ว่าด้วย 'ประชานิยม'

จากทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ 10 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1185 ครั้ง

ในการเมืองของรัฐสมัยใหม่ ประชาชนระดับล่างมีความสำคัญ บางกรณีก็สำคัญมาก บางกรณีก็สำคัญน้อย แต่มีความสำคัญแน่

 

ในรัฐที่ฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนระดับล่างคือคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ในรัฐเผด็จการรูปแบบต่างๆ ประชาชนระดับล่างคือ “มวลชน” ที่อาจถูกฝ่ายตรงข้ามปลุกระดมไปเป็นพวกได้ จึงต้องมีวิธีจัดการกับกลุ่มชนส่วนใหญ่เหล่านี้ในรูปใดรูปหนึ่ง ในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จประชาชนระดับล่างคือมวลชนที่ถูกปลดปล่อยจากระบบความสัมพันธ์แบบเดิม กลายเป็นหน่วยปัจเจกที่ไม่สัมพันธ์กับอะไรเลย และคือผู้ที่สนับสนุนให้คนบางคนหรือบางกลุ่ม ยึดอำนาจบ้านเมืองไปได้เด็ดขาด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นการ"เอาใจ"ประชาชนระดับล่างก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ และแต่ละสมัย ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ขวาตกขอบในหลายประเทศอาจใช้การยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ เพราะประชาชนระดับล่างผูกพันอยู่กับสถาบันเบื้องสูง หรืออาจใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือของนโยบายประชานิยม ซ้ายตกขอบอาจอ้างถึง "ประชาคมประชาชน" ( People Community )ซึ่งควรจะเปิดให้ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกันอย่างเสมอภาค องค์กรศาสนาในบางแห่งและบางยุคสมัยก็ใช้ประชานิยมเพื่อเรียกการสนับสนุนจากประชาชนกลับคืนมา เช่นขบวนการฟื้นฟูคาธอลิคในยุโรปก็เป็นประชานิยม การปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ก็เป็นประชานิยม

 

ในยุคสมัยใหม่ ประชานิยมจึงเกิดขึ้นได้ในทุกรัฐ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในละตินอเมริกา หรือประเทศที่ประชาธิปไตยไม่พัฒนาเท่านั้น สิ่งที่คนอเมริกันมักลืมไปเสมอก็คือ นโยบายนิว­ดีลของโรสเวลท์ (ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกันหลังเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่) คือประชานิยมอย่างหนึ่ง เพราะมุ่งจะสร้างงานให้คนระดับล่างจำนวนมาก ซึ่งกำลังตกงานและอดอยากอยู่ และทำให้โรสเวลท์เองได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้ง

 

ลักษณะอย่างที่สองที่ขาดไม่ได้ในประชานิยมทั้งหลายก็คือ นโยบายหรือการกระทำนั้นๆ มักมีลักษณะ redistributive หรือการกระจายทรัพยากรกลางกลับไปยังประชาชนระดับล่าง บางครั้งนโยบายกระจายทรัพยากรกลับอาจเป็นเพียงคำสัญญา บางครั้งอาจกระจายแค่แปรงสีฟัน บางครั้งอาจเป็นการปฏิรูประบบภาษี หรือปฏิรูปด้านอื่นๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (หากนโยบายเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน)

 

 

 

จะเข้าใจประชานิยมในเมืองไทยได้ ต้องเข้าใจโครงสร้างอำนาจซึ่งกระจายอย่างไม่เท่าเทียมในเมืองไทยก่อน

 

อำนาจทางการเมืองในประเทศไทยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อยมานาน ชนชั้นนำจำนวนน้อยนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีความเสถียรนัก มีการขยายรวมเอาคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาในหมู่ชนชั้นนำนี้อยู่บ้าง ในปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มคนดังต่อไปนี้

 

ชนชั้นนำตามประเพณี, ข้าราชการและทหาร, เจ้าสัวนักธุรกิจ รวมเจ้าพ่อในต่างจังหวัดด้วย, คนงานคอปกขาวหรือคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป, นักวิชาการและปัญญาชนด้านต่างๆ คนเหล่านี้มีสื่อในมือทำให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้ และระบอบปกครองไทย ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ต้องเอาใจคนกลุ่มนี้ตามสมควร

 

ในกลุ่มคนเหล่านี้ มีการช่วงชิงการนำกันเอง กลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการช่วงชิงการนำได้สูงสุด หลัง ๒๕๒๐ มาแล้ว คือกลุ่มที่นักวิชาการเรียกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย (network monarchy) แม้กระนั้นก็ต้องเข้าใจว่ายังมีข้อจำกัดของอำนาจในกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย การทำงานต้องอาศัยทั้งการนำอย่างฉลาด, การเจรจาต่อรอง, การประสานประโยชน์ และประนีประนอม

 

ประชาชนระดับล่างหรือมวลชนอยู่ที่ไหน?

 

จนถึงประมาณ ๒๕๓๐ อาจกล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่ของประชาชนระดับล่างยังอยู่ในเครือข่ายของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆ เช่นชาวนาต้องอาศัยเงินกู้จากเจ้าพ่อหรือพ่อค้าปุ๋ยหรือผู้ค้าพืชไร่ แรงงานในรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของกองทัพ ข้าราชการระดับล่างฝากตัวกับเจ้านายเพื่อไต่เต้าในระบบราชการ ฯลฯ

 

ดังนั้นเมืองไทยยุคก่อนนี้จึงไม่ต้องมีประชานิยม เพราะประชาชนระดับล่างไม่ได้สัมพันธ์กับรัฐโดยตรง กลุ่มชนชั้นนำซึ่งกำกับการเมืองอยู่ “จัดการ” กับการเลือกตั้งใหญ่ได้ในระดับที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างแห่งอำนาจ และการวางนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือด้านอื่น ก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเป็นหลัก (เอาใจคนส่วนน้อยไม่ใช่ประชานิยม !!!) และชนชั้นนำนี่แหละที่จะดูแลให้มวลชนอยู่ในความสงบ จึงไม่ต้องประชานิยม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่จากช่วงเดียวกันนี้เอง สังคมไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น แรงงานส่วนใหญ่ย้ายจากภาคเกษตรเข้ามาอยู่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและบริการ การศึกษาโดยรวมของผู้คนสูงขึ้น นโยบายของรัฐเองก็ให้ความใส่ใจกับการพัฒนาชนบทมากขึ้น การสื่อสารมวลชนขยายตัว

 

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (แม้จะปรับตัวเองอย่างไร) ก็ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ผู้คนเข้ามาสัมพันธ์กับรัฐโดยตรงมากขึ้น และต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ ยิ่งหลังรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่ขาด(นาน)ไม่ได้ในสังคมไทยอีกแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเมืองไทยมีการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญที่ขาด(นาน)ไม่ได้

 

 

 

นี่คือพื้นฐานทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ต้องเข้าใจเมื่อพูดถึงประชานิยม การเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังธรรมที่แสดงการ “ไม่โกง” ด้วยความจน คือประชานิยมไม่ต่างจากกองทุนหมู่บ้าน นั่นคือ redistribute ด้วยการไม่ต้องเสียค่าสินบน นี่เป็นปรัชญาที่กลุ่มชนชั้นนำใช้ในการทำประชานิยมแข่งกับรัฐบาลอยู่เวลานี้

 

ชาตินิยมเรื่องพระวิหารก็ตาม เสื้อเหลืองและผ้าพันคอสีฟ้าก็ตาม คือประชานิยมที่ดึงเอาสิ่งที่คาดว่าได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนระดับล่างขึ้นมา “เอาใจ” ผลก็คือผลักให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันเป็นอย่างยิ่ง

 

ในการเมืองมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองประชาธิปไตยหรือการเมืองเผด็จการ ประชานิยมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: