‘อินเตอร์เน็ตเต่า’การสื่อสารสโลว์ในพม่า ความทันสมัยที่ถูกรัฐบาลจงใจให้ล้าหลัง

เจฟรีย์ ทูปัส 11 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3016 ครั้ง

แต่เฟรดดี้ ลินน์ รู้ว่าเขาควรเกาะติด เพราะเขามีโอกาสเชื่อมต่อกับโลกข้างนอกรัฐกะฉิ่น ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับพรมแดนพม่ากับจีนและอินเดีย ขณะที่เพื่อน ๆ เขาต้องจ่ายเงินชั่วโมงละ 400 จั๊ต เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต เฟรดดี้ ลินน์ได้รับข่าวสารจากทั่วโลกฟรี เพราะเขาทำงานที่อินเตอร์เน็ตคาเฟ่แห่งนั้น

ทุกวันนี้ บัณฑิตที่จบฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ที่มิทจีน่าคนนี้ ยังคงท่องเน็ตฟรีได้อยู่ เพราะทำงานเป็นอาสาสมัครในร่างกุ้งให้กับองค์กรเอกชนชื่อ Myanmar ICT for Development Organisation หรือ MIDO เฟรดดี้ ลินน์เป็นหนึ่งในชาวพม่าประมาณห้าแสนคน จากประชากรทั้งประเทศราว 55 ล้านคนที่มีอินเตอร์เน็ตใช้

ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มมีเดียอินไซด์เอาท์ ยืนยันว่า การสื่อสารเป็นสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกประกันสิทธินี้ไว้ สำหรับพลเมืองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสารและเป็นพื้นที่ใหม่แห่งเสรีภาพอันถือกันว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน

พม่ายังคงพยายามสลัดตัวเองให้พ้นจากอดีตอันมืดมน นับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อสองปีก่อน หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของทหารมานานหลายทศวรรษ พลเมืองพม่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักรณรงค์กำลังใช้พื้นที่และเสรีภาพนี้อย่างเต็มที่ ในการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และกับโลกภายนอกด้วย

อย่างไรก็ตามนักสังเกตการณ์ก็เตือนว่า ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตา พวกเขาบอกว่า รัฐบาลพม่ายังคงกีดกันไม่ให้พลเมืองของตน มีสิทธิในเรื่องข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ขณะที่กระบวนการปฏิรูปประเทศยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไป การสื่อสารและอินเตอร์เน็ตยังตกอยู่ในเงื้อมมือการผูกขาดและควบคุมของรัฐ ปัญหาเรื่องการผูกขาดและควบคุมการให้บริการอินเตอร์เน็ต ยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำ บางครั้งก็ดับเป็นวัน

บริษัทรัฐและพรรคพวกจำกัด

เมียนมาร์โพสต์แอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น (MPT) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ให้บริการโทรศัพท์บ้าน สถานที่ประกอบธุรกิจและหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ MPT ยังเป็นผู้ให้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะทั่วทั้งประเทศพม่า

MPT ดำเนินงานภายใต้กระทรวงสื่อสาร การไปรษณีย์และโทรเลข หน้าที่กระทรวงนี้ครอบคลุมการให้บริการสื่อสารที่ราบรื่นและสะดวกแก่สาธารณชน ตอบสนองความต้องการด้านสื่อสารของภาคธุรกิจ ภาครัฐและสังคม ต้องจัดตั้งศูนย์การสื่อสารและเส้นทางตามความจำเป็น และติดตามให้บริการสื่อสารเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ

เมื่อปี 2010 MPT อนุญาตให้บริษัทชื่อ Red Link Communications วางโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ครอบคลุมร่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ เจ้าของบริษัทเรดลิ้งค์ คือบรรดาลูกชายของชเว มานน์ ผู้นำลำดับที่สามของรัฐบาลเก่าและปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภา

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายอื่นในพม่า คือรัฐวิสาหกิจชื่อ Yatanarpon Teleport และ Sky Net MPS ซึ่งเป็นของนักธุรกิจรายใหญ่ชื่อ ชเว ตัน พันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีอู เต็งเส่ง

ถ้าไม่ได้ต้องไปเยือนอินเตอร์เน็ตคาเฟ่อยู่เป็นประจำ หรือต้องพึ่งพาสัญญาณไวไฟฟรีที่มีบ้างไม่มีบ้างแล้ว การมีอินเตอร์เน็ตใช้ในพม่า หมายความว่าต้องมีสายโทรศัพท์บ้าน กระบวนการขอสายโทรศัพท์บ้านต้องนำบัตรประชาชนไปแสดงเท่านั้น จ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 500 เหรียญสหรัฐฯ จากนั้นก็ต้องอดทนรอคอย อาจต้องคอยประมาณ 1-3 เดือน พวกที่เช่าบ้านอยู่แทบจะไม่มีโอกาสได้รับอนุมัติให้มีสายโทรศัพท์ในบ้าน จึงไม่มีใครประหลาดใจเลยเมื่อรายงานของสถานีวิทยุเรดิโอฟรีเอเชียระบุว่า ร้อยละ 6.7 ของประชากรพม่าทั้งหมดหรือว่าประมาณ 4 ล้านคนในพม่าเท่านั้น ที่มีสายโทรศัพท์บ้านใช้

ขั้นต่อจากมีสายโทรศัพท์แล้ว ก็ต้องยื่นขอรับบริการอินเตอร์เน็ต ถ้าไปเรดลิงค์ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าธรรมเนียม 1,000-1,500 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับเคเบิลใยแก้ว นอกจากนี้ยังมีค่าบริการรายเดือนอีกราวเดือนละ 600-700 เหรียญ เหล่านี้คือสาเหตุว่า ทำไมประเทศพม่าจึงมีอัตราประชากรที่มีอินเตอร์เน็ตใช้ต่ำมาก เพราะว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชาชนทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 80,000 จั๊ตหรือราว 83 เหรียญ ถ้าหากว่า คุณตัดสินใจที่จะเชื่อมต่อสายโทรศัพท์บ้านกับอินเตอร์เน็ต โดยผ่านระบบสาย ADSLก็ต้องจ่ายค่าติดตั้ง 100 เหรียญกับค่าบริการรายเดือนอีกราว 50-70 เหรียญ

อินเทอร์เน็ตเต่า

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงฉากแรกแห่งหนังเศร้าเรื่องยาว ของคนที่ต้องการออนไลน์ในพม่า ผู้ประกอบวิชาชีพไอทีคนหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยนามอธิบายว่า เนื่องจาก MPT ผูกขาดควบคุมการสื่อสาร หน่วยงานนี้จึงทำหน้าที่ประหนึ่ง “พระเจ้า” ที่คอยลิขิตความเร็วของอินเตอร์เน็ต สามารถที่จะเลือกจำกัดความเร็วสำหรับผู้ใช้บางกลุ่มได้

ออง บาร์ เลย์ นักวิชาชีพด้านไอทีอีกคน เห็นด้วยกับความเห็นข้างต้น เขาบอกว่า แค่เฉพาะในใจกลางเมืองร่างกุ้งเอง อินเตอร์เน็ตเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าไหนเต็มใจจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อเร่งความเร็ว เช่นในโรงแรมระดับประหยัดแห่งหนึ่งบนถนนโบตาตอง พาโกด้า ในใจกลางเมืองร่างกุ้ง ความเร็วดาวน์โหลดอยู่ที่ 0.13 เมกาบิตต่อวินาที กับอัพโหลดที่ 0.15 ขณะเดียวกันที่ภัตตาคารอีกแห่งในถนนเส้นเดียวกันนั้นเองความเร็วดาวน์โหลดอยู่ที่ 0.55 กับอัพโหลดที่ 0.87 เมกาบิตต่อวินาที เจ้าของภัตตาคารแห่งนี้คือคนที่ใครๆรู้กันว่าเป็นพวกพ้องของรัฐบาลทหาร

ความเร็วของอินเทอร์เน็ตในพม่านั้นล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ด้วย มิหนำซ้ำยังช้ากว่าที่กรุงเวียงจันทน์

ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จากการทดสอบความเร็วเราพบว่า สปีดในการดาวน์โหลดอยู่ที่ 0.98 เมกะบิตต่อวินาที กับอัพโหลดสปีดที่ 1.02 ที่กรุงมะนิลา อินเทอร์เน็ตที่ต่อด้วยสายโทรศัพท์มีสปีดในการอัพโหลดที่ 0.91 กับ 5.54 ในการดาวน์โหลด

ณ กรุงเวียงจันทน์ ดาวน์โหลดสปีดอยู่ที่ 1.69 กับอัพโหลดที่ 0.60 เมกาบิตต่อวินาที แต่ที่เวียดนามที่ซึ่งกระทั่งพื้นที่ชนบทรัฐก็พาอินเทอร์เน็ตไปให้ใช้นั้น ดาวน์โหลดสปีดอยู่ที่ 31.24 ขณะที่อัพโหลดสปีดอยู่ที่ 27.21 เมกาบิตต่อวินาที

ขณะที่เราสามารถโหลดวิดีโอ Applause ของเลดี้ กาก้า ในมะนิลาหรือกรุงเทพฯ (โดยที่วิดีโอไม่มีหักกลางคันระหว่างโหลด) ภายในเสี้ยววินาที คุณต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 วินาที ถึงจะได้ดูวิดีโอเดียวกันนี้ในร่างกุ้ง และถ้าเรานับเวลาบัฟเฟอร์ของคอมพิวเตอร์ไปอีกประมาณหนึ่งนาที แฟน ๆ ของเลดี้กาก้าในร่างกุ้งต้องรอประมาณห้านาที ให้วิดีโอความยาว 3.35 นาทีเขาดาวน์โหลดเสร็จแล้วค่อยเริ่มเล่น

ในเวียดนาม ประชาชนทั่วไปจ่ายสตางค์เพียง 400 ด่องหรือประมาณ 20 เซ็นต่อชั่วโมง วิดีโอเดียวกันนี้ใช้เวลาโหลดประมาณสามวินาที

สื่อสารแบบสโลว์โมชั่น

           “เรื่องความเร็วเป็นสิ่งที่แก้ไขได้” ออง บาร์ เลย์กล่าว “เพียงแต่คุณต้องมีเส้นสายกับรัฐบาล ผมได้ยินคนเขาพูดกันเรื่องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อเร่งความเร็วของอินเตอร์เน็ต” ออง บาร์ เลย์เชื่อว่าสภาวะ “เน็ตเต่า” ทั่วประเทศพม่าเป็นเรื่องจงใจ เพราะว่ารัฐบาลคุมความเร็วอยู่

             “ถ้าหากรัฐบาลต้องการปรับปรุงความเร็วของอินเตอร์เน็ตจริงจัง รัฐบาลก็ทำได้” นักวิชาชีพไอทีผู้นี้กล่าว “รัฐบาลใช้ไฟเบอร์ออพติค ดังนั้นอินเตอร์เน็ตจึงไว้ใจได้และรวดเร็ว”

อาจารย์มหาวิทยาลัยในร่างกุ้งคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ในขณะที่รัฐบาลให้พวกอาจารย์มีอินเตอร์เน็ตใช้ก็จริง ความเร็วขนาด “เน็ตเต่า” ทำให้การมีอินเตอร์เน็ตแทบไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด อาจารย์คนนี้ที่ต้องการให้เราเรียกแกว่าเซย์กำลังสงสัยว่า การจงใจทำให้เน็ตช้าเป็นเต่า ซึ่งมักจะทำให้พวกนักศึกษาเบื่อแล้วเลิกรากันไป เป็นมาตรการเซ็นเซอร์อีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

            “ไม่อย่างนั้นคุณจะเรียกมันว่าอะไร?” อาจารย์เซย์กล่าว “นี่คือการเซ็นเซอร์แน่นอน เรายังคงไม่มีสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิที่พลเมืองในประเทศอื่น ๆ เขามีกัน เรากำลังโดนเซ็นเซอร์ที่นี่”

องค์กรให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนในพม่ามองว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารในประเทศจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและภาพลักษณ์ของพม่า

รัฐบาลพม่ากำลัง “แต่งองค์ทรงเครื่อง” เพื่ออวดกับประชาคมโลกเท่านั้น จากมุมมองของเจสสิก้า สตีเวน ชาวแคนาดาที่ทำงานกับองค์กรเอกชนที่ทำงานระดับรากหญ้าในพม่าชื่อ Burma Partnership เธอบอกว่าสภาพของอินเตอร์เน็ตกับการสื่อสารในพม่าแสดงให้เห็นถึงทิศทางอันน่าเป็นห่วง

           “ถ้าดูกันในระดับผิวเผินก็ดูเหมือนว่าพม่ากำลังเปิดเสรี นั่นก็จริงในหลายแง่เมื่อเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยบ่งชี้มากมายว่า พม่าตัวจริงเป็นอย่างไร และจะไปในทิศทางไหนในอนาคต ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง” สตีเวนคุยกับเราที่ร่างกุ้ง

นักข่าวพม่าหลายคนเห็นด้วยกับทัศนะนี้ นักข่าวบางคนที่เราคุยด้วยที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อไม่ได้มองรัฐบาลในปัจจุบันว่าดีกว่าชุดก่อนที่ผ่านมา

          “การสื่อสารเป็นมิติหนึ่งที่ประชาชนยังไม่ได้รับสิทธิอย่างเต็มที่” นักข่าวคนหนึ่งให้ความเห็น “หลายคนอาจจะไม่เห็นหรือไม่รู้สึก แต่ความจริงก็คือการสื่อสารเคลื่อนไปในความเร็วแบบ “สโลว์โมชั่น” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับของเสรีภาพของประชาชนพม่าว่าเป็นอย่างไร”

           “การที่รัฐบาลยินยอมที่จะเปิดกว้างให้เราใช้การสื่อสารได้แค่ไหนเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐบาลนี้มีความเต็มใจและพร้อมที่จะเปิดเสรีประเทศจริง ๆ” นักข่าวอีกคนกล่าวในวงสนทนาของเรา “ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มีพร้อมแล้ว แต่ทำไมเราจึงรู้สึกว่าเรายังคงถูกตัดขาดจากกันและกัน”

ไอซีทีระส่ำระสาย

เนย์ พง ลัต ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรเอกชน MIDO บอกว่า สภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอซีทีในปัจจุบัน กีดกันให้ประเทศและประชาชนพม่าติดอยู่แถวชายขอบของเวทีโลก

            “โลกเราทุกวันนี้เหมือนกับหมู่บ้าน และความที่คุณขาดซึ่งความรู้และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีทำให้หมู่บ้านบางแห่งไม่ได้รู้จักกับหมู่บ้านอื่นในโลกใบเดียวกันนี้เลย มีช่องว่างที่ใหญ่มากระหว่างพม่ากับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในโลกใบนี้” เนย์ พง ลัตเป็นบล๊อกเกอร์การเมืองที่โดนรัฐบาลทหารชุดก่อนจับติดคุกสี่ปี

เขาระบายความคับข้องใจที่รัฐบาลไม่ใส่ใจให้ความสำคัญกับไอซีที ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนรัฐ  การที่มีโรงเรียนเอกชนไม่กี่แห่งในประเทศ ที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นไม่เพียงพอ

ดังนั้นกลุ่มของเนย์ พง ลัตจึงพยายามที่จะช่วยอุดช่องว่าง ด้วยการตระเวนไปทั่วประเทศพม่า เพื่อจัดเวิร์คชอปเกี่ยวกับไอซีที ผู้เข้ามาร่วมส่วนใหญ่มาจากองค์กรเอกชนหรือองค์กรในชุมชน กับกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนในทุกที่ที่เขาไป หนึ่งในลูกค้าของ MIDO คือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD พรรคฝ่ายค้านนำโดยนางอองซานซูจี

เนย์ พง ลัต ยอมรับว่า เท่าที่ผ่านมากิจกรรมของกลุ่มเขายังไปไม่ถึงรัฐกะฉิ่นและยะไข่ เพราะว่าทั้งสองแห่งยังคงเป็นพื้นที่สู้รบอยู่ MIDO ไปได้ไกลที่สุดคือที่รัฐฉิ่น ยิ่งระยะห่างไกลจากร่างกุ้งเท่าใด สภาพในพื้นที่ดูจะแย่ลงมากเท่านั้น

ในวันที่เราสัมภาษณ์เขานั้น สำนักงานของเนย์ พง ลัต ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ เพราะว่าเซอร์เวอร์มีปัญหา เขาบอกว่าคนที่มาเรียนกับเขาส่วนใหญ่เป็นคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกในชีวิต เขาบอกว่า นี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงระดับความรู้เกี่ยวกับไอซีทีสำหรับประชาชนพม่าทั่วไป

หลักสูตรการฝึกอบรมที่ MIDO ทำอยู่นั้นจะสอนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แนะนำให้รู้จักใช้อินเทอร์เนตระดับพื้นฐาน และการใช้เสิร์ชเอนจิ้น โซเชียลมีเดีย บล๊อก กับโซเชียลเน็ตเวิร์ค

“พวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตแถวนี้” เขาเล่า กระทั่งในร่างกุ้งเอง อันเป็นพี้นที่สงบ บริการอินเตอร์เน็ตยังไม่ราบรื่น

ทางออกของคนในพื้นที่ห่างไกล

เฟรดดี้ ลินซึ่งเกิดมาในรัฐกะฉิ่นตระหนักอยู่เสมอถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิลำเนาของเขากับร่างกุ้ง “ที่นี่มีโอกาสที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับชุมชนในเมืองเกิดของผม การคมนาคมขนส่งที่นี่ก็ดีกว่า”

เพียงแต่เขาบอกว่า “ผมหวังอยากให้ทุกคน โดยเฉพาะคนที่รัฐกะฉิ่น มีโอกาสได้สัมผัสโลกภายนอกบ้าง”

ทุกวันนี้ผู้คนในรัฐกะฉิ่นก็กำลังพยายามกันอยู่ ไม่ว่ารัฐบาลกลางในพม่าจะช่วยเหลือหรือไม่ก็ตาม ขณะที่คนพม่าส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงบริการสื่อสารไร้สายได้ แต่หลายคนในรัฐกะฉิ่น กลับมีหนทางที่สะดวกและราคาถูกอีกด้วย คำตอบคือประเทศจีน ซิมการ์ดจากประเทศจีนขายกันที่นั่นในราคา 20,000 จั๊ตหรือราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2008 เมื่อเทียบกับซิมการ์ดของ MPT ที่ราคา 2,913,000 จั๊ตหรือว่าเกือบ3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อมีซิมของจีนแล้วชาวกะฉิ่นสามารถโทรศัพท์ติดต่อกันได้ภายในรัฐกะฉิ่นเอง หรือโทรไปต่างประเทศก็ได้ด้วย แต่ว่าพวกเขาไม่สามารถโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปที่ร่างกุ้ง และขณะที่ผู้ใช้ซิมการ์ดจากจีนสามาถใช้อินเทอร์เน็ตได้ พวกเขากลับไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊คได้เพราะว่าทางการจีนแบนเฟซบุ๊ค ถ้าอยากจะเข้าเฟซบุ๊คพวกเขาต้องไปใช้บริการตามอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ในอัตราค่าบริการชั่วโมงละ 400 จั๊ต อันเป็นราคาที่คงที่ไม่ขยับมาหลายปีแล้วในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้

           “เราเห็นโลกและเราติดต่อกับคนอื่นก็ได้ และเราก็เห็นโลกผ่านทางอินเตอร์เน็ตนี่เอง” เฟรดดี้ ลินกล่าว เขาเน้นว่าการเชื่อมต่อออนไลน์นั้นมีความสำคัญกับเพื่อนร่วมชาติของเขา “ไอซีทีสำคัญมากๆ”

ความเชื่อนี้อาจเป็นตัวผลักดันให้เขามาทำงานอาสาสมัครให้กับองค์กร MIDO แต่แม้ว่าคนอย่างเฟรดดี้หรือเนย์ พง ลัตจะเต็มไปด้วยไฟแห่งความมุ่งมั่น ความท้าทายอยูที่ว่าคนในชุมชนที่พวกเขาสอนความรู้เกี่ยวกับไอซีทีไปนี้จะนำความรู้ไปใช้หรือไม่ เพราะว่าขาดทั้งอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาสำคัญ ของบรรดาครูในหมู่บ้านอาลาลเยจอ ในแถบลุ่มแม่น้ำอิระวดี หมู่บ้านแห่งนี้ต้องนั่งเรือไปหนึ่งชั่วโมงครึ่งจากตัวเมืองมอจุง เดชะบุญครูใหญ่ได้พบกับผู้ให้ความช่วยเหลือที่มอบคอมพิวเตอร์สามชุดให้โรงเรียน แต่คอมพิวเตอร์เหล่านี้ใช้ได้แต่ตอนกลางคืนเท่านั้น อันเป็นช่วงเวลาที่เครื่องปั่นไฟในชุมชนเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับหมู่บ้าน

ในรัฐฉิ่นทางตะวันตกของพม่า กระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กได้ให้ความช่วยเหลือมูลค่า 831,600 เหรียญ ในโครงการไอซีทีเพื่อโรงเรียนในรัฐฉิ่น ทุนส่วนนี้มีไว้สร้างศูนย์ คอมพิวเตอร์กับติดตั้งอินเตอร์เน็ตให้กับโรงเรียนมัธยม 30 โรงเรียนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในรัฐฉิ่น

ในการพบปะกับหน่วยงานผู้ให้ความช่วยเหลือที่ร่างกุ้ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้เอง ดร. ซุย คาร์ รองเลขาธิการแนวหน้าแห่งชาติฉิ่น (Chin National Front) กล่าวว่าความช่วยเหลือจากเดนมาร์กกับอีกส่วนที่รัฐบาลนอร์เวย์มอบให้นั้น”นอกจากจะเป็นการแสดงออกทางการเมืองแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน”

สันติภาพกับเน็ท

กลุ่มของดร. ซุย คาร์ เป็นกลุ่มการเมืองติดอาวุธในรัฐฉิ่นและเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในพม่า โดยทางกลุ่มได้เซ็นข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าไปแล้ว และปัจจุบันเป็นผู้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติในสองโครงการขนาดเล็ก

ในการประชุมครั้งนั้น ดร. ซุย คาร์กล่าวว่า การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และเน้นว่า โครงการเหล่านี้เชื่อมโยงกับความพยายามที่จะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในอนาคต

การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจึงเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ เพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มสันติภาพในเมียนมาร์ (Myanmar Peace Support Initiative- MPSI) ซึ่งทำโครงการในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าในปัจจุบัน

MPSI ดำเนินโครงการ “Ethnic Peace Resource Project” ซึ่งเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลออนไลน์ โดยมุ่งที่จะให้ข้อูลเกี่ยวกับสถานการณ์สันติภาพทั่วประเทศพม่า ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ข้อตกลงหยุดยิงฉบับต่าง ๆ และโครงการในพื้นที่ที่ทางโครงการทำร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ แต่ อัลลัน สมิธ ที่ปรึกษาของโครงการ MPSI บอกว่า อุปสรรคสำคัญของการทำงานของฐานข้อมูลตามโครงการนี้ก็คือการที่อินเตอร์เน็ตช้ามากทั่วประเทศ หรือในบางที่ก็ไม่มีอินเตอร์เน็ตเลย (และเช่นเดียวกับ MIDO กลุ่มของสมิธทำเวิร์คชอปเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในพื้นที่”ที่ไม่มีการเชื่อมต่อ”อย่างเช่น หมู่บ้านต่าง ๆ ในลอยเกาะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะยาห์)

ชาร์ลส เพทรี่ ประธานของ MPSI กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตในพม่าเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกมาก “มันเป็นศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และเราต้องการที่ทำงานด้านนี้” เพทรี่เคยทำงานให้กับสหประชาชาติและเคยถูกเนรเทศออกจากประเทศพม่าในปี 2007 หลังจากที่เขาเขียนรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลทหารพม่า

ในบริบทของงานที่เขาทำอยู่ในพม่า เขากล่าวว่า การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมีประโยชน์ในแง่ที่” จะช่วยสร้างความโปร่งใส”

“และในแง่การสร้างสันติภาพ ผมคิดว่าเรายังทำได้ไม่มาพอ เรายังคงต้องหาวิธีการที่จะทำให้ได้มากกว่านี้”

แผนงานและอนาคต

แน่นอนรัฐบาลพม่าเองพร้อมที่จะทำให้มากกว่านี้ในแง่ดังกล่าวข้างต้น เมื่อเดือนธันวาคมปี 2011 ประธานาธิบดีอู เต็งเส่ง กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีด้านไอซีทีจากอาเซียน ที่กรุงเนย์ปิดอว์

ว่า รัฐบาลกำลังขยายโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งไอซีทีเพื่อพัฒนาประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังกำลังสร้างระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใส พร้อมทั้งสร้างระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดเพื่อประเทศของเรา

พิมพ์เขียวการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนเองก็ให้ความสำคัญกับ “โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารที่มั่นคงและเชื่อมโยงกัน” เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขัน ยิ่งไปกว่านี้อาเซียนยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจ และความไว้วางใจกัน ในเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ต ความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และช่องทางการจ่ายเงินอิเล็คทรอนิกส์

ในปี 2015 นี้พม่าจะเป็นประธานอาเซียน

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว รัฐบาลได้ให้ใบอนุญาตประกอบการกับสองบริษัทต่างชาติรายใหญ่ มาประกอบกิจการโทรคมนาคมในพม่า เทเลนอร์จากนอร์เวย์กับอูเรดูจากกาตาร์ชนะคู่แข่งรายอื่น คือสิงคโปร์เทเลคอม เคดีดีไอ ดิจิเซล บาร์ติแอร์เทล เอ็มทีเอ็น วิตเตล ออเรนจ์ และมิลลิคอนอินเตอร์เนชั่นแนลเซลลูลาร์

ออง บาร์ เลย์นักวิชาชีพด้านไอทีมองว่าการที่จะมีผู้ประกอบการต่างชาติสองรายนั้นยังไม่ใช่ข่าวดีที่ต้องเลี้ยงฉลองกัน

            “ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนนโยบาย ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดกี่รายก็ตาม มันอาจดูราวกับว่าเรามีทางเลือกมากขึ้นน แต่อันที่จริงแล้วมันก็เหมือนเดิม” เขามอง

รัฐบาลจะเลิกควบคุมสาขาโทรคมนาคมไหม?

            “ไม่มีทาง รัฐบาลไม่มีวันที่จะปล่อย”

ขณะเดียวกันเนย์ พง ลัตแห่ง MIDO ท้าทายให้รัฐบาลปล่อยให้บริษัทเอกชนเปิดบริการโทรคมนาคมอย่างเสรี เขาเสนอด้วยว่าควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมากำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมในพม่า

             “มีนายทหารจำนวนหนึ่ง ที่หวาดกลัวเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เนย์ พง ลัตกล่าว “ผมอยากจะบอกพวกเขาว่า ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประชาธิปไตย นอกจากนี้พวกเขายังน่าจะรู้จักใช้ประโยชน์จากมัน พวกเขาจะเป็นผู้เล่นสำคัญในสังคม”

เฟซบุ๊คคืออินเตอร์เน็ตในพม่า

อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ชาวพม่าในเมืองก็ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้มากนัก ที่สวนมหาบันดูลาใจกลางร่างกุ้งบ่ายวันเสาร์ฝนพรำ สวนนี้เต็มไปด้วยคู่หนุ่มสาวที่มาหามุมพลอดรักกัน

อาร์ คาร์ นักศึกษาฟิสิกส์วัย 18 ปีจากมหาวิทยาลัยดากอนกับแฟนสาวก็มาด้วย เราชวนคุยเรื่องเสรีภาพอินเตอร์เน็ต ชายหนุ่มทำท่าประหลาดใจ เขาพูดผ่านล่ามของเราว่า “คิดว่าทุกอย่างปกติดีนะ ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ” แฟนสาวของเขาได้แต่ยิ้ม และไม่ยอมแสดงความคิดเห็น

อาร์ คาร์ บอกว่า เขาไม่เคยใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลหรือว่าดูข่าวสาร แต่เขามีเสรีภาพเต็มที่ที่จะหาอินเทอร์เน็ตใช้เมื่อใดก็ตามที่ต้องการ

             “ผมแค่ต้องมีสตางค์ 250 จั๊ตเท่านั้น ผมก็ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น” อาร์คาร์บอกว่าใช้อินเตอร์เน็ตเพียงเพราะไปใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คไว้ติดต่อกับคนอื่น เขาบอกว่าพวกเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ก็ใช้เน็ตด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เนื่องจากเขาไม่มีโทรศัพท์ อาร์คาร์เลยต้องไปใช้บริการตามอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ถ้าต้องการติดตามข่าวสารของแฟนสาวหรือนัดพบกัน อย่างที่นัดมาเจอกันวันนี้ก็นัดกันผ่านเน็ต

BizNet อินเทอร์เน็ตคาเฟ่แห่งหนึ่งในร่างกุ้ง มักจะคลาคล่ำไปด้วยวัยรุ่นพม่ารุ่นราวคราวเดียวกับอาร์คาร์ คอมพิวเตอร์ทั้ง 15 ตัวในร้านมีบราวเซอร์หน้าจอตั้งไว้ที่หน้าเฟซบุ๊ค

เมื่อหลายปีที่แล้ว คุณต้องลงทะเบียนจึงจะมีสิทธิใช้อินเตอร์เน็ตในพม่า นอกจากนี้ทาง MPT ยังมีกฎบังคับให้อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทุกแห่งต้องถ่ายภาพคนมาใช้บริการไว้เป็นหลักฐาน ทางบิ๊ซเน็ทบอกว่า ระเบียบข้อนี้ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว

“ใช้ได้เลยค่ะ ไม่ต้องลงทะเบียน” หญิงสาวที่เคาน์เตอร์ว่า

อย่างไรก็ดีที่กำแพงมุมหนึ่งมีโปสเตอร์ติดไว้ว่า “เรียนลูกค้าที่รัก เราห้ามและจำกัดการเข้าไปดูเว็บไซต์การเมืองและเว็บโป๊ ด้วยความขอบคุณ บิซเน็ท”

 

บทความนี้เป็นหนึ่งในชิ้นงานภายใต้โครงการ SEAPA Fellowship 2013 ซึ่งในปีนี้ ว่าด้วยประเด็นความท้าทายด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการกำกับดูแล Jefry Tupas หนึ่งในผู้ได้รับทุนดังกล่าวในปีนี้ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง NewsDesk บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง http://newsdesk.asia

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: