สว.ชี้หากไทยให้สัตยาบันศาลระหว่างปท. เท่ากับลดความคุ้มกัน'พระมหากษัตริย์'

ผู้สื่อข่าวพิเศษ ศูนย์ข่าว TCIJ 11 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5271 ครั้ง

ตามที่ประธานรัฐสภาได้มีบัญชานำส่งข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐสภาและรัฐบาล เพื่อให้ประเทศไทยลงนามในสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม เป็นภาคีสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ (The Rome Statute of the International Criminal Court: ICC) ของ นางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนในนามของสหภาพประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา พิจารณาศึกษาและให้ความคิดเห็นเบื้องต้นนั้น

ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ผลการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว จากทั้งการไปดูงานศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2556 ณ ศาลอาญาระหว่างประเทศ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และจากการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วนั้น คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภาและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีความเห็นพ้องกันว่า ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม และไม่มีเหตุจำเป็นที่จะรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ด้วยเหตุผลหลักดังนี้

1.เนื่องจากข้อ 27 แห่งธรรมนูญกรุงโรม ได้กล่าวว่า “ธรรมนูญกรุงโรมนี้ บังคับต่อบุคคลทุกคนเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกใด ๆ บนพื้นฐานสถานะทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะทางการในฐานะประมุขของรัฐ” ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 2 และ มาตรา 10 นั้น ได้ระบุไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศและจอมทัพไทย” และมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยดำเนินการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม อันส่งผลเป็นการรับรองเขตอำนาจของศาลระหว่างประเทศ เท่ากับลดความคุ้มกันในการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ในกฎหมายไทย และถ้ามีผู้ไม่หวังดีฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ กล่าวหาประมุขของประเทศไทย ในข้อหาฐานความผิดต่าง ๆ อาจมีผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์ของเราได้ ทั้งที่พระองค์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งใด ๆ ทั้งปวง โดยที่ประเทศไทยไม่สามารถป้องกันได้เลย

2.กระบวนการยุติธรรมของ ICC โดยหลักการแล้วจะเข้ามาดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่า กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ (unable) หรือไม่สมัครใจ (unwilling) ที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอย่างแท้จริง (in genuine) ซึ่งคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภาและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า ประเทศไทยยังสามารถดำเนินกระบวนการยุติธรรมภายในได้ ไม่จำเป็นต้องให้ ICC เข้ามาเสริมอำนาจในกระบวนการยุติธรรมหลักของไทย

โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ได้รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามข้อเสนอว่า ถ้าประเทศไทยดำเนินการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม อันส่งผลเป็นการรับรองเขตอำนาจของศาลระหว่างประเทศ เท่ากับลดความคุ้มกันในการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ในกฎหมายไทย และถ้ามีผู้ไม่หวังดีฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวหาประมุขของประเทศไทยในข้อหาฐานความผิดต่าง ๆ อาจมีผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์ของเราได้ ทั้งที่พระองค์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งใดๆ ทั้งปวง โดยที่ประเทศไทยไม่สามารถป้องกันได้เลย

และนอกจากนี้ประเทศไทยยังสามารถดำเนินกระบวนการยุติธรรมภายในได้ ไม่จำเป็นต้องให้ ICC เข้ามาเสริมอำนาจกระบวนการยุติธรรมหลักของประเทศไทย จึงเห็นควรเรียนประธานวุฒิสภาว่า วุฒิสภาและคณะกรรมาธิการวิสามัญ ไม่สนับสนุนให้สัตยาบันดังกล่าว และเรียนต่อให้ประธานรัฐสภาเพื่อให้รับทราบด้วย

อนึ่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา นางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนในนามของสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผ่านนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำข้อเรียกร้องของประชาชนไทยเสนอต่อรัฐสภาและรัฐบาล โดยให้ประเทศไทยลงนามสัตยาบันกรุงโรมเป็นภาคีสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยระบุว่า เพื่อเป็นการยุติการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ เพื่อนำความยุติธรรมให้เหยื่อและประชาชนผู้ประสบเคราะห์กรรมจากการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้มีอำนาจจะไม่ใช่กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชนอีก

นอกจากนี้นางกรรณิการ์ยังได้กล่าวว่า สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชนร่วมกับประชาชนชาวไทยได้ดำเนินการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม เป็นภาคีสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยยื่นหนังที่สำนักนายกฯ กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 และยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แต่รัฐบาลและรัฐสภายังไม่มีการดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าในการลงนามสัตยาบันกรุงโรมเป็นภาคีสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภาและรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยลงนามสัตยาบันดังกล่าว

(อ่านเพิ่มเติม: ประเทศไทยกับศาลอาญาระหว่างประเทศ)

(อ่านเพิ่มเติม: ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court)กับปัญหาในการเข้าเป็นภาคีของไทย โดย นายเกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: