ปิยสวัสดิ์แนะใช้พลังงานหมุนเวียน ชื่นชมจวกเป็น'วิกฤตธรรมาภิบาล' รัฐล็อกสเปคสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 12 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2239 ครั้ง

 

กรณีที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า พม่าจะหยุดซ่อมบำรุงแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าหายไปจากระบบวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต สร้างความวิตก แตกตื่น และจุดกระแสความสนใจด้านพลังงานของประเทศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านหนึ่งนำโดย กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ถูกจุดกระแสขึ้นในเวลานี้ ทางกฟผ.ให้เหตุผลในแง่ของความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะที่อีกฟากหนึ่งนำโดยกลุ่มเอ็นจีโอและนักวิชาการด้านพลังงานกลับมองว่า เหตุการณ์นี้เป็นกระบวนการอันแยบยล ที่อาศัยความกลัวของประชาชน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งที่รัฐบาล กฟผ. และ ปตท. ไม่เคยไขข้อข้องใจด้านพลังงานแก่สังคมได้เลย ไม่นับว่าแผนการประหยัดพลังงาน การพัฒนาพลังงานทางเลือก หรือแนวทางอื่นๆ ที่จะเป็นทางออกด้านพลังงานของไทยก็ไม่เคยได้รับการใยดี

 

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพธุรกิจพลังงานของไทยที่มีลักษณะผูกขาด ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้เป็นเรื่องจริงหรือแค่ดราม่าพลังงานกันแน่

 

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.พลังงาน และ ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิจัยด้านไฟฟ่าและพลังงาน มาเสวนาพิเศษในหัวข้อ "วิกฤตไฟฟ้า วิกฤตพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงมายา" เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ที่หลากหลาย มุมมองที่มากมิติขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘ปิยสวัสดิ์’ ถาม รมว.พลังงาน ปิดซ่อมท่อทุกปี ทำไมต้องทำเป็นเรื่องใหญ่

 

 

ก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาให้ข้อมูลว่า การหยุดส่งก๊าซจากแหล่งยาดานาและเยตากุนจะทำให้ไฟฟ้าหายไปจากระบบถึง 4,100 เมกะวัตต์ ซึ่งหมายถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 6 โรงไฟฟ้าที่หายไป ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์, โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าวังน้อย

 

ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน-ไฟฟ้า ตั้งข้อสังเกตว่า โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าวังน้อย นอกจากจะใช้ก๊าซจากพม่าแล้ว ส่วนหนึ่งยังใช้จากแหล่งก๊าซในอ่าวไทยและยังมีน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองด้วย ขณะที่โรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ในสัญญาที่ทำกับ กฟผ. ระบุชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าทั้ง 3 จะต้องมีคลังสำรองเก็บเชื้อเพลิงอย่างน้อย 3 วัน และ กฟผ. ยังสามารถเติมเชื้อเพลิงที่พร่องไปได้ด้วย แสดงว่าตามสัญญาได้มีมาตรการรองรับไว้แล้ว

 

 

 

 

สอดคล้องกับ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ต้องไปสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานปัจจุบันว่า ทำไมจึงต้องทำให้เป็นประเด็นใหญ่โต ทั้งที่จริง ๆ แล้ว การซ่อมท่อก๊าซเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว และประเทศไทยก็พึ่งก๊าซธรรมชาติถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามา 10 กว่าปีแล้ว การซ่อมท่อก๊าซที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด แม้แต่ในเวลาที่เกิดวิกฤตจริง ๆ ระบบไฟฟ้าก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ ยิ่งการหยุดซ่อมที่รู้ล่วงหน้าเป็นปีแล้ว ยิ่งสามารถเตรียมการณ์ได้ล่วงหน้าและเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นได้

 

 

            “อย่างกรณีโรงไฟฟ้าราชบุรี ส่วนหนึ่งก็เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ส่วนหนึ่งก็เผื่อในกรณีที่ก๊าซจากพม่าส่งมาไม่ได้ โรงไฟฟ้าก็ยังใช้น้ำมันเตาแทนได้”

 

 

เหตุนี้ ดร.ปิยสวัสดิ์ เห็นว่ากรณีไฟตก-ไฟดับ ไม่มีประเด็นอะไรที่ให้หยิบยกขึ้นมาให้ประชาชนวิตกกังวล เพราะ กฟผ. และ ปตท. สามารถจัดการได้อยู่แล้ว และต่อให้ไฟฟ้าหายไปจากระบบจริง มาตรการต่าง ๆ ก็มีรองรับไว้อยู่แล้วที่สามารถนำมาใช้ได้เลย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดวิกฤตจนต้องใช้มาตรการเหล่านี้เลย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กฟผ.แจ้งไฟหายจากระบบเกินจริง

 

 

ชื่นชมยังกล่าวอีกว่า ไฟฟ้าที่หายไปจากระบบจริงน่าจะประมาณ 670 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่ กฟผ. คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าสูงสุดในวันที่ 4 เมษายน 2556 น่าจะอยู่ที่ 26,500 เมกะวัตต์ แต่ถ้าก๊าซหายไปในวันที่ 5 เมษายน จะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือเพียง 700 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าหมิ่นเหม่ เนื่องจากระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองควรอยู่ที่ 1,200 เมกะวัตต์ แต่หากปรับตัวเลขใหม่ ไฟฟ้าที่จะหายจากระบบจาก 4,100 เมกะวัตต์ เป็น 670 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 1,200 เมกะวัตต์ค่อนข้างมาก ชื่นชมเห็นว่า การที่ กฟผ. แจ้งว่าไฟจะตกจึงไม่น่าจะเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อเท็จจริง

 

 

            “แต่การที่ กฟผ. บอกว่าเครื่องไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลมานาน จึงไม่รู้เครื่องจะใช้ได้หรือเปล่า คำถามก็คือ จากวันนี้ถึงวันที่ซ่อมท่อก๊าซ เหตุใดจึงไม่ลองเครื่องดู ทำไมไม่ซ่อม ดังนั้นการอ้างว่าไฟอาจไม่พอ เพราะเครื่องใช้งานไม่ได้ ถือเป็นการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า หรือเป็นการจงใจที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกว่า ไฟฟ้าจะขาด เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม” ชื่นชมกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รู้ล่วงหน้า 1 ปี แต่เงียบมา 10 เดือน

 

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุใดจึงต้องหยุดซ่อมท่อในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูง ชื่นชมตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ววิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตสร้างหรือวิกฤตจริง ทั้งที่ปีที่แล้วก็เคยมีบทเรียนในลักษณะนี้ เมื่อเกิดการซ่อมท่อก๊าซจากแหล่งเยดากุนทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น 5 สตางค์ และทาง ปตท. ก็ระบุว่า ทางพม่าได้แจ้งล่วงหน้าว่า จะมีการหยุดซ่อมมาประมาณ 1 ปีแล้ว

 

 

            “คำถามคือคุณมีเวลา 1 ปี ทำไมไม่เจรจาเลื่อนการซ่อมท่อจากช่วงเดือนเมษายนไปเป็นช่วงธันวาคมหรือมกราคม และทำไมจึงนิ่งเงียบมากว่า 10 เดือน แล้วค่อยมาประกาศภาวะฉุกเฉิน พร้อมกับงบประชาสัมพันธ์ 65 ล้าน เพื่อสร้างกระแสวิกฤตพลังงาน”

 

 

ปตท.ปิดส่วนลด 25 เปอร์เซ็นต์ ถ้าส่งก๊าซไม่ได้

 

 

ชื่นชมยังเปิดเผยสัญญาที่ปตท.ซึ่งเป็นผู้รับซื้อก๊าซ ทำกับผู้รับสัมปทานว่า

 

 

            “ผู้รับสัมปทานแหล่งยาดานา เป็นผู้ขายก๊าซให้ ปตท. ซึ่งมีสัญญากำกับเงื่อนไข ปริมาณ คุณภาพต่าง ๆ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ถ้าเจาะดูในสัญญา พบว่า มีการระบุถึงการชดเชยชัดเจนกรณีหยุดซ่อม ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการหยุดซ่อมแบบวางแผนล่วงหน้า ที่ในสัญญาระบุว่า แม้จะหยุดซ่อม แต่ยังต้องนำส่งก๊าซอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ของระดับการส่งก๊าซปกติ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ในกรณีที่ไม่สามารถส่งก๊าซได้เลย ในสัญญาข้อ 15.2 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่สามารถส่งก๊าซให้แก่ ปตท.ได้ตามสัญญา ไม่ว่ากรณีใด ปตท.จะได้สิทธิซื้อก๊าซเฉพาะในส่วนที่ขาดหายไปภายหลังได้ในราคาที่ต่ำกว่าปกติ 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่ว่า ปตท.สผ. บริษัทลูกของ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัทที่รับสัมปทานจากแหล่งเยตากุน

 

 

ชื่นชมตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไม ปตท. ปิดเรื่องส่วนลด ทำไมกระทรวงพลังงานต้องสร้างกระแส ทั้งที่มีมาตรการและสามารถเตรียมรับมือได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำไมองค์กรกำกับดูแลไม่ตรวจสอบสัญญา” ชื่นชม กล่าว

 

 

สร้างวิกฤต หวังดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

 

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงพลังงาน ปตท. กฟผ. และองค์กรกำกับดูแล รู้ข้อมูลบางอย่างล่วงหน้า แต่กลับพูดกับสาธารณะด้วยข้อมูลอีกชุดหนึ่ง และทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น ส่วนหนึ่งของคำตอบอาจอยู่ในข่าวที่ พงษ์ดิษฐ์ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. ออกมาเรียกร้องให้รัฐดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์

 

แต่ชื่นชมก็ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดการประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี (Independent Power Producer: IPP) จึงล็อกสเปคให้เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งมีปตท.เป็นผู้จัดหาเพียงรายเดียว แทนที่จะเปิดให้มีการผลิตอย่างหลากหลาย

 

 

รัฐตั้งเงื่อนไข ตัดตอนพลังงานหมุนเวียน

 

 

ประเด็นนี้ ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการที่ควรจะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนน้อยเกินไป และยังสร้างกฎระเบียบ ขั้นตอนยุ่งยาก ที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดขึ้นของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กหรือเอสพีพี (Small Power Producer: SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมากหรือวีเอสพีพี (Very Small Power Producer: VSPP)

 

ดร.ปิยสวัสดิ์ยกกรณีตัวอย่างการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งแต่เดิมค่อนข้างเปิดกว้าง และมีมาตรการจูงใจ ภายหลังรัฐบาลกลับไปกำหนดเป็นโควต้า 2,000 เมกะวัตต์ ผู้ที่ได้สัญญาโครงการ แต่ไม่ต้องพัฒนากำลังการผลิตก็มีสิทธินำสัญญาไปขายต่อ เพื่อได้ส่วนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ก่อให้เกิดการวิ่งเต้นเพื่อให้เปลี่ยนสัญญาได้

 

ต่อมาก็เกิดอุปสรรคขึ้นอีกทั้งที่ก่อนหน้าไม่เคยเป็นประเด็นคือ ใบ รบ.4 หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เป็นใบที่ต้องขอก่อนจะไปขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กลายเป็นปัญหาสำหรับผู้ผลิตพลังงานและโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปด้วย

 

 

            “มีการกำหนดว่า ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5 แรงม้าหรือประมาณ 3.6 กิโลวัตต์ ต้องขอ รบ.4 ถ้าผมมีเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน แล้วถ้าหลังคาบ้านผมใหญ่หน่อย ผลิตไฟฟ้าได้เกิน 3.6 กิโลวัตต์ ผมก็ต้องขอใบ รบ.4 ถ้าไม่ถึง 3.6 กิโลวัตต์ก็ไปติดมติของคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพราะถ้าไม่เอาส่วนเพิ่มค่าไฟ ก็ทำไม่ได้”

 

 

            “ลองคิดดูนะครับ ตอนนี้เรามีบ้านประมาณ 15 ล้านครัวเรือน ถ้าเราได้เซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านแค่ 1 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 กิโลวัตต์ เราก็ได้ไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ ถ้าสิ่งเหล่านี้เดินไปได้ ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าจะไม่รุนแรงแบบนี้เลย หากแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ได้ โครงการพลังงานหมุนเวียนจะเกิดขึ้นเยอะมาก และตอนนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลงมาเร็วมากเหลือประมาณ 5-6 บาทต่อหน่วย เท่า ๆ กับการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติเหลว และยังจะลดลงมาอีก ตอนนี้ถ้าทำฟาร์มแสงอาทิตย์ ผมคิดว่าต้นทุนจะอยู่ที่ 70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์” ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว

 

 

ไม่ใช่วิกฤตพลังงาน แต่เป็นวิกฤตธรรมาภิบาล

 

 

กรณีเหล่านี้สะท้อนถึงการขาดธรรมาภิบาลทั้งระบบพลังงาน ที่ต่างก็เอื้อประโยชน์แก่กัน ชื่นชม กล่าวว่า ระบบพลังงานของประเทศกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยแผนธุรกิจของบริษัทพลังงานอันดับ 1 ของประเทศ และทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสิ้น จากการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าและพลังงาน

 

 

            “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่วิกฤตพลังงาน แต่เป็นวิกฤตธรรมาภิบาล ที่เกิดจากการสมยอมกันทั้งระบบ และผลักภาระให้แก่ผู้บริโภค ที่ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบกับความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นเลย”

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: