เร่งแก้พรบ.ประกันสังคม หวั่นช้าผู้ประกันเดือดร้อน

13 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 1492 ครั้ง

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....โดย มีนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และนายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้อำนวยการกองนิติการ ร่วมชี้แจงให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

 

นายอนุสรณ์เปิดเผยว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ทางกระทรวงฯ ก็ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากรอปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมทั้งฉบับในคราวเดียว อาจใช้เวลานาน 2 ปี ก็ไม่แน่ชัดว่าจะแล้วเสร็จ ดังนั้นความจำเป็นของผู้ประกันตนจึงต้องมาก่อน เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนบางกรณีจึงต้องเร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงในบางมาตรา หากจะแก้ไขกฎหมายทั้งหมดคงไม่ทันการณ์

 

นายอนุสรณ์กล่าวว่า โดยหลักการยังเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในรายละเอียดอาจจะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ซึ่งคิดว่ายังมีเวลาได้หารือกันต่อไป แต่ตรงจุดนี้จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ เนื่องจากประเด็นเรื่องประกันสังคมนั้นส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากถึง 11 ล้านคน และยังไม่มีใครตอบได้ว่ารูปแบบใดจึงจะดีที่สุด จึงจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ แต่ถ้าทำแล้วเกิดความเสี่ยงก็ไม่ทำ เพราะเราเอาเงินคนอื่นมาลงทุน ในจุดเริ่มต้นตรงนี้จึงพยายามจะทำอะไรให้เสี่ยงน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และประชาชนทุกคน ทั้งนี้หากพิจารณาในหลักการตามที่ประชุมให้ข้อสังเกตไว้ ยังไม่เห็นว่ามีขัดแย้งกันทั้งหมด ยังมีความเห็นตรงกันว่าอยากให้ผู้มีรายได้มีส่วนร่วมจ่าย โดยกระทรวงแรงงานจะรับไปพัฒนาต่อ

 

นอกจากนี้กระทรวงฯ ก็กำลังขยายสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น สำหรับแนวทางการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน นั้นรมว.แรงงานได้มอบนโยบายให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ยิ่งขึ้น หากคปก.มีข้อเสนอที่ดีสามารถเสนอมาได้และทางเรายินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติม

 

ด้านนายโกวิทกล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม คือ การปรับปรุงแก้ไขเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น การขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างส่วนราชการ รวมถึงลูกจ้างองค์กรท้องถิ่น การแก้ไขประเด็นมาตรา 40  ในบทนิยามให้ครอบคลุมถึงแรงงานที่ไม่อยู่ในสถานประกอบการ เรื่องบำนาญชราภาพ เรื่องการประสบภัยพิบัติของผู้ประกันตน  กรณีลูกจ้างหรือผู้ประกันตนเสียชีวิตและไม่มีทายาทพี่น้องสามารถรับผลประโยชน์แทนได้ การเปลี่ยนนิยามเรื่องทุพพลภาพให้ครอบคลุมการสูญเสียอวัยวะ นอกจากนั้นยังแก้ไขเรื่องการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ และยังขยายเรื่องสิทธิในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนจากหนึ่งปีเป็นสองปี หากเกินสองปี เลขาธิการฯ มีอำนาจขยายให้ได้หากมีเหตุผล

 

นอกจากนี้ยังระบุให้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับไม่อยู่ในการบังคับคดีของเจ้าหนี้ด้วย ด้านการบริหารได้เพิ่มคุณสมบัติคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อให้คณะกรรมการบริหารงานมีคุณภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แก้ไขส่วนเงื่อนไขการเสียสิทธิ เนื่องจากเรื่องหลัก ๆ ที่เร่งด่วน คือเจ็บป่วยและเสียชีวิต

 

นายโกวิทกล่าวต่อว่า  ประเด็นตามมาตรา 55 เราได้ปรึกษากับกฤษฎีกาแล้ว เห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะกลุ่มผู้ได้รับความคุ้มครองจะหมดในอีกห้าถึงหกปี ส่วนนิยามการว่างงาน ที่มีสาเหตุมาจากการลาออกที่ถูกบังคับ ซึ่งมีปัญหาการตีความในทางกฎหมายว่า เป็นการลาออกนั้น เมื่อพิจารณาแล้ว การเลิกจ้างโดยการลาออก เจตนารมณ์ในการเลิกจ้างคือ ไม่ประสงค์จะทำงาน ซึ่งเห็นว่าควรคุ้มครองผู้ประกันตนส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจสอบเป็นกรณีไป โดยในทางปฏิบัติให้กรมสวัสดิการฯ เข้ามาดูแล และพิจารณา ว่าเข้ากรณีถูกบีบบังคับให้ลาออกหรือลาออกโดยความสมัครใจแท้จริง อย่างไรก็ตามการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ในส่วนนี้ก็ยังต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะมีการปรับแก้อย่างไร

 

ขณะที่นายจีรศักดิ์กล่าวว่า จากการศึกษาการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม อาจจะเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แต่การดำเนินการแก้ไขปัญหาตามงานวิจัยที่มี อาจมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น สภาวะสังคม เป็นต้น ขณะที่ประเด็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานที่ถูกจัดส่งไปต่างประเทศ ได้มีการพูดคุยกันตลอด เช่น อิสราเอล ไต้หวัน  เป็นต้น ซึ่งสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้ปล่อยผ่านไปแต่อย่างใด ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลง (MUO) ของประเทศไทยกับประเทศนั้น ๆ ด้วย

 

        “ปัญหาเรื่องการลงทุน ที่สำนักงานบริหารการลงทุน สามารถไปลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งอาจจะทำให้รัฐกลายเป็นรัฐวิสาหกิจหากถือหุ้นเกิน 50 เปอร์เซนต์นั้น ปัญหานี้ก็น่าเป็นห่วง แต่การลงทุนจะต้องศึกษาให้รอบด้านก่อนการลงทุนจริง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทำนองนี้ที่อาจจะเกิดขึ้น และจะหารือกับกลต.ในประเด็นดังกล่าว” นายจีรศักดิ์ กล่าว

 

ดร.วิจิตรา วิเชียรชม กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กล่าวว่า มีข้อสังเกต  3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.บทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” นั้น ยังไม่ครอบคลุมของลูกจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน กรณีที่นายจ้างเป็นบุคคลธรรมดาและประกอบธุรกิจซึ่งมิได้มีลักษณะเพื่อหากำไร ควรระบุให้คุ้มครองด้วยด้วย 2.เงินสมทบตามมาตรา 55 ยังมีความไม่เสมอภาคปรากฏอยู่ เนื่องจากลูกจ้างที่เข้ามาก่อนที่จะมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.นี้ได้ประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว 3.เรื่องการว่างงานนั้น ไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้รอครบ 7 วันจึงจะมีสิทธิรับเงินทดแทน เนื่องจากความเดือดร้อนเกิดขึ้นทันทีนับแต่ว่างงานแล้ว และไม่ได้คำนึงถึงภาระของผู้ว่างงานว่าได้รับความเดือดร้อนมากน้อยเพียงใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: