คนอุบลฯถกผังเมืองใหม่-จี้รัฐทำงานเชิงรุกเข้าถึงปชช. ชี้ช่องโหว่ของกฎหมายเปิดทางมือที่สามกำหนดทิศทาง

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 13 มี.ค. 2556


 

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพาน จากการสนับสนุนของ USAID และชาวบ้านชุมชนเมือง จัดเวทีผ่าประเด็น ผังเมืองใหม่ใครกำหนด โดยมีนักวิชาการ ผู้นำชุมชน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลอุบลราชธานี ร่วมแสดงความเห็น มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

นายกิตติ เริงวัย นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการทำผังเมืองมีกฎหมายกำหนดต้องมีทุกภาคส่วนมาเกี่ยวข้อง เพราะหากไม่มีภาคประชาชน นักวิชาการ จะถูกต่อต้านไม่ยอมรับ จึงต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยกฎหมายกำหนดต้องทำไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง แล้วนำไปปรับปรุง ก่อนติดประกาศให้คนทั่วไปว่า เห็นด้วยหรือไม่ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน และถ้ามีคนไม่เห็นด้วย สามารถยื่นร้องคัดค้าน แล้วจะนำคำร้องเข้าที่ประชุมระดับจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม และตามหลักวิชาการ ปัจจุบันการเขียนผังเมือง มีการกำหนดเป็นสี หรือสัญลักษณ์ ตรงนี้ต้องเป็นที่อยู่อาศัย เป็นเขตอุตสาหกรรม สำหรับเรื่องการจราจร จะควบคุมด้วยผังระบบคมนาคม โดยจะมีการกำหนดว่า ปัจจุบันการจราจรมีความหนาแน่นเท่าไหร่ อนาคตสามารถรองรับได้ไหม

 

สำหรับที่อยู่อาศัย ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนชอบอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวร้อยละ 90 ส่วนทาวน์เฮาส์มีไม่มาก สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด จึงออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอุบลราชธานี ให้มีความหนาแน่นไม่เกิน 12 คนต่อไร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา สำหรับขั้นตอนการทำผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์วางผังร่างเตรียมนำเข้าที่ประชุมระดับจังหวัดในวันที่ 14 มีนาคมศกนี้ พอทำเสร็จจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้าน ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เมื่อเกิดปัญหามักโทษผังเมืองอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงผังเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง มีการกำหนดสีสัดส่วนการใช้ที่ดินเท่าไหร่ ส่วนการออกแบบลงรายละเอียดเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น รวมทั้งการกำกับดูแลโดยท้องถิ่น แต่ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีปัญหา เพราะเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม ทำให้โครงสร้างพื้นฐานปรับตัวรองรับไม่ทัน หน่วยงานทุกหน่วยงานต้องรีบเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้กลับพบมีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ขาดการประสานงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ผังเมืองก็วางไป ท้องถิ่นก็ทำไป คิดว่าถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนในการออกแบบเมืองด้วยจะดีมาก

 

ส่วนการกำหนดรายละเอียดของผังเมืองจะชัดเจนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่น ที่มีนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นนั้น หากกำหนดไม่ชัดเจน ผังเมืองทำงานลำบาก เช่น ต้องการให้เป็นเมืองสงบเรียบร้อย ก็ออกแบบให้มีรูปแบบเป็นเมืองสงบเรียบร้อย แต่ถ้าต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมืองก็จะออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง ต้องกำหนดให้ชัดพื้นที่ไหนจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การออกแบบสภาพบ้านเรือน ถนน ระบบสาธารณูปโภค ก็จะออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของเมืองนั้น เช่น วิถีชีวิตคนจังหวัดอุบลราชธานี ชอบอยู่บ้านเดี่ยว ผังเมืองจะออกแบบควบคุมความสูงไม่ให้มีตึกสูงเกินไป เพราะจะกระทบกับบ้านเรือนประชาชน แต่ขณะนี้เมืองกระจายตัวมาก ทั้งเขตอ.เมืองอุบลราชธานี และอ.วารินชำราบ ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทาง ต้องใช้พลังงานน้ำมัน ระบบขนส่งมวลชน

 

 

            “ต่างประเทศจะเน้นการออกแบบผังเมืองที่มีความหนาแน่นสูง พอกำหนดสัดส่วนสูง ระบบขนส่งก็อยู่ได้ การเดินทางอยู่ใกล้ที่ทำงาน เดินทางระยะสั้น พลังงานลดลง” เพราะต่างประเทศประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าเสนอความคิดที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง จะขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมไทยต้องมีองค์ความรู้เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วมตรงนี้ และทุกภาคส่วนต้องปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนหรือพวกพ้อง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังมองว่า ผังเมืองไทยยังใช้ทฤษฎียุคเก่าไปนับจากการจราจรมาคาดการณ์ความหนาแน่น แล้วไปขยายเมืองรองรับ แต่ยิ่งขยายถนนมาก รถก็เพิ่มขึ้นมาก หน้าที่ผังเมืองไม่ได้ขยายขนส่งมวลชน เพราะเป็นหน้าที่ท้องถิ่น อย่าให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่าการเดินเท้าและรถจักรยาน สำหรับการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น รถติด เพราะในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายประเมินผลกระทบทางด้านการจราจร มีแต่ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในต่างประเทศมีกฎหมายนี้ ถ้าประเทศไทยมีกฏหมายฉบับนี้ ทุกการก่อสร้างต้องประเมินหลังสร้างเสร็จ จะมีปัญหาอย่างไร รถเข้า-ออกมากน้อยอย่างไร ปัจจุบันเอกชนจึงทำเอง เช่น สร้างสะพาน เพื่อลดความติดขัดด้านจราจร ไม่ให้การทำธุรกิจมีปัญหา

 

 

ขณะที่นายเต็มบุญ ศรีธัญรัตน์ อดีตนักการเมืองท้องถิ่น พูดถึงเรื่องผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญใช้ดูแลความปลอดภัยให้สังคม จัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติ เช่น ใครเป็นผู้กำหนด กำหนดจากอะไร ทั้งการกำหนดตามกฎหมายตั้งแต่ส่วนกลางลงมาท้องถิ่น แต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนค่อนข้างน้อย และกรณีการประกาศ เวลาประกาศออกมาแล้ว ประชาชนในพื้นที่ทราบเรื่องจริงหรือไม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบ และการกำหนดสี บางครั้งไม่เป็นธรรม ทั้งการเวนคืนที่ดิน การสร้างตึกอาคารต้องถอยร่นจากถนนไปถึง 3 เมตร กฎหมายระบุให้เวนคืนที่ดินด้วยความเป็นธรรม เช่น ชุมชนท่าวังหินในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ แต่ประชาชนอาศัยมา 17 ปี แล้วให้ออกโดยจ่ายค่าเวรคืนเพียง 20,000 บาท จึงไม่เป็นธรรม

 

นอกจากนี้จากการที่ตนไปอ่านกฎหมายได้ระบุไว้ว่า หากประชาพิจารณ์ถามความเห็นประชาชนผ่านให้ประกาศใช้ได้เลย แต่ถ้ามีคนคัดค้านไม่ผ่านล่ะ ไม่ได้ระบุว่าต้องทำอย่างไรต่อ เป็นช่องโหว่ของกฎหมาย

 

นายสุกุล แสงดี ผู้นำชุมชนตำบลโพธิ์ใหญ่ อ.วารินชำราบ กล่าวว่า ผังเมืองมุ่งแต่เรื่องทำถนน จน ลืมเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ที่ทิ้งขยะ ต้องการสร้างเมือง แต่ไม่มีที่ทิ้งขยะ เมืองก็เน่า เพราะปัจจุบันจ.อุบลราชธานี มีที่ทิ้งขยะที่เดียว ต้องให้องค์การบริส่วนตำบล และเทศบาลมีเทศบัญญัติควบคุมมลภาวะ ถ้า อบต.เทศบาลไหนไม่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่ควรยกระดับหน่วยงานขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชน

 

ด้าน นายสมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมรับฟังระบุว่าผังเมืองฉบับโยธาธิการดูศักดิ์สิทธิ์ น่าเกรงขาม แต่ลืมมองผ่านมิติทางสังคม คุณสุกุลพูดถูกเรื่องผล กระทบต่อวิถีชีวิตคน อย่างชุมชนท่าบ้งมั่ง น้ำท่วมจะไหม ชาวบ้านทัพไทยเป็นอย่างไร ถ้ามีการทำกระบวนการมีส่วนร่วมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น การใช้ที่ดินไม่ใช่แค่เรื่องที่ดิน แต่เกี่ยวข้องเรื่องคน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           “อุบลราชธานีเป็นเมืองชุ่มน้ำ ฤดูน้ำ น้ำขึ้น แต่เดี๋ยวมันก็ไป ต่อไปจะต้องอยู่กับน้ำอย่างไร ต้องดูประวัติศาสตร์ทำไมเมืองอุบลราชธานีมาตั้งอยู่ริมน้ำ แล้วจึงวางผังเมืองโดยคำนึงถึงมิติทางธรรมชาติด้วย”ไม่ใช่ใช้วิธีการเทคนิคชั้นสูงอย่างเดียวและเป็นเมืองที่มีมือที่สามเป็นผู้กำหนด จึงเป็นการโตแบบไม่มีทิศทาง ซึ่งมือที่สามชอบ จึงต้องสร้างประเด็นนี้ ให้เป็นมิติทางสังคมเพื่อช่วยกันจับตาดู

 

 

ขณะที่ นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ที่เข้าร่วมรับฟังอยู่ด้วยเสนอความเห็นว่า ถ้ามองผังเมืองเป็นมิติเดียว คือ มองถึงลักษณะการใช้สอยของพื้นที่เหมือนในแผนที่ จะเห็นเป็นมิติแบบแบนราบ แต่ความจริง ผังเมืองมีสามมิติ ได้แก่ มิติภูมิประเทศ มิติการต่ำสูงของพื้นที่ มิติการนำมาสู่ความสุขสบาย พื้นที่บางแห่งเป็นที่ลุ่มรับน้ำ แต่ตัวเมืองจริง ๆ เป็นที่สูง อดีตเรื่องน้ำไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะน้ำท่วมรอบนอก ใจกลางเมืองไม่เคยท่วมแต่ตอนนี้น้ำท่วมหมด เพราะน้ำไหลไม่ทัน ระบบผังเมืองย่อมเป็นประโยชน์ในการไหลของน้ำ ตัวแปรที่ทำให้ผังเมืองผิดเพี้ยน คือ ตัวรายละเอียดภายใน เช่นกำหนดเป็นที่อยู่อาศัย แต่ไปอยู่อาศัยแบบหนาแน่นเกินไป ต้องทำผังเมืองแจกประชาชนติดไว้เหมือนปฏิทินทุกบ้าน ถ้าผังเมืองยังเป็นความลับ ประชาชนไม่เข้าใจ ไม่มีส่วนร่วม และไม่หวงแหน

 

ส่วนเรื่องการกำกับผู้บริหารเทศบาลเป็นบุคคลมาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนที่ทำให้เกิดความสุขแก่พี่น้องประชาชน ต้องกรั่นกรองภายใต้การกำกับดูแล เพราะเชื่อใน 2-3 ปีข้างหน้า จะมีปัญหาเรื่องระบบการจราจรแน่นอน การระบายน้ำเสียจำนวนมากออกจากตัวเมืองลงสู่แม่น้ำมูล หากไม่แก้ไขไม่กำกับดูแลอย่างจริงจัง เมืองนี้มีปัญหาแน่นอน

 

ดร.เสถียร ยุระชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ชี้ผังเมืองทำงานแค่เชิงรับ ต้องทำเชิงรุกมากกว่าเวลาติดประกาศเพียงหน้าผังเมือง ชาวบ้านจะไปรู้เรื่องด้วยได้อย่างไร ต้องเข้าหาชุมชนเข้าถึงประชาชนให้มากกว่านี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายขวัญสรวง อติโพธิ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่องผังเมืองต้องอาศัยวุฒิภาวะทางสังคม ที่ต่อตัวขึ้นมาช่วยกันกำหนดโลกที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ผังในกระดาษ 5 ปีก็เปลี่ยนใหม่แค่นั้น ที่ผ่านมาท้องถิ่นทำได้ ทำผังเสร็จก็เอามาให้คณะกรรมการผังเมืองในกรุงเทพฯ ที่กระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้น แต่โดยทั่วไปกรมผังเมือง กรมโยธาธิการและการผังเมือง มีสิทธิทั่วราชอาณาจักร เข้าคิวก็ไปติดที่ส่วนกลางหมด เร่งสปีดเต็มที่ ทำได้สองร้อยกว่าเมือง แต่ยังค้างอีกเยอะ พอถึง 5 ปี แล้วมีการเปลี่ยน แต่เอาเข้าจริงยังทำไม่ทัน ตอนนี้มีทั้งที่ยังค้างและร่างใหม่คิวยาวเป็นแถว ควรกระจายให้ท้องถิ่นเขามีสิทธิ์อย่างแท้จริง

 

ปัญหาของเราคือไม่มีส่วนรวม จึงต้องการส่วนรวมเพื่อการคิด ที่ดินของกูกูจะทำอะไรก็ได้ สร้างกันกระจายไปหมด การสร้างเมืองโดยนิสัยทำอะไรก็ได้ของคน นึกเพียงส่วนตัวไม่นึกถึงส่วนรวม เป็นสิ่งที่เจ็บมาก เป็นทั้งประเทศไทย เช่น อุบลฯ เมืองสร้างใหญ่ ๆ อยู่กันแน่น ๆ ที่ไหนว่างก็เติมเต็ม อยู่เบียด ๆ กันทิศทางเฉพาะหน้าที่มองเห็นและแก้ได้ คือหยุดนิสัย สร้างซะ มันก็จะช่วยเมืองได้เยอะแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานวา หลังเวทีผู้เข้าร่วมเสวนายังคงมีความสนใจร่วมพุดคุยกับทางผังเมืองและนักวิชาการจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเสนอย้ำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดผังเมืองและกังวลกับการถมที่มหาศาลในจังหวัดอุบลราชธานี เกรงจะเป็นผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เร็วขึ้นในอนาคต

 

สำหรับเวทีเสวนาครั้งนี้ สามารถติดตามชมได้ทางช่องทีวีดาวเทียม ของดีประเทศไทย เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ทั้งโสภณเคเบิ้ลทีวี ราชธานีเคเบิ้ล วีเคเบิ้ลทีวี รวมทั้งเสียงผ่านสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันและสถานีวิทยุคลีนเรดิโอ หรือผ่านเว็บไซต์ www.sangsook.net และ App. สื่อสร้างสุข

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: