สะเอียบชูป้ายไล่‘ปลอด’ ยื่นค้านเขื่อนยมบน-ล่าง

12 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1715 ครั้ง

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม หลังจาก นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ. เดินทางมาตรวจราชการที่จ.แพร่ เพื่อเตรียมการเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาจ.แพร่ โดยเน้นเรื่องรถไฟความเร็วสูงผ่านจ.แพร่ไปจ.เชียงราย ศูนย์พักสินค้าภาคเหนือ ถนนสี่เลน เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งการพัฒนาสินค้าโอท็อปของจังหวัดแพร่ ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่

ขณะที่ชาวบ้านต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 300 คน เดินทางด้วยรถกระบะหลายสิบคัน มาชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอสอง โดยเวลาประมาณ 08.00 น.ขบวนรถของชาวบ้านออกจากหมู่บ้าน แต่ถูกสกัดตรวจใบขับขี่และบัตรประชาชน ที่ด่านตรวจบ้านป่าเลา ทำให้ขบวนล่าช้า มาถึงที่ว่าการอำเภอสองในเวลาประมาณ 10.00 น. จากนั้นชาวบ้านจึงเริ่มเปิดเวทีปราศรัยที่สนามฟุตบอล พร้อมกับอ่านจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ชาวบ้านทราบข่าวว่า นายปลอดประสพ จะเดินทางมาตรวจราชการที่จ.แพร่ จึงพากันมาชูป้ายขับไล่ เพราะนายปลอดประสพเป็นตัวผลักดันเขื่อนทำลายป่าสักทอง ทั้งเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง รวมทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เราก็ไม่เอา เราเสนอให้พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอีกทั้งหมด 12 ข้อ  โดยเราได้ทำเป็นจดหมายถึงท่านนายกรัฐมนตรี และจากการประสานงานท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ขอร้องให้ชาวบ้านรออยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอสอง ท่านผู้ว่าจะมารับหนังสือด้วยตัวท่านเอง เราจึงยอมให้กับท่าน แต่หากข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของพวกเราทั้ง 12 ข้อไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็พร้อมที่จะมาทวงถามท่านพ่อเมืองเราเช่นกัน

จากนั้นเวลาประมาณ 10.30 น. นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เดินทางมาถึงที่ว่าการอำเภอสอง พร้อมเจรจากับตัวแทนขาวบ้านกว่า 20 คน โดยผู้ว่าฯ ยืนยันว่า ขณะนี้แผนหรือนโยบายของรัฐบาลนั้นยังไม่ลงตัว ส่วนทางจังหวัดแพร่นั้นไม่ได้มีการเสนอให้สร้างเขื่อน แต่ได้เสนอให้สร้างอ่างพวงเป็นอ่างขนาดกลางขนาดเล็กหลายอ่าง เพื่อจะได้น้ำรองรับในหน้าแล้ง

            “ขอให้พี่น้องชาวสะเอียบ สบายใจได้ ผมเป็นคนเมืองแพร่ อย่างไรผมก็ต้องช่วยพี่น้องเมืองแพร่ ในเรื่องน้ำจังหวัดเรามีแผนการจัดการอ่างพวง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กหลายตัวพ่วงกัน เป็นพวง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ส่วนท่านรองนายกท่านมาเรื่องแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเหนือ เรื่องรถไฟความเร็วสูง พวกเราอย่าได้กังวลใจผู้ว่าคนเมืองแพร่รับรอง” นายอภิชาติกล่าว

                จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ลงมารับหนังสือที่หน้าศาลากลาง อำเภอสอง ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 300 คน ถือป้ายผ้าคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น และป้ายไล่นายปลอดประสพ ซึ่งผู้ว่าฯ ได้รับปากส่งต่อถึงนายกรัฐมนตรี และปราศรัยชี้แจงชาวบ้าน จนเวลาประมาณ 11.30 น. การชุมนุมของชาวบ้านจึงยุติลงและแยกย้ายเดินทางกลับภูมลำเนาต่อไป

สำหรับหนังสือของคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ (บ้านดอนชัยสักทอง) ระบุว่า

ศูนย์ประสานงานชุมชน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120

10  ตุลาคม  2556

เรื่อง       ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) และใช้แนวทางการจัดการน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง รวมทั้งใช้ 12 แนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม

เรียน      ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จากการที่ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ผลักดันโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งแผนการจัดการน้ำของ กบอ. ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้ในนั้นด้วย อาทิ แผนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ จะทำลายป่า 41,750 ไร่ แผนการสร้างเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นแยกออกเป็น 2 เขื่อน ก็จะทำลายป่าไม่น้อยไปกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่นกัน

แผนการจัดการน้ำดังกล่าว ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อันจะนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย และภัยพิบัติ ตามมาอย่างรุนแรงขึ้น ดั่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจุบันปัญหาโลกร้อนคุกคามโลกอย่างต่อเนื่อง จึงควรยุติการทำลายป่าซึ่งเหลืออยู่น้อยมากแล้ว

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงปัญหาการทำลายป่าและปัญหาโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยกลุ่มราษฎรรักป่าขอเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยุติแผนการทำลายป่า ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ โดยเด็ดขาด และหันมาใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 12 ข้อ

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอเหตุผลที่ไม่สมควรสร้างเขื่อน และขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน ดังต่อไปนี้

เหตุผล 8 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

1.ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย

2.ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้

3.ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง

4.การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย

5.ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง

6.ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน

7.ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม

8.ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น

แนวทางแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ

1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย

2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น

3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า

4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพสนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ

5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ไช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้

8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน

10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู

12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ตระหนักในปัญหาการทำลายป่า อันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน และยุติการผลักดันแผนหมกเม็ดการทำลายป่า ดังกล่าว และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน และแนวทาง 12 ประการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(นายสมมิ่ง  เหมืองร้อง)

ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ (บ้านดอนชัยสักทอง)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: