เปิดตลาดสินค้า'สัญลักษณ์การเมือง' คุณค่าอัตลักษณ์สู่ยุค'อินเตอร์เน็ตมีม'

ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 12 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2206 ครั้ง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมาสัญลักษณ์ที่ว่านี้มีความหลากหลายและอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันมากขึ้น อาทิ มือตบ สายรัดข้อมือ เสื้อผ้า รองเท้า จนไปถึงเครื่องอุปโภคบริโภคและรูปโปรไฟล์เฟสบุ๊ค ด้วยคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้คุณค่าความสำคัญกับสัญลักษณ์และการตีความสิ่งต่างๆ ในสังคมมากขึ้น

สินค้า + สัญลักษณ์ สู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในงานวิจัยสินค้าสัญลักษณ์ในพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองของ ศุจิกานต์ วทาทิยาภรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในขั้นแรกสัญลักษณ์เหล่านี้มีจุดกำเนิดมาจากการขายสินค้าเพื่อนำรายได้ไปใช้จ่ายในกลุ่มเท่านั้น แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ กลับทำให้สินค้าที่เรียกว่า ‘ของเล่นเด็ก’ เกิดคุณค่าภายในกลุ่ม ผู้นำกลุ่มจึงเปิดโอกาสให้กลุ่มพ่อค้าได้ผลิตสินค้าอย่างอิสระ เนื่องจากเห็นว่าการนำสินค้ามาผสมผสานกับเครื่องหมายกลุ่ม เป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ เกิดความน่าสนใจ เป็นสีสันใหม่ของการชุมนุม และความหลากหลายความอิสระ เหล่านี้เองเป็นสิ่งดึงดูดใจให้คนเข้ามาร่วมชุมนุมมากขึ้น จนก่อให้เกิดแนวคิดในการเปิดตลาดเคียงคู่การชุมนุมอย่างเป็นทางการ ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการแสดงผลงานศิลปะผ่านสินค้าและวาทกรรมที่เกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมอีกด้วย

กลุ่มคนที่ต้องการบริโภคทางสัญลักษณ์มากที่สุด ก็คือกลุ่มชนชั้นกลาง เช่น บรรดานายจ้างหรือกลุ่มแม่ยก จะสั่งซื้อสินค้าครั้งละจำนวนมาก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่คนงานในโรงงานของตนเอง กลุ่มเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งคนไม่รู้จัก หากมีแนวความคิดไปในทางเดียวกันกลุ่มคนนี้ จะแจกสินค้าที่ตนมีอย่างไม่มีข้อแม้ เป็นการเผยแพร่ความคิดทางการเมืองผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไปสู่กลุ่มคนของตนเอง ซึ่งบรรยากาศและสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่การชุมนุมเป็นแรงจูงใจในการเลือกซื้อบริโภคแก่มวลชนได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การเปิดตลาดสินค้าสัญลักษณ์

การเปิดตลาดสินค้าสัญลักษณ์ สร้างความน่าสนใจแก่คนในและคนนอกกลุ่ม นอกจากจะสร้างความนิยมภายในกลุ่มชุมนุมแล้ว ยังสร้างกระแสให้คนภายนอกที่ไม่ได้เข้าร่วมเกิดความสนใจและติดตามวิวัฒนาการของทางกลุ่มผ่านตัวสินค้า

อัตลักษณ์ร่วมสื่อความหมายและคุณค่า

กระบวนการสร้างกลุ่มผ่านสินค้าสัญลักษณ์ เป็นการเกิดขึ้นของอัตลักษณ์กลุ่ม ที่กลุ่มผู้ชุมนุมหรือกลุ่มผู้บริโภคสินค้าต่างให้คุณค่าของการใช้สัญลักษณ์ ในการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ต่าง ๆ การให้ความหมายระหว่างกัน เช่น การเลือกซื้อสินค้า การสวมใส่เสื้อ การมีสินค้าไว้ในครอบครองหรือการเสาะแสวงหาสินค้าเพื่อนำมาสะสม เป็นต้น นอกจากอัตลักษณ์ที่ฉายออกมาในภาพรวมของความเป็นกลุ่มแล้ว ยังปรากฏการสร้างอัตลักษณ์ในกลุ่มย่อยหรือปัจเจกบุคคลลงไปอีก อันแสดงถึงลักษณะเฉพาะของพื้นเพ ภูมิลำเนา สังกัด หรือสถานะเพิ่มเติมอีกด้วย

จึงเป็นที่ปรากฎว่าสินค้าทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในกลุ่ม เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมาย โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าต่าง ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดการยอมรับและเชื่อถือในคุณค่าร่วมกัน แม้จะมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ผู้คนบางส่วนกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น เพราะสินค้าเหล่านี้ก่อเกิดขึ้นมาท่ามกลางฐานอุดมการณ์ทางการเมืองที่มารองรับและให้ความชอบธรรมทางด้านสังคม

บริบททางสังคมต่อการให้ความหมายของสินค้าสัญลักษณ์

บทบาทและสถานภาพที่ต่างกันอาจมีการให้ความหมายและคุณค่าต่างกันไปด้วย เช่น

‘พ่อค้า’ ให้ความหมายสินค้าสัญลักษณ์เป็นเพียงสินค้า ที่สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง โดยไม่ได้มองไปถึงคุณค่าและความหมายของสินค้าเหล่านั้น หากไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง

‘กลุ่มผู้ชุมนุม (บทบาทของผู้ซื้อ)’ ให้ความหมายในลักษณะของคุณค่าในตัวสินค้า การบริโภคหรือการมีสินค้าในครอบครอง ทำให้รู้สึกมีพลัง รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม มีความศรัทธาในสัญลักษณ์ที่ผสมผสานอยู่ในตัวสินค้า

‘ผู้ซื้อ (ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่บริโภคสินค้า)’ ให้ความหมายสินค้าในรูปของของที่ระลึกในเหตุการณ์หนึ่งของยุคสมัยที่ตนได้มีโอกาสร่วมเฝ้าดูเหตุการณ์นั้น ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่ความตื่นตาตื่นใจแต่มิได้มีคุณค่าทางจิตใจ

ในเรื่องของสถานการณ์ จะเห็นได้ว่าในช่วงที่สินค้าได้รับความนิยมและความสนใจอยู่นั้น มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ มากมาย ทำให้สินค้าต้องแปรผันไปตามสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย เช่น ในขณะนั้นประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร กำลังเป็นที่สนใจ สินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็จะมุ่งเน้นในวาทกรรมที่เป็นประเด็นในขณะนั้น แต่หากเกิดกระแสหรือประเด็นอะไรขึ้นมาใหม่หรือมีความน่าสนใจมากกว่า สถานการณ์หรือวาทกรรมเก่าๆ จะถูกลดทอนคุณค่าและความหมายลงไป

อินเตอร์เน็ตมีมสัญลักษณ์ใหม่ของการเคลื่อนไหว

นอกเหนือจากการแสดงอัตลักษณ์กลุ่มผ่านตัวสินค้า การใช้สัญลักษณ์ผ่านภาษา รูปภาพ กิริยาท่าทาง ในการสื่อความหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ยังเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์กลุ่มและเป็นการสื่อสารคุณค่าไปยังบุคคลอื่นได้

การเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เฟสบุ๊คจึงเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่ง ในการแสดงถึงจุดยืนร่วมกันต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องมีความเป็นกลุ่มก้อนทางกายภาพ นอกจากเรื่องที่เป็นกระแสนิยมอย่างการเปลี่ยนเป็นรูปยีราฟหากตอบคำถามผิด รูปตนเองในวันเด็ก หรือรูปปลาไหล ยังถูกนำไปใช้ในการเรียกร้องทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาพหน้ากากขาวกาย ฟอว์กส์ ป้ายคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 112 ประท้วงคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้ามใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 112 ประท้วงนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทั่งใช้ในการรณรงค์สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันหรือคัดค้านการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่ามีม (meme) เป็นรูปแบบของความคิดทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์ หรือการปฏิบัติ ที่สามารถส่งผ่านจากจิตใจคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านการเขียน การพูด ท่าทาง พิธีกรรม หรือปรากฏการณ์ลอกเลียนแบบอื่น ๆ โดยการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะอินเตอร์เน็ตมีมนี้ได้รับการตอบรับในวงกว้างอย่างรวดเร็ว เพราะวิธีการการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ย่อมเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายและเสี่ยงน้อยกว่าการไปชุมนุมหรือทำกิจกรรมอื่น ทั้งยังมีความเป็นสาธารณะ ผู้ที่เปลี่ยนภาพไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สามารถแสดงทัศนะได้ชัดเจนกว่าโดยการแก้ไขเพิ่มเติมคำที่ต้องการในภาพนั้น ๆ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นสร้างป้ายหรือเครื่องหมายทำให้ง่ายต่อการใช้งานและสร้างความบันเทิงได้ดีอีกด้วย แม้ว่าการเปลี่ยนภาพหรือแปะป้ายจะแสดงตัวตนของบุคคล แต่ ‘การตีตรา’ มีระดับความรุนแรงที่น้อยกว่าวิธีการอื่น ภาพพจน์ในใจของผู้คนต่อบุคคลนั้นจะลบเลือนลงไปเมื่อมีการเปลี่ยนภาพอีกครั้ง

ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ตัดสินใจง่ายมากขึ้นต่อการ ‘เลือก’ คลิก ‘เปลี่ยน’ ภาพโปรไฟล์เพื่อแสดงจุดยืนและการมีส่วนร่วม

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google และเพื่อน Facebook

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: