นักวิชาการรวมตัวป้อง 'ประชาธิปไตย' ยุบสภาต้องเลือกตั้งใหม่มีครม.รักษาการ

10 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1695 ครั้ง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ธันวาคม ที่ห้อง 107 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณาจารย์จากหลากหลายสถาบัน ร่วมกันประกาศตัวเป็น “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” ( Assembly for the Defense of Democracy ) ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อเสนอของ กปปส. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญและก่อความสับสนแก่ประชาชน อาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้  “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” ประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกษียร เตชะพีระ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ยุกติ มุกดาวิจิตร พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นต้น  พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปสมัครเข้าร่วมสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ผ่านทางเฟสบุ๊ค

https://www.facebook.com/Assemblyforthedefenseofdemocracy

 

แถลงการณ์ดังกล่าว ได้ชี้ถึงข้อขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในประเด็นการก่อตั้ง”สภาประชาชน”   การตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 7 อย่างแปลกประหลาด  และข้อเรียกร้องให้ครม.รักษาการลาออก โดยหวังผลทางการ เมือง  คือ 

- 1 -

การก่อตั้ง “สภาประชาชน”

โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3

1.กลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า กปปส. และนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้อ้างว่า รัฐสภาและรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมและเป็นโมฆะไปเนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิต่อต้านรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 69 นั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่ถูกต้องและเป็นการจินตนาการที่ไกลเกินไป กล่าวคือ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ารัฐสภาหรือรัฐบาล ได้ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงพรรคเพื่อไทยและสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่ได้ประกาศไม่ยอมรับ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

ในส่วนที่มีผู้อ้างว่ารัฐธรรมนูญฯ มาตรา 216 วรรคห้าบัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” ดังนั้น เมื่อรัฐสภาหรือรัฐบาลไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงละเมิดรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐสภาหรือรัฐบาลขาดความชอบธรรมและเป็นโมฆะนั้น พวกเราเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะถือได้ว่ามีผลเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรอื่นของรัฐนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ได้ตัดสินไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 197 และต้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือตามอำเภอใจ

เมื่อกรณีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและทำการตัดสินไปโดยที่ไม่มีฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถือไม่ได้ว่าเป็นคำวินิจฉัยในความหมายของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 216 วรรคห้า คำวินิจฉัยนี้จึงเสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐแต่อย่างใด การอ้างกรณีไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นเหตุให้ใช้สิทธิในการต่อต้านรัฐบาลจึงยังไม่อาจรับฟังได้

2.นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า กปปส. และนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ยังได้อ้างต่อไปว่าเมื่อรัฐบาลและรัฐสภาเป็นโมฆะไปแล้ว อำนาจอธิปไตยจึงต้องกลับคืนสู่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 3 ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงเพื่อก่อตั้งสภาประชาชนได้นั้น หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจอธิปไตยมีวิธีการแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจอธิปไตยได้โดยการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติ และการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 3 จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ดังนั้น จึงไม่มีกรณีใดตามมาตรา 3 ที่ให้ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยก่อตั้งสภาประชาชนได้เอง อีกทั้งเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติใดให้อำนาจประชาชนก่อตั้งสภาประชาชนได้ ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่คนกลุ่มหนึ่งฉกฉวยแอบอ้างความเป็น “ประชาชน” เพื่อก่อตั้งสภาประชาชนขึ้นเอง โดยปราศจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรองรับและเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากต้องการให้ “สภาประชาชน” เกิดขึ้นได้ มีเพียงวิธีการเดียวเท่านั้น คือ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาประชาชนขึ้น

ความพยายามก่อตั้งสภาประชาชนขึ้นโดยอาศัยวิธีการอื่น นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  จึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือรัฐประหารนั่นเอง

3.ในส่วนขององค์ประกอบของสภาประชาชนและการได้มาซึ่งสมาชิกสภาประชาชนนั้น แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะยังไม่เป็นที่ยุติ แต่ปรากฏให้เห็นจุดร่วมกันประการหนึ่งว่า สภาประชาชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มาจากการแต่งตั้งบุคคลจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนจึงไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

ตรงกันข้าม หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย พบว่าสภาประชาชนที่มาจากหลากหลายวิชาชีพเป็นความคิดสืบทอดจากลัทธิ Fascist corporatism ดังที่เคยปรากฏให้เห็นในประเทศอิตาลีในสมัยที่ปกครองโดยเผด็จการฟาสซิสต์ภายใต้การนำของเบนิโต้ มุสโสลินี ซึ่งได้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งในปี ๑๙๒๘ ให้สภามีที่มาจากการเสนอชื่อของหลากหลายสาขาอาชีพ และสภานี้ก็เป็นกลไกสำคัญที่นำอิตาลีไปสู่รัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในท้ายที่สุด

 

- 2 -

การเสนอให้มีนายกรัฐมนตรี “คนกลาง” ภายหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร

โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 7

หรือโดยอาศัยการตีความรัฐธรรมนูญแบบประหลาด

1. รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” บทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในระบบกฎหมายไทยในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีบทบัญญัติเพียง 20 มาตรา เท่านั้น บทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้จึงมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหากรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองชั่วคราวบัญญัติไว้เท่านั้น

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน  มาตรา 7 มีลักษณะเป็นบทบัญญัติซึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ได้ในลักษณะที่เป็นการอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ หากมีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ องค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถนำเอาประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งในทางนิติศาสตร์หมายถึงกฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญมาใช้วินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นได้

กฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญกำเนิดขึ้นได้ต้องเป็นการปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนองค์กรของรัฐและบุคคลทั่วไปเห็นกันว่าการปฏิบัตินั้นมีสภาพบังคับ และกฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้บังคับได้ตามมาตรา 7 ก็ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย

2.แม้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 7 จะมีความหมายดังที่กล่าวมาในข้อ 1 แต่ก็มีความพยายามที่จะให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตราดังกล่าว โดยมีข้อเสนอให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ที่ต้องการให้ระบบกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญอยู่ในสภาวะสุญญากาศจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีรักษาการยุติการปฏิบัติหน้าที่ แต่เมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็เท่ากับว่าในห้วงเวลานั้นย่อมไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ บุคคลเหล่านี้จึงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ย่อมมีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 บางท่านเสนอว่าให้วุฒิสภาประชุมกัน และคัดเลือกบุคคลใดก็ได้ตามที่วุฒิสภาเห็นสมควรเสนอให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้เป็นผู้ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีโดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

3.พวกเราเห็นว่าข้อเสนอข้างต้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลายประการ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 108 กำหนดให้การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำโดยพระราชกฤษฎีกาและต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น การยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่กำหนดวันเลือกตั้งก็ดี หรือการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยมีวัตถุประสงค์ไม่ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก็ดี ย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและจะมีผลเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญลง

4.ภายหลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการยุบสภา ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ การเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีรักษาการยุติการปฏิบัติหน้าที่หลังจากที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงเป็นการเรียกร้องให้องค์กรในทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีนี้คือคณะรัฐมนตรีรักษาการ กระทำการฝ่าฝืนหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งเท่ากับเรียกร้องให้บุคคลอื่นกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายนั่นเอง

5.ข้อเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 ยังเป็นข้อเสนอที่เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์กระทำการในสิ่งที่พระองค์ไม่มีพระราชอำนาจด้วย เพราะบทบัญญัติมาตรา 7 เป็นบทบัญญัติที่ให้องค์กรทางรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามกฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่ไม่ปรากฏว่ามีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบัญญัติในเรื่องที่เป็นปัญหาไว้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่ก่อตั้งอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทั้งๆที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและกำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจกำลังจะใช้อำนาจของตนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมาเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป

6.ข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการต้องพ้นไปจากการรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะโดยวิธีการบังคับให้นายกรัฐมนตรีหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ หรือโดยวิธีการอื่นใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีเป้าประสงค์ให้เกิด “สุญญากาศ” ในระบบการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองถึงทางตัน

ดังที่มีนักวิชาการบางคนเสนอว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นไปจากการรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหมดคณะพ้นไปจากการรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ก็ให้วุฒิสภาคัดเลือกบุคคลที่ไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีฐานทางกฎหมายใด ๆ รองรับ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจดังกล่าวไว้แก่วุฒิสภา อีกทั้งตำแหน่งผู้ที่ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีก็เป็นตำแหน่งที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องให้รัฐมนตรีคนหนึ่งทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน และในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่รัฐมนตรีทั้งคณะไม่อาจปฏิบัติหน้าที่รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการแทนเพื่อรอให้คณะรัฐมนตรีที่มีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้าปฏิบัติหน้าที่ รัฐธรรมนูญฯไม่เปิดช่องให้เลือกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกกันว่า “คนกลาง” หรือ “คนนอก” เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้

7.รัฐธรรมนูญฯกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปภายในระยะเวลา 45 ถึง 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ก็จะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่อไปตามลำดับ โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คณะรัฐมนตรีรักษาการก็ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 (1) – (4) กำหนดไว้เท่านั้น ด้วยระยะเวลารักษาการในตำแหน่งที่ไม่นาน ประกอบกับเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่รักษาการได้เท่าที่จำเป็น จึงไม่เห็นความจำเป็นแต่ประการใดที่ต้องมี “คนกลาง” หรือ “คนนอก” มาทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

การตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยคืนอำนาจการตัดสินใจให้แก่ประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตยได้มีโอกาสใช้อำนาจอธิปไตยของตนอีกครั้งผ่านการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง อันเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีต่อไปตามลำดับ โดยในระหว่างนั้น คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไป

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย เห็นว่าการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ดี การเหนี่ยวรั้งให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องล่าช้าออกไปไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ดี ตลอดจนการสร้าง “สุญญากาศ” ในระบบการเมืองไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ดี เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การกระทำทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่พ้นไปจากความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ทำลายกระบวนการสร้างเจตจำนงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยสันติวิธี และจะนำประเทศไปสู่ภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง

ด้วยเหตุนี้สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น และให้ทุกฝ่ายแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนผ่านกลไกการเลือกตั้ง โดยหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการปฏิรูปการเมืองการปกครองและระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นนิติรัฐ-ประชาธิปไตยต่อไป

ด้วยเจตจำนงที่ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

10 ธันวาคม 2556

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เกษียร เตชะพีระ

พวงทอง ภวัครพันธุ์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ 

ปิยะบุตร แสงกนกกุล

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา

สาวตรี สุขศรี

ปูนเทพ ศิรินุพงษ์

ธีระ สุธีวรางกูร

เวียงรัฐ เนติโพธิ์

นิติ ภวัครพันธุ์

ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: