ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา “รถรับ-ส่งนักเรียน” คือหนึ่งในประเด็นร้อนที่สังคมเกาะติดสถานการณ์ ซีกหนึ่งโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับผิดชอบไปเต็ม ๆ กับความสะเพร่าลืมน้องเอย และน้องพอตเตอร์ไว้ในรถจนเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน
มาตรการรักษาความปลอดภัยที่บุตรหลานควรได้รับ ระหว่างเดินทางไปสถานศึกษาด้วยรถโรงเรียน จึงเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามอย่างคลางแคลงใจว่า ที่กระทรวงศึกษาธิการออกมาแจกแจงว่า กำลังคิดหามาตรการรักษาความปลอดภัยให้เด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุไม่ถึง 6 ปี หลังจากเกิดเหตุสลดกับน้องเอยนั้น ต้องการแก้ไขอย่างจริงจัง
หรือเป็นเพียงลมปากที่พูดออกมาเพื่อป้องกันกระแสโจมตี ไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว หนังม้วนเดิมคงไม่ถูกนำมาฉายใหม่ โดยที่ผู้เคราะห์ร้ายเปลี่ยนเป็นน้องพอตเตอร์ ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน
อีกซีกหนึ่งเป็นประเด็น “รถรับ-ส่งนักเรียน” 1,000 คัน ที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจัดซื้อให้โรงเรียนดีศรีตำบล 850 คัน และโรงเรียนขนาดเล็กที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมยุบรวมในปีการศึกษานี้อีก 150 คัน เพื่อใช้รับส่งนักเรียนให้เดินทางไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง
ซีกหลังนี้ถือเป็นประเด็นร้อน หลังจากฝ่ายค้านใช้เวทีชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นช่องทางโจมตีรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกรณีการล็อคสเป็ก การตั้งงบประมาณแพงเกินจริง โดยที่ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากนำเงินไปจ้างครูเดือนละ 15,000 บาท จะได้ครูเพิ่มถึง 13,000 คน
ที่สำคัญเอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณของรัฐบาล ก็จัดทำตัวเลขที่คลาดเคลื่อน กระทั่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ นั่งเก้าอี้ไม่ทันร้อน ต้องสลับกันลุกขึ้นชี้แจงอยู่หลายหน จนล่าสุดก็หนีบแขนกันมาชี้แจงนอกสภาอีกคำรบ ก่อนที่นายเสริมศักดิ์จะฉายเดี่ยว ในรายการที่ออกอากาศโดยช่องของรัฐบาลอีกรอบในช่วง 3 ทุ่มคืนเดียวกัน
เมื่อเงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐจ่ายไป เป็นเรื่องที่เราท่านจำเป็นต้องรู้ ศูนย์ข่าว TCIJ จึงย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ถึงที่มาที่ไปของโครงการซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียน 1,000 คัน ผูกพันงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2557-2558
เกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็กก่อนจะมาเป็นรถตู้พันคัน
ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือ การรับผิดชอบจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กไทยทุกคน แต่ปัจจุบันเนื่องด้วยสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนไป ข้าวยากหมากแพง ส่งผลให้หนุ่มสาววัยเจริญพันธุ์ ตัดสินใจคุมกำเนิด ร่วมทั้งผลัดทิ้งถิ่นฐานอันเป็นที่รัก ไปแสวงหางานหารายได้ในตัวเมือง เมืองหลวง หรือเมืองที่เป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรม
ปีการศึกษา 2556 จึงมีโรงเรียนถึง 14,816 โรง กลายสภาพเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนที่มีตัวป้อน ซึ่งก็คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ถึง 120 คนนั่นเอง ปัญหาที่ตามมาคือ โรงเรียนเหล่านี้ต้องจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ไปจนถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 8 ชั้นเรียน ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีครูไม่ครบชั้น
ซ้ำร้ายยังถูกบั่นทอนประสิทธิภาพ และสภาพคล่องในด้านบริหารจัดการ เนื่องจากศักยภาพตลอดจนการพัฒนาต่าง ๆ ถูกผูกขาดโดยงบประมาณ อุดหนุนรายหัวนักเรียน หากมีตัวป้อนน้อย งบประมาณที่โรงเรียนจะได้รับก็จะน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งสพฐ.วิเคราะห์ว่า จะส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ทักษะด้านการคำนวณ โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงมอบนโยบายด้านการศึกษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจผู้บริหารกระทรวงศึกษาว่า ควรจะเคลื่อนย้ายเด็กในสถานศึกษาที่มีอยู่เพียง 30-40 คน ไปเรียนรวมในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่าแทน โดยให้จัดหารถรับ-ส่งนักเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กและผู้ปกครอง
ใช้‘แก่งจันทร์โมเดล’เดินหน้าโครงการ
เมื่อผู้นำประเทศมอบนโยบายมา สพฐ.ในฐานะต้นน้ำ จึงดำเนินการโดยนำรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก “เครือข่ายแก่งจันทร์” หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ “แก่งจันทร์โมเดล” ซึ่งเป็นการควบรวม ร.ร.บ้านนาโม้ ร.ร.บ้านปากมั่งห้วยทับช้าง ร.ร.บ้านหาดคัมภีร์ และร.ร.บ้านคกเว้า ใน จ.เลย เข้าด้วยกัน ส่งผลให้มีครูและนักเรียนในสัดส่วนที่เหมาะสม มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา
โดยเฉพาะการเดินทางไป-กลับของนักเรียน ซึ่งแก่งจันทร์โมเดลได้รับการสนับสนุนรถตู้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 1 คัน และรถตู้ที่ชุมชนช่วยกันทอดผ้าป่าสามัคคีมาสมทบอีก 2 คัน เพื่อใช้เคลื่อนย้ายเด็ก ๆ ไปยังโรงเรียนทั้ง 4 แห่ง โดยทั้ง 4 โรง ร่วมกันรับผิดชอบค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนละประมาณ 9,000 บาท กระทั่งในปีงบประมาณ 2554 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จึงจัดสรรงบประมาณ ไว้ให้ร่วมกับงบประมาณ รายการอื่นๆ เช่น กิจกรรมกีฬา อินเตอร์เน็ต หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
‘เสริมศักดิ์’ดึงอปท.ถกแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาตำบล
หลังจากรัฐบาลปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเป็นคำรบที่ 3 นายพงศ์เทพ และนายเสริมศักดิ์ อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จึงเข้ามากุมชะตาการศึกษาไทย โดยเฉพาะนายเสริมศักดิ์ นอกจากภารกิจแก้ไขปัญหาให้กับครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานคุ้นเคยและมีพาวเวอร์ซึ่งสะสมมาตั้งแต่สมัยรับราชการแล้ว
นายเสริมศักดิ์ยังดึงผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมถกถึงแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับตำบล ก่อนมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ โดยให้สพฐ.จัดหารถตู้รับ-ส่งเด็กนักเรียนในตำบลต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน 6,545 คัน เพื่อใช้เคลื่อนย้ายนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทุกตำบลในประเทศ ไปเรียนรวมกันในโรงเรียนหลัก ซึ่งสพฐ.เตรียมยกระดับให้เป็นโรงเรียนดีศรีตำบล หรือโรงเรียนหลักที่ควบรวม
โดยให้อบต.หรือเทศบาลตำบล มีหน้าที่รับ-ส่งนักเรียน โดยรับผิดชอบจ้างพนักงานขับรถ และรับผิดชอบค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีคณะกรรมการบริหารงานการใช้รถตู้รับ-ส่งนักเรียนทุกตำบล
รอบแรกศธ.เสนอครม.มากถึง 6,545 คัน ใช้งบฯ 8.3 พันล้าน
สำหรับสเป็กรถตู้ทั้ง 6,545 คันนั้น กำหนดให้เป็นรถตู้โดยสารปรับอากาศขนาด 15 ที่นั่ง แบ่งเป็น เครื่องยนต์ดีเซล พร้อมติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน ราคาคันละ 1,232,400 บาท จำนวน 5,224 คัน รวม 6,438,057,600 บาท
ส่วนที่เหลืออีก 1,321 คัน กำหนดให้เป็นเครื่องยนต์เบนซิน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) สำหรับโรงเรียนที่มีสถานีเอ็นจีวีตั้งอยู่ใกล้เคียง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ราคาคันละ 1,420,000 บาท รวม 1,875,820,000 บาท
รวมรถตู้ทั้งสองรายการเป็นเงินทั้งสิ้น 8,313,877,600 บาท ผูกพันงบประมาณ ปี 2557-2558 จำแนกเป็นงบประมาณปี 2557 จำนวน 3,000,000,000 บาท และงบประมาณปี 2558 จำนวน 5,313,877,600 บาท รวม 8,313,877,600 บาท (แปดพันสามร้อยสิบสามล้าน แปดแสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันหกร้อยบาทถ้วน)
คณะกรรมการกลั่นกรองตีกลับเหลือ 1 พันคัน
เมื่อแผนคืบหน้ามาถึงขั้นเตรียมเสนอขอจัดตั้งงบประมาณจัดซื้อรถตู้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรากฎว่าคณะกรรมการกลั่นกรองวาระเสนอที่ครม.ได้ตีกลับแผนดังกล่าวมาให้กระทรวงศึกษาธิการ ทบทวนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากการจัดซื้อรถตู้ 6,545 คัน ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้รถตู้รับ-ส่งนักเรียนนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้มีมากขนาดนั้น
ดังนั้นหลังจากกระทรวงศึกษาธิการกลับมาวิเคราะห์ทบทวนแผนจัดซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียน พร้อมเสนอกลับเข้าไปยังคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้ง ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ครม.จึงมีมติให้ความเห็นชอบจัดซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียน จำนวน 1,000 คัน คันละ 1,232,400 บาท เป็นวงเงิน 1,232,400,000 บาท โดยจัดซื้อในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 150 คัน เป็นเงิน 184,860,000 บาท และงบประมาณผูกพันปี 2558 อีก 850 คัน เป็นเงิน 1,047,540,000 บาท
ศธ.ต่อรองใหม่ขอ 2,000 คัน ใช้งบฯ 2.5 พันล้าน
อย่างไรก็ตามหลังจากกระทรวงศึกษาธิการพบว่า ในปีการศึกษา 2556 นี้ สพฐ.มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 14,816 โรง ดังนั้นในการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณและแนวทางการดำเนินงาน กระทรวงศึกษาธิการโดย สพฐ.จึงขอปรับเพิ่มการจัดซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากเดิมที่เสนอขอซื้อ 1,000 คัน เพิ่มเป็น 2,000 คัน รวมวงเงินงบประมาณ 2,539,840,000 บาท
โดยแบ่งเป็นขอตั้งงบประมาณปี 2557 จำนวน 380,976,000 บาท หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซนต์ ของวงเงินโครงการ และผูกพันงบประมาณปี 2558 อีก 85 เปอร์เซนต์ ที่เหลือ หรือคิดเป็นวงเงิน 2,158,864,000 บาท จำแนกเป็นรถตู้ดีเซล 1,600 คัน ราคาคันละ 1,232,400 บาท เป็นเงิน 1,971,840,000 บาท และรถตู้เบนซิน 400 คัน ราคาคันละ 1,420,000 บาท เป็นเงิน 568,900,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,973,260,000 บาท (หนึ่งพันเก้าร้อยเจ็ดสิบสามล้าน สองแสนหกหมื่นบาทถ้วน)
สำนักงบประมาณยืนยันให้แค่ 1 พันคัน
อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณยังคงยืนยันที่จะพิจารณาจัดสรรให้เพียง 1,000 คัน โดยกำหนดให้เป็นรถตู้ดีเซลทั้งหมด ราคาคันละ 1,232,400 บาท วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,232,400,000 บาท (หนึ่งพันสองร้อยสามสิบสองล้านสี่แสนบาทถ้วน)
สำหรับราคาและสเป็กของรถตู้ทั้ง 1,000 คันนี้ กำหนดให้จัดซื้อตามราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ของสำนักงบประมาณ ที่กำหนดราคากลางไว้ที่ 1,232,400 บาท สำหรับรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง เครื่องยนต์ดีเซล ปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า 2,400 ซีซี รวมเครื่องปรับอากาศ ฟิล์มกรองแสง และพ่นกันสนิม
พร้อมกันนี้ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถในการรับจ้างรับส่งนักเรียน พ.ศ.2547 หมวดรถรับ-ส่งนักเรียน : รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน ที่ระบุให้มีแผ่นป้ายสีส้ม กว้างไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีข้อความว่า “รถรับ-ส่งนักเรียน” ตัวอักษรสีดำ ความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ติดอยู่ด้านหน้า ด้านท้าย ของตัวรถที่มองเห็นชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร
มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดง ปิดเปิดเป็นระยะติดำว้ด้านหน้า ด้านท้าย ของตัวรถที่มองเห็นชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร มีเครื่องดับเพลิง 1 ถัง ฆ้อนทุนกระจก 1 อัน
นอกจากนี้ยังห้ามบรรทุกหรือยินยอมให้ผู้อื่นบรรทุกผู้โดยสารอื่นปะปนไปกับนักเรียน เว้นแต่ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนหรือผู้ปกครอง ผู้ขับรถต้องไม่เป็นผู้มีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถ และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 3 ปี พร้อมกันนี้ต้องจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ประจำอยู่ตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน และต้องส่งนักเรียนให้ถึงโรงเรียน-ที่อยู่อาศัย หรือส่งมอบให้ผู้ปกครองโดยตรงตามสถานที่ที่ได้ตกลงกัน
เอกสารเข้าสภาฯ ผิดพลาดหรือตั้งใจ
เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบแล้ว มาถึงขั้นตอนจัดซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียน ในขั้นตอนการรับหลักการในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ที่สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
ปรากฎว่า เอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (1) กระทรวงศึกษาธิการ (1) หน้า 172 เรื่องที่ 2 งบลงทุน ข้อ 2.1.1.1ครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง (1) รถโดยสารขนาด 12 ที่นั่ง (ดีเซล) 1,000 คัน กลับใส่ตัวเลขงบประมาณในส่วนดังกล่าวเป็นเงิน 184,860,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2,343,724,000 บาท แบ่งเป็นปี 2557 ตั้งงบประมาณจำนวน 184,860,000 บาท และปีงบประมาณปี 2558 เป็นงบผูกพัน2,158,864,000 บาท
ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำนักงบประมาณนำตัวเลข 15 เปอร์เซนต์ ของ 1,000 คัน เป็นเงิน 184,860,000 บาท กับ 85 เปอร์เซนต์ ของ 2,000 คัน คือ 2,158,864,000 บาท มารวมกันจนวงเงินไปแตะที่ตัวเลข 2,343,724,000 บาท
ฝ่ายค้านสับตั้งข้อสังเกตราคาสูงเกินจริง
ทำให้ นายจุฤทธิ์ ลักษณะวิศิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นโครงการที่แพงเกินความจริงว่า เพราะเหตุใดการจัดซื้อรถตู้ 1,000 คัน จึงมีราคาเฉลี่ยตกถึงคันละ 2 ล้านบาท โดยอ้างอิงจากเอกสารที่สรุปวงเงินรวมกว่า 2 พันล้านบาท ขณะที่ราคาตามท้องตลาดจะอยู่เพียงคันละ 956,000 บาท ที่สำคัญงบประมาณดังกล่าว หากนำไปจ้างครูเพิ่มในอัตราเงินเดือน 15,000 บาท จะสามารถจ้างครูได้มากถึง 13,000 คน
สองรมต.ออกโรงแจงซ้ำ สำนักงบฯออกรับทำตัวเลขผิดพลาดเอง
ร้อนไปถึงนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ ต้องลุกขึ้นชี้แจงว่า เอกสารประกอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในเรื่องของตัวเลขจัดซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียน เนื่องจากสำนักงบประมาณนำตัวเลข 15 เปอร์เซนต์ ของ 1,000 คัน มารวมกับ 85 เปอร์เซนต์ ของ 2,000 คัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ราคารวมจะอยู่ที่ 1,232,400,000 บาท หรือเฉลี่ยคันละ 1.2 ล้านบาทเท่านั้น
โดยระบุว่า วงเงินนี้เป็นราคากลางที่กำหนดโดยสำนักงบประมาณ ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามเคร่งครัด และทั้งสองคนเพิ่งทราบในวันอภิปรายงบประมาณ
ส่วนประเด็นจงใจซื้อรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง ทั้งๆ ที่หากจัดซื้อขนาด 16 ที่นั่ง จะได้ประโยชน์กว่านั้น รัฐมนตรีทั้งสองคน ชี้แจงสอดคล้องกันว่า เป็นการดำเนินการตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก ที่สำคัญสำนักงบประมาณ จัดทำราคากลางรถตู้เฉพาะขนาด 12 ที่นั่งเท่านั้น ไม่เคยจัดทำราคากลางขนาด 16 ที่นั่ง
กรณีความผิดพลาดดังกล่าว ไม่จบลงในที่ประชุมสภาฯ แต่มาวันที่ 3 มิถุนายน 2556 รัฐมนตรีทั้งสองคนยังเปิดห้องประชุม อาคารราชวัลลภ แจกแจงประเด็นดังกล่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง โดยหนีบ น.ส.จรรยา อยู่โปร่ง ผู้อำนวยการสำนักจัดทำงบประมาณด้านสังคม 1 สำนักงบประมาณ มาร่วมชี้แจงด้วย
โดยนายเสริมศักดิ์ได้อธิบายประเด็นการจัดจ้างครูเพิ่มแทนการจัดซื้อรถตู้ 1,000 คันว่า ถ้าจะทำจริงจะต้องจ้างเพิ่มถึง 70,000 คน ใช้งบประมาณปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าการจัดซื้อรถตู้ ที่ซื้อครั้งเดียวใช้งานได้เป็นสิบปี และมีค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรวมคนขับเพิ่มเติมขึ้นมาอีกปีละ 150,000,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ส่วนกลางจะจัดสรรให้อยู่แล้ว
ขณะที่ตัวแทนสำนักงบประมาณ ชี้แจงความผิดพลาดเกิดจาก เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เคาะจำนวนรถตู้เหลือเพียง 1,000 คัน จากที่สพฐ.เสนอขอเพิ่มเป็น 2,000 คัน เจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณกลับแก้ไขเฉพาะตัวเลขงบประมาณปี 2557 ในส่วนของรถตู้ 1,000 คัน โดยลืมแก้ตัวเลขงบประมาณผูกพันปี 2558 ที่เป็นตัวเลขของตู้ 2,000 คัน ทำให้เมื่อนำตัวเลขมารวมกันแล้ว จึงเกิดความผิดพลาดขึ้น ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้ทำใบแก้คำผิดเตรียมไว้แล้ว แต่ไม่ได้แนบมาพร้อมเอกสารประกอบการชี้แจง เพราะโดยปกติจะเสนอในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งมีการประชุมในวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา
ที่สำคัญตัวเลขที่ระบุในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้นเป็นตัวเลขที่ถูกต้องทั้งหมด ไม่ได้ผิดพลาดเหมือนฉบับที่เป็นเอกสารประกอบ ซึ่งความผิดพลาดดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกปี และความจริงสำนักงบประมาณก็แจกเอกสารให้ฝ่ายค้านทั้งสองเล่ม ไม่ได้แจกเฉพาะเอกสารประกอบที่พิมพ์ผิด นอกจากนี้หลังจากผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการ เพื่อจัดทำเป็นรายงานประกอบพ.ร.บ.ที่จะประกาศใช้ ไปจนถึงขั้นตอนการประกาศใช้แล้ว ก็จะมีรายงานของกรรมาธิการที่แก้ไขยืนยันทุกครั้ง
ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดพลาดในขั้นร่างประกอบของพ.ร.บ. ซึ่งปกติจะถูกแก้ไขในชั้นกรรมาธิการอยู่แล้ว ไม่ได้ผิดที่ตัวร่างพ.ร.บ.ที่ถือเป็นความผิดร้ายแรง” น.ส.จรรยากล่าว
นอกจากนี้ในการแถลงข่าว ยังมีการแจกแจงวิธีการจัดสรรรถตู้รับ-ส่งนักเรียนทั้ง 1,000 คันด้วย โดยสพฐ.จะจัดสรรให้กับโรงเรียนดีศรีตำบล 850 คัน ส่วนที่เหลืออีก 150 คัน จะจัดสรรให้กับกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่นำร่องยุบรวม โดยในปีงบประมาณ 2557 จะจัดซื้อก่อน 15 เปอร์เซนต์ หรือ 150 คัน ส่วนปีงบประมาณผูกพันปี 2558 จะจัดซื้อส่วนที่เหลืออีก 850 คัน
โดยจะจัดสรรให้โรงเรียนทั้งสองกลุ่มแบบคละกัน ไม่ใช่จัดสรรให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อน และนอกจากภารกิจรับ-ส่งนักเรียนแล้ว รถตู้ทั้งหมดนี้ จะต้องใช้รับส่งครูเก่งหมุนเวียนไปสอนตามโรงเรียนเครือข่ายต่าง ๆ ตลอดจนใช้ในกิจการของชุมชนด้วย
ตั้งข้อสังเกตราคา-สเป็กใครได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตถึงประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ที่มาที่ไปของการจัดซื้อรถตู้ ตลอดจนความผิดพลาดของเอกสาร แม้ว่าจะได้รับการชี้แจงอย่างมีเหตุและมีผลแล้ว แต่สำหรับราคากลางรวมเครื่องปรับอากาศ ฟิล์มกรองแสง และพ่นกันสนิม ราคา 1,232,400 บาท สำหรับรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง เครื่องยนต์ดีเซล ปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า 2,400 ซีซี นั้น ยังไม่กระจ่างในประเด็นที่ว่า การจัดซื้อรถตู้ครั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถตู้ค่ายหนึ่งค่ายใดหรือไม่ เนื่องจากโดยปกติราคารถแต่ละยี่ห้อ แม้จะไม่แตกต่างกันมาก แต่ราคายังคงมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในเงื่อนไขการดูแลรถตู้รับ-ส่งนักเรียนดังกล่าว นักเรียน โรงเรียน จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ เนื่องจากหลังการส่งนักเรียนในช่วงเช้าแล้ว รถคันดังกล่าวจะต้องไปอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ ก็ได้ จนกว่าจะถึงเวลารับนักเรียนอีกครั้งในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน
และประการสำคัญโครงการซื้อรถตู้เพื่อรับ-ส่งนักเรียน เพื่อรองรับนโยบายการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จะสามารถแก้ปัญหาได้จริงตามที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการระบุไว้หรือไม่ หรือเป็นเพียงอีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลต้องการซื้อรถตู้ เพื่อตอบสนองประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมประโยชน์ร่วมกับบริษัทผลิตรถยนต์รายใดรายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีรถตู้ในสเป็กดังกล่าวเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นคือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ