ครูอัตราจ้างอาชีวะร้อง รัฐบาลไม่บรรจุเป็นขรก.

11 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3907 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มครูอัตราจ้างและลูกจ้างชั่วคราว สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ทั่วประเทศกว่า 2,000 คน เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงสถานภาพเป็นข้าราชการและพนักงานราชการ สังกัด สอศ. โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เข้ารับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องด้วยตัวเอง

 

นายชยพล บุตรทองดี ครูอัตราจ้างจากวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก ในฐานะตัวแทน เปิดเผยว่า ต้องการยื่นหนังสือขอให้ช่วยผลักดันการบรรจุครูอัตราจ้าง เป็นข้าราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย และบรรจุเจ้าหน้าที่ธุรการซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานราชการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน เนื่องจากบางคนเป็นครูอัตราจ้างและลูกจ้างชั่วคราว จนใกล้เกษียณอายุราชการ ก็ยังไม่ได้รับการบรรจุ ส่วนสัญญาจ้างยังเป็นแบบปีต่อปี หรือบางแห่งทำเพียง 9 เดือนและเลิกจ้างไป จึงไม่มีความมั่นคงในชีวิต พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้ปรับเพิ่มเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย

 

 

            “รมว.ศึกษาธิการ รับปากจะผลักดันให้ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่หากถึงเวลาแล้วยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พวกผมจะมาทวงคำตอบอีกครั้ง พร้อมกันนี้หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปจังหวัดไหน กลุ่มพวกผมก็จะตามไปยื่นหนังสือทวงสัญญาทุกทีจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน” นายชยพลกล่าว

 

 

ด้านนายพงศ์เทพเปิดเผยว่า เห็นใจกับกลุ่มครูอัตราจ้างและลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เรื่องนี้ สอศ.เคยทำเรื่องเสนอเข้าครม.แล้ว แต่ครม.ไม่เห็นชอบ ดังนั้นคงต้องให้ สอศ.จัดทำข้อมูลและขอทบทวนไปยังคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการบรรจุข้าราชการและพนักงานราชการคงต้องดูในภาพรวมด้วย

 

ส่วนนายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สอศ.มีครูอัตราจ้างประมาณ 8,000 คน ลูกจ้างชั่วคราวอีกกว่า 11,000 คน รวมแล้วเกือบ 20,000 คน โดยก่อนหน้านี้เคยทำเรื่องเสนอ ครม.ไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ โดย ครม.มีข้อสังเกตบางประการ อาทิ เป็นการเพิ่มคนโดยไม่ได้กำหนดอยู่ในกรอบอัตรากำลัง และ สอศ.เคยเสนอว่า การมีสถาบันการอาชีวศึกษา เป็นการเพิ่มงานแต่ไม่เพิ่มคน อย่างไรก็ตาม สอศ.ได้จัดทำข้อมูลชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเร่งทำกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมทั้งในภาพรวมและรายวิชาว่าควรเป็นอย่างไร เพื่อเสนอไปยัง ครม.อีกครั้ง ส่วนจะได้กี่ตำแหน่งนั้นขึ้นอยู่กับครม.

 

 

            “ถ้าคำนวณสัดส่วนครูต่อนักเรียน หากเป็น 1:20 สอศ.ยังขาดครูกว่า 13,000 คน ถ้า 1:30 ขาดครู 8,000 กว่าคน ส่วนเจ้าหน้าที่ธุรการขาดอยู่ถึง 16,000 คน สำหรับข้อเรียกเงินเรื่องเงินเดือน 15,000บาทนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ เพราะ สอศ.ได้เสนอของบฯ กรณีพิเศษแล้วแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ทางวิทยาลัยต่างๆ จึงต้องใช้เงินอุดหนุนรายหัวและเงินบำรุงการศึกษามาจ้างเอง” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: