ป.ป.ช.ชี้กันโกงจำนำข้าว ประกันรายได้ลดทุจริตได้

11 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1899 ครั้ง

 

 

นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่งบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก ทางคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการการแทรกแซงราคาพืชผลและผลิตผลการเกษตรเพื่อป้องกันการทุจริต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงทำข้อเสนอเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตของ ป.ป.ช. ให้แก่รัฐบาลเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางป้องกันการทุจริต โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

ผลสืบเนื่องจากปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและมีการกล่าวถึงมากที่สุดในปัจจุบัน จึงมีประเด็นคำถามว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีบทบาทหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างไรบ้าง

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ทั้งในเรื่องของการป้องกันการทุจริต โดยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554        ซึ่งจะขอลำดับให้เห็นถึงการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

 

 

ข้อเสนอแนะ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี

 

1.คณะอนุกรรมการศึกษามาตรการการแทรกแซงราคาพืชผลและผลิตผลการเกษตรเพื่อป้องกันการทุจริต ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ตามนัยมาตรา 19 (8) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ดังนี้

           

1) กรณีข้าวที่ค้างอยู่ในโกดังกลางของรัฐบาล ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 5.604 ล้านตัน ให้รัฐบาลออกคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการรับจำนำ เร่งรัดจัดทำรายงานการเงินและปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกโครงการเป็นรายโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

 

2) กรณีการสำรวจผลผลิตของครัวเรือนที่ทำประกันและข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกจริง อันเนื่องมาจากการดำเนินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้รัฐบาลมีมาตรการเสริมเพื่อป้องกันปัญหาการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ และผลผลิตเกินความเป็นจริงหรือเป็นเท็จ และเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

                        2.1) ให้รัฐบาลเร่งรณรงค์ด้านคุณธรรมและจริยธรรมในความซื่อสัตย์สุจริตแก่เกษตรกร โดยให้เกษตรกรได้มีสำนึกและเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยรวม จากการแจ้งข้อมูลพื้นที่และผลผลิตจากการเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขอรับเงินค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงกับราคาประกันเกินความเป็นจริงหรือเป็นเท็จ

 

                        2.2) ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)  ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริงของผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการสำรวจและรวบรวมอีกครั้งหนึ่ง โดยให้นำข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน/ชุมชน  (กชช. ๒ค) ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนจ่ายเงินค่าชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกร ต่อไป

 

            3) พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการนำข้อเสนองานวิจัยประการอื่น ตามโครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

 

2.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล แล้วมีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการศึกษามาตรการการแทรกแซงราคาพืชผลและผลิตผลการเกษตรเพื่อป้องกันการทุจริตเสนอ โดยให้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการโดยเร่งด่วน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (8) ต่อไป

 

3. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ได้พิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอประกอบความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วลงมติ ดังนี้

 

            1) รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

            2) มอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับไปประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการระบายข้าวของรัฐบาลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป

 

            3) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจปริมาณและคุณภาพของข้าวเปลือกคงค้าง (STOCK) รวมตลอดถึงสถานะของบัญชีของทุกโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วแล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

4) กรณีที่ผลการศึกษาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อมูลบ่งชี้ว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการระบายข้าวเปลือกด้วย มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยด่วน

 

 

 

ข้อเสนอแนะสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

1.คณะอนุกรรมการศึกษามาตรการการแทรกแซงราคาพืชผลและผลิตผลการเกษตรเพื่อป้องกัน การทุจริต ได้พิจารณาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ชุดที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยกำหนดนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกในส่วนของการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดูแลสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนำระบบรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายของพืชผลจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร แล้วเห็นว่า

 

1) การแทรกแซงตลาดพืชผลทางการเกษตร ด้วยวิธีการรับจำนำ ซึ่งจากการศึกษาวิจัย พบว่า ในอดีตที่ผ่านมาเกิดปัญหาขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบิดเบือนกลไกตลาด การที่รัฐต้องมีข้าวจากการรับจำนำในสต๊อกเป็นจำนวนมาก และเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคุณภาพของข้าวที่เก็บแล้วระบายออกไม่ทันเสื่อมคุณภาพลงทำให้ราคาข้าวตกต่ำ และประการสำคัญมีปัญหาของการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำ ผู้ได้ประโยชน์จากนโยบายเป็นเพียงบุคคลบางกลุ่มไม่ครอบคลุมเกษตรกรอย่างทั่วถึง

 

2) การเปลี่ยนแปลงนโยบายการแทรกแซงตลาดข้าวจากวิธีการรับจำนำมาเป็นการประกันรายได้ สามารถลดช่องทางการทุจริตเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยเพราะวิธีการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินนโยบายมีน้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีการรับจำนำ รวมทั้ง ผลประโยชน์ตกแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง และกลไกตลาดไม่ถูกบิดเบือน

 

3) แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน จะนำนโยบายการรับจำนำกลับมาใช้เพื่อแทรกแซงตลาดข้าว โดยอ้างว่าเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนก็ตาม แต่ในอดีตที่ผ่านมาทั้งจากการศึกษาวิจัย และจากเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่เข้ามาสู่กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่านโยบายการรับจำนำเป็นช่องทางของการทุจริตอย่างมากมายและมีผลเสียนานัปการ ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ได้ตระหนักและเห็นถึงโอกาสในการทุจริตและสร้างความเสียหายแก่ประเทศอันมีผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการรับจำนำ ก็ไม่สมควรที่จะเพิกเฉย แต่ควรที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทุจริต และความไม่มีประสิทธิภาพของนโยบายการรับจำนำดังกล่าว และเห็นควรที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้ยืนยันในผลการศึกษาวิจัยมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต และข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความเสียหายอันเกิดจากนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำ ไปยังรัฐบาลเพื่อทราบอีกครั้งหนึ่ง

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการการแทรกแซงราคาพืชผลและผลิตผลการเกษตรเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แล้วมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการตามที่เสนอ

 

2.หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แจ้งยืนยันผลการศึกษาวิจัยมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต และข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความเสียหายอันเกิดจากนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำไปยังรัฐบาลแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการศึกษา ติดตาม และเฝ้าระวังการทุจริตตามนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยได้เชิญผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าว และส่งออก มาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง รวมทั้ง จากพฤติการณ์ที่ปรากฏต่อสาธารณะทางสื่อมวลชนต่าง ๆ แล้วพบว่าการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำของรัฐบาลปัจจุบัน ยังคงก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ อย่างมากมายอยู่เช่นเดิมดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตทั้งในเชิงนโยบาย และในส่วนของขั้นตอน และกระบวนการในการดำเนินโครงการ

 

 

 

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังคงต้องดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเป็นนโยบายหลักที่สำคัญ ซึ่งได้หาเสียงไว้กับประชาชนและแถลงต่อรัฐสภา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกบังเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรที่ได้เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริต เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริตและป้องกันมิให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกก่อให้ความสูญเสียด้านงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และมีผลกระทบต่อการแข่งขันการส่งออกข้าวไทย เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

 

1.การดำเนินการตามนโยบายยกระดับราคาข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควรได้พิจารณา

 

1) กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรแบกรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และไม่บิดเบือนกลไกตลาด

 

2) มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาแนวหาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว

 

3) ให้รัฐบาลติดตามและประเมินผลโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชนศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการรับจำนำ แล้วนำมาพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

2. การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

(1) การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร

 

1) นอกเหนือจากการกำหนดให้มีกระบวนการทำประชาคม และให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองเกษตรกรแล้ว ให้กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาให้มีและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริตที่จะได้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล

 

2) กำหนดให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสมและจริงจังกับเกษตรกรที่ไม่สุจริต

 

(2) การระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล

 

1) เพื่อมิให้ข้าวที่ได้มาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2554/55 ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมาก ที่มีผลเนื่องมาจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานาน ข้าวเกิดความเสียหาย เสื่อมคุณภาพ สูญเสียน้ำหนัก และเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงเป็นการสมควรที่มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ  การปิดบัญชีโครงการฯ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการหรือที่ไม่สามารถไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาโดยเร็ว และต่อเนื่อง

 

2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการ และผลของการระบายหรือขายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางที่อยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไป และดำเนินการด้วยความโปร่งใส

 

3. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ได้พิจารณาและยืนยันว่า การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในชนบทตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาทุกประการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวมีมาตรการและกลไกในการควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบการตรวจสอบให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการทั้งในระดับพื้นที่และในระดับปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) สั่งการให้หน่วยงานในกำกับ ดำเนินการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ให้ความร่วมมือ หากตรวจสอบพบกรณีทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

4. การสนองตอบของรัฐบาลต่อข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. รัฐบาลก็ได้มีการดำเนินการไปหลายส่วน อาทิ กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรแบกรับภาระอยู่ การมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาแนวหาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร เพื่อให้เฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริตที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประการสำคัญ คือ ในเรื่องของการระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ  การปิดบัญชีโครงการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการ และผลของการระบายหรือขายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางที่อยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไปและดำเนินการด้วยความโปร่งใส รัฐบาลยังสนองตอบได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: