ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จนถึงขณะนี้ วันที่ 11กุมภาพันธ์ เป็นช่วงหนึ่งที่มีเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ ๆ เกิดขึ้นถี่มาก ๆ ครั้งหนึ่ง เริ่มจากเหตุคนร้ายกราดยิงครูชาวนาจากจ.สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี ในพื้นที่อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 11 คน
ตามมาด้วย เหตุยิงถล่มรถกระบะที่มีนายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีนั่งมาด้วย และและเหตุยิงพ่อค้ารับซื้อผลไม้เสียชีวิต 4 ราย ที่อ.กรงปินัง จังหวัดยะลา เมื่อกลางดึกของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่อาจอยู่นิ่งได้ โดยคิดถึงเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว หรือการห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามค่ำคืน
ล่าสุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุลอบวางระเบิดทหารเสียชีวิต 5 นายในอ.รามัน จ.ยะลา และอีกหลายเหตุการณ์ตามมาในวันและคืนเดียวกัน เสมือนยิ่งเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลต้องการใช้มาตรการนี้ในพื้นที่เร็วขึ้น ทว่าฝ่ายทหารเอง ซึ่งเป็นกำลังหลักที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาในพื้นที่เห็นว่า อย่าง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่า ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า จะมีการหารือว่าควรประกาศเคอร์ฟิวอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อน
ในขณะที่มุมมองจากพื้นที่ ส่วนใหญ่เห็นว่า การประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่อันตรายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่ได้ผลต่อการแก้ปัญหาอย่างผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ดร.ศรีสมภพกล่าวว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่งานการเมืองและการต่อสู้ทางความคิด งานยุทธการทางการทหารแม้จะสำคัญ แต่ต้องรองรับงานการเมืองหรืองานมวลชน
“จากประสบการณ์ 9 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ฝ่ายทหารเองก็ได้สรุปบทเรียนว่า การจัดการความไม่สงบที่มีประสิทธิผลกว่าคือการใช้งานการเมืองไปสลายงานการทหารและการเมืองของฝ่ายขบวนการ โดยเฉพาะการหยุดยั้งการจัดตั้งและปลุกระดมมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม”
ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า การลดความรุนแรงที่บางพื้นที่ซึ่งเคยมีการประกาศเคอร์ฟิวในอดีต เช่น ในพื้นที่อำเภอบันนังสตาหรืออำเภอยะหา จังหวัดยะลานั้น อยู่ที่การปฏิบัติการด้านอื่น ๆ ของฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่ในการหยุดยั้งการปฏิบัติการของฝ่ายตรงกันข้ามมากกว่า
“มาตรการเคอร์ฟิวมีส่วนน้อยมากในการลดปัญหา แต่กลับจะไปเร่งปัญหาความไม่พอใจของประชาชนที่ต้องเดือดร้อนจากการไปละหมาดหรือขนส่งสินค้าเกษตรตอนกลางคืน จนในที่สุดทำให้ต้องยกเลิกเคอร์ฟิวไปในเวลาต่อมา”
ดร.ศรีสมภพกล่าวว่า นอกจากนี้ คนโดยทั่วไปในเขตพื้นที่สีแดงก็รู้ตัวเอง พวกเขามักจะไม่ออกไปไหนไกล ๆ ตอนกลางคืนอยู่แล้ว เว้นแต่ที่ไม่ระวังตัวจริง ๆ หรือประมาทว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ต้องระมัดระวังตัวกันให้มากขึ้น
ดร.ศรีสมภพกล่าวต่อว่า เหตุผลอีกด้านหนึ่งก็คือสถิติการเกิดเหตุที่ผ่านมา ร้อยละ 70-80 มักจะเกิดขึ้นตอนกลางวัน โดยเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็น การประกาศเคอร์ฟิวจึงไม่เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด หากทางการประกาศเคอร์ฟิวก็จะทำให้ฝ่ายที่ก่อเหตุความไม่สงบก็น่าจะได้เปรียบทางการเมืองมากขึ้นไปอีก เพราะจะส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อน ในขณะที่รัฐก็จะเสียความชอบธรรมลงไปอีก ภาพลักษณ์กับต่างประเทศก็จะเลวร้ายลงไปยิ่งขึ้น เพราะคำว่า “เคอร์ฟิว” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับข่าวต่างประเทศ
“หากพิจารณาดูแล้วการตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้ จึงน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลได้อย่างมากมาย รัฐบาลควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจในเรื่องนี้” ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าว
ด้านนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แสดงความในทางที่สอดคล้องกันว่า การประกาศเคอร์ฟิว จะไม่มีผลอะไรต่อการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบเลย เนื่องจากมาตรการทำนองนี้ได้เคยลองทำมาแล้ว เช่น ระบบเซฟตี้โซน การตั้งด่านตรวจบนท้องถนน แม้แต่การตั้งด่านลอย
“บางช่วงเวลาก็เคยประกาศเคอร์ฟิวมาแล้วในอดีต วันนี้เป็นอย่างไร ได้ผลหรือไม่ก็เห็น ๆ กันอยู่ เกือบหนึ่งทศวรรษเข้าไปแล้ว เหตุรุนแรงก็ยังคงเกิดได้ทุกวัน”
นายประสิทธิ์เสนอว่า น่าจะเปลี่ยนวิธีคิดจากการต่อสู้กันทางยุทธวิธีในสนามรบ มาเป็นการร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพให้ก้าวหน้ามากกว่า เพราะเป็นแนวทางที่ยอมรับกันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ขณะที่ นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรเสริมสังคมสันติสุขจังหวัดชายภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การใช้กฎหมายพิเศษที่พร่ำเพรื่อ ไม่ถือเป็นหลักประกันใด ๆ เลย ที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสที่รัฐจะเพลี่ยงพล้ำใช้อำนาจเกินขอบเขตจะมีมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และท้ายสุดจะเป็นเครื่องมือในการกระพือข่าวความรุนแรงในหมู่ประชาชน ให้ต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้น
“รัฐต้องเร่งการหากระบวนการสันติภาพในแนวทางสันติวิธีโดยฉับพลัน ขณะเดียวกันต้องเปิดแนวทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาสังคม ตรวจสอบ สืบสวนเกี่ยวกับเหตุรุนแรงที่เกิดถี่ขึ้นในขณะนี้ให้เป็นที่ประจักษ์โดยเร็ว ต้องสร้างความเข้าใจในแก่ประชาชนในทุกมิติของรัฐ โดยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม” นายอัฮหมัดสมบูรณ์
ส่วนในมุมมองของชาวบ้าน อย่างนางฮาสนะห์ แวมะลี เจ้าของร้านขายรองเท้ามือสอง ในตัวเมืองปัตตานี ระบุว่า ไม่เห็นด้วยแน่นอนถ้ารัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ เพราะตนตระเวนขายของตามตลาดนัดหลายแห่งในพื้นที่ด้วย ซึ่งบางแห่งเป็นตลาดนัดกลางคืน
“แต่ถ้าต้องการประกาศเคอร์ฟิวจริง ๆ ก็อยากให้ประกาศในช่วงเวลาหลังจากสี่ทุ่มจนถึงตีห้าเท่านั้น เนื่องจากตนเปิดร้านขายของในย่านถนนสายหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีด้วย ซึ่งจะมีนักศึกษาหรือประชาชนพลุกพล่านในช่วงเวลาเย็นจนถึงประมาณสี่ทุ่ม”
นางฮาสนะห์ระบุด้วยว่า พ่อค้าแม่ค้าเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาก ทำให้ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ตลอด เพราะสินค้าจะขายดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและสถานการณ์ เช่น กรณีมีข่าวข่มขู่ไม่ให้ขายของในวันศุกร์ ตนก็จะไม่เปิดร้านในวันศุกร์ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะแง้มดูร้านข้าง ๆ ก่อนว่าเปิดหรือไม่ ถ้าเปิดตนก็จะเปิดร้านด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ