ศูนย์ข่าว TCIJ สัมภาษณ์ ศีลวัต ศุษิลวรณ์ กรรมการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนเพลินพัฒนา เพื่อหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดหลายฝ่ายในสังคม รวมทั้งเครือข่ายการศึกษาทางเลือก จึงคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการระบุว่า จะเป็นการช่วยทั้งเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ศีลวัต : ตอบได้ 2 ข้อว่า บนความเป็นจริงมองให้ลึกไม่มีใครเสื่อมไปกว่าใคร มีโรงเรียนในเมืองที่ดี แต่ถ้ามองในเชิงลึก แล้วใช้เกณฑ์ที่ไม่ต้องวิเศษอะไร แค่เกณฑ์โอเน็ท โรงเรียนขนาดกลางของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เอง ก็ไม่ได้มีค่าเฉลี่ยที่ดีไปกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก และในหลายพื้นที่ค่าเฉลี่ยของโรงเรียนขนาดเล็กก็ดีกว่า หรือถ้าจะเอาเกณฑ์ระดับชาติของกระทรวงสาธารณสุข ที่วัดไอคิวเฉลี่ยเด็กตั้งแต่ ป.1-ป.6 ผลก็คือ ไอคิวเด็กของเราอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ไม่ถึงกับดี แต่ที่น่าตกใจคือ ไอคิวถอยหลัง เด็กยิ่งโตขึ้น ยิ่งถอยหลัง เมื่อไปถึง ม.6 ยิ่งน่าตกใจมาก คือพูดง่าย ๆ ไอคิวเกือบจะเป็นเด็กพิเศษ แล้วก็ไปโทษว่า เด็กขาดไอโอดีน เกณฑ์ระดับชาติต่าง ๆ ก็ฟ้องว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ มันเสียหายไปหมดแล้ว หรือจะเอาเกณฑ์ระดับโลกอย่าง PISA (Program for International Student Assessment – โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ผลการประเมินออกมาก็ไปไม่รอดทั้งหมด ที่จะรอดคือโรงเรียนในสังกัด สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) กลุ่มโรงเรียนสาธิต ถ้าไม่ดูในเชิงวัตถุหรือระบบบริหารที่เป็นเพียงเปลือก เรามองว่ามันเสื่อมไปหมดแล้ว นี้เป็นเหตุผลที่ 1
เหตุผลที่ 2 โรงเรียนขนาดเล็กมีโอกาสสูงมาก ที่จะแปลงเป็นโรงเรียนชุมชน ถ้าหากชุมชนนั้นพร้อมจะลุกขึ้นมาบริหาร มีความสามารถหรือสามารถดึงเครือข่ายมาช่วยกัน เพราะฉะนั้นจึงน่าเสียดายมาก หากจะยุบทิ้งโดยไม่สำรวจความพร้อมเสียก่อน ไม่ใช่ว่าเราต่อต้านการยุบโรงเรียน แต่เราต่อต้านการยุบทิ้งแบบเหมารวม ไม่สำรวจความพร้อม ไม่สอบถามผู้เกี่ยวข้อง และไม่คิดที่จะกระจายอำนาจไปให้คนอื่น
ศูนย์ข่าว TCIJ : กระทรวงศึกษาธิการชี้แจงว่า ไม่ได้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด แต่ดูตามความเหมาะสม
ศีลวัต: ใช่ครับ เขาก็พูดอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงมีการไล่ยุบไปเรื่อย ๆ ทางสมาคมสภาการศึกษาขอชื่อโรงเรียนและเหตุผลของการยุบโรงเรียนแต่ละแห่ง ไม่มีครับ ให้แต่จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมา ซึ่งมันแสดงว่าเขาไม่มีแผนอะไรเลย
ศูนย์ข่าว TCIJ : ที่อาจารย์บอกว่าเสียหายไปหมดแล้ว อะไรคือต้นเหตุความเสียหาย
ศีลวัต: ผมมองมาจาก 3 จุด ประการที่ 1 มองว่าสภาพสังคมและสภาพครอบครัวสมัยนี้หมดความสามารถในการพัฒนาเด็ก เพราะครอบครัวไม่มีทั้งเวลาและความสามารถ สิ่งที่เคยมีในอดีต ครอบครัว เครือญาติ ชุมชน สังคมที่เคยมีความสามารถโอบอุ้มดูแล เชิดชู พัฒนา มันหมดความสามารถลง
ประการที่ 2 ผมมองว่าสื่อมวลชนส่วนมากหรือทั้งหมดนั้นเป็นพาณิชย์ อย่าไปหวังว่าจุดมุ่งหมายหลักคือการพัฒนามนุษยชาติ จุดมุ่งหมายหลักคือการทำกำไร ดังนั้น อะไรที่ตอบสนองในเรื่องของการติดตลาด ความง่าย โดยส่วนมากมักไม่สร้างสรรค์ ทั้งในแง่อารมณ์ ความรู้สึก สติปัญญา
ประการที่ 3 ผู้ดูแลเรื่องการศึกษาหมดความสามารถ ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการจนถึงระดับครู ระดับโรงเรียน ต้องยอมรับความจริงว่า พวกเราหมดความสามารถ ในความเห็นผมคือ สังคมไทยล้มละลายแล้ว เราไม่มีความสามารถ แม้คนที่มีความสามารถยังมีอยู่ แต่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปัญหาทั้งหมด
สิ่งที่จะช่วยให้ความเสียหายนี้ยุติโดยเร็วที่สุด ผมเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการต้องวางมือเรื่องนี้ เปิดใจกับสังคมทั้งหมดและหาคนที่พร้อมจะช่วยในการแก้ไขปัญหา ถ้าเราตัดสินใจวันนี้ สภาพความล้มละลายก็หยุดวันนี้เหมือนกัน กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับว่า ไม่มีความสามารถในเรื่องนี้ และภาคประชาชนก็ไม่ใช่ผู้วิเศษ ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริง แล้วเอาสิ่งที่ดีที่สุดทั้งหมดมาแชร์กันเพื่อเริ่มต้นใหม่
ศูนย์ข่าว TCIJ : การคงโรงเรียนขนาดเล็กไว้จะช่วยยุติความล้มละลายอย่างไร
ศีลวัต: เป็นเพียงประเด็นหนึ่ง อย่างที่บอกแล้วว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นโรงเรียนชุมชน เพราะว่าขนาดไม่ใหญ่เกินกว่าที่ชุมชนจะเข้าไปดูแลจัดการได้ ฉะนั้นถ้ากระทรวงศึกษาธิการ ไม่ปล่อยทั้งหมด ปล่อยโรงเรียนขนาดเล็กออกมาให้แก่ชุมชน หรือเครือข่ายที่พร้อมจะช่วยกันดูแลให้มันดีได้หรือไม่ ที่เราเข้าไปคัดค้านคือตรงนี้ อย่าไปยุบมันทิ้ง ยังมีทางออกอื่น ทางออกคือคุณตัดตรงนี้ไปให้คนที่พร้อมจะทำ
ศูนย์ข่าว TCIJ : แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ใช่ไหมว่าที่ไหนพร้อมหรือไม่พร้อม
ศีลวัต: คือสมาคมฯ พอรู้อยู่บ้าง แต่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะออกสำรวจทั้งประเทศ มันมีเป็นหมื่น แต่ตอนนี้ข้อมูลที่มีอยู่มีแค่หลักร้อย
ศูนย์ข่าว TCIJ : หมายถึงข้อมูลพื้นที่ที่พร้อม
ศีลวัต: ใช่ ผมได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และยื่นข้อเสนอว่า มีกลุ่มที่พร้อม ซึ่งเราไปช่วยเขาจัดตั้งเครือข่ายโรงเรียนชุมชน โรงเรียนขนาดเล็ก และกำลังดำเนินการจดเป็นสมาคม เครือข่ายดังกล่าวกำลังออกประกาศไปทั่วประเทศว่า ชุมชนไหนที่มีความพร้อม ขอให้แจ้งเข้ามา แล้วเราจะขออาสาเข้าไปจัดการ มีการไปเจรจากับกระทรวงศึกษาธิการ ให้ช่วยตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมา จะจัดตั้งเป็นสำนักงานพิเศษลอยตัวออกมาจาก สพฐ. หรือรูปแบบใดก็ตาม แต่ต้องปล่อยโรงเรียนขนาดเล็กออกมา
ศูนย์ข่าว TCIJ : กระทรวงศึกษาธิการบอกว่าที่จำเป็นต้องยุบ เพราะโรงเรียนบางแห่งมีนักเรียนจำนวนน้อย ด้อยคุณภาพ และมีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบางแห่งที่มีคุณภาพมากกว่า สิ่งนี้ฟังไม่ขึ้นหรือ ถ้ายุบโรงเรียนขนาดเล็กไปรวมกับโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง แล้วให้ชุมชนเข้าไปดูแลจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเปล่า
ศีลวัต : ถ้าโรงเรียนขนาดใหญ่ ชุมชนอาจจะดูแลไม่ไหว เพราะชุมชนไม่เคยมีโอกาสดูแลโรงเรียนมาก่อน และโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ภาพรวมไม่ได้ดีไปกว่ากัน ทางกระทรวงศึกษาธิการ อ้างถึงเหตุผลในการยุบโรงเรียน 2 กรณีด้วยกัน คือ 1.ยุบแล้วโรงเรียนจะมีคุณภาพดีขึ้น 2.ยุบแล้วเป็นการประหยัดทางเศรษฐกิจ แต่ที่เป็นอยู่ โรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ต่างกัน การยุบรวมความล้มเหลวไปควบรวมกับความล้มเหลว จะทำให้เกิดภาพความล้มเหลวใหญ่ขึ้น การจัดการจะยิ่งยากมากขึ้น
เป็นความเข้าใจผิดของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า โรงเรียนเหล่านั้นประสบความสำเร็จ หากมองให้ลึกจะเห็นว่าล้มเหลวทั้งหมด หากมองในเรื่องเศรษฐกิจก็ไม่ได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างบริษัทที่ควบรวมกิจการจะต้องมีการวางแผน ดูผลลัพธ์ และหาวิธีที่คุ้มทุนด้วยการลดคน นำสินทรัพย์ขายทอดตลาด ใช้วิธีการย่อย ยุบ ปรับโครงสร้างใหม่ แต่การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ครูทั้งหมดยังอยู่ในโรงเรียน เด็กนักเรียนเท่าเดิม เพียงนำเด็กอีกโรงเรียนหนึ่งไปควบรวมกับอีกโรงเรียนหนึ่ง สรุปคือขนาดของคุณครูและนักเรียนเท่าเดิม รายจ่ายต่อหัวเท่าเดิม รายจ่ายค่าบำรุงสถานที่ของโรงเรียนเดิมที่ยุบไม่ได้หายไป แต่ควบรวมรายจ่ายค่าบำรุงสถานที่กับโรงเรียนที่รวมเข้าไป รายจ่ายไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เรื่องนี้ผมได้พูดกับคุณชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. (คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ไปแล้วต่อหน้าคน 500 คน
ศูนย์ข่าว TCIJ : แล้วเขาตอบว่าอะไร
ศีลวัต : เขาตอบว่า หากโรงเรียนขนาดเล็กมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพได้ โรงเรียนขนาดเล็กจะไม่ถูกยุบ เราก็ประชุมทั้งหมด จนกระทั่งออกนโยบายมาเรียบร้อยแล้ว และพยายามนัดเขาว่า เรามีนโยบายตรงนี้แล้ว ช่วยตั้งคณะกรรมการมาตรวจนโยบายตรงนี้ด้วย จนทุกวันนี้ก็ยังหนีนัดตลอด
ศูนย์ข่าว TCIJ : การที่โรงเรียนชุมชนบางแห่งมีขนาดเล็ก เด็กนักเรียนน้อย ก็เพราะผู้ปกครองส่งลูกเข้าไปเรียนในตัวเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นค่านิยมและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ศีลวัต : ต้องแบ่งเป็น 2 พวก ผู้ปกครองพวกหนึ่งเชื่อแบบนั้น แต่ยังมีผู้ปกครองอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า ถ้ามีโรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพ จะให้บุตรหลานเข้าเรียน แต่โรงเรียนที่มีขนาดเล็กลง มาจาก 2 เหตุ เหตุหนึ่งคือตัวโรงเรียนถูกปล่อยปะละเลย และสอง สพฐ.มีการบริหารที่ด้อยคุณภาพ
ศูนย์ข่าว TCIJ : คำว่าการบริหารหมายถึงอะไร หลักสูตรไม่ดี ครูไม่ดี หรือว่าในเชิงการบริหารจัดการงบประมาณ หรือเรื่องอะไร
ศีลวัต : เกือบทั้งหมด แท้จริงแล้วมีปัญหาตั้งแต่หลักสูตรแกนกลางไม่เอื้อให้เกิดหลักสูตรสถานศึกษา ย้อนกลับไปตอนปฏิรูปการศึกษาปี 2540 ซึ่งมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ กระทั่งปี 2542 พระราชบัญญัติการศึกษา ก็มีมาตราที่กล่าวถึงการพัฒนา การมีส่วนรวม และคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจนมาก ตามมาด้วยหลักสูตรแกนกลางปี 2544 แม้ว่ายังไม่ดีนัก แต่หลักสูตรก็ตอบสนองนโยบายได้ระดับหนึ่ง หลักสูตรแกนกลางสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่มีคำว่าหลักสูตรแกนกลาง แต่เป็นหลักสูตรแห่งชาติ ที่ทุกคนต้องใช้แบบเดียวกันหมด
การมีหลักสูตรแกนกลางก็เพื่อให้โรงเรียนแต่ละแห่ง สามารถสร้างหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองได้ เพราะฉะนั้นหลักสูตรแกนกลาง จะต้องยืดหยุ่นและส่งเสริมให้มีหลักสูตรสถานศึกษา ปัญหาคือ สพฐ. ล้มเหลวในการให้โรงเรียนสร้างหลักสูตรสถานศึกษา จึงไปออกหลักสูตรปี 2551 ซึ่งไม่ใช่หลักสูตรแกนกลาง เพราะไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรสถานศึกษา ซ้ำยังบังคับรายละเอียดเกือบทั้งหมด จึงเป็นหลักสูตรที่ผู้นำไปใช้ไม่สามารถสร้างหลักสูตรสถานศึกษาได้ และที่ร้ายไปกว่านั้นหลักสูตร 2551 เองก็ไม่ใช่หลักสูตรที่ดีนัก ตัวหลักสูตรจึงไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อีกทั้งคู่มือครู คู่มือการจัดการเรียนการสอน คู่มือการจัดกิจกรรม ชุดความรู้ต่าง ๆ ก็ไม่มีความชัดเจน
ศูนย์ข่าว TCIJ : :แต่เท่าที่ทราบก็มีหลาย ๆ โรงเรียนที่พยายามพัฒนาหลักสูตรของตัวเองมาได้เหมือนกัน
ศีลวัต : มีกี่โรงเรียนจาก 30,000 โรงเรียนที่ทำได้ สิ่งที่สภาการศึกษาทางเลือกต้องการ คืออยากให้ สพฐ. เปิดตาดูโรงเรียนเหล่านั้น แล้วไปสนับสนุนให้เป็นตัวอย่างขึ้นมา ไม่ใช่จะเอามากดทุกคนให้เท่ากัน
ศูนย์ข่าว TCIJ : ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ
ศีลวัต : เกี่ยวโดยตรงกับการกระจายอำนาจ
ศูนย์ข่าว TCIJ : ในเชิงกฎหมายมีการระบุหรือไม่ว่า ชุมชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารสถานศึกษา
ศีลวัต : กฎหมายเขียนไว้ชัดเจน แต่ไม่มีการปฏิบัติจริง ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเตรียมตอบคำถามศาลปกครอง และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีที่มีคนไปร้องเรียน
ศูนย์ข่าว TCIJ : เรื่องคุณภาพของครูก็เป็นประเด็นที่พูดถึงกัน จริงเท็จอย่างไรที่คุณภาพครูของเราต่ำลง
ศีลวัต : ต้องฟังให้ชัดเจน คุณภาพคนเป็นเรื่องหนึ่ง คุณภาพครูก็อีกเรื่องหนึ่ง เราอาจมีคนที่มีคุณภาพ แต่ยังไม่พร้อมจะเป็นครู เพราะไม่มีใครไปช่วยเขา ถ้าผมพูดว่า เราขาดครูที่มีคุณภาพไม่ได้หมายความว่า ผมปรามาสคนไทย เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า เราขาดความสามารถที่จะทำให้คนมีคุณภาพกลายเป็นครูที่มีคุณภาพ คือเราขาดความสามารถที่จะสร้างครูดี ๆ จากคนดี ๆ
ศูนย์ข่าว TCIJ : แล้วทำไมเราถึงขาดความสามารถตรงนั้น เห็นบอกว่าจะมีการปรับหลักสูตรให้ครูทุกคนจบปริญญาโท
ศีลวัต : ต่อให้จบด็อกเตอร์ไปเลยก็ไม่มีทาง เปรียบเทียบกับเรื่องปัญหาสุขภาพ ถ้าเราตามแก้สุขภาพของชาติด้วยการสร้างหมอ สร้างโรงพยาบาล คุณไม่มีทางตามทันเลย แต่ต้องไปสร้างความรู้ด้านสุขภาวะให้คนส่วนใหญ่ นี่ก็เช่นเดียวกัน เราจะพัฒนาครูโดยอาศัยคณะครุศาสตร์อย่างเดียว ไม่มีทางทันเลย
หัวใจสำคัญคือเราต้องสร้างครูบนหน้างานจริง ทำอย่างไรให้การทำงานจริงเป็นการพัฒนาครูไปด้วยนี้คือโจทย์ที่สำคัญ คือกุญแจความสำเร็จของญี่ปุ่น แล้วกุญแจความสำเร็จของประเทศทั้งหลายที่ตามมา สิงคโปร์ ฮ่องกงที่ขึ้นมาอยู่ระดับท็อปไฟว์ของ PISA มาจากวิธีที่ทำให้หน้างานจริงเป็นการพัฒนาครูและสวมงานวิจัยลงไปในนั้นเลย แล้วตัวนี้เป็นเรื่องซีเรียส ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าประเทศไทยไม่ตัดสินใจทำสิ่งนี้ก็จะพังต่อไปเรื่อย ๆ สำหรับผมต้องทำ มันมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า PLC หรือ Professional Leaning Community ในวงการการศึกษารู้จักคำนี้ดี มีอาจารย์ครุศาสตร์บางกลุ่มก็เล่นเรื่องนี้ แต่ไม่มีนโยบายของชาติจริง ๆ ที่เล่นเรื่องนี้ สพฐ. ทำบ้างเป็นกลุ่ม ๆ กระจายไป แต่ไม่ตั้งใจทำเรื่องนี้กันทั้งประเทศอย่างจริงจัง
ศูนย์ข่าว TCIJ : อาจารย์พูดเหมือนกับว่าไม่โอกาสพัฒนาเลย
ศีลวัต : ตราบใดที่กระทรวงศึกษาธิการ ยังกุมอำนาจแบบนี้ ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่ตื่น ตราบนั้นสังคมไทยจะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันกลับ
ศูนย์ข่าว TCIJ : หลังจากนี้อาจารย์และเครือข่ายจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป
ศีลวัต : หลังจากเราไปช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กจัดตั้งเป็นเครือข่าย และกำลังจะจดทะเบียนเป็นสมาคม ตอนนี้ทางสมาคมฯ พยายามจะเล่นบทพี่เลี้ยง ไม่เล่นบทนำ สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือเราจะดูการตอบสนอง ดูว่าเขาจะนัดคุยกันหรือไม่ เพราะว่าเลขาธิการสพฐ. เป็นคนบอกเองว่า ถ้ามีนโยบายพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก และสามารถพัฒนาได้ โรงเรียนขนาดเล็กจะไม่โดนยุบ
เรากำลังรอนัดคุยและจะให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นคนตามเรื่อง ถ้าถึงช่วงเวลาที่จะต้องมีการคุย แล้วไม่คุย หรือคุยแล้วจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยยะสำคัญ สิ่งที่ต้องทำต่อคือ พึ่งอำนาจตุลาการหรือสถาบัน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลปกครอง คือสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเรามองว่าถ้าไม่นัดคุยหรือนัดคุยแล้วยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เราคงต้องประเมินว่า กลไกอำนาจฝ่ายบริหารที่ประกอบด้วยอำนาจการเมืองและอำนาจระบบราชการไม่ทำงาน เมื่อเราดันทั้ง 2 จุดแล้ว แต่ยังไม่ทำงาน เราก็ต้องย้ายไปพึ่งอำนาจตุลาการ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ