บี้กวดวิชาเถื่อน-โฆษณาเกินจริง รัฐจับมือจัดระเบียบ-ใช้ภาษีบีบซ้ำ ระบุต้องให้ได้มาตรฐาน-ปลอดภัย

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 13 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 3403 ครั้ง

 

จากตัวเลขโรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนอาจจะกลายเป็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย เพราะทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ หลั่งไหลไปเข้าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องมาตรฐานการเรียนในโรงเรียนในระบบแล้ว ปัญหาโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง จำเป็นต้องดูแลกวดขันโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา ทั่วประเทศ ให้อยู่ในกรอบมาตรฐานที่กำหนดไว้ ที่จะต้องเร่งดำเนินการ โดยล่าสุด มีความพยายามที่จะสำรวจ กวดขันโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ให้ดำเนินการตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

 

 

 

ใช้ระบบภาษีขู่ ร.ร.กวดวิชา เคร่งครัดมาตรฐานการสอน

 

 

นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชามีมากขึ้นทุกปี สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่กลุ่มโรงเรียนเอกชน ให้ดูแลกวดขันโรงเรียนกวดวิชาในจังหวัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบประกันคุณภาพ ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง โดยต้องมีครู ห้องเรียน และหลักสูตรที่มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ โดยสช.ได้นัดหมายกับโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศ ให้ส่งอัตราผลประกอบการกลับมาให้ตรวจสอบว่า มีโรงเรียนไหนไม่ทำตามระเบียบที่ไม่ให้มีผลกำไรประจำปีเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากพบว่ามีผลกำไรเกินตามที่กำหนด กรมสรรพากรจะเข้ามาดำเนินการเก็บภาษีทันที

 

อย่างไรก็ตาม หากโรงเรียนกวดวิชาใด ไม่ส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้ สช.ภายใน 3 ปี ก็จะเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนกวดวิชาพบว่า ภาพรวมในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านไปด้วยดี เพราะโรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ ทำตามกฎของ สช.ทุกอย่าง อาทิ ติดป้ายราคาวิชาที่จะเรียน ติดใบอนุญาตหน้าโรงเรียนกวดวิชา แต่การที่เด็กนักเรียนแห่ไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชามากขึ้นเป็นแสนคนนั้น ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่เรียนอยู่ไม่มีประสิทธิภาพ คุณภาพหรือมาตรฐาน แต่เป็นเพราะผู้ปกครองอยากให้เด็กนักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากกว่า

 

 

ดึงสคบ.ตรวจสอบคุณภาพเพื่อความเชื่อมั่น

 

 

นอกจากนี้ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)  และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หลัง สคบ.กำหนดให้โรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา ขึ้นทะเบียนกับ สช. เป็น 1 ใน 26 รายการ ที่จำเป็นต้องคุ้มครองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งก็คือผู้ปกครอง และนักเรียนผู้รับบริการนั้นเอง

 

โดยนายชาญวิทย์อธิบายรายละเอียดการร่วมมือดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักนอกจากสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการได้มั่นใจว่า เมื่อเข้ามาเรียนรู้กับโรงเรียนกวดวิชาที่ขึ้นทะเบียนกับ สช.จะได้รับความรู้ ได้รับบริการมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง และมีความปลอดภัยในอาคารสถานที่แล้ว สช.และ สคบ.ยังร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ คุณภาพ ของโรงเรียนกวดวิชา หากโรงเรียนกวดวิชาใดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สช.และ สคบ.กำหนด จะได้รับการขึ้นป้ายตราสัญลักษณ์การคุ้มครองผู้บริโภคประเภทโรงเรียนกวดวิชา

 

 

            “ถ้าโรงเรียนกวดวิชาไหนมีตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ผู้ปกครองและบุตรหลาน จะเกิดความมั่นใจในคุณภาพที่จะได้รับ มั่นใจในคุณภาพครูผู้สอน และเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบ เพราะมีการกำหนดค่าเล่าเรียนที่เป็นมาตรฐาน สำหรับหลักเกณฑ์นั้นสช.ได้กำหนดว่า ต้องผ่านการประกาศคุณภาพภายในของ สช.ในระดับดีมาก ทุกมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานคุณภาพ การให้บริการ ความปลอดภัยอาคารสถานที่ หรือคุณภาพครูผู้สอน เป็นต้น” นายชาญวิทย์กล่าว พร้อมระบุว่า ที่ยกมาข้างต้นเป็นเพียงหลักเกณฑ์ที่สช.กำหนด ไม่ได้หมายความว่า โรงเรียนกวดวิชาไหนผ่านเกณฑ์แล้วจะมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ หรือคุณภาพ เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหลักเกณฑ์ของสคบ.ด้วย

 

ทั้งนี้ สช.และสคบ.จะเริ่มทดลองกับโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงต้นปี 2555 จากนั้นจึงขยายไปยังจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีโรงเรียนกวดวิชาตั้งอยู่เยอะ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา หรือ ชลบุรี เป็นต้น ก่อนกระจายไปยังโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศต่อไป

 

 

ให้ตำรวจช่วยอีกแรง กำจัดร.ร.กวดวิชาปลาเน่า

 

 

อย่างไรก็ตามแนวทางของทั้งสองหน่วยงาน ที่เปรียบเสมือนการกวดขันคุณภาพโรงเรียนกวดวิชา ดูจะเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น เมื่อสช.ได้เชิญตัวแทน สคบ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) มาหารือทำความเข้าใจในขั้นตอนรายละเอียด ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อกำจัดปลาเน่าออกจากบ่อปลาดี

 

ในส่วนของสคบ. นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการแผนและการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. อธิบายว่า สคบ.ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ที่เข้ารับบริการกับโรงเรียนนอกระบบ และแก้ไขปัญหาที่ได้รับร้องเรียน ทั้งในด้านความปลอดภัยในตัวอาคารสถานที่ และเรื่องของการผิดเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ ทั้งการเรียนการสอน หรือการโฆษณาเกินความจริง

 

 

         “กระบวนการภาครัฐในการบูรณาการความร่วมมือกันนั้น จะแบ่งชัดเจนว่า มาตรฐานการศึกษา เป็นหน้าที่รับผิดชอบของ สช. ส่วนการดูแลผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม จะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของ สคบ. โดยเริ่มต้นรณรงค์กับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ให้เข้ามาสู่กระบวนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หากได้รับป้ายเครื่องหมายกำกับจาก สคบ.และ สช. ก็จะปรับระดับความต่างให้ผู้บริโภคได้เลือกเข้าไปใช้บริการ”

 

 

ตั้งหลักเกณฑ์ให้ร.ร.กวดวิชาทำตาม

 

 

ส่วนหลักเกณฑ์ของสคบ.ผู้อำนวยการแผนและการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ.ระบุว่า นอกโรงเรียนกวดวิชาต้องผ่านเกณฑ์ของ สช.แล้ว ยังจำเป็นต้องผ่านทั้ง 3 หลักเกณฑ์ของ สคบ.ด้วย โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกอบด้วย ปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน และมีระบบการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในเรื่องประกันและการเยียวยา ที่จะต้องแสดงถึงความรับผิดชอบต่อผู้มารับบริการ

 

แน่นอนว่าหลักเกณฑ์ที่ทั้งสองหน่วยงานกำหนดนั้น คงไม่ใช่แค่การเพิ่มคุณภาพให้โรงเรียนกวดวิชา หากยังหมายรวมถึงการกำจัดโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ หรือโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนออกจากระบบด้วย เพราะเมื่อมีหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติตาม ก็ต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจเด็ดขาด ในการบังคับใช้กฎหมายควบคู่ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานไหนไม่ได้ นอกจากปคบ.

 

ซึ่งกก.1 บก.ปคบ.สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกับ สคบ.และ สช.ในการตรวจตราโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่ กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นพื้นที่หลักของโรงเรียนกวดวิชา ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น จะเป็นหน้าที่รับผิดชอบ กก.2 บก.ปคบ. โดยทุกครั้งที่ปฏิบัติภารกิจ หากพบสถานศึกษากระทำความผิดเกี่ยวกับการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่ ปคบ.จะเข้าดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยยึดกฎหมายตามระเบียบ พ.ร.บ.2 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เพื่อจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา

 

 

 

ทำผิดปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท

 

 

             “ฐานความผิดส่วนใหญ่ที่เจ้าหน้าที่พบคือ กลุ่มสถาบันกวดวิชาที่เปิดบริการ โดยไม่ขอใบอนุญาต ซึ่งการตีความทางกฎหมายใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนระบุว่า เป็นการเปิดกิจการเถื่อน มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไปเกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีที่มีใบอนุญาตแต่โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง ก็จะถูกดำเนินคดีและเพิกถอนใบอนุญาตเช่นกัน ส่วนกรณีที่เปิดกิจการแล้วสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค เจ้าหน้าที่จะใช้กฎหมายของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค คือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ กับผู้ประกอบการหรือนิติบุคคล”

 

 

การคุมเข้มโรงเรียนกวดวิชาจะเกิดขึ้น เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ที่จะเข้าไปใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้กับโรงเรียนเหล่านี้ น่าจะเป็นการดีที่จะทำให้เกิดมาตรฐานของโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น ในมุมของการคุ้มครองผู้บริโภค หากแต่ในเรื่องของระบบการศึกษา หลายฝ่ายยังไม่แน่ใจว่า มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ปกครองให้ความมั่นใจต่อระบบโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น กว่าการเรียนในโรงเรียนตามระบบปกติ จนกลายเป็นค่านิยมที่ผิดเพี้ยนไปในระบบการศึกษาไทยหรือไม่ เพราะตราบใดที่ต้นน้ำอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงออกกฎเกณฑ์ ที่สลับซับซ้อนให้กับผู้เรียน โดยไม่คำนึงปัญหาการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ผลักส่งเด็กไปอยู่กับโรงเรียนกวดวิชา ก็ไม่มีทางที่เด็กไทยพ.ศ.นี้ จะใส่ใจเฉพาะการเรียนการสอนห้องเรียน หรือหันหลังให้กับการกวดวิชาไปได้

 

เพราะถึงเวลานี้ถึงโรงเรียนกวดวิชา จะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด  ในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า โรงเรียนกวดวิชานับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของนักเรียน พ.ศ.นี้.ไปเสียแล้ว
 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: