อุบลฯถกบทเรียนไร่ใต้น้ำท่วมในรอบร้อยปี เหตุน้ำมากเต็มพื้นที่คนถมทางน้ำ ตัดไม้ทำลายป่า

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 13 ต.ค. 2556


เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ศาลากลางบ้านหมู่ 13 ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ภายใต้โครงการสะพานจากการสนับสนุนของ USAID จัดเวทีเสวนาในรายการร่วมทุกข์ ร่วมสุข เพื่อสรุปบทเรียนน้ำท่วมหนักรอบร้อยปีชุมชนต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร มีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วน โดย นายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

หลังจากเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ได้เกิดมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบประวัติศาสตร์ของต.ไร่ใต้ จำนวน 14 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ชาวบ้านกว่า 1,200 คน ต่างได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งไร่นา บ้านเรือน ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายอย่างมาก

พ.ต.ต.สุภาพ ทองมล ชาวบ้านตำบลไร่ใต้ เล่าเหตุการณ์ว่า เมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมหนักหลายชุมชนตำบลไร่ใต้ในรอบเกือบร้อยปี ชุมชนเตรียมรับมือไม่ทัน เพราะคนเฒ่าแก่บอกว่า น้ำจะท่วมไม่เยอะ แต่พอน้ำมาต่างรีบอพยพ กลางดึกทำให้ประสบความลำบากมาก

ขณะที่ นายนวล ผลาเลิศ อายุ 73 ปี ชาวบ้านหมู่ 5  ต.ไร่ใต้ เล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาน้ำไม่เคยท่วมบ้าน ปีนี้เพื่อนบ้านได้ขนของมาฝากไว้ที่บ้าน เพราะเป็นที่สูง ไม่คาดคิดว่าน้ำจะท่วม ของใช้ประเภทตู้เตียงฟูกเต็มบ้าน เพราะอพยพหนีน้ำไม่ทัน เครียดมากนอนไม่หลับจะเป็นโรคประสาท ไม่มีน้ำกินในช่วงสองวันแรก สาเหตุหลักเชื่อว่ามาจากฝายลำโดมใหญ่ไม่ยอมเปิดประตู

นายทองสา หวังดี อดีตกำนันตำบลไร่ใต้ เล่าว่า น้ำท่วมที่ผ่านมาเสียหายเยอะมาก ตั้งแต่เกิดมา 80 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ สาเหตุคิดว่ามาจากฝายลำโดมใหญ่บ้านสร้างแก้วที่ไม่เปิดประตูเขื่อนให้น้ำล้นออก ทำให้น้ำท่วมบ้านชาวบ้าน

นายคมคิด เถาวัลย์ ชาวบ้านตำบลไร่ใต้ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีลำน้ำลำโดมแตก น้ำฝั่งโดมไม่เคยล้น ขนของหนีน้ำไม่ทันไม่ทัน สาเหตุคิดว่าลำโดมใหญ่ถูกริดรอนให้ผิดจากธรรมชาติแต่ก่อนไม่มีฝายลำโดมใหญ่บ้านสร้างแก้ว น้ำท่วมไม่เยอะ เช่น ปีพ.ศ.2521 พ.ศ.2545 น้ำก็ท่วมแต่ไม่รุนแรง และลดลงเร็ว  สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ชาวบ้านไม่รู้ว่าก่อนจะสร้างเขื่อน ไม่รู้ว่าได้ทำประชาคมหรือไม่ การก่อสร้างโรงงานก็เช่นกัน สังเกตได้ว่าลำน้ำประสบปัญหาน้ำเน่า ปลาตาย โรงงานกับฝายลำโดมใหญ่เป็นสาเหตุของน้ำท่วมแน่นอน

ด้าน นายอดิศักดิ์ ชาววัง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้  กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบร้อยปีที่น้ำไม่เคยท่วมหนัก ทางอบต.ไร่ใต้ มีแผนเตรียมรับน้ำท่วม โดยเตรียมอปพร. และเรือไว้อพยพ 4 จุด แต่พอน้ำมาเยอะกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็รับมือไม่ไหว ต้องหาเรือมาเพิ่ม น้ำท่วมครั้งนี้เปรียบเสมือนสึนามิครั้งแรกของประเทศไทย ไม่มีใครคาดคิดไว้ก่อน แผนการรับมืออุทกภัยที่เตรียมไว้ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้เรียนรู้บทเรียนการเตรียมรับมืออุทกภัย และมีสิ่งที่ประทับใจ คือความร่วมมือของผู้นำชุมชนทั้ง 14 หมู่บ้าน ที่อยู่ทำงานเคียงข้างกัน

นายสุทธินันท์ บุญมี รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า อุบลราชธานีเป็นแหล่งรวมน้ำทั้ง 19 จังหวัดของภาคอีสาน ยกเว้นจังหวัดหนองคาย ทำให้เมื่อฝนตกน้ำจะไหลลงมารวมกันที่จ.อุบลราชธานี กรณีน้ำท่วมชุมชนต.ไร่ใต้ ที่ผ่านมาพบว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวน้ำฝนเยอะเพราะฝนตกริมชายแดน เช่น กัมพูชา และบริเวณทิวเทือกเขาพนมดงรักก็ลาดชัน ภูมิประเทศก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำไหลมาเร็ว เอ่อล้นบ้านเรือนชาวบ้านอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักไม่ใช่ฝายลำน้ำโดมแน่นอน สาเหตุหลักคือน้ำไม่มีที่ไป คนถมแก้มลิง สร้างถนน บ้านเรือนกีดขวางทางน้ำ การแก้ไขต้องให้ที่น้ำอยู่ เช่น นาต้องมีพื้นที่ 30 เปอร์เซนต์ ไว้ให้น้ำอยู่ เป็นต้น

ทางด้าน นายครรชิต คงสมของ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ทางปภ.มีระบบเตือนภัย โดยสื่อสารผ่านอบต.และผู้นำชุมชน  ประชาชนต้องหูไวตาไว มีความรู้เรื่องของการติดตามข้อมูลข่าวสารด้วย พื้นที่ตำบลไร่ใต้ เป็นชุมชนเข้มแข็งด้านการเตรียมรับอุทกภัยที่ผ่านการอบรมและตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อทำงานแล้ว แต่ก็ไม่คาดคิดว่าน้ำจะท่วมหนักขนาดนี้ สิ่งที่ฝึกอบรมมาหรือแผนที่ทำร่วมกันอาจนำมาใช้ไม่ทัน

นายกมล หอมกลิ่น ถามว่า ทางปภ.รู้หรือไม่ว่าน้ำจะมามากขนาดนี้ นายครรชิตกล่าวว่า รู้ว่าปริมาณน้ำจะมาเยอะ เพราะประชุมติดตามสถานการณ์ทุกวัน และได้แจ้งทางอำเภอ เพื่อให้แจ้งท้องถิ่นมาสื่อสารกับชาวบ้านต่อ สิ่งที่ต้องปรับคือคุณภาพการเตือนภัย ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ท้องถิ่น เพราะกฎหมายระบุชัด หน่วยงานแรกที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเมื่อประสบภัยคือท้องถิ่น

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้ดาวเทียมเพื่อการติดตามสถานการณ์น้ำ จากข้อมูลยืนยันว่าในลำน้ำโดมปีที่แล้วไม่ท่วม น้ำที่มาไหลมาจากทาง อ.เดชอุดม ไม่ใช่น้ำเอ่อจากแม่น้ำมูลแน่นอน ปัญหาตนคิดว่ามาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการใช้ที่ดิน การก่อสร้างถนน ตึก โรงงานกีดขวางทางน้ำ สิ่งที่น่ากังวล คือปีต่อไปจะมีน้ำท่วมแบบนี้อีกหรือไม่ เพราะปีนี้ปริมาณน้ำฝนถือว่าไม่มาก ทางออกเห็นหลายพื้นที่ทำระบบฝายชะลอน้ำ  หรือทำแก้มลิง หนองบึง เพื่อเป็นที่พักน้ำ การปลูกหญ้าแฝกในหลายพื้นที่เพื่อหยุดการชะล้างของดินที่ไหลลงเป็นตะกอนถมลำน้ำให้ตื้นเขิน ซึ่งอาจแก้ไขโดยการขุดลอกคูคลอง 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ข้อมูลจากดาวเทียมจะช่วยเรื่องเตือนภัยชาวบ้านได้อย่างไร นายอานนท์กล่าวว่า แผนที่ภาพถ่ายทางดาวเทียม ทำให้เรารู้ว่าที่ตั้งของแปลงนาอยู่จุดไหน ปลูกอะไรบ้าง โรงงานตั้งอยู่ที่ไหน ทำให้ชุมชนมีแผนที่ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ทำงานได้เร็ว เพราะเห็นภาพรวม”

ส่วนเรื่องการเยียวยาความเสียหาย ทางปภ.จังหวัดแจ้งว่า จ.อุบลราชธานี มีงบประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าดำรงชีพ เช่น ถุงยังชีพ น้ำมันเรือ ซึ่งคงจะไม่เพียงพอ ต้องรวบรวมข้อมูลส่งจังหวัดเพื่อของบประมาณส่วนกลาง จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ที่ช้าเพราะต้องผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ขอรับรองว่าชาวบ้านจะได้ค่าชดเชยแน่นอน  และรับปากว่าจะนำเรื่องการเปิดประตูฝายลำโดมใหญ่บ้านสร้างแก้ว เข้าระบบ เพื่อปรึกษากับคณะกรรมการระดับจังหวัด เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่สงสัยว่าเป็นสาเหตุหลักของน้ำท่วมครั้งนี้

ส่วนทางออก ชาวบ้านจะป้องกันอย่างไรเมื่อเกิดน้ำท่วมอีก ในเวทีมีข้อเสนอว่าชาวบ้านต้องรวมตัวพูดคุยกันในระดับลำโดมใหญ่ เพื่อหาสาเหตุให้พบว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร แล้วช่วยกันแก้ไขปัญหา ทุกครัวเรือนอาจต้องมีเรือประจำบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นเมื่อน้ำมา จะได้ไม่ต้องรอเรือของทางการเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้จัดตั้งวิทยุชุมชนเพื่อใช้สื่อสารในตำบลไร่ใต้ด้วย

ผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับนายนิรันดร์ นาคทับทิม ผู้อำนายการสำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ถึงข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านเข้าใจว่า ฝายลำโดมใหญ่ คือสาเหตุหลักของน้ำท่วมในครั้งนี้ ซึ่งนายนิรันดร์ ยืนยันว่า สาเหตุหลักของน้ำท่วมมาจากปริมาณน้ำที่มีจำนวนมาก เพราะฝนตกหนักพร้อมกันทั้งในเขตเมืองและบริเวณเขตชายแดน ส่วนเขื่อนลำโดมใหญ่ เป็นเขื่อนเพื่อสร้างสำหรับกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรในฤดูแล้ง สร้างเมื่อปี 2542 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และช่วงน้ำท่วมหนักดังกล่าว ได้เปิดระบายน้ำเต็มที่ทั้ง 4 บานอยู่แล้ว ตนได้ลงพื้นที่ดูและถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย เห็นระดับน้ำก่อนและหลังฝายอยู่ในระดับที่เท่ากัน จึงยืนยันว่าฝายไม่ใช่สาเหตุหลักของน้ำท่วมอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการลงพื้นที่บันทึกเทปรายการครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากประชาชนจ.อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมบริจาคน้ำดื่มและอาหารแห้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในต.ไร่ใต้ โดยมีนายสุทธินันท บุญมี รองผู้ว่าฯอุบลราชธานี เป็นตัวแทนมอบสิ่งของบริจาคกับชาวบ้าน

 

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: