ไทยยังขาด'แพทย์เฉพาะทาง'อื้อ ไม่ขอทุนเรียน-คาดถึง8,000คน ลาออกเพียบ-เรียนด้วยงบส่วนตัว 

10 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 15770 ครั้ง

 

ปัญหาในวงการสาธารณะสุขของไทย นอกจากความขัดแย้งเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนจากเหมาจ่ายเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานหรือ P 4 P (Pay For Performance) ระเบิดเวลาที่ยังคงสะสมและจะสร้างปัญหาในอนาคตคือการขาดแคลนแพทย์

 

เมื่อบวกปัจจัยการเพิ่มสวัสดิการด้านสุขภาพของรัฐ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยเรื้อรัง การเกิดโรคใหม่ ๆ การขยายตัวของโรงพยาบาลเอกชน และความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการบริการทางการแพทย์ที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น ย่อมหมายถึงความต้องการแพทย์เฉพาะทางจะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่การผลิตแพทย์เฉพาะทางกลับยังไม่เพียงพอ

 

 

 

หมอชนบทลาออกไปเรียนต่อปีละ800คน-เลือกไม่กลับมาใช้ทุน

 

 

ข้อมูลแพทยสภา ปี 2554 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ทั้งสิ้น 42,890 คน เป็นแพทย์เฉพาะทาง 25,185 คน หรือร้อยละ 59 โดยแยกเป็นสาขาได้ดังนี้คือ อายุรแพทย์ (ร้อยละ 22) แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (ร้อยละ 18) กุมารแพทย์ (ร้อยละ 11) ศัลยแพทย์ (ร้อยละ 11) สูตินรีแพทย์ (ร้อยละ 8) ศัลยศาสตร์/ออโธปิดิกส์ (ร้อยละ 5) และอื่น ๆ ซึ่งตัวนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของจำนวนแพทย์เฉพาะทางที่มีอยู่

 

 

นอกจากปัญหาความไม่สมดุลแล้ว การกระจายและผลิตแพทย์เฉพาะทางยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของระบบบริการด้วย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่ทำการจัดสรรโควตาแพทย์ประจำบ้านในแต่ละปีเพื่อตอบสนองระบบบริการสุขภาพ พบว่า ในบางสาขามีแพทย์สมัครเข้ารับทุนต่ำกว่าครึ่ง ได้แก่ ศัลยแพทย์ทั่วไป (ร้อยละ 34 ของทุน) สูตินรีแพทย์ (ร้อยละ 38 ของทุน) และมีหลายสาขาที่รับทุนประมาณครึ่งหนึ่ง ได้แก่ ประสาทศัลยแพทย์ (ร้อยละ 47 ของทุน) วิสัญญีแพทย์ (ร้อยละ 57 ของทุน) แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (ร้อยละ 58 ของทุน) และจิตแพทย์ (ร้อยละ 59 ของทุน)

 

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลของแพทยสภาที่พบว่า จำนวนแพทย์ที่เข้าศึกษาเฉพาะทางในระหว่างปี 2552-2554 มีประมาณครึ่งหนึ่งของโควตาแพทย์ประจำบ้านในสาขาต่อไปนี้ ศัลยแพทย์ทั่วไป (ร้อยละ 53 ของโควตา) สูตินรีแพทย์ (ร้อยละ 54 ของโควตา) ประสาทศัลยแพทย์ (ร้อยละ 56 ของโควตา) และวิสัญญีแพทย์ (ร้อยละ 69 ของโควตา) แต่ในขณะเดียวกันพบว่า มีแพทย์ทั่วไปย้ายออกจากระบบบริการสุขภาพในชนบทเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2551-2553 มีแพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข 600-782 คนต่อปี ส่วนใหญ่ลาออกเพื่อศึกษาต่อเฉพาะทาง โดยส่วนหนึ่งเลือกที่จะอยู่ในโควต้าอิสระ เพื่อไม่ต้องมีภาระชดใช้ทุน หลังจากสำเร็จเป็นแพทย์เฉพาะทางแล้ว

 

 

 

 

 

ปี 2562 แพทย์เฉพาะทางขาดอื้อ

 

 

จากงานศึกษาความต้องการแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางของศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย และพุดตาน พันธุเณร พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในทุกสาขาที่ได้ทำการวิเคราะห์ สาขาที่ขาดแคลนมากที่สุดคืออายุรแพทย์ที่ขาดแคลนถึง 3,000 คน รองลงมาคือ ศัลยแพทย์ 1,800 คน และวิสัญญีแพทย์ 1,600 คน

 

ส่วนแพทย์ในสาขาอื่น ๆ ได้แก่ กุมารแพทย์ ขาดประมาณ 750 คน แพทย์ออโธปิดิกส์ขาด 700 คน สูตินรีแพทย์ขาด 650 คน โสต ศอ นาสิกแพทย์ขาด 350 คน ประสาทศัลยแพทย์ขาด 403 คน ที่ขาดน้อยที่สุดคือจักษุแพทย์ ขาด 200 คน และสำหรับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งถือเป็นแพทย์พื้นฐานที่มีบทบาทคัดกรองโรคของผู้ป่วยก่อนส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง เพื่อไม่ให้เป็นภาระของแพทย์เฉพาะทางโดยไม่จำป็น ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนแพทย์กลุ่มนี้มากถึง 5,600 คน

 

เมื่อคาดการณ์ความต้องการแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางในปี 2562 โดยคำนึงถึงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจะมีความต้องการแพทย์สาขาต่างๆ เพิ่มขึ้น ยกเว้นสาขาสูตินรีแพทย์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ และกุมารแพทย์ โดยแพทย์ที่ต้องผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าสาขาอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ คือ อายุรแพทย์ขาดแคลน 4,044 คน ศัลยแพทย์ขาดแคลน 1,855 คน วิสัญญีแพทย์ขาดแคลน 1,348 คน และประสาทศัลยแพทย์ขาดแคลน 340 คน

 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแพทย์ที่คาดว่าจะผลิตได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า ทุกสาขายกเว้นสาขาโสต ศอ นาสิกแพทย์ กุมารแพทย์ จะผลิตได้ไม่พอกับความต้องการของประชนในอนาคต สำหรับสูตินรีแพทย์หากมีการผลิตได้ตามโควตาในแต่ละปีมีแนวโน้มจะเพียงพอ แต่ก็พบว่าเป็นสาขาที่ผลิตได้ประมาณครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย ดังนั้น สาขานี้อาจกล่าวได้ว่าจะมีความขาดแคลนในอนาคตเช่นเดียวกัน

 

 

 

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวขาด 5,600 คน

 

 

โดยเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ยังขาดแคลน 5,600 คน ถือเป็นสาขาสำคัญที่ต้องเพิ่มให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ลดภาระงานของสถานพยาบาลระดับตติยภูมิได้มากขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า รัฐต้องกล้าปรับระบบบริการสุขภาพให้ผู้ป่วยทุกคนต้องผ่านการรักษาและคัดกรองจากแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวก่อน จึงจะส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางที่เหมาะสมและจำเป็นเท่านั้น แทนที่ระบบปัจจุบันที่ใครอยากพบแพทย์เฉพาะทางก็เข้าไปขอรับบริการได้เลย

 

ระบบบริการสุขภาพที่มีแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวเป็นด่านหน้า คือการสร้างระบบหมอประจำครอบครัวนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายระบบสุขภาพของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งจะถือเป็นการสร้างคุณค่าและดึงดูดให้เกิดการเรียนแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวมากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

 

 

แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งสร้าง-เพิ่มแรงจูงใจ

 

 

เหตุนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนฯ จึงมีมติให้ส่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อสนับสนุนการเพิ่มแพทย์เฉพาะทางที่จำเป็นและจะขาดแคลนในอนาคต ได้แก่ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ และเวชปฏิบัติครอบครัว ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทยสภา ราชวิทยาลัยแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมกันวางแนวทางในการผลิตและสร้างแรงจูงใจให้มีการศึกษาแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น

 

ข้อเสนอแนะดังกล่าวประกอบด้วย ข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขในการเพิ่มจำนวนทุนแพทย์เฉพาะทาง การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการผลิต รวมถึงการทบทวนและเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษแก่แพทย์เฉพาะทางที่ขาดแคลนบางสาขาเพื่อเพิ่มแรงจูงใจด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: