เปิด8เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ แฉช่องโหว่อีไอเอ-ยัดไส้งบ3.5แสนล้าน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 10 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 4051 ครั้ง

เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  นางรตยา จันทรเทียร  ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำเครือข่ายองค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ายื่นจดหมายและอ่านแถลงการณ์การคัดค้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) โดยมีนายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสผ. เป็นผู้รับมอบ

นักสิ่งแวดล้อมชี้ 8 เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์

ทั้งนี้ในเนื้อหาแถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ระบุเนื้อหาเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1.รายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือก ในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่น ๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่น ๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

2.รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่า โดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

ไม่ช่วยน้ำแล้ง-ไม่แก้ปัญหาน้ำท่วม

3.รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนว่า ในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 175,355 ไร่ จึงได้พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่า น้ำจะไปทั่งถึงทั้ง 23 ตำบล ที่ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง

4.รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูล น้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรม ที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80 เปอร์เซนต์ ที่ไหลลงมายังที่ราบอ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ดังนั้นแม้จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็บรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล เอ 1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

อ้างตัวเลขจะปลูกป่าทดแทน ทั้งที่ความจริงไม่มีพื้นที่จะปลูก

5.ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนที่ไม่มีการระบุพื้นที่ปลูกป่าว่า อยู่ในบริเวณใด มีแต่การคำนวณว่า จะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่จะตัดไป ทั้งที่ความจริงแล้ว พื้นที่นอกอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เกือบจะมีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน มิได้มีพื้นที่ใดสามารถปลูกป่าได้ถึง 36,000 ไร่ ตามที่ระบุได้ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์ ตัดไม้เกินพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างก็เป็นเพียงมาตรการทั่ว ๆ ไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างจะไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงห้วยขาแข้ง ได้

6.ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงาน และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติม แล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี

7.พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล เอ 5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์

ส่อพิรุธเปลี่ยนตัวขรก.-ผู้ชำนาญการพิจารณาอีไอเอ

8.ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่ การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการอย่าง ดร.วิจารณ์ สิมะฉายา ซึ่งมีชื่อเสียงการยอมรับในการทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี มาเป็นนายสันติ บุญประคับ ซึ่งมีภูมิหลังทำงานด้านพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จาก ดร.สันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มาเป็นข้าราชการประจำ อย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง คือ นายสันติ บุญประคับ ซึ่งอาจจะสงสัยได้ว่า ต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน

นอกจากนี้ยังทราบว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน อาทิ ดร.อุทิศ กุฏอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรณีวิทยา รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ดังนั้นการเร่งรัดผ่านรายงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้ จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงขอยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้ ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำและเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เลธาธิการสผ.อ้างแค่รวบรวมข้อมูล ไม่มีอำนาจอนุมัติ

ทั้งนี้ภายหลังการยื่นหนังสือดังกล่าว นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการ สผ. เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม หรือคชก.มีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูล และเสนอความเห็นแก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจหรือให้ความเห็นชอบใด ๆ เลยในทางกฎหมาย อำนาจการตัดสินใจการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเห็นของครม. เท่านั้น โดยขณะนี้ทางคชก. มี 7 ประเด็นหลักที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อยื่นให้ครม.พิจารณาต่อไป ได้แก่ 1.เรื่องเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม 2.แผนที่ขอบเขตในการสร้าง 3.ป่าไม้ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ 4.ทรัพยากรสัตว์ป่า 5.การบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 6.เศษฐกิจและสังคม 7.เรื่องอื่น ๆ เช่น คุณภาพน้ำ, ปริมาณหิน ซึ่งคชก.จะนำข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากทางมูลนิธิสืบฯและองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์อื่นๆ บรรจุในรายงานเพื่อเสนอต่อครม.ให้รับทราบถึงปัญหานี้อย่างแน่นอน

มูลนิธิสืบฯ ชวนเดินเท้าประท้วงจากกรุงเทพฯถึงแม่วงก์

ด้าน นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ที่มาวันนี้ไม่ได้มาประท้วงเรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยตรง แต่มาประท้วงเรื่องมาตรฐานการทำงานของสผ.และคชก.ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวกรองชั้นแรก เพราะเชื่อว่าถ้ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ผ่าน คณะรัฐมนตรีก็คงไม่กล้าอนุมัติโครงการนี้อย่างแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงย่อมไม่สามารถดำเนินการได้ และอยากเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่แม่วงก์ และต้องบูรณาการจัดการพื้นที่และรักษาป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง

ส่วนการเคลื่อนไหวต่อไป นายศศินกล่าวว่า เดิมที่วางแผนไว้ว่า จะเดินทางเท้าจากสผ.ไปยังเขื่อนแม่วงก์ในวันนี้นั้น ขอเปลี่ยนเป็นเริ่มเดินทางจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา ในเช้าวันที่ 10 กันยายน และคาดว่าเดินทางมาสิ้นสุดที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ ไม่เกินวันที่ 22 กันยายน ซึ่งหากเราเดินผ่านจุดใดที่มีประชาชนเครือข่ายอยู่ ก็อยากขอให้ทุกคนออกมารับฟังข้อมูลและเดินขบวนแสดงพลังร่วมกับพวกเรา

9 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ @ siamensis.org  ได้เขียนบทความเรื่อง 9 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.siamensis.org  ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ไว้ดังนี้

1.ข้อมูลทั่วไป : เขื่อนแม่วงก์มีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ ความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชรและจ.นครสวรรค์ปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร

2.ประมาณการค่าก่อสร้างของเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี 2525 อยู่ที่ 3,761 ล้านบาท 2551 มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท ในเว็บไซต์ของกรมชลประทานในวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ระบุว่ามีมูลค่า 9,000 ล้านบาท แต่ เมื่อมีการอนุมัติงบประมาณ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 มีมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 13,000 ล้านบาท

3.ถึงแม้ว่าพื้นที่น้ำท่วมจะเป็นแค่ 2 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือ 0.12 เปอร์เซนต์ ของป่าตะวันตกทั้งหมด แต่พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าที่ราบต่ำริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการหากินและขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าในฤดูแล้ง ในปัจจุบันประเทศไทยเหลือป่าในพื้นที่ราบอยู่น้อยมาก สัตว์ป่าบางชนิด เช่น นกยูง ไม่สามารถบินขึ้นไป อาศัยอยู่บนเขาได้อย่างที่นักการเมืองเข้าใจ แต่นกยูง ต้องการลานหิน ลานทราย ริมน้ำเพื่อการ ป้อตัวเมีย ไม่สามารถไปกางหางอวดในป่ารกทึบได้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานฯพบว่าป่าที่นักการเมืองกล่าวอ้างว่าเป็นป่าใหม่ มีอายุไม่ถึง 30 ปีมีอยู่เพียงไม่กี่พันไร่ แต่ป่าด้านใน เป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์มาก ในการสร้างเขื่อน ต้องทำการตัดไม้ออกจากพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย น่าสนใจว่าไม้ขนาดใหญ่ (ซึ่งรวมถึงต้นสักด้วย) จะตกเป็นผลประโยชน์ของใคร

ชี้เขื่อนทับเสลาห่างไม่มากแต่น้ำยังน้อย

4.การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น กล้าไม้อีก 10,000 ต้น หรือเปรียบ เทียบได้ว่าพื้นที่ป่า 1 ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วมจะมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 80 ต้นเป็น ไม้สัก 13 ต้น ลูกไม้ 576 ต้น และกล้าไม้อีก 1,880 ต้น จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไป จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็น ปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน ป่าแม่วงก์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างน้อย 549 ชนิด และมีปลาอาศัยอยู่ในลำน้ำ 64 ชนิด (ใน EIA รายงานไว้ 61 แต่สำรวจเจอเพิ่มจากการลงพื้นที่อีก 3 ชนิด) ในจำนวนนี้มีเพียง 8 ชนิด หรือ 13 เปอร์เซนต์ ที่สามารถผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งในอ่างเหนือเขื่อนได้นอกนั้นต้องอาศัยพื้นที่น้ำไหลหรือน้ำหลากซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

5.จากเว็บไซต์ของกรมชลประทาน ลุ่มน้ำแม่วงก์มีพื้นที่รับน้ำฝน (water shed) 1,113 ตารางกิโลเมตร มีน้ำท่า 569 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือมีน้ำ 0.52 ล้าน ลบ.ม. ต่อ 1 ตร.กม. ของพื้นที่รับน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับลุ่มน้ำทับเสลาซึ่งมีเขื่อนทับเสลาอยู่แล้ว ซึ่งมีพื้นที่รับน้ำฝน 534 ตร.กม. แต่มีน้ำท่า 124 ล้าน ลบ.ม. หรือมีน้ำ 0.23 ล้าน ลบ.ม.ต่อ 1 ตร.กม. ข้อสังเกตคือ พื้นที่ใกล้ ๆ กัน เขื่อนทับเสลาอยู่ทางใต้ของแม่วงก์เพียง 40 กกิโลเมตร ทำไมพื้นที่รับน้ำของเขื่อนแม่วงก์ (ต่อตร.กม.) จึงมีน้ำมากกว่าพื้นที่รับน้ำของเขื่อนทับเสลาสองเท่ากว่าทั้ง ๆ ที่อยู่ในแนวเขาเดียวกัน ปริมาณฝนตกไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้ปีพ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีที่มีน้ำมาก เขื่อนทับเสลามีปริมาณน้ำในอ่างเพียง 49 ล้าน ลบ.ม. หรือ 31เปอร์เซนต์ ของความจุ และในปัจจุบัน ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นปลายฤดูแล้ง ที่ควรจะมีการจัดส่งน้ำให้ทำการเกษตรในหน้าแล้ง ปรากฏว่า มีน้ำในอ่างที่ใช้การได้จริงเพียง 34 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21% ของความจุเท่านั้น (ข้อมูลจาก: ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานhttp://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html)

6.การช่วยบรรเทาน้ำท่วม : เขื่อนแม่วงก็มีอัตราการเก็บน้ำสูงสุดที่ 250 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมภาคกลางเมื่อปลายปี 2554 มีถึง 16,000 ล้าน ลบ.ม. (ตัวเลขจาก ศปภ.) น้ำที่กักเก็บได้ทั้งหมดของเขื่อนแม่วงก์จึงคิดเป็นเพียงแค่ 2 เปอร์เซนต์ ของปริมาณน้ำที่ท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางในช่วงปลายปี 2554 หรือคิดเป็นปริมาณน้ำที่ไหลเข้าทุ่งเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำไหลเข้ามากที่สุดเพียงครึ่งวันกว่าเท่านั้น เช่นในวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ทีมกรุ๊ปให้ข่าวว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ทุ่งเจ้าพระยา มีมากถึงวันละ 419 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่วงก์จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางได้น้อยมาก นอกจากนั้นแม้แต่พื้นที่ใกล้เคียง เช่น อ.ลาดยาว เขื่อนแม่วงก์ก็ช่วยเรื่องน้ำท่วมหลากได้เพียง 25 เปอร์เซนต์ เนื่องจากน้ำที่ท่วมอ.ลาดยาวจริง ๆ แล้วมาจากหลายสาย และเป็นน้ำไหลบ่าจากทุ่ง ไม่ใช่จากน้ำแม่วงก์สายเดียว ทั้งนี้การบริหารจัดการเขื่อน ต้องคงเหลือน้ำไว้ในเขื่อนส่วนหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขื่อนแม่วงก์จะสามารถรับน้ำได้เต็ม 250 ล้านลบ.ม. ทุกปี

7.รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้ง 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2538, 2541, 2545 และ 2547 ไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุให้กรมชลประทานไปหาวิธีจัดการน้ำแบบบูรณาการมากกว่าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนรายงานการศึกษาฉบับที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มีมูลค่าวงเงินตามสัญญา ประมาณ 15 ล้านบาท ก็มีแนวโน้มไม่โปร่งใส เนื่องจากมีการลัดขั้นตอน ตัดลดจำนวนการลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบางรายการ นอกจากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังมีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ ป่าและพันธุ์พืช จะพิจารณาให้ดำเนินการได้

8.กรมชลประทานระบุว่า เขื่อนแม่วงก์จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 291,900 ไร่ พื้นที่ในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ จากการลงพื้นที่ ปรากฏว่าในฤดูฝน ชาวบ้านใช้น้ำฝนและน้ำหลากทุ่งในการทำการเกษตรอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งน้ำจากเขื่อนแต่อย่างใด ประโยชน์ของน้ำชลประทานจากเขื่อนจึงเหลือแต่ในฤดูแล้ง ซึ่งจากการคำนวน โดยใช้สมมุติฐานว่า

8.1 ชาวบ้านปลูกข้าวได้                0.75 ตัน/ไร่

8.2 ขายข้าวได้ราคาปกติ               8,000 บาท/ตัน

8.3 ขายข้าวได้ราคาจำนำ(เฉลี่ย)   14,000 บาท/ตัน

8.4 มีต้นทุนการเพาะปลูก             3,000 บาท/ไร่

8.5 ชาวบ้านจะมีกำไร/ไร่              (0.75*8,000)-3,000 = 3,000 บาท/ไร่ (ราคาปกติ)

8.6 ชาวบ้านจะมีกำไร/ไร่              (0.75*14,000)-3,000 = 7,500 บาท/ไร่ (ราคาจำนำ)

8.7 ชาวบ้านในพื้นที่ชลประทานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น = 116,545 (ไร่) * 3,000 = 349.64 ล้านบาท (ราคาปกติ)

8.8 ชาวบ้านในพื้นที่ชลประทานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น = 116,545 (ไร่) * 7,500 = 874.09 ล้านบาท (ราคาจำนำ)

8.9 ทำให้โครงการมูลค่า 13,000,000,000 บาท มีระยะเวลาคืนทุน 37 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ โดยยังไม่คิดถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลและซ่อมบำรุงเขื่อนและระบบส่งน้ำ ทั้งนี้การลงทุนทั่วไป ควรมีระยะคืนทุนอยู่ระหว่าง 4-7 ปี และ 7-10 ปีในโครงการขนาดใหญ่

8.10 เขื่อนแม่วงก์จะมีค่า IRR ในกรณีข้าวราคาปกติที่ -5 เปอร์เซนต์ ในระยะเวลา 20 ปี และ 3 เปอร์เซนต์ ในระยะ 20 ปีที่ราคาจำนำ ทั้งนี้ในปัจจุบัน การลงทุนส่วนใหญ่ควรมีค่า IRR ในช่วงระยะเวลา 10 ปีอยู่ระหว่าง 5-10 เปอร์เซนต์ จึงจะถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า (การคำนวนยังไม่ได้นำค่าใช้จ่ายในการดูและและซ่อมบำรุงเขื่อนและระบบส่งน้ำเข้ามารวม)

หมายเหตุ: ตัวเลขจากกรมชลประทานระบุว่า จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ได้ประมาณ 720 ล้านบาท/ปี คิดเป็น ระยะเวลาคืนทุน 18 ปี IRR เมื่อ 20 ปี =1 เปอร์เซนต์ (IRR: หมายถึง ผลตอบแทนการลงทุนของกระแสเงินชุดหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเริ่มต้นด้วยงบลงทุน เป็นตัวเลขติดลบ ตามด้วยผลตอบแทนที่จะได้รับในแต่ละปี ในกรณีของเขื่อนแม่วงก์ ถ้าหากใช้ตัวเลขของกรมชลประทานว่า จะได้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นปีละ 720 ล้านบาทต่อปี โดยลบเงินลงทุนที่ 13,000 ล้านในปีแรก พบว่าในระยะเวลา 18 ปี ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละ 1เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ในปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ประมาณ​ 2.5-3.5 เปอร์เซนต์ จะเห็นว่าเงินลงทุนสร้างเขื่อนแม่วงก์ หากเอาไปฝากธนาคารไว้เฉย ๆ ยังได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าประมาณ 2.5-3.5 เท่า)

(หมายเหตุเพิ่มเติม: รัฐบาลบอกว่า โครงการนี้จะใช้เงินกู้ประมาณ 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.5-6 เปอร์เซนต์ ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของโครงการนี้ในระยะ 18 ปีอยูที่ 1เปอร์เซนต์ เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าโครงการนี้เป็นโครงการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์)

9.ผลโพล 7 สี ถามคนในจ.นครสวรรค์ ว่าต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ ปรากฏว่ามี 22.7 เปอร์เซนต์ ต้องการเขื่อน 32.5 เปอร์เซนต์ ต้องการเขื่อน ถ้าไม่มีผลกระทบโดยรวม และ 34.2 เปอร์เซนต์ ไม่ต้องการเขื่อน ในขณะที่ 10เปอร์เซนต์ ไม่แน่ใจ แสดงให้เห็นว่า คนในพื้นที่เองส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่ต้องการเขื่อนเลย หรือไม่ต้องการถ้าส่งกระทบต่อส่วนรวม ทั้งนี้ป่าไม้ มิได้เป็นสมบัติของคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ ที่มีการใช้ “บริการทางอ้อม” จากป่าไม้ร่วมกัน เช่นใช้เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน แหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น การจะทำลายป่าไม้จึงต้องคำนึงถึง “คนนอกพื้นที่” ด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: