ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลวิจัยศึกษาฝุ่นละอองในอากาศช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤติหมอกควันภาคเหนือตอนบนระบุว่า จากสถานการณ์วิกฤติหมอกควันในภาคเหนือตอนบน ที่เกิดจากการเผาป่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมีประชาชนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนับหมื่นคน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเก็บข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่สูดดมเข้าไป เปรียบเทียบระหว่างช่วงปลายปี 2555 (ก่อนเกิดวิกฤติ) กับช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2556 (ช่วงเกิดวิกฤติ) จึงได้นำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดการตระหนักต่อปัญหา และร่วมกันหาทางแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้จากการเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากลักษณะการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของฝุ่นละอองในบรรยากาศ เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์การเกิดโรคมะเร็งปอด โดยกำหนดระยะเวลาการเก็บตัวอย่างสภาพอากาศในช่วงกรกฎาคม-กันยายน 2555 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน 2556 หลังเกิดวิกฤติหมอกควัน ได้ผลที่น่าสนใจ
รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือจ.เชียงราย, พะเยา, น่าน, ลำปาง, แพร่, อุตรดิตถ์, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่ และ ลำพูน เพื่อศึกษาความเข้มข้นของปริมาณฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ พบว่า จังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองหลังเกิดวิกฤติหมอกควันเพิ่มขึ้นจากก่อนเกิดวิกฤติมากที่สุด ได้แก่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน โดยเชียงรายมีปริมาณฝุ่นละอองก่อนเกิดวิกฤติ 14.97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 91.82 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 513 เปอร์เซนต์ และแม่ฮ่องสอนมีปริมาณฝุ่นละอองก่อนเกิดวิกฤติ 34.48 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 209.85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 509 เปอร์เซนต์ รองลงมาได้แก่ จ.พะเยา ที่มีปริมาณฝุ่นละออง 17.73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 99.70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 465 เปอร์เซนต์
ขณะที่จังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองในช่วงวิกฤติเพิ่มสูงขึ้นในระดับปานกลาง ได้แก่ ลำพูน น่าน และลำปาง โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในอากาศหลังเกิดวิกฤติหมอกควันเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติคิดเป็น 262 เปอร์เซนต์, 221เปอร์เซนต์ และ 172 เปอร์เซนต์ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยได้แก่ อุตรดิตถ์ แพร่ มีปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซนต์ และ 90 เปอร์เซนต์ตามลำดับ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่นละอองในช่วงวิกฤติหมอกควันเพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยที่สุด คือเพิ่มขึ้นเพียง 87 เปอร์เซนต์เท่านั้น
“เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่น่าห่วงต่อสถานการณ์หมอกควันในชั้นบรรยากาศ ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า จากช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาเทียบกับค่ามาตรฐานของ US-EPA ซึ่งกำหนดค่าของฝุ่น PM2.5 ควรมีไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายในระยะเวลาการวัดไม่เกิน 24 ชั่วโมง จะพบว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน กำลังประสบกับปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควันอยู่ในขั้นวิกฤติที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น” รศ.ดร.ศิวัช กล่าว
ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้ ยังตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง PAHs ในฝุ่น PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศของ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็งรวมทั้ง 9 จุด (Total PAHs) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 613 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีค่า Total PAHs สูงสุดที่ 3,864 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมา ได้แก่ จ.ลำพูน มีค่า Total PAHs อยู่ที่ 866 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ จ.แพร่ มีค่า Total PAHs ต่ำสุด อยู่ที่ 54 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ภาครัฐควรเร่งรณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อหยุดการเผาป่าหรือเศษชีวมวลในที่โล่งแจ้ง และเพิ่มโทษ พร้อมให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดการเผาป่า รวมถึงสร้างความเข้าใจถึงอันตรายจากการสูดดมเอาสารก่อมะเร็งจากการเผาป่า ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ