พ่อแม่ทุ่มครึ่งแสนให้ลูก'กวดวิชา' ชี้หวังพึ่งคุณภาพในโรงเรียนยาก เด็กมั่นใจทำให้คะแนนสอบดีขึ้น

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 5098 ครั้ง

 

ปัญหาการหลั่งไหลออกไปเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทยยังแก้ไม่ตก แม้หน่วยงานด้านการศึกษาของไทยจะรู้จุดอ่อน และจุดแข็งของทั้งสองระบบ แต่ก็ยังหาทางออกไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังคงเชื่อว่า การออกมาเรียนพิเศษของเด็กๆ เกิดจากค่านิยม และความกลัวของเด็กไปเอง และยังยืนยันว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนมีมาตรฐานและเน้นการเรียนที่ครอบคลุมมากกว่า แต่หากสอบถาม วิเคราะห์จากผู้เรียน ผู้ปกครองแล้ว กลับได้รับคำตอบว่า สิ่งที่กดดันให้เด็ก ๆ ต้องออกไปหาความรู้นอกห้องเรียนนั้น น่าจะมาจากสาเหตุอื่นไม่ใช่เพียงค่านิยมโดยระบุว่า โดยเฉพาะหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องสภาพสังคมที่จะต้องแข่งขันกันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการสอบวัดผลต่าง ๆ นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติวเตอร์ยันเด็กกวดวิชาไม่ใช่ค่านิยม แต่กลัวสอบไม่ติด

 

 

นายอนุสรณ์ ศิวะกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วรรณสรณ์ ธุรกิจ จำกัด และผู้บริหารสถาบันกวดวิชาชื่อดังเคมี อ.อุ๊ แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่ นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ระบุว่า การเรียนกวดวิชาของเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ เกิดจากค่านิยมที่ต้องการเรียนตามกัน โดยยืนยันว่าจากการพูดคุยกับเด็กพบว่า มีเด็กที่มาเรียนกวดวิชา เพราะต้องการทำตามกระแสนิยมมีน้อยมาก กลุ่มที่มาเรียนตามเพื่อนมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ถูกพ่อ แม่ ผู้ปกครองบังคับนั้นถึงจะมีบ้าง แต่ตัวเด็กก็เต็มใจ เพราะเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับหากมาเรียน แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่มาเรียน เพราะต้องการพัฒนาตัวเอง ตลอดจนตัวเด็กมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านอะไร เนื่องจากเด็กบางคนวางเป้าหมายไว้สูงมาก จึงพยายามผลักดันตนเองให้ไปถึงเป้าหมายนั้น ทำให้เห็นว่าเมื่อมาเรียนกวดวิชา หลายคนจะเคร่งเครียดกับการเรียนเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาเกรงว่าจะไม่ได้ในสิ่งที่ทุ่มเทและคุ้มค่า บางคนถึงขั้นส่งอีเมล์มาขอกำลังใจจากติวเตอร์ เมื่อถึงเวลาใกล้สอบ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเด็กกลัวว่าจะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ

 

 

          “เวลาพวกเขาตั้งเป้าจะเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ บางคนขอแค่สอบติดที่ไหนก็ได้ ขณะที่บางคนตั้งเป็าต้องสอบติดมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยนี้เท่านั้น จึงเกิดความเครียดยิ่งกว่า เด็กบางคนเก่งจริง แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าที่พ่อแม่ผู้ปกครองวางไว้ เมื่อผิดหวังมาก ๆ ก็คิดสั้น ฉะนั้นถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้ลูกเรียนพิเศษ ก็ต้องดูแลลูกคอยช่วยเหลือตรวจทานการบ้าน ผมบอกได้เลยว่า จริง ๆ แล้วถ้าลูกสามารถค้นคว้าเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้เขาเรียนกวดวิชา แค่ช่วยเหลือส่งเสริมลูก คอยให้กำลังใจ และมีเวลาให้เขาก็พอ เพราะผมเชื่อมาเสมอว่าสิ่งเหล่านี้เราทำให้ลูกได้" นายอนุสรณ์กล่าว

 

 

 

ถ้าโรงเรียนในระบบยังไม่มีคุณภาพ พ่อแม่ก็ยอมจ่ายเพื่อลูก

 

 

 

อย่างไรก็ตามในการเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการเรียนปกติในห้องเรียน โดยในการเรียนในแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่ถูกจัดตั้งอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ นายอนุสรณ์กล่าวว่า จะมีอัตราการเล่าเรียนเต็มที่อยู่ที่ชั่วโมงละประมาณ 70-80 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่าการที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องจ่ายให้กับครูหรือติวเตอร์ที่รับสอนตามบ้าน ที่มีอัตราสูงถึงชั่วโมงละ 300-1,000 บาท แต่ผู้ปกครองที่คาดหวังจะให้ลูกประสบความสำเร็จ กับสิ่งที่ตั้งใจก็จะยอมจ่ายเงินจำนวนนี้ให้กับติวเตอร์ในรูปแบบการสอนตัวต่อตัวแบบนี้

 

 

 

              “ส่วนใหญ่ คนที่เหนื่อยคือเด็ก คนเสียเงินคือพ่อแม่ คือระบบการศึกษาไทยในทุกวันนี้ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเหนื่อย ทุกคนอยากให้สำเร็จในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นความคาดหวังของคนทั้งประเทศที่ต้องการให้โรงเรียนมีคุณภาพ แต่เมื่อยังไม่เกิดขึ้นก็ต้องยอมเสียตรงนี้ อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่า แม้ว่าโรงเรียนในระบบจะมีคุณภาพ แต่โรงเรียนกวดวิชาจะไม่หายไปไหน เนื่องจากศักยภาพของคนไม่เท่ากัน อย่างเด็กที่มีผลการเรียนในระดับกลาง ๆ หากอยากจะพัฒนาให้เก่งขึ้น ก็ต้องหาคนเก่ง ๆ มาสอน ไม่ว่าจะสอนตามสถาบันกวดวิชา หรือมาสอนที่บ้านก็ตาม” ผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชา อ.อุ๊ กล่าว

 

 

เรียนมากจ่ายมาก อย่างต่ำชั่วโมงละ 500 บาท

 

 

ขณะที่ น.ส.นิสา เรืองฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์เทเวศร์ ซึ่งเคยมีประสบการณ์การเข้าเรียนกวดวิชาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เล่าถึงประสบการณ์การเรียนกวดวิชาของตนเองว่า สาเหตุที่ตัดสินใจไปเรียนกวดวิชา เพื่อเตรียมตัวเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเลือกเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ โดยภาษาอังกฤษนี้เลือกเรียนด้านไวยากรณ์และการท่องจำคำศัพท์ แบบเทปบันทึกภาพ ที่สถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า โดยลงเรียนทั้งหมด 2 คอร์ส มีเวลาเรียนประมาณ 7 สัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนกวดวิชาระบุว่า เป็นค่าใช้จ่ายแบบโปรโมชั่นอยู่ที่คอร์สละประมาณ 2,700 บาท  เรียน 2 คอร์สจึงตกอยู่ที่ 5,400 บาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้จากการสำรวจค่าใช้จ่ายการเรียนกวดวิชา ในโรงเรียนกวดวิชาที่ขออนุญาตถูกต้อง ก็พบข้อมูลสอดคล้องกัน โดย ค่าเล่าเรียนแต่ละคอร์สวิชาพบว่า มีตั้งแต่ 500 บาท ไปจนถึงประมาณ 6,000 บาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงละ 2,600-3,500 บาท ดังนั้นหากนักเรียนต้องเรียนหลายวิชามากขึ้น ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมการติวเตอร์พิเศษเป็นส่วนตัว ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องไปสอนตามบ้าน แต่จะมีการนัดแนะการสอนต่างหากตามร้านฟาร์สฟู้ดทั่วไป จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ ประมาณชั่วโมงละ 250-500 บาท โดยพื้นที่ที่มีโรงเรียนกวดวิชามาก และได้รับความนิยมในกรุงเทพฯ ได้แก่ บริเวณสี่แยกพญาไท ภายในอาคารวรรณสรณ์ อาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ย่านสยามสแควร์ ย่านวิสุทธิกษัตริย์-ศรีย่าน ย่านปิ่นเกล้า ย่านวิสุทธานี ย่านศรีนครินทร์ ย่านฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ย่านฝั่งธนฯ บริเวณวงเวียนใหญ่ และย่านงามวงศ์วาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เด็กมั่นใจกวดวิชาทำให้คะแนนดีขึ้น

 

 

สำหรับผลการเรียนหลังการเรียนกวดวิชานั้น ส่วนใหญ่กลุ่มนักเรียนให้ความเห็นตรงกันว่า ได้ผลกว่าการเรียนในห้องเรียนเป็นที่น่าพอใจ โดยระบุว่าทำให้คะแนนสอบสูงขึ้นกว่าการไม่ได้เรียนพิเศษ

 

 

                “จากที่หนูเรียนกวดวิชามาตลอดชั้น ม.ปลาย หากจะให้เปรียบเทียบระหว่างการเรียนในห้องเรียนกับในโรงเรียนกวดวิชาพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่นการเรียนในห้องเรียน เป็นการเรียนร่วมกับเพื่อนที่เราสนิท สมาธิจึงมีน้อย เพราะสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเล่นมากกว่า ที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ ตัวเนื้อหาที่ค่อนข้างล้าสมัย เมื่อเทียบกับโรงเรียนชั้นนำอื่น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน ที่ใช้หลักสูตรทันสมัย มีเนื้อหาที่ครอบคลุม มีวิธีการสอนที่ง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้มีอยู่ในสถาบันกวดวิชา แต่ไม่มีอยู่ในการเรียนในห้องเรียนปัจจุบัน” หนึ่งในนักเรียนผู้เคยมีประสบการณ์การเรียนกวดวิชากล่าว

 

 

 

นักศึกษาคนดังกล่าวระบุต่อว่า สถาบันกวดวิชาแทบทุกแห่ง มีวิธีจัดการกับความเครียดของนักเรียนได้อย่างดีเยี่ยม เช่น การขั้นมุขตลกระหว่างเรียน หรือการเล่นเกมส์ที่สอดแทรกความรู้ แต่ก็ยอมรับการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม ส่งผลต่อเวลาพักผ่อนของเด็กมากอยู่เหมือนกัน ซึ่งการแก้ปัญหานี้ ทุกคนจำเป็นจะต้องจัดสรรเวลาด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถรับผิดชอบต่องาน ที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน และการทบทวนบทเรียนก่อนไปเรียนพิเศษ เพื่อความต่อเนื่องของเนื้อหาที่เรียน โดยเฉพาะกลุ่มที่จะต้องเรียนกับเทปบันทึกภาพ ที่จะไม่มีผู้คอยตอบคำถามเมื่อสงสัยได้

 

 

             “หนูคิดว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิด เพราะเมื่อเรียนจบชั้น ม.6 เกรดเฉลี่ยของหนูก็ดีขึ้นมากคือ อยู่ที่ 3.50 ซึ่งหนูเชื่อมั่นว่าเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการเรียนพิเศษ"  น.ส.นิสา หนึ่งในผู้เคยเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชากล่าว

 

 

 

เชื่อกวดวิชาทำให้รู้แนวข้อสอบ ใครไม่เรียนเสียเปรียบ

 

 

ด้าน น.ส.เสาวลักษณ์ เอ็งอายุรกูล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพฯ นักเรียนกวดวิชา ที่ผ่านห้องเรียนจากสถาบันกวดวิชาชื่อดังมาแล้วหลายแห่ง อาทิ เคมี อ.อุ๊ พิชญ์วิทยา เอ็นคอนเซ็ป ออนดีมานด์ อรรณพ และดาว้องก์ เป็นต้น กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การกวดวิชาเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะชั้นม.6 เพราะเมื่อทุกคนเรียน ผู้ที่ไม่ได้เรียนก็ต้องเรียน และเมื่อเรียนแล้วรู้สึกว่ายิ่งเรียนกวดวิชา ข้อสอบที่ออกในห้องเรียนก็ยิ่งยากขึ้น ดังนั้นหากไม่เรียนก็ไม่มีความรู้ที่จะไปสู้คนอื่นได้ หรือหากไม่เรียนก็ต้องพยายามอ่านหนังสือเอง แต่ถ้าไปเรียนกวดวิชา จะทำให้รู้แนวข้อสอบเพราะติวเตอร์จะสรุปข้อมูลมาให้ว่าจุดไหนที่ข้อสอบออกบ่อย หรือจุดไหนไม่ค่อยมีในข้อสอบ แต่ก็จำเป็นต้องรู้ ทำให้ได้เปรียบคนที่ไม่ได้เรียนกวดวิชา อย่างไรก็ตามตัวผู้เรียนเอง ก็จำเป็นต้องกลับไปทบทวนบทเรียนด้วยตัวเองเช่นกัน

 

 

 

น.ส.เสาวลักษณ์กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์การเรียนพิเศษของตัวเองพบว่า ติวเตอร์จะสรุปเนื้อหาในเวลาที่จำกัดได้อย่างครอบคลุม และจะสรุปจากแนวข้อสอบเก่า และข้อสอบก็ออกตามเนื้อหาที่สรุปจริง ๆ อย่างไรก็ตาม บางครั้งข้อสอบที่ออกกลับแตกต่างไปจากแนวเดิม เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่ผู้ออกข้อสอบ รู้ว่านักเรียนนิยมไปเรียนกวดวิชามากขึ้น เช่น บางวิชาออกข้อสอบคล้ายกับข้อสอบของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แต่ผู้เรียนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ลงทุนมาจะไม่สูญเปล่า เพราะสุดท้ายแล้วจะสามารถนำความรู้จากการเรียนวิชามาใช้ได้ ที่สำคัญการเรียนการสอนในห้องเรียน ไม่สามารถให้ความรู้ได้เพียงพอ เพราะถึงชั่วโมงเรียนในแต่ละวันจะมากแต่นักเรียนก็ต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนมีวันหยุดนักขัตฤกษ์เข้ามาแทรก สุดท้ายแล้วจึงเรียนได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการเรียนกวดวิชาจึงเสริมสร้างความรู้ และความมั่นใจได้

 

 

              “ตอนนี้รอสอบ 7 วิชาสามัญ ที่ใช้สอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยช่วงเดือนมกราคมนี้ ซึ่งเลือกแพทย์ศาสตร์ไว้ คิดว่าถึงการแข่งขันจะสูงมาก แต่ความรู้ทั้งจากห้องเรียนและการกวดวิชา น่าจะทำให้เรามีโอกาส 50-50 และถึงจะพลาดหวัง ก็ยังเชื่อว่าตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเรียนกวดวิชา” น.ส.เสาวลักษณ์กล่าว

 

 

 

พ่อแม่ยินดีจ่ายเพิ่มตั้งแต่หลักพัน ถึงเกือบครึ่งแสน

 

 

ในส่วนกลุ่มผู้ปกครองที่นิยมส่งบุตรหลานมาเรียนกวดวิชา จากการสำรวจของ ศูนย์ข่าว TCIJ พบว่า ส่วนใหญ่มีความพอใจ และสนับสนุนส่งลูกมาเรียนเพิ่มเติม เพราะเห็นว่า จะเป็นการเปิดโลกให้กับเด็ก เนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาในรูปแบบต่าง ๆ

 

นางศิริวัฒน เอ็งอายุรกูล กล่าวว่า ตนให้ลูกสาว และลูกชาย ซึ่งเรียนอยู่ชั้นม.3 ได้เรียนกวดวิชา เพราะเชื่อว่าการเรียนการสอนของโรงเรียนในปัจจุบันจะให้ความรู้ได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่หากต้องสอบแข่งขันกัน โรงเรียนกวดวิชาจะเป็นตลาดความรู้ที่ให้กับลูก ๆ ได้มากกว่าห้องเรียน ทั้งนี้เฉพาะตัวเลขค่าใช้จ่ายกลม ๆ ในการเรียนพิเศษของลูก 1 คน ตั้งแต่ม.4 จนถึงปัจจุบันน่าจะตกอยู่ที่ 50,000 บาท แต่ละคอร์สก็มีค่าใช้จ่ายหลายพันบาทแล้ว แต่หากนับค่าใช้จ่ายของลูกอีก 1 คน ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งเรียนกวดวิชา ค่าเดินทาง ค่ากิน รวม ๆ แล้วจะตกอยู่ที่ประมาณเดือนละเกือบ 3,000 บาท และหากรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอมของลูกทั้งสองคน ค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชา จะเป็นเงินหลายหมื่นบาทเลยที่เดียว ฉะนั้นสำหรับคนที่พอมีพอกินก็คงลำบากไม่มาก แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีรายได้ไม่สูงมาก หากต้องมาจ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกได้เรียนกวดวิชาก็คงลำบาก

 

 

 

หวังให้โรงเรียนมีระบบที่มีคุณภาพ แต่คงยาก

 

 

        “ตอนดิฉันเรียน การสอบไม่ได้มากมายขนาดนี้ เด็กสมัยนั้นไม่ต้องเรียนกวดวิชา ซึ่งเท่าที่จำได้แทบไม่เคยเห็นโรงเรียนกวดวิชาเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเด็กสมัยก่อนจึงกลับบ้านมาทำการบ้าน และมีเวลาผ่อนคลายได้วิ่งเล่นซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กสมัยนี้แทบไม่มีโอกาส ทั้งนี้น่าจะมาจากสมัยนั้นการแข่งขันด้านหน้าที่การงานไม่สูงมากเหมือนสมัยนี้ แต่จากการที่สังเกตลูกสาว ก็ดูเขาไม่ได้เครียด หรือกดดันจากการเรียนหนักแต่อย่างใด กลับกันลูกสาวจะเกิดความเครียด หากไม่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากสถาบันกวดวิชา เนื่องจากการแข่งขันในการหางานทำเข้มข้นขึ้นทุกปี” นางศิริวัฒน์กล่าว พร้อมระบุว่า บางครั้งก็รู้สึกกลับมาทบทวนเช่นกันว่า เงินที่ส่งให้ลูก ๆ ได้เรียนมีจำนวนที่มากอยู่ หากจบมาแล้ว ลูก ๆ ทำงานเริ่มต้นเดือนละ 15,000 บาท จะต้องทำงานกี่ปีจึงจะเท่ากับเม็ดเงินที่ส่งให้ลูกทั้งสองได้เรียน ดังนั้นจริง ๆ เชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ อยากให้ทุกอย่างจบภายในห้องเรียน จะได้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือก พ่อแม่ก็ต้องยอมให้ลูกเรียนกวดวิชา เพราะอยากให้เขามีความรู้ มีอนาคตหน้าที่การงานที่ดี ลูกหลานจะได้ไม่ลำบาก

 

 

ศธ.เร่งปฏิรูปหลักสูตรแต่ยังไม่คืบ

 

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานการเรียนในโรงเรียนปกติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองคาดหวังมากที่สุด ก่อนหน้านี้ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ต้องการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบของไทยทั้งหมด โดยมอบนโยบายปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับชั้น ให้สพฐ.เดินหน้าปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เลขาธิการ กพฐ.แจกแจงว่า เบื้องต้นพบปัญหาว่า เด็กไทยเรียนมาก แต่รู้น้อย หรือเรียนมากแต่ความสามารถทางการคิดยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้นสพฐ.จะต้องประชุมผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ว่าการปฏิรูปหลักสูตร จะต้องมีทิศทางและรูปแบบอย่างไร โดยยึดนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการปรับลดการเรียนการสอนในห้องเรียนให้น้อยลง แต่พัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กจะต้องมากขึ้น

 

 

              “สพฐ.จะนำนโยบายที่ได้รับมาถอดรหัสดูว่า ในภาคปฏิบัติมีการจัดการเรียนการสอนส่วนไหนที่มากเกินไป หรือการจัดกิจกรรมแบบไหน ที่ส่งผลให้เด็กเกิดพัฒนาการทางด้านการคิดไม่เพียงพอ” เลขาธิการกพฐ.กล่าว

 

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องติดตามว่า การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถึงอย่างไร ในพ.ศ.นี้เด็กนักเรียนไทย ก็ยังคงต้องพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชาอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: