จับตาเฟซบุคส์‘ชัชชาติ’รมว.คมนาคม ตั้งใจแก้ปัญหาจริงหรือแค่สร้างภาพ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 10 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2597 ครั้ง

นับเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด สำหรับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ หลังเข้ารับตำแหน่งรมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 จากที่เคยเป็นรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่รู้จักมากที่สุด ในช่วงแรกของการทำงานด้านการเมือง ในตำแหน่ง รมช.คมนาคม แต่ในระยะเวลาเพียง 1 ปี หลังเข้ารับตำแหน่งรมว.คมนาคม ถึงปัจจุบัน นายชัชชาติกลับเป็นรัฐมนตรีที่กำลังมีคะแนนนิยมไต่อันดับ จนกลายเป็นรัฐมนตรีแถวหน้า ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะการทำงานที่เข้าถึงปัญหา ถึงลูกถึงคน และไม่มีบุคลิกนักการเมือง เหมือนกับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ เพราะข่าวผ่านสื่อสู่สายตาประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเฟซบุคส์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเองอย่างเด่นชัด ในชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กระทั่งปัจจุบันมีคนกด “ถูกใจ” ในหน้าแฟนเพจของเขามากกว่า 95,000 คน

ก่อนหน้านี้นายชัชชาติ เคยเขียนข้อความในเฟซบุคส์ของตัวเองเกี่ยวกับการใช้ เครื่องมือนี้ในการสื่อสารกับสังคม โดยระบุว่า

            “แต่ก่อน ผมเคยคิดว่า Facebook เป็น Social media ที่เอาไว้สำหรับความบันเทิง แนะนำร้านอาหาร ที่เที่ยว คุยเล่นสนุก ๆ แต่พอมี Facebook page ของตัวเองถึงรู้ว่า Facebook นี่ไม่ใช่มีแต่เรื่องเล่น ๆ เป็นช่องทางในการสื่อสารแบบ 2 ทาง ที่รวดเร็ว มีข้อมูล ข้อคิดเห็นดี ๆ เพียบ ซึ่งผมได้ย้ำกับทีมงานว่า ต้องนำ comment เหล่านี้ไปดำเนินการต่อ เพราะทุกคนตั้งใจเขียนมาและมีความหวังว่าเราจะทำให้ดีขึ้น ทุก comment  ที่พวกเราส่งมา ทีมงานผมได้รวบรวม แบ่งออกเป็นแต่ละหน่วยงาน และมีการส่งต่อให้ผู้รับผิดชอบไปดำเนินการต่อ และให้รายงานความก้าวหน้ากลับมาด้วย

            “ผมลองสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่พวกเราส่งมาเป็นข้อมูลครับ สูงสุดเป็นรถเมล์ รองลงมาก็ขนส่งทางบก และรถไฟครับ ซึ่งทีมงานจะนำผลสรุปต่าง ๆ มาให้พวกเราได้ดูกันภายในวันนี้ครับ ขอบคุณสำหรับทุก ๆ ความเห็นนะครับ”

ตั้งแต่เปิดเฟซบุคส์ขึ้นมา เพื่อสื่อสารกับสังคมออนไลน์ นายชัชชาติได้รายงานผลงานต่าง ๆ ผ่านช่องทางนี้ จนกลายเป็นที่จับตาของประชาชน จนกลายเป็นหนึ่งในเฟซบุคส์นักการเมืองที่มีผู้ติดตามมากที่สุดคนหนึ่ง เนื้อหาที่ถูกเขียนเผยแพร่ ส่วนใหญ่เป็นการรายงานผลการติดตามดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ส่วนหนึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านหน้าเฟซบุคส์นั่นเอง ล่าสุดกับแก้ปัญหาการมีปากเสียงระหว่างผู้โดยสารและคนขับรถ-กระเป๋ารถ สาย 8 ที่สั่งการลงโทษผู้กระทำผิดแบบทันทีทันใด ยิ่งทำให้ชื่อของ ชัชชาติ สุทธิพันธ์ รมว.คมนาคม เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการประชาสัมพันธ์ผลงานตามในรูปแบบนี้ แม้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนจำนวนมาก แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากเช่นกันที่ตั้งคำถามว่า การใช้สื่อเช่นนี้จะเป็นความตั้งใจที่แท้จริงที่ต้องการแก้ปัญหา หรือเป็นแค่เพียงการสร้างภาพให้กับตัวเองเท่านั้น การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็น จึงดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับประเด็นนี้

ศูนย์ข่าว TCIJ ได้ติดตามและประมวลข้อมูลจากการโพสต์ข้อความต่าง ๆ ในเฟซบุคส์ https://www.facebook.com/chadchartofficial  ที่นายชัชชาติ ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชน พร้อมกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าจะมีการดำเนินการได้ตามรัฐมนตรีได้รับปากไว้ได้มากน้อยแค่ไหน

แจ้งเกิดจากผลโหวต“รถเมล์สายที่มีปัญหามากที่สุด”

หลังจากเป็นเฟซบุคส์ แฟนเพจของตัวเอง นายชัชชาติเริ่มต้นจากเขียนรายงานการทำงานด้านการบริหารต่าง ๆ ของตัวเองในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม ที่ตอนแรกดูไม่แตกต่างจากเฟซบุสค์ของนักการเมืองอื่นๆ นัก ความสนใจจากประชาชนยังไม่มากนัก กระทั่งต้นเดือนสิงหาคม ได้มีการโพสต์ขอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ การแก้ปัญหารถเมล์ในกรุงเทพฯ โดยขอให้ประชาชนร่วมโหวตในหัวข้อ “รถสายนี้มีปัญหา” โดยมีการเขียนอธิบายไว้ส่วนหนึ่งว่า

            “การแก้ไขปัญหารถติดในกทม.นั้น วิธีที่น่าจะได้ผลมากที่สุดคือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เป็นทางเลือกที่ประชาชนอยากใช้ ซึ่งระบบที่สำคัญคือรถเมล์ เพราะเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ราคาไม่แพง ตอนนี้ผมพยายามเดินหน้าปรับปรุงการให้บริการรถเมล์อย่างเต็มที่ เลยอยากขอให้พวกเรามาร่วมกันเป็นสายตรวจรถเมล์ครับ สายไหนบริการไม่ดี รถขาด กระเป๋าดุ คนขับโหด ขอให้ส่งข้อมูลให้ผมผ่าน comment ในโพสนี้ ว่า "รถสายนี้มีปัญหา" เพื่อจะได้นำข้อมูลมาปรับปรุงต่อไป

กระทั่งกลางเดือนสิงหาคมมีการสรุปผลโหวต จนกลายเป็นข่าวดังในสื่อหลักจำนวนมาก โดยทีมงานได้สรุปคะแนนโหวตรถเมล์ที่ควรปรับปรุงมากที่สุด 5 ลำดับ เผยแพร่บนหน้าเพจคือ

อันดับ 1 สาย 8 : 223 คะแนน

อันดับ 2 สาย 44 : 31 คะแนน

อันดับ 3 สาย 1 : 23 คะแนน

อันดับ 4 สาย 16 และ 92 : 18 คะแนน

อันดับ 5 สาย 75 และ 122 : 17 คะแนน

สายอื่นๆ ที่มีผู้โหวตมากกว่า 5 คนได้แก่

สาย 6, 12, 27, 28, 29, 33, 38, 39, 56, 67, 71, 77, 79, 82,

108, 123 และ 206

ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียน มากที่สุด 10 ลำดับ

- พนักงานขับรถเร็ว ใช้อารมณ์ในการขับรถ อันตรายขับปาดซ้ายขวา ตะโกนด่ารถคันอื่น

- ไม่รับผู้โดยสารตามป้าย จอดรถเลยป้าย จอดรถส่งผู้โดยสารเลนสองเลนสาม ปล่อยผู้โดยสารตามทาง วิ่งไม่ครบระยะโดยอ้างว่าเป็นรถเสริม วิ่งรถแข่งกันเองแย่งผู้โดยสาร

- สภาพรถเก่า ประตูพัง รถเสียกลางทาง แอร์ไม่เย็น พัดลมของรถเมล์บางคันไม่มีตะแกรงกั้น

- รถจอดแช่ที่ป้ายเดียวนานๆ ทำให้รถติด และผู้โดยสารเสียเวลา

- บางเส้นทางมีรถเมล์น้อย เช่น ลาดพร้าว-เมืองทอง ธนบุรี-บางกอกใหญ่-วงเวียนใหญ่ และถนนเกษตร-นวมินทร์ (มีรถเมล์เพียงสายเดียว) รวมถึงบางเส้นทางแถบชานเมืองที่เมืองขยายขึ้นใหม่ ยังไม่มีรถเมล์ประจำทาง

- การปล่อยรถไม่สม่ำเสมอ บางช่วงรถมาติดๆ กัน บางช่วงไม่มีรถเลย

- รถหมดเร็วเกินไป ในหลายเส้นทาง ช่วง 20 - 21 น. ก็หารถได้ยาก

- รถร่วมบริการและรถขนาดเล็ก พนักงานบริการไม่ดี พนักงานขับรถร่วมดื่มสุรา สูบบุหรี่ขณะขับรถ กระเป๋ารถเมล์ ไม่มีมารยาท ด่าผู้โดยสาร และขับรถอันตรายกว่ารถ ขสมก.

- แท็กซี่และรถตู้ที่จอดรับผู้โดยสาร ยึดเลนซ้ายสุดกินพื้นที่ยาว ทำให้รถติด

- ที่ป้ายรถเมล์ไม่บอกเส้นทางเดินรถ ทำให้ผู้โดยสารไม่รู้ว่าต้องเดินทางอย่างไร

ทั้งนี้มีการระบุด้วยว่า “ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจอื่น ๆ ทางทีมงานได้รวบรวมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำความคิดเห็นต่างๆไปเรียบเรียงและวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรี และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป”

สั่งแก้ปัญหารถเมล์สาย 8 แชมป์ตลอดกาล

ต่อมานายชัชชาติได้โพต์ข้อความว่า ได้ทดลองนั่งรถเมล์สาย 8 ซึ่งตามผลโหวตระบุว่าเป็นสายรถเมล์ที่สำควรได้รับการปรับปรุงมากที่สุด  พร้อมเชิญผู้ประกอบการรถร่วมสาย 8 มาหารือ วางแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น อาจมีการทบทวนสัมปทานต่อไปตามลำดับ โดยข้อสรุปจากการหารือ กำหนดให้มีมาตรการเร่งด่วน ดังนี้

1.ให้เจ้าของผู้ประกอบการช่วยเข้มงวดในเรื่องพนักงาน การแต่งตัว มารยาทของคนขับ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร

2.ให้ติดหมายเลขของรถ บนรถเมล์ โดยใช้ตัวเลขขนาดใหญ่ ๆ ให้มองเห็นได้ง่าย ชัดเจน เพื่อผู้โดยสารจะได้จดจำเลขรถคันดังกล่าวไว้สำหรับแจ้งร้องเรียนรถที่มีปัญหาการให้บริการได้ถูกคัน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

และตามมาด้วยการสรุปปัญหารถเมล์เผยแพร่หลังจากนั้นไม่นานว่า

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษก็คือมารยาท การขับรถหวาดเสียว อุปกรณ์ไม่ครบ ไม่รับส่งผู้โดยสารตามป้าย ซึ่งในวันนี้มีการให้ใบสั่งไป 237 ใบ และเป็นสาย 8 ถึง 44 ใบ มาตรการที่จะบังคับใช้คือลงโทษปรับคราวละ 2,000 บาท ทำผิด 3 ครั้งถูกพักรถ และทำผิด 5 ครั้งถอนใบอนุญาตฯ

และอีกปัญหาที่พบคือ การพกอาวุธขึ้นไปบนรถ โดยรถเมล์ที่วิ่งสายเดียวกันแย่งผู้โดยสาร และมีเหตุทะเลาะวิวาทกัน การพกพาอาวุธนี้ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในครั้งแรกให้พักรถก่อน และในครั้งที่สองถอนใบอนุญาตเลย

อย่างไรก็ตามล่าสุดแม้จะมีการดำเนินการตามแผนไปแล้ว ก็ยังพบว่า เกิดปัญหามารยาทของผู้ขับรถและกระเป๋ารถสาย 8 จนเกิดเหตุมีปากเสียงกัน เผยแพร่ในโซเชียลออนไลน์ จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง ที่ล่าสุดได้มีการสั่งการลงโทษคนขับรถ และกระเป๋ารถไปแล้วตามที่ปรากฎเป็นข่าวดังกล่าว

ดอดขึ้นรถไฟฟรี เล็งแก้ปัญหารถไฟ

ต่อมานายชัชชาติได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า ได้ทดลองเดินทางด้วยรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปประชุมที่ จ.สุรินทร์ เพื่อศึกษาปัญหาของการรถไฟ จนนำมาสู่การโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของรถไฟ คือ ปัญหาของรถไฟ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ

1.ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ได้แก่ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะเจ้าหน้าที่บนรถมีน้อยไม่เพียงพอ คนขายส่วนใหญ่ดี ส่วนน้อยทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ต้องจัดระเบียบ บางคนก็แอบขึ้นมาขายของ ขโมยของ แล้วหนีลงสถานีต่อไป ปัญหาการนำสุรามาดื่มบนรถไฟและเกิดเหตุทะเลาะวิวาทสร้างความรำคาญในหลายขบวน ซึ่งเกิดขึ้นทุกวัน ในหลายขบวนรถ

การแก้ไขให้การรถไฟไปทบทวนมาตรการการดื่มสุรา และการขายสุราบนรถไฟ ปัญหาในเรื่องความสะอาดข้างในตัวรถ และห้องน้ำ เป็นปัญหาที่เกิดจากขบวนรถไฟมีความล่าช้า เช่น ขบวนรถไฟจาก กทม.-อุบลราชธานี ตามกำหนดต้องถึงเวลา 4-5 โมงเย็น แต่เอาเข้าจริงถึงอุบลเวลา 1-2 ทุ่ม และขบวนรถไฟต้องตีกลับกทม.ทันที ไม่มีเวลาพอในการทำความสะอาดข้างใน การรถไฟต้องปรับรูปแบบการดำเนินการใหม่ เพราะความสะอาดเป็นหัวใจของการบริการ

ในเรื่องการขึ้นลงของสัมภาระกระเป๋าเดินทาง อาจต้องมีการบริหารจัดการให้ดีขึ้น ปัญหาต้นไม้สองข้างทางที่ยาวมาก ในบางครั้งต้องหาทางดำเนินการเองให้มากขึ้น พร้อมปรับแผนการจัดจ้างตัดต้นไม้ให้เหมาะสม ปัญหารถตู้เสบียงที่ไม่มีอาหารให้เลือกมากนัก อาจปรับให้ร้านสะดวกซื้อมาสัมปทาน และนำอาหารสำเร็จรูปมาขายให้มากขึ้น

ปัญหาเรื่องความล่าช้าของขบวนรถไฟ เป็นปัญหาใหญ่และสำคัญมาก การรถไฟต้องไปปรับแผนการเดินรถ หรือปรับตารางเวลาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

2.ปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขในระยะยาว ได้แก่ ปัญหาหัวรถจักรที่เก่า และอะไหล่บางชิ้นใช้งานมานาน ซึ่งในปัจจุบันการรถไฟมีแผนจะได้หัวรถจักรใหม่มาใช้งานในอีก 2 ปีข้างหน้า

ปัญหาบุคลากรที่ได้รับแจ้งว่า ขาดแคลน เดิมเคยมีเจ้าหน้าที่ 30,000 คน ปัจจุบันมีอัตรากำลังเพียง 10,000 คน การรถไฟต้องไปทำแผนการบริหารจัดการบุคลากร ต้องบอกได้ว่าจำเป็นต้องใช้บุคลากรเท่าไร ใช้คนที่มีความรู้ด้านใด และจะให้เขาไปทำอะไร เพื่อให้การดำเนินการสรรหาคน จะได้คนที่เหมาะสมกับงาน ไม่ใช่เอาแต่เพิ่มคน แต่ทำงานไม่เป็น

และล่าสุดนายชัชชาติไปขึ้นรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย เพื่อดูปัญหาต่างๆ และพบว่ารถไฟสายนี้มีมากถึงวันละ 34 เที่ยง ไป 17 เที่ยว กลับ 17 เที่ยว พบปัญหาเรื่องความสะอาด ห้องน้ำใช้การไม่ได้ ประตูอัตโนมัติเสีย รางเก่า ฯลฯ ขณะที่พบว่าพนักงานมีความตั้งใจในกมรทำงานสูง จึงนัดหมายให้รถไปรวมกันที่มหาชัยหลังเลิกงานเวลา 22.00 น. จากนั้นจึงทำความสะอาดร่วมกัน พร้อมรับปากว่าการแก้ปัญหาส่วนอื่นๆ จะเร่งผลักดันงบประมาณมาให้ และเตรียมปรับปรุงอีกหลายส่วน เนื่องจากเห็นว่าเส้นทางนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง

หาสาเหตุปัญหารถไฟตกราง

หลังเกิดเหตุรถไฟตกรางที่ จ.พิษณุโลก ได้มีการโพสต์ภาพการเดินทาง ตรวจจุดที่รถไฟตกราง พร้อมสรุปปัญหา ระบุรายละเอียดว่า  เส้นทางรถไฟ จากพิษณุโลก ถึง เชียงใหม่ระยะทาง 361.60 กิโลเมตร ไม้หมอนบางส่วน (182 ก.ม.) ยังเป็นหมอนไม้และรางเก่า ขนาด 70-80 ปอนด์ ขณะนี้ การรถไฟได้ดำเนินการปรับปรุงทางระยะเร่งด่วน โดยจะเปลี่ยนเป็นหมอนคอนกรีต และ ราง 100 ปอนด์ทั้งเส้นทาง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 55 ปัจจุบันทำถึงอุตรดิตถ์ แต่จุดเกิดเหตุทั้งหมดยังไม่ได้ทำ

ดังนั้นปัญหาหลักคือ สภาพทางที่ทรุดโทรมประกอบกับทางโค้งและความลาดชันของบริเวณดังกล่าว รวมทั้งสภาพตัวรถเองก็อาจมีส่วนครับ โดยในเบื้องต้นได้สั่งการดังนี้

1.ให้วิศวกรใหญ่ฝ่ายโยธาจากส่วนกลางไปประจำอยู่หน้างานเพื่อรับผิดชอบการแก้ไขปัญหา

2.เร่งปรับปรุงจุดที่มีปัญหาให้เสร็จภายในสองอาทิตย์

3.เร่งรัดการปรับปรุงทางตามแผน โดยให้ทำในจุดที่มีความเสี่ยงสูงก่อน

ปัญหาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมด้านโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟไทยครับ ต้องเร่งดำเนินการพร้อมปรับปรุงคุณภาพในการให้บริการ และ ปรับโครงสร้างองค์กรไปพร้อม ๆ กัน

ซึ่งนอกจากปัญหารถไฟตกรางที่เป็นปัญหาหลักแล้ว นายชัชชาติยังได้ระบุว่า จะมีการแก้ปัญหาสิ่งปฏิกูลของรถไฟ ลอดสะพานรถไฟ ลงมาทำความเดือดร้อนให้กับประชาชน ผู้สัญจร บนถนนด้านล่าง และรับปากจะแก้ปัญหานี้ โดย 1.ในสะพานที่ข้ามชุมชน ถนน ต้อง ทำระบบที่รองที่ถูกสุขลักษณะ ในทุกจุด

2.พิจารณาปรับปรุงห้องน้ำในรถไฟให้เป็นระบบปิด (มีถังเก็บและดูดไปจัดการ) โดยต้องคิดให้รอบคอบถึงการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา (ส้วมเต็ม ดูดไปจัดการไม่เหมาะสม)

อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวได้แก้ไขไปแล้วที่ทางลอดทางรถไฟในจ.ราชบุรี

ปัญหาเรือด่วนเจ้าพระยา

นอกจากปัญหาการจราจรทางบกแล้ว ยังมีการสรุปปัญหาของเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย โดยระบุว่า ปัญหาของเรือด่วนเจ้าพระยา คือ

1.การเชื่อมต่อมาท่าเรือไม่สะดวก ไม่มีที่จอดรถ ต้องข้ามเรือมาจากอีกฝั่ง รถสาธารณะเข้าไม่ถึง มาจากบ้าน/ที่ทำงานลำบาก

2.ความถี่ไม่พอ โดยเฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน รอเรือนาน เพราะเป็นกิจการเอกชนต้องคำนึงถึงความคุ้มทุน (วิ่งเยอะเฉพาะช่วงเช้า และเย็น)

            “เชิญผู้ประกอบการมาหารือหลายรอบครับ ถึงแนวทางในการจูงใจให้คนมาใช้ เช่น จัดระบบเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ จัดรถเมล์เข้าท่า จัดที่จอดรถ เพิ่มเรือช่วงเร่งด่วนกำหนดเป้าหมายพยายามเพิ่มผู้โดยสารอีก 20 เปอร์เซนต์ ในสองเดือน แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนกันครับ” ในเฟซบุคส์ดังกล่าวระบุ

แก้ปัญหาทางด่วน- easy pass ที่ยังไม่จบ

สำหรับปัญหาการปรับค่าทางด่วน และบัตร Easy pass ในเฟซบุคส์ระบุว่า มีการเชิญผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาอีกครั้ง ว่าต้องแก้ให้จบภายในหนึ่งเดือน ระบุว่าคมนาคมผิดเต็มๆ และยืนยันจะเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด พร้อมสรุปปัญหา Easy pass ว่า มีปัญหาหนัก เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว (กรกฎาคม) ปัญหาสรุปสั้น ๆ คือ easy pass (ติดตั้้งในปี 2553) เวลาผ่านด่าน เครื่องจะส่งข้อมูลไปตัดเงินที่ส่วนกลางและส่งข้อมูลกลับมาที่ด่าน แต่ระบบออกแบบไว้ไม่สามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นมากได้ ทำให้ช่วง 2-3 อาทิตย์ ที่ผ่านมาเกิดปัญหา ข้อมูลการตัดเงินส่งไม่ผ่านทันที และ จะมาตัดเงินหลังจากผ่านด่านไปแล้วช่วงเวลานึง อาจเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือ เป็นอาทิตย์ บางทีมารวมตัดพร้อมๆกันทีเดียว ทำให้พวกเรารู้สึกว่าอยู่ดีๆ โดนตัดทีละหลายร้อย หรือ ตัดทีเดียวจนเงินติดลบ ผ่านด่านไม่ได้ทั้งที่เมื่อกี้ยังมีเงินในบัตร

            “อันนี้ผมยอมรับว่า เป็นความบกพร่องของการทางพิเศษ และ คมนาคมโดยตรงครับ ต้องกราบขอโทษทุกๆ ท่านแทนเจ้าหน้าที่ทุกคน ตอนนี้กำลังเร่งแก้ปัญหาอยู่ ในระยะสั้น คือ การปรับปรุงโปรแกรมให้ดีขึ้น ซึ่งทำไปไดัในระดับหนึ่งแล้ว และ ในระยะยาวต้องมีการปรับโครงสร้างฐานข้อมูลให้ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาสำคัญอีกอันคือ ปัจจุบันยังมีรายการค้างอีกประมาณ 100,000 รายการ ที่ยังไม่ได้ตัดเงิน ซึ่งได้สั่งการผู้ว่าการทางแล้วว่าต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจก่อนจะดำเนินการต่อในส่วนนี้”

รับปากแก้ปัญหาสายด่วน 1584 โทรได้แต่ไม่ติด

เมื่อได้รับร้องเรียนเรื่องปัญหาการให้บริการของสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก สำหรับการบริการที่ไม่ได้ผล ได้มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับปัญหานี้ ดังนี้ ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีปัญหาจริง เนื่องจาก

1.พนักงานไม่พอ 8:30-16:30 มี 12 คน 16:30-21:00 มี 6 คน และ 21:00-8:30 มี 3 คน

2.การแจ้งผลการร้องเรียนล่าช้า บางครั้งเป็นเดือน บางครั้งไม่แจ้งกลับ

3.1584 ใช้กับทุกเรื่อง สอบถามข้อมูล ร้องเรียน ถามเส้นทาง โดยไม่มีระบบกรองเรื่่อง

และระบุว่า ได้มอบหมายให้อธิบดี ดูจำนวนพนักงานให้เหมาะสม จัดระบบคัดกรองเรื่องอัตโนมัติ และให้มีการรายงานผลให้ผู้ร้องทราบเป็นระยะจนเรื่องจบ

รวบรวมประเด็นร้องเรียนคมนาคม

นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมและวิเคราะห์ ข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนจาก comment และpost ทาง facebook “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ระหว่างวันที่ 6 - 23 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา จำแนกตามประเภทเรื่อง และตามหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ได้ว่า ประเภทเรื่องร้องเรียน อันดับหนึ่งเป็นเรื่องของการให้บริการขนส่งสาธารณะ (45 เปอร์เซนต์) รองลงมาได้แก่ สิ่งอำนวยความสะดวก (21 เปอร์เซนต์) และปัญหาการจราจร (14 เปอร์เซนต์)

โดยหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ 113 ข้อร้องเรียน (40 เปอร์เซนต์) แบ่งเป็นปัญหาการให้บริการ 71 ข้อร้องเรียน (รอรถนาน ไม่จอดรับผู้โดยสาร พนักงานไม่สุภาพ เส้นทางไม่ครอบคลุม ป้ายจอดห่างกันมาก ฯลฯ) ปัญหาความปลอดภัย 13 ข้อร้องเรียน (ขับรถเร็ว ขับรถโดยประมาท จอดไม่ชิดขอบทาง ฯลฯ) สิ่งอำนวยความสะดวก 17 ข้อร้องเรียน (ต้องการป้ายบอกเส้นทางเป็นภาษาอังกฤษ แอร์ไม่เย็น รถเก่าชำรุด ฯลฯ) และปัญหาการจราจรอีก 12 ข้อร้องเรียน (จอดแช่ป้าย จอดกีดขวางการจราจร ทิ้งรถเสียบนถนน ฯลฯ)

ซึ่งนอกจากข้อร้องเรียนต่อ ขสมก.แล้ว ยังมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกรมการขนส่งทางบก 63 ข้อร้องเรียน (22 เปอรืเซนต์) และการรถไฟแห่งประเทศไทย 48 ข้อร้องเรียน (17เปอร์เซนต์) ตามลำดับครับ

และทั้งหมดคือสิ่งที่ถูกเผยแพร่ใน https://www.facebook.com/chadchartofficial  ขณะที่หากเข้าไปดู Comment จะพบว่า มีทั้งผู้ที่เขียนข้อความให้กำลังใจ สนับสนุนการทำงาน เนื่องเพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยมักไม่พบนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ที่ทำงานถูกลูกถึงคนมานาน ประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวประชาชน และประชาชนต้องแบกรับการบริการจากระบบขนส่งมวลชนที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อรถส่วนตัวมาใช้ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมา และการทำงานหลายอย่างของนักการเมืองมักไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของประชาชน หรือรับรู้ก็แต่การทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก หาเสียงให้ตัวเองเท่านั้น ขณะที่ตรงกันข้ามก็มีความเห็นที่มองว่า การทำงานแบบนี้เป็นเพียงการสร้างภาพของนักการเมืองเท่านั้น

อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามต่อไปว่า การทำงาน การแก้ไขปัญหาของรมว.คมนาคม เหล่านี้จะออกมาเป็นรูปธรรมที่แท้จริง ตามที่นายชัชชาติรับปากไว้หรือไม่ ซึ่งหลายปัญหาต้องใช้เวลา และบางปัญหาอาจต้องรื้อล้างเกือบทั้งระบบ จะเป็นเพียงการสร้างภาพเหมือนที่ถูกปรามาสไว้หรือไม่ หรืออาจจะเป็นความหวังเล็ก ๆ ของประชาชนผู้เสียภาษีที่จะมีโอกาสได้ใช้ระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถแท๊กซี่ เรือด่วน ทางด่วน ฯลฯ อย่างมีคุณภาพ ก่อนที่ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงให้ได้ใช้บริการอีกทางเลือกหนึ่ง

 

ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/chadchartofficial 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: