สมาคมชงแก้กฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานประมง

10 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1243 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. .... ณ อาคารรัฐสภา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม อาทิ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กรมเจ้าท่า  กรมประมง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ประกอบการ ในนามสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สภาทนายความ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ โดยมีนางสุนี  ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน เป็นประธาน

 

นางสุนีเปิดเผยว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ควรดำเนินการยกร่างข้อเสนอวิธีการจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการ ที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับปฏิบัติได้ และไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน และขอให้กระทรวงแรงงานนำข้อเสนอไปรับฟังเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงร่างกฎกระทรวง เพื่อให้ทั้งคุ้มครองแรงงาน และเพื่อให้กิจการประมง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก สามารถเติบโตต่อไป และคปก.จะประมวลทำความเห็นเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

 

            “สิ่งที่ท้าทายหน่วยงานภาครัฐคือ การปรับขั้นตอนกระบวนการเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานประมง อย่างที่สะดวกกับทุกฝ่าย การมีสัญญาจ้างมาตรฐาน เพื่อมีขอบเขตการทำงานที่รัดกุม เกณฑ์มาตรฐานในการทำงาน ภายใต้มาตรฐานที่ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม และการยกเลิกการอนุญาตให้กลุ่มที่ได้รับบีโอไอสามารถจ้างแรงงานข้ามชาติได้” นางสุนีกล่าว

 

 

ผู้แทนจากกระทรวงแรงงานมีความเห็นว่า กระทรวงแรงงานยอมรับในข้อท้วงติงจาก คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในประเด็นกระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว ที่ยังไม่ผ่านการรับฟังความเห็นจากแรงงานในกิจการประมงทะเล รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิไว้  รวมทั้งในประเด็นที่คปก.ทักท้วง เช่น ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ ยังไม่ผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนร่วม และกรณีการอนุญาตให้ใช้แรงงานเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีในกิจการประมง

 

 

            “มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่อาจขัดต่อกติการะหว่างประเทศ กรณีการอนุญาตให้เด็กใช้แรงงานเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ในกิจการประมงทะเล โดยบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองของเด็กทำงานอยู่ในเรือประมงนั้นด้วย ซึ่งอาจขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 ค.ศ.1973 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ค.ศ.2007 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง เนื่องจากงานประมงทะเลเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย และไม่เหมาะสมที่จะใช้แรงงานเด็ก ทั้งนี้กระทรวงแรงงานยืนยันจะปรับปรุงร่างใหม่ และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะจากสมาคมประมง และภาคประชาสังคมที่ทำงานกับแรงงานประมงทะเล”

 

 

ขณะที่ผู้แทนจากผู้ประกอบการ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว เนื่องจากไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะผ่านเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ เจ้าของเรือประมงไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ โดยเฉพาะกรณีขึ้นทะเบียนแรงงานประมงที่เปิดรับเฉพาะบางช่วง และไม่ยอมให้มีการขึ้นทะเบียนทดแทน ตามที่สมาคมประมงเคยเสนอไป ทั้งที่คนงานมีการลาออก และเปลี่ยนงานบ่อยมาก ทำให้การบังคับขึ้นทะเบียนและนำส่งรายงานเป็นไปได้ยากมาก

 

 

           “จะเห็นได้ว่าผู้ที่ร่างกฎกระทรวงไม่เข้าใจการทำงานของเรือประมง ว่ามีรายละเอียดต่างจากงานอื่น ๆ มีเรือและเครื่องมือหาปลาหลายประเภท จะออกกฎหมายเหมารวมคงไม่ได้ อย่างเช่น การให้ขึ้นทะเบียนลูกเรือประมง หรือการจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างเพิ่มร้อยละ 5 ทุก 7 วัน ในกรณีจงใจผิดนัด เป็นอัตราที่มากเกินไป และขอให้ยกเลิกการยอมให้ใช้แรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)” ผู้แทนสมาคมการประมงฯ กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: