ใกล้เข้ามาทุกขณะกับเส้นทางแข่งขันจัดซื้อแท็บเล็ต ประจำปีงบประมาณ 2556 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 1 และครู รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,634,314 เครื่อง ในวงเงิน จำนวน 4,611,248,480 บาท หลังจากผ่านขั้นตอนการเชิญชวนให้บุคคล นิติบุคคล องค์กรต่าง ๆ ให้มาซื้อเอกสารประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กับสำนักการคลังและสินทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา
ช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน บรรยากาศการซื้อแบบยังไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะมีบุคคล นิติบุคคล และองค์กรต่าง ๆ มาร่วมซื้อแบบเพียง 25 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ศูนย์รวมครุภัณฑ์ 2000 จำกัด 2.บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด หรือเอเซอร์ 3.บริษัท เอเทค คอมพิวเตอร์ จำกัด 4.บริษัท ลิวอลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 5.บริษัท วีเทค เทคโนโลยี่ซิสเต็มส์ จำกัด 6.Shenzhen Coship Electtonics Co.,Ltd. 7.บริษัท ตาดีเมททัล แอนด์ เทรเวิล จำกัด 8.บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) 9.กลุ่มบริษัท ไฮเออร์อีเล็คทริค จำกัด10.บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน)
11.บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนท์ฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลจัดซื้อแท็บเล็ตนักเรียนป.1 จำนวน 860,000 เครื่อง เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา 12.นายอุทิศ เหมหัตถกิจ 13.กิจการร่วมค้า ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย วนลิดา 14.Shenzhen AV Media Technology Co.,Ltd. 15.บริษัท ไฮไฟ โอเรียนท์ไทย จำกัด 16.บริษัท เซินเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด 17.บริษัท ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี จำกัด 18.Veer Interactive Pte Co.,Ltd. 19.องค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 20.บริษัท โอเรียนทัล มัลติมิเดีย จำกัด 21.บริษัท วูแนน จำกัด 22.บริษัท อาร์เอสเอ็ม แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด 23.เคเอฟ คอนซอเตี่ยม 24.บริษัท สงขลาฟินิชชิ่ง จำกัด และ 25.บริษัท ฟอร์ทคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
แต่ปรากฎว่า การขายแบบวันสุดท้าย ทุกอย่างก็เหมือนมาตามนัด หลังจากสพฐ.สรุปยอดรวมบุคคล นิติบุคคล และองค์กรต่าง ๆ ที่มาซื้อแบบ ทั้งสิ้นรวม 43 ราย โดยรอบหลังนี้มีบริษัทใหญ่ ๆ เข้าร่วมเส้นทางอีก 3 ราย คือ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไฮเออร์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งหากยังจำกันได้ทั้ง 2 บริษัทหลังนี้ เคยเป็นคู่แข่งกับ บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนท์ฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ประมูลขายแท็บเล็ตป.1 ปีที่แล้ว แต่แพ้ไป ซึ่งในปีนี้เขาจะกลับมาสู้ใหม่ และถือเป็นคู่แข็งจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่น่ากลัว
สพฐ.กางเกณฑ์คัดคุณสมบัติชิงชัยแท็บเล็ต
แต่การเริ่มประมูลมิได้ลงมือทำในทันที ทั้ง 43 รายชื่อดังกล่าว ยังต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ สพฐ.ตั้งเอาไว้ เพื่อมีสิทธิ์ในการเสนอราคา ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไป โดยเกณฑ์คัดเลือกคุณสมบัติมี 8ข้อหลักสำคัญคือ 1.เป็นผู้มีอาชีพขายพัสดุที่ประกวดราคาซื้อ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว 2.ไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของทางราชการ และได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว 3.ไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์ หรือความคุ้มกัน ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทย เว้นแต่รัฐบาลของผู้ประสงค์จะเสนอราคาได้มีคำสั่งให้สละสิทธิ์ความคุ้มกันเช่นว่านั้น 4.เป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น ในการซื้อของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
5.ไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ประสงค์จะเสนอราคารายอื่น ที่เข้าเสนอราคาให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ วันที่ประกาศประกวดราคา ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่เป็นผู้กระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ในการประกวดราคาซื้อ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้ 6.บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญา ต้องไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ 7.บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement : e-GP) ต้องลงทะเบียนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ 8.คู่สัญญาต้องรับและจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร เว้นแต่การจ่ายเงินแต่ละครั้งซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 30,000 บาทคู่สัญญาอาจจ่ายเป็นเงินสดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 43 รายชื่อดังกล่าว มีกำหนดต้องยื่นซองเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือตรวจคุณสมบัติข้างต้น และตัวเครื่องแท็บเล็ตให้ สพฐ. ในวันที่13 มิถุนายน นี้ ขณะที่ สพฐ.กำหนดปฏิทินภายในจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบเอกสาร ว่าบุคคลหรือบริษัทนั้น มีคุณสมบัติตามที่กำหนดหรือไม่ ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ รวมถึงกำหนดตรวจสอบคุณสมบัติตัวเครื่องแท็บเล็ต ทั้งสเปกเครื่องตรงตามทีโออาร์ และการตกหล่น (Drop test) ในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติได้ในสัปดาห์ถัดไป
คาดมี 9 บริษัทใหญ่สู้ยิบตานัดชิง
แหล่งข่าวในกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า หากบริษัทหรือบุคคลต่าง ๆ ที่ซื้อแบบเข้าประมูล ผ่านการคัดเลือกตามคุณสมบัติแล้ว ว่ากันเพียงข้อแรกของเกณฑ์คือ กำหนดว่าต้องเป็นบริษัทที่เคยค้าขายแท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ไอทีมาบ้างแล้ว ประเด็นนี้ทำให้บริษัทหลายสิบแห่ง หรือบุคคล ต้องหลุดจากการแข่งขัน เพราะความไม่พร้อมของตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นเมื่อมองตามคุณสมบัติข้อนี้ จะมีบริษัทหรือบุคคลที่เหลือเข้ารอบเพียง 9 รายใหญ่เท่านั้น แบ่งเป็น ไทย 5 บริษัท จีน 4 บริษัท คือ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด หรือเอเซอร์ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด บริษัท สงขลาฟินิชชิ่ง จำกัด บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนท์ฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด บริษัท เซินเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด บริษัท ไฮเออร์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี จำกัด ที่จะเข้าร่วมชิงชัยในโค้งสุดท้ายได้
อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปดูประวัติเป็นรายบริษัท ที่เคยค้าขายกับหน่วยงานของรัฐ จะพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด หรือเอเซอร์ เคยชนะการประมูลจัดซื้อคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็นเครื่องพีซี 109,583 เครื่อง เครื่องเซิร์ฟเวอร์ 3,843 เครื่อง ในโครงการของ สพฐ.ให้กับโรงเรียน 7,199 แห่ง วงเงิน 2,928 ล้านบาท เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา และยังมีอีกหลายโครงการที่เคยคว้าชัยไป เรียกได้ว่าเป็นเจ้าประจำและคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับส่วนราชการโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนบริษัท สงขลาฟินิชชิ่ง จำกัด เคยชนะการประมูลโครงการเช่าระบบ และพัฒนาห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ของโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 435 โรงเรียน จำนวน 20,632 เครื่อง วงเงิน 936 ล้านบาท เมื่อปี 2554 ผ่านมา และก็เคยคว้าชัยในโครงการเล็กของ สพฐ.เช่นกัน ขณะที่ บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนท์ฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ชนะการประมูลจัดซื้อแท็บเล็ตป.1 จำนวน 860,000 เครื่อง วงเงิน 1,900 ล้านบาท ในปี 2555 ที่ผ่านมา ส่วนบริษัทอื่น ๆ ไม่พบประวัติเคยซื้อขายกับหน่วยงานรัฐ
เป็นที่น่าจับตาว่า วันจัดประมูลฯ ในวันที่ 21 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ (อย่างเร็ว) หรือวันที่ 25 มิถุนายน (อย่างช้า หากมียื่นอุทธรณ์) ของแท็บเล็ต 1.6 ล้านเครื่อง แบ่งเป็น 4 กอง หรือ 4 สัญญานั้น จะเข้าข่ายวัวเคยค้าม้าเคยขี่หรือไม่ และจะมีบริษัทตัวเต็งรายไหนคว้าชัยแบบเหมา หรือแบ่งผลประโยชน์กันเท่าใด แต่ดูจากความน่าจะเป็นแล้ว การประมูลแท็บเล็ตครั้งนี้น่าจะเป็นเค้กแบ่งกันกิน เพราะหากจะกินรวบแบบเหมายกเข่ง ผู้เข้าประมูลรายนั้นต้องมีพลังมากมายทั้งกำลังเงิน กำลังผลิต และสายสัมพันธ์กับการเมืองที่แข็งแรงพอสมควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดซื้อแท็บเล็ตครั้งนี้ เป็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โซนที่ 1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 431,105 เครื่อง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โซนที่ 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 373,637 เครื่อง นักเรียนและครูชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โซนที่ 3 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 426,683 เครื่อง นักเรียนและครูชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โซนที่ 4 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 402,889 เครื่อง
อ่านรายละเอียดเงื่อนไขการประมูลได้ที่ไฟล์แนบด้านล่าง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ