธานาธิบดียายา จัมเมห์ ได้ประกาศยอมให้มีความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชั่วคราวอย่างมีเงื่อนไข กล่าวคืออาจมีการยกเลิกโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่อัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในซูดานมีการประหารชีวิต 19 ครั้ง และมีการลงโทษประหาร 199 ครั้งเป็นอย่างน้อย เบลารุสยังเป็นประเทศเดียวในยุโรปและเอเชียกลางที่มีการประหารชีวิตบุคคล และมีการเก็บข้อมูลการประหารชีวิตอย่างเข้มงวด โดยมีผู้ชายอย่างน้อยสามคนที่ถูกประหารในปี 2555 ลัตเวียเป็นประเทศลำดับที่ 97 ในโลกที่ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประการ หลังจากตัดโทษประหารออกไปจากกฎหมายในช่วงปี 2555
เหตุผลที่ผู้สนับสนุนโทษประหารมักอ้างถึงคือ การระบุว่า โทษประหารมีผลในเชิงป้องปรามต่อการก่ออาชญากรรม อย่างไรก็ตาม จากงานศึกษาชิ้นสำคัญในปี 2555 ในสหรัฐฯ มีข้อสรุปว่า ไม่สามารถใช้ข้ออ้างเรื่องการป้องปรามเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้โทษประหารได้
“รัฐบาลที่ยังประหารชีวิตบุคคลอยู่ แทบไม่มีเหตุผลที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ชี้ว่าโทษประหารจะมีผลเป็นการเฉพาะ ในแง่การป้องปรามไม่ให้คนก่ออาชญากรรม เราอาจพบเหตุผลที่แท้จริงที่สนับสนุนการใช้โทษประหารจากที่อื่น แต่ในปี 2555 เรารู้สึกกังวลอย่างยิ่งที่เห็นหลายประเทศประหารชีวิตบุคคลด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างค่อนข้างแน่ชัด ทั้งการอ้างว่าเป็นเครื่องมือแบบประชานิยม หรือการประหารชีวิตเพื่อเป็นเครื่องมือในการกดขี่ปราบปราม” นายเช็ตติกล่าว
สำหรับประเทศไทยในปี 2555 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 106 คดี และจนถึงสิ้นปี 2555 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่กว่า 650 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตามเป็นปีที่ 3 ที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย
น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รับรองผลการพิจารณาการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (UPR) ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 อย่างไรก็ตามทางการไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะที่ให้ทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต และแม้ว่ารัฐไทยได้แสดงเจตน์จำนงในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต และเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมากลับมีเสียงเรียกร้องให้เร่งการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งการกดดันที่มาจากหน่วยงานของรัฐบาลด้วย
ในปี 2555 ประเทศไทยงดออกเสียง เป็นปีที่ 2 ต่อมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงมติคัดค้าน เมื่อปี 2550 และ 2551 การประชุมครั้งต่อไปในปี 2557 เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะลงมติเห็นชอบ รับมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน ประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR” น.ส.ปริญญากล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ