วอนอาเซียนจี้ลาวหาตัว ‘สมบัด’ เชื่อรัฐบาลมีเอี่ยว-สื่อปิดปากเงียบ แนะเลิกตกลง-ไม่แทรกแซงสิทธิฯ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 11 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2811 ครั้ง

 

เย็นวันที่ 15 ธันวาคม 2555 สมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลเกียรติยศรามอน แมกไซไซด้านการบริการสังคมปี 2548 หายตัวไประหว่างการขับรถยนต์ส่วนตัวกลับบ้าน โดยหลักฐานล่าสุดที่ถูกค้นพบจากกล้องวงจรปิดบริเวณป้อมยาม ริมถนนท่าเดื่อ นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่พบตัวเขา ระบุภาพรถยนต์ส่วนตัวของสมบัด ถูกตำรวจจราจรเรียกให้หยุดพร้อมเรียกตัวเขาเข้าไปในป้อมตำรวจแห่งนั้น จากนั้นมีชายชุดดำขับรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่เข้ามาสมทบภายในป้อม ก่อนที่จะมีภาพความพยายามพาตัวของชายซึ่งเชื่อว่าเป็นนายสมบัดขึ้นรถขับออกไปทันที และกระทั่งบัดนั้นก็ยังไม่มีใครพบตัวนักพัฒนาอาวุโสชาวลาว คนนี้อีกเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอ็นจีโอจี้รัฐบาลลาวหาตัว ‘สมบัด สมพอน’

 

 

การหายตัวไปของสมบัด สมพอน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจุดขึ้นในหมู่เอ็นจีโอ ทั้งในลาว และไทย ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และระบบระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ระบุตรงกันว่า ไม่เคยเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับสมบัด ซึ่งมีบุคลิกส่วนตัวเป็นคนนอบน้อมถ่อมตน และเป็นมิตรตามแบบฉบับของชาวลาว หรือหากจะเกิดเหตุ ก็เชื่อว่านายสมบัดน่าจะเป็นคนสุดท้ายที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทั้งหมดของเขา การหายตัวไปของนายสมบัดในครั้งนี้ จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างมาก ในกลุ่มเอ็นจีโอในประเทศไทย และอีกหลายประเทศ เพื่อให้รัฐบาลลาวออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ พร้อมทั้งติดตามหาตัวนักพัฒนาอาวุโสผู้นี้อย่างเร่งด่วน

 

ปัจจุบันก่อนหายตัวไปสมบัด สมพอน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัดทะนา (Participatory Development Training Center : PADETC) ทำงานพัฒนาด้านการเกษตร การพัฒนาชนบท และโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ พลังงานที่ยั่งยืน การจัดการขยะ และงานหัตถกรรมในชนบท เพื่อการยกฐานะการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งยังสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับผู้ประกอบการที่อาศัยอยู่ในชนบทและในเมืองเล็ก ๆ ในชื่อโครงการ “ซาวบ้าน” ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาประเทศลาวได้ ด้วยการผนึกกำลังของประชาชนรากหญ้า ขณะเดียวกันได้พยายามให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนชาวลาว อันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศของตัวเอง และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

 

 

 

 

รัฐบาลลาวนิ่ง สื่อมวลชนลาวก็เงียบ

 

 

 

อย่างไรก็ตามความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาล สปป.ลาวเปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีการหายตัวไปของสมบัด สมพอน เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในกลุ่มเอ็นจีโอทั้งลาว ไทย และนานาชาติ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอในประเทศไทยหลายองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานเชื่อมโยงกับเอ็นจีโอในลาว การหายตัวไปของนายสมบัดครั้งนี้จึงกลายเป็นประเด็นห่วงใยของหลายองค์กร ที่พยายามเรียกร้องให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด รวมถึงติดตามความคืบหน้าต่อกรณีนี้อย่างเร่งด่วน ขณะที่มีรายงานด้วยว่า ในระหว่างที่มีความพยายามสร้างแรงกดดันต่าง ๆ ไปยังรัฐบาลลาวในหลายช่องทาง แต่พบว่ารัฐบาลลาว กลับวางเฉยต่อเสียงเรียกเรียกร้องนี้

 

เช่นเดียวกับสื่อมวลชนใน สปป.ลาวที่ไม่มีการติดตามนำเสนอข่าวการหายตัวไปของนายสมบัด แม้จะมีการเผยแพร่ข่าวนี้ในสื่อระดับสากลมากมาย ท่ามกลางกระแสข่าวที่สับสน บ้างก็ว่า นายสมบัดยังมีชีวิตอยู่แต่กำลังถูกล้างสมอง เพื่อให้ยุติการทำงานที่ดำเนินมากกว่า 30 ปี บ้างก็ว่าขณะนี้เขาไม่มีชีวิตแล้ว ในขณะที่ภรรยาของนายสมบัดระบุว่า เขาไม่เคยมีความขัดแย้งส่วนตัวกับใคร และหากสามารถช่วยเหลือสามีกลับมาได้ ก็จะเดินทางออกนอกประเทศทันที และจะยุติบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวของกับการเคลื่อนไหวทั้งหมด

 

แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง ว่าขณะนี้เขาอยู่ที่ไหน มีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว

 

 

 

สังคมเชื่อเอ็นจีโอหายตัว คนของรัฐมีเอี่ยว

 

 

 

การหายตัวไปในลักษณะการถูกบังคับให้สูญหายของสมบัดครั้งนี้ ไม่เพียงจะมีความพยายามในการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาลลาว ในการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่าง ๆ เท่านั้น แต่หลายประเด็นถูกนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือหลายประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหายตัวไปอย่างไรร่องรอยของนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคน โดยเชื่อว่าน่าจะมีกลุ่มคนในหน่วยงานของรัฐรู้เห็นด้วย และเป็นต้นเหตุของการหายตัวไปทั้งสิ้น  อันนำมาซึ่งคำถามที่ว่า ท่ามกลางการเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ที่หลายประเทศกำลังเร่งเดินหน้าสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่นั้น เรื่องของเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับนโยบายของรัฐ ของประชาชนในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ต่าง ๆ จะได้รับการยกระดับความสำคัญขึ้นเท่าเทียมกับความต้องการในการพัฒนาเช่นเดียวกันด้วยหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘หมอนิรันดร์’ ชี้ กรณีสมบัดหายตัว เป็นเรื่องของคนทั้งอาเซียน

 

 

 

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่า การหายตัวไปของนายสมบัด สมพอน ไม่สามารถมองเป็นเรื่องของบุคคลได้ เพราะที่ผ่านมานักเคลื่อนไหววัย 60 ปีคนนี้ ไม่เพียงที่จะมุ่งมั่นที่จะสร้างความสุขให้เกิดกับพี่น้องชาวลาวในประเทศของตัวเองเท่านั้น แต่มีความพยายามที่จะให้รัฐบาลประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงทั่วโลก มองเห็นถึงความสัมพันธ์ของการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ ระบบนิเวศของลำน้ำโขง และสาขาที่ต่างเชื่อมโยงกันนั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนในภูมิภาค ถือเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวมกับผู้คนในหลายประเทศตลอดลุ่มน้ำโขง การหายตัวไปของสมบัดจึงไม่ได้เป็นแค่เพียงภารกิจของชาวลาว ที่จะทวงถามความจริงที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลลาวเท่านั้น แต่หมายถึงคำถามจากทุกประเทศเช่นเดียวกัน

 

 

 

            “ก่อนหน้านี้อาเซียนกำลังรู้สึกยินดีที่ นานาประเทศทั่วโลกได้ยอมรับกับโฉมหน้าใหม่ของการเปลี่ยนแปลงด้านมนุษยชนในภูมิภาค จากการเปิดประเทศของพม่า ทำให้ประชาชนสามารถมีสิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นมิติที่ดี เพราะอาเซียนมองเรื่องของสิทธิมนุษยชนแตกต่างจากชาติตะวันตก ชาวตะวันออกไม่มองเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เรามองในเรื่องของความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสังคมและวัฒนธรรม และอาเซียนก็มีความเป็นตัวของตัวเองในเรื่องนี้ ดังนั้นความพยายามของอ้ายสมบัด ที่เห็นต่างจากแนวคิดการพัฒนาเพียงอย่างเดียว จึงไม่ควรจะเป็นสาเหตุให้เขาถูกทำให้หายตัวไปจากฝ่ายใดก็ตาม” น.พ.นิรันดร์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘เตือนใจ’ระบุถ้าไม่อยากเป็นลูกน้องจีน ต้องตามหาสมบัด

 

 

ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย เห็นว่า การหายตัวไปของนายสมบัด ควรถูกยกระดับให้เป็นประเด็นระดับภูมิภาค หรือระดับนานาชาติ โดยรัฐบาลลาวเองต้องแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจด้านสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคน ในฐานะที่กำลังจะก้าวสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ทุกประเทศจะเชื่อมโยงถึงกันหมด ผลกระทบต่าง ๆ ก็ย่อมส่งถึงกันด้วย  และที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีกว่า รัฐบาล สปป.ลาว ได้เปิดให้สัมปทานกับกลุ่มธุรกิจจากจีนจำนวนมาก รวมไปถึงแผนการพัฒนาต่าง ๆ ก็มีจีนเป็นผู้ดำเนินการมากมาย ดังนั้นหากประเทศในภูมิภาคไม่ร่วมกัน ที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน เพื่อชี้ให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกัน รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็อาจจะไม่แตกต่างจากการเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของจีน

 

ดังนั้นการทำงานของนายสมบัด ในฐานะหนึ่งในตัวแทนสำคัญของลาวยุคใหม่ ที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศของตัวเอง ด้วยการดึงศักยภาพของเยาวชนลาวมาใช้แก้ปัญหาความยากจนด้วยการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนบนผืนดินของตัวเองจึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความเข้มแข็งตามไปด้วยนั่นเอง

 

ปัจจุบันมีข้อมูลชัดเจนว่า สปป.ลาว ถือเป็นประเทศที่ให้มีนโยบายเปิดให้สัมปทานกับชาวต่างชาติ ในการเข้าทำการเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศสูงถึง 41 เปอร์เซนต์ ถือเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศไรบีเรีย ซึ่งถือว่าเป็นการให้สัมปทานการทำเกษตรกรรมกับต่างชาติในระดับที่สูงมาก โดยมีสัดส่วนแตกต่างจากประเทศที่เปิดให้สัมปทานต่างชาติ ทำเกษตรกรรมลำดับที่สามของโลกอย่างปารากวัย ที่มีตัวเลขอยู่เพียง 26 เปอร์เซนต์

 

 

 

จี้อาเซียนยกเลิกข้อตกลง ‘ไม่แทรกแซงด้านสิทธิมนุษยชน’

 

 

 

นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายหลักของรัฐบาลลาวซึ่งมุ่งไปที่การพัฒนาด้านพลังงานด้วยการวางตัวเองหวังเป็นแบตเตอรี่ของภูมิภาค ทำให้การสร้างเขื่อนต่าง ๆ เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจึงถูกเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามในการคัดค้านของประชาชน และกลุ่มนักวิชาการชาวลาวที่เห็นต่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายสมบัด สมพอน แม้จะมีข้อจำกัดด้านการแสดงความคิดเห็น แต่เขาก็พยายามหาวิธีในการชี้ให้เห็นแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอผ่านแนวคิดการสร้างความสุขให้กับประชาชนในประเทศลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นข้อถกเถียงเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ลำน้ำโขง ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงประชาชนในลาวเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบให้กับส่วนรวมอีกหลายประเทศที่ต้องอาศัยแม่น้ำสายสำคัญแห่งนี้ดำรงชีวิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               “ประเทศไทยเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญ ในการที่จะใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าของลาว จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อปัญหา การเคลื่อนไหวของคุณสมบัด ที่พยายามเปิดพื้นที่ให้กับคนริมโขง และพยายามชักชวนให้ทุกคนทั่วโลกหันกลับมาฟังสิ่งที่คนเล็กคนน้อยเหล่านี้พูดบ้าง จึงเป็นภารกิจที่น่าจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่การถูกลิดรอนสิทธิด้านมนุษยชน” ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะในประเด็นเดียวกันนี้ พร้อมกับระบุว่า สิ่งที่ทุกประเทศในอาเซียนจะต้องเร่งให้ความสำคัญ และมีข้อตกลงร่วมกันคือ การเล็งเห็นความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน  โดยควรยกเลิกข้อตกลงร่วมกันที่ระบุว่าจะไม่แทรกแซงในประเด็น เพราะเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของชีวิต เรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ทางด้านการเมือง

 

 

ถ้าไม่อยากเป็นแค่ตลาดขายของ อาเซียนต้องช่วยกันดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

 

ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า กรณีการหายตัวไปของนายสมบัด ไม่แตกต่างกับการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบุคคลของรัฐเข้ามามีส่วนสำคัญในการถูกทำให้หายตัวไป แต่กรณีของนายสมบัดอาจจะดูเหมือนว่าโชคดีกว่า เพราะมีหลักฐานเป็นภาพเคลื่อนไหวจากกล้อง CCTV ที่เห็นเป็นหลักฐานเด่นชัด ในขณะที่กรณีของนายสมชายหลักฐานถูกลบทิ้งไปหมด แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีหน้ามีตาในอาเซียน แต่ประเด็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนกลับดูไม่คืบหน้าไปถึงไหน

 

อย่างไรก็ตามกรณีการหายตัวไปของนายสมบัด ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ประเทศต่าง ๆ กำลังให้ความสำคัญต่อการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทุกประเทศจึงควรให้ความสำคัญ ในทุกประเด็นที่เท่าเทียมกันหมด และเรียกร้องให้ยกเลิกข้อตกลงในประเด็น ที่ไม่ให้มีการแทรกแซงในด้านสิทธิมนุษยชน ในปฏิณญาอาเซียนที่กำหนดร่วมกันไว้

 

 

                 “อาเซียนก็คงเป็นได้แค่ตลาดขายของ หากทุกประเทศไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชน และไม่สนใจที่จะให้ความสำคัญในเรื่องของคุณค่าความเป็นชีวิตร่วมกัน และอาเซียนเองจะไม่เหลือศักดิ์ศรีใด ๆ ซึ่งมีค่ามากกว่าการพัฒนาเพื่อการขายของ ตราบใดที่รัฐบาลยังมองว่า การสูญเสียเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ เราก็คงไม่สามารถที่จะสร้างความชอบธรรมใด ๆ ขึ้นได้  ดิฉันยังมีความเชื่อว่าคุณสมบัด หรือคุณสมชาย จะไม่ตายไปจากเรา เพราะสิ่งที่พวกเขาทำไว้จะยังคงอยู่ตลอดไป” นางอังคณากล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ไทยละเมิดสิทธิมนุษชนขั้นรุนแรง

 

 

 

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายจอน อึ๊งภากร อดีตวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหาคร เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ปีเดียวกับนายสมบัด เห็นเช่นเดียวกันว่า อาเซียนจะต้องยกเลิกข้อตกลงการไม่แทรกแซงกันระหว่างประเทศ ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพราะเรื่องของสิทธิมนุษยชนไม่มีขอบเขต เพราะขณะนี้ในทุกประเทศ ล้วนแต่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ดังนั้นอาเซียนจะต้องร่วมกันในการแก้ปัญหา

 

 

                   “ในประเทศไทยเอง ก็พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัย หรือแรงงานข้ามชาติ ในกรณีของคุณสมบัดขณะนี้ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ได้ร่วมกับคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิรางวัลแมกไซไซ จำนวนกว่า 30 คน ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานต่าง ๆ ของ สปป.ลาวเรียกร้องให้มีการสืบสวนการหายตัวไปและรับประกันความปลอดภัยของนายสมบัดแล้ว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลของทุกประเทศจะต้องมีการเคลื่อนไหวกดดัน แสดงความไม่สบายใจเรื่องนี้ ที่เชื่อว่าจะมีน้ำหนักมากกว่าการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ” นายจอนกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จวกรัฐเมินแก้ ‘บังคับคนสูญหาย’ ชี้นโยบายเป็นเหตุ-จี้ออกกม.ลูกรับ ระบุการเยียวยาก็เหมือนแค่ให้ทาน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: