แฉเหมืองโปแตช อุดรฯยังไม่ขอใช้พื้นที่ของกองทัพบก

เดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 12 ก.พ. 2556


 

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ รายงานข่าวจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิฯ ขอให้ตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ในขั้นตอนการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ทั้งหมด 4 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 2.6 หมื่นไร่ ของบริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด

จากการตรวจสอบในเบื้องต้น กองทัพบกได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นเอกสารต่อประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พบว่า ณ ปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้มีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ สำหรับประกอบกิจการทำเหมืองแร่ลึกลงไปจากผิวดินเกินกว่า 100 เมตร ตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ในคำขอประทานบัตรแปลงที่ 1 ที่รุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร พื้นที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน คลังน้ำมัน คลังกระสุนและวัตถุระเบิด เกือบ 200 ไร่ จากเนื้อที่รวมรวมทั้งหมด จำนวน 803 ไร่

 

ตามขั้นตอนผู้ขอใช้หรือผู้ประกอบการ จะต้องยื่นเรื่องขอใช้พื้นที่ต่อหน่วยกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ซึ่งเป็นหน่วยใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อน เพื่อพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับที่ตั้งหน่วยแล้วรายงานมณฑลทหารบกที่ 24 หน่วยปกครองที่ดิน กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพบก พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยตามลำดับ

           

         “การดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี คาดว่าจะมีผลกระทบต่อหน่วยของกองทัพบกในพื้นที่ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำเรื่องขอใช้พื้นที่มายังกองทัพบก หรือหน่วยงานของกองทัพบกในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี แต่ประการใด” แหล่งข่าวกล่าว

 

 

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิฯ และทหารตรวจสอบในประเด็นนี้ ซึ่งพบว่านอกจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 แล้ว พื้นที่เหมือง ยังครอบคลุมค่ายทหารอื่นอีก ได้แก่ ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา มีหน่วยงานที่สำคัญ คือ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และกอ.รมน.ภาค 2 และสำนักงานพัฒนา ภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด

 

 

         “บริษัทฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่เหมืองรุกล้ำเข้าไปจากทหาร แต่ปรากฏว่า บริษัทได้ทำรายงานอีไอเอ เสร็จแล้วและเตรียมนำส่ง สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เพื่อพิจารณา ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าทหารไม่ให้ใช้พื้นที่ แสดงว่าขอบเขตเหมืองมีความคลาดเคลื่อน และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานอีไอเอ ที่ทำเสร็จไปแล้ว ย่อมไม่ถูกต้องครบถ้วนตามไปด้วย” นายสุวิทย์กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: