หาคำตอบเด็กไทย‘กวดวิชา’ทำไม เข้ามหาวิทยาลัยได้-เรียนไม่รอด ติวเตอร์ชี้สอนไม่ทันเด็กไม่รู้เรื่อง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 11 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 8547 ครั้ง

 

 

 

 

ด้วยสภาพสังคมที่แก่งแย่งแข่งขันกันในปัจจุบัน คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้มโนคติของคนในสังคมเปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้ที่ทำให้ตัวเองอยู่เหนือกว่า เก่งกว่า เพื่อเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่า ทั้งในสถาบันการศึกษา หรือสถานที่ทำงานในอนาคตหลังจบการศึกษา จึงเป็นสิ่งที่เด็กไทยกว่าค่อนประเทศให้ความสำคัญ รวมทั้งการปลูกฝัง การคาดหวัง ของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่พยายามหาทางเลือก ในการเปิดโอกาสสำคัญให้บุตรหลานมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา” ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และในจังหวัดใหญ่ตามภาคต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต อุบลราชธานี ชลบุรี ฯลฯ ที่ผู้ปกครองเชื่อว่าเป็นแหล่งรวมความก้าวหน้าในทุกด้าน ไว้มากมายเหลือเกิน

 

จากข้อมูลการขอขึ้นทะเบียนโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา ของ "สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน" หรือ สช.ระบุว่า เฉพาะปี 2555 มีโรงเรียนเอกชน ทยอยขอขึ้นทะเบียนโรงเรียนกวดวิชา เกือบ 4,000 แห่ง ในจำนวนนั้นกว่า 1,600 แห่ง กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่เหลือกระจายอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ โดยเกือบทุกสถาบันต่างได้รับความสนใจจากนักเรียน และผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนเพิ่มเติมจากหลักสูตรที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติอยู่แล้ว

 

 

ชี้หลักสูตรไม่เหมาะทำเด็กมึน-ต้องเข้าหาติวเตอร์

 

 

นายอนุสรณ์ ศิวะกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท วรรณสรณ์ ธุรกิจ จำกัด และผู้บริหารสถาบันกวดวิชาชื่อดังเคมี อ.อุ๊  ให้สัมภาษณ์ ศูนย์ข่าว TCIJ โดยวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้สถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ว่า วิชาการเรียนที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรที่เด็กต้องเรียนพบว่า มีถึง 13 วิชา ประกอบกับเวลาในการเรียน ทำให้ครูไม่สามารถสอนเด็กให้มีความรู้ความเข้าใจในบทเรียนได้ภายในเวลาจำกัด จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการแรก ๆ ที่ทำให้จำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มเติม เสริมจากเวลาเรียนปกติ เพราะจะมีเวลาเพียงพอต่อการทำความเข้าใจในบทเรียนได้มากกว่า หากจะโทษครูผู้สอนในโรงเรียนอย่างเดียวคงไม่ได้ สิ่งสำคัญจะต้องดูจากหลักสูตรที่ถูกกำหนดมา ว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาการเรียนการสอนหรือไม่

 

 

           “เด็กส่วนใหญ่ไม่มีเวลาที่จะมานั่งทบทวนตำราเรียน หรือทำอะไรได้มาก เพราะมีการบ้านหรือแบบฝึกหัดที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป ดังนั้นเวลาในการทบทวนตำราเรียนด้วยตัวเองจึงไม่มี จุดนี้เองทำให้เด็กต้องหันมาพึ่งโรงเรียนกวดวิชา เพราะเป็นสถาบันที่ช่วยสรุปเนื้อหาวิชาที่เรียนในห้องเรียนให้กับเด็กในเวลาที่เร็วที่สุด และได้ประโยชน์มากที่สุด” นายอนุสรณ์แสดงความคิดเห็น พร้อมกับระบุว่า สิ่งสำคัญคือ ตัวอย่างระหว่างการเรียน เช่นการฝึกทำโจทย์ที่ยากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเด็ก แต่การเรียนการสอนในห้องเรียนปกติกลับไม่สามารถให้กับผู้เรียนได้ เนื่องจากเวลามีจำกัด ดังนั้นเมื่อเรียนในห้องเรียนแล้วไม่เข้าใจ “ติวเตอร์” จึงเป็นคำตอบให้กับเด็กนักเรียนได้ เพราะสามารถสรุปเนื้อหาได้อย่างตรงประเด็น จนสามารถทำให้เข้าใจในเนื้อหาได้มากกว่า

 

           “ที่สำคัญติวเตอร์ทุกวันนี้ไม่ได้สอนต่อยอดการเรียนหรือเก็งข้อสอบ แต่จะวิเคราะห์ให้เห็นทุกมุมและสอนให้เห็นว่า โจทย์พื้นฐานที่ได้รับมานั้น นำมาใช้อย่างไร นำข้อสอบมาให้ดูว่าใช้เทคนิคในการตอบอย่างไร เด็กจึงเกิดความเข้าใจและมีเวลา เพราะไม่ต้องเรียนพิเศษทุกวิชา แต่จะเลือกเรียนเฉพาะวิชาหลัก ๆ เช่น เรียนกวดวิชาเคมี จะเรียนสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง แต่เรียนในโรงเรียนเพียง 4 ชั่วโมง พีเรียดละ 50 นาที 4 พีเรียด มันจึงน้อยกว่าที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชา” ผู้บริหารสถาบันกวดวิชาชื่อดังกล่าว

 

 

คณิตศาสตร์’ ยังครองแชมป์ วิชาที่ต้อง ‘ติว’

 

ส่วนวิชาสุดฮิตที่เด็กนักเรียนนิยมเลือกกวดวิชาเสริมความรู้ นายอนุสรณ์บอกว่า วิชาหลักอันดับหนึ่งคือ “คณิตศาสตร์” เพราะเด็กแทบทุกคนมีปัญหากับวิชานี้ รองลงมาคือ “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งในตลาดกวดวิชา  2 วิชานี้ มีเด็กมาเลือกเรียนมากที่สุด ส่งผลให้มีจำนวนติวเตอร์ของทั้ง 2 วิชานี้มากขึ้นตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิชาที่เด็กสามารถอ่านทำความเข้าใจเองได้ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และสังคม รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเด็กส่วนหนึ่งต้องใช้เวลาไปกับการติวหนังสือ จึงมาเรียนกวดวิชาเพื่อหาคนสรุปวิชาเหล่านี้ให้  ส่วนกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ จะมีเฉพาะเด็กที่เรียนสายวิทย์เท่านั้น ที่เลือกติววิชานี้ เพราะติวเตอร์จะสรุปวิชาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ยิ่งทุกวันนี้ที่เด็กต้องเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ด้วยระบบแอดมิดชั่น หากต้องการเข้าคณะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ก็จะกำหนดให้ใช้วิชา PAT 1 ที่รวมวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ก็ต้องมาเรียนกวดทั้ง 3 รายวิชานี้ แต่ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนวิชาฟิสิกส์ กับเคมี

 

 

          “เด็กส่วนใหญ่จะอ่อนวิชาฟิสิกส์ กับเคมี ส่วนวิชาชีวะสามารถอ่านเองได้ ทำให้วิชาชีวะในตลาดโรงเรียนกวดวิชามีน้อย สาเหตุที่มาเรียนก็เพราะเนื้อหาวิชายากต่อการจดจำ ติวเตอร์ดี ๆ จะสอนเทคนิคการจำ และระบบต่าง ๆ ให้กับเด็ก วิชาฟิสิกส์ เคมี ต้องอาศัยทักษะความเข้าใจอย่างสูง ทำให้เด็กต้องเรียนกวดวิชาเพิ่ม” นายอนุสรณ์กล่าว

 

 

ไม่เกี่ยว‘หลักสูตรอ่อน’ แต่เสริมความมั่นใจ

 

 

ด้านนายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1 ใน 5 องค์กรหลัก ที่ดูแลระบบการศึกษาของเด็กไทย วิเคราะห์จุดแข็งของโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมากในขณะนี้ ว่า อยู่ที่การสอนเนื้อหาที่ล้ำหน้ากว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ ในขณะที่บางวิชาสถาบันเหล่านี้ ก็นำเนื้อหารายวิชาที่ใช้เรียนในระดับอุดมศึกษามาสอน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน นอกจากนี้ยังสอนเทคนิคการทำข้อสอบที่ใช้คัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับสถาบันอุดมศึกษาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีการสอนในห้องเรียนของโรงเรียน เนื่องจากการเรียนการสอนในห้องเรียน จะมุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนให้ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตลอดจนทำกิจกรรมตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กำหนดไว้

 

 

เชื่อว่าความนิยมไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมของเด็กนักเรียนนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่มีคุณภาพ แต่น่าจะเป็นเพียงการเสริมความมั่นใจในการทำข้อสอบ เพราะเกิดความกลัวว่าจะทำข้อสอบสู้เพื่อนที่ไปเรียนกวดวิชาไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนกวดวิชาเช่นเดียวกัน โดยยืนยันว่า ตามที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการเรียนการสอนของครู ที่ถูกร้องเรียนว่าสอนไม่เต็มที่ เพื่อครูจะเก็บความรู้ไปสอนในโรงเรียนกวดวิชาแทนนั้น ก็ไม่พบว่าเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลว่า จุดแข็งของโรงเรียนกวดวิชาคืออะไร มีการจัดการเรียนการสอนอะไรบ้าง เพื่อนำจุดแข็งมาปรับใช้กับห้องเรียนปกติ

 

 

กวดวิชาให้แค่เทคนิค แต่ไม่มีเนื้อหาความรู้

 

 

และจากการศึกษาจุดแข็งของโรงเรียนกวดวิชา นายรังสรรค์ระบุว่า ทำให้ปัจจุบันนี้ เริ่มมีหลายโรงเรียนนำจุดแข็งดังกล่าวมาปรับใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนแล้ว โดยเฉพาะการสอนเทคนิคทำข้อสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นจุดเน้นที่สำคัญ เนื่องจากสพฐ.พบข้อมูลของกลุ่มนักเรียนที่ไปเรียนกวดวิชา โดยเฉพาะการเรียนเทคนิคทำข้อสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาสายวิทย์ อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จะถูกรีไทร์ออกจากสถาบันอุดมศึกษา ช่วงปี 2-3 เพราะรู้เทคนิคการทำข้อสอบ แต่ไม่มีองค์ความรู้ทางวิชาการที่จะเรียนในคณะนั้น ๆ

 

 

“ตราบใดที่นักเรียนยังต้องการความมั่นใจในการทำข้อสอบ โรงเรียนกวดวิชาก็จะยังคงอยู่ควบคู่กับโรงเรียนต่อไป แต่โรงเรียนกวดวิชาจะเลือกสอนในสิ่งที่การเรียนการสอนในห้องเรียนไม่มี ขณะที่เนื้อหาการเรียนการสอนในห้องเรียน ถูกกำหนดให้ทำตามหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งในเร็วๆ นี้ สพฐ.จะปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ ตามระยะเวลาเปลี่ยนหลักสูตรครั้งใหญ่ทุก ๆ 5 ปี โดยจะเน้นคิด เน้นวิเคราะห์มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มเติมความเป็นประชาคมอาเซียน ประชาคมโลกเข้าไปด้วย” นายรังสรรค์กล่าว

 

 

นักวิชาการชี้กวดวิชาเป็นแค่ค่านิยม

 

 

ขณะที่ แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักวิชาการที่ร่วมรับผิดชอบร่างหลักสูตรการเรียนการสอน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงประเด็นเดียวกัน ว่า ปัญหาเด็กแห่ไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม จากการเรียนการสอนปกติในสถานศึกษาเกิดจาก “ค่านิยม” ของสังคมเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยเฉพาะช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ตามความต้องการ เนื่องจากแต่ละปีจำนวนการรับนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีค่อนข้างจำกัด ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ดังนั้นทุกคนจึงพยายามที่จะแย่งที่นั่งในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ความเชื่อเรื่องของการเรียนกวดวิชา แล้วจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จึงเกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นค่านิยมไปโดยปริยาย

 

 

          “เด็กทุกคนพยายามทำทุกอย่าง เพื่อจะเป็น 1 ใน 50,000 คน ดังนั้นเด็กสมัยนี้จึงคิดว่าถ้าไปติวเพิ่มเติม แล้วจะแข่งขันกับคนอื่นเพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ และบางครั้งการไปติวก็ได้ผลจริง ๆ เนื่องจากบังเอิญแนวข้อสอบที่ออกมันก็ซ้ำ ๆ กัน ดังนั้นติวเตอร์ทั้งหลายจึงเน้นสอนแนวข้อสอบรูปแบบดังกล่าวให้กับเด็ก อย่างไรก็ตามถึงจะทำข้อสอบได้จริง และเข้ามหาวิทยาลัยได้ดังใจหวัง แต่ส่วนหนึ่งก็เรียนมหาวิทยาลัยได้เพียงปีเดียวเท่านั้น เนื่องจากไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในห้องเรียน เมื่อครั้งยังเรียนอยู่มัธยมศึกษา จึงไม่มีองค์ความรู้ สุดท้ายก็ต้องดร๊อปการเรียนไป”

 

 

ย้ำหลักสูตรในห้องเรียนเพียงพอ แต่เด็กกลัวสอบไม่ได้

 

 

สำหรับประเด็นที่มักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของไทยที่ไม่เหมาะสม นักวิชาการผู้รับผิดชอบดูแลหลักสูตรฯ ยืนยันว่า การเรียนการสอนกับหลักสูตรที่มีการพัฒนาในระยะเวลาที่เหมาะสม เพียงพอแล้วต่อการมีองค์ความรู้ที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่ปัญหาสำคัญอีกประการ ที่ตีคู่มากับค่านิยมก็คือ “ความอดทน” ที่เด็กสมัยใหม่ไม่ค่อยมี เพราะสังคมสมัยนี้มีแต่สิ่งอำนวยความสะดวกเต็มไปหมด โทรศัพท์มือถือก็คิดเลขได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนวณเอง ดังนั้นการออกไปเรียนกวดวิชาไปพบเจอสิ่งแปลกใหม่ สังคมใหม่ จึงเป็นสิ่งที่เด็กสมัยนี้ชอบ นอกจากนี้เด็กบางส่วนยังคิดอีกว่า หากมัวแต่นั่งมองดูเพื่อนแห่ไปเรียนกวดวิชาโดยที่ไม่ทำอะไร จะทำให้ตัวเองด้อยกว่าเพื่อนแน่ ๆ จึงทำให้เด็กนักเรียนนิยมออกไปเรียนกวดวิชากันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละคอร์สการเรียนที่มีราคาแพง ทำให้เด็กมีความตั้งใจเพิ่มขึ้นเพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั่นเอง

 

 

          “ติวเตอร์ที่โรงเรียนกวดวิชา ก็อาศัยการสรุปจากหนังสือเรียนทั้งนั้น หนังสือเรียนออกแบบมาเพื่อให้อ่านและทำความเข้าใจเองได้ ฉะนั้นถ้าเด็กอ่านเองได้ สมองก็จะเกิดการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าธรรมชาติของเด็กไทยอ่านหนังสือเองไม่เป็น คือไม่อ่านหนังสือ ยิ่งเป็นหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือทั้งหน้ายิ่งไม่อ่าน จึงชอบเวลามีคนสรุปให้ฟัง ซึ่งเป็นผลเสียต่อไปในอนาคต เพราะไม่อ่านก็ขาดจินตนาการ ขาดการคิดวิเคราะห์เหตุและผล แต่สิ่งที่เด็กชอบและครูในชั้นเรียนไม่ค่อยบอกคือ แนวการสอบ เพราะติวเตอร์จะบอกเลยว่านักเรียนต้องจำตรงนี้นะ จำอย่างนี้นะ ขณะที่ครูในห้องเรียนไม่มี”

 

 

พลิกออกข้อสอบอัตนัย ดัดหลังโรงเรียนกวดวิชา

 

 

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาการหลั่งไหลไปเรียนกวดวิชา แทนการให้ความสำคัญในห้องเรียนของนักเรียน นักวิชาการคนดังกล่าวระบุว่า ควรต้องเริ่มแก้ที่ “ความอยาก” เวลานี้ทุกคนอยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ ดังนั้นต้องนำความอยากมาเป็นตัวกำหนดวิธีเรียน ถ้าข้อสอบเก็บคะแนน เพื่อไปใช้ชี้วัดการเข้ามหาวิทยาลัย เปลี่ยนวิธีออกเป็นเน้นฝึกการคิดวิเคราะห์ เขียนตอบคำถามมากขึ้น แม้จะยุ่งยากในการตรวจคำตอบ แต่เป็นวิธีที่พัฒนาทักษะกระบวนการคิดของเด็กได้เป็นอย่างดี ซึ่งการออกแนวข้อสอบลักษณะนี้จะดึงเด็กกลับสู่ห้องเรียนได้ เนื่องจากไม่มีการสอนในโรงเรียนกวดวิชา

 

 

           “ที่ผ่านมาเคยมีสถาบันทางการศึกษาแห่งหนึ่ง ออกข้อสอบอัจฉริยะเป็นแบบตัวเลือกให้เด็กกว่า 300,000 คน ทำ ปรากฎว่าโรงเรียนกวดวิชาก็ไปเอาข้อสอบในแต่ละปีมาติวเด็ก และเด็กส่วนใหญ่ก็ทำข้อสอบในปีต่อมาได้ จนกระทั่งสถาบันแห่งนั้นเปลี่ยนแนวข้อสอบเป็นแบบถามตอบทั้งหมด โรงเรียนกวดวิชาจึงโวยวายใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถกะเก็งแนวข้อสอบได้”

 

 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ข้อสอบดังกล่าวจะดีสำหรับเด็ก แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เป็นรูปธรรมทั้งระบบ เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมายที่จะต้องนำมาเป็นตัวกำหนด ไหนจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายชั้นอีก แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ไทยจะได้ฐานรากของประเทศนั้นก็คือ เด็กเยาวชนในวันนี้ ที่คิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์เป็น อย่างเช่น คนสิงค์โปร์ หรือคนเกาหลีใต้ ที่ฝึกรากฐานของประเทศด้วยการส่งเสริมให้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น จนประเทศเหล่านั้นพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ขอบคุณภาพจาก Google.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: