แฉแผนกรมชลจ่อผุด9พันโปรเจค พัฒนา26โครงการ-ผันน้ำข้ามลุ่ม อ้างเพิ่มพื้นที่เกษตรกว่า60ล้านไร่

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 13 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3551 ครั้ง

 

กรมชลฯชงเกือบ 9,000 โครงการ เพิ่มศักยภาพน้ำ

 

 

ประเทศไทยมีพื้นที่รวม  514,050 ตารางกิโลเมตร หรือ 321 ล้านไร่ ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินเมื่อปี 2551-2552 ระบุว่า เป็นพื้นที่ทำกินด้านการเกษตร 169 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ถือครองทางการเกษตร 131 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาการชลประทาน 60 ล้านไร่ ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้แล้ว 28.36 ล้านไร่ ภายใต้โครงการประเภทต่าง ๆ 16,126 โครงการ มีความจุเก็บกักน้ำรวมกัน 76,599  ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 38 ของปริมาณน้ำท่า

 

จากรายงานสรุปโครงการจัดทำแผนพัฒนากรมชลประทาน ระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ (กรอบน้ำ 60 ล้านไร่) ซึ่งกรมชลประทานดำเนินการจัดทำเมื่อปี 2533 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ระบุว่า จากแผนการพัฒนาการชลประทานในประเทศไทยอย่างเต็มศักยภาพ ตามกรอบการพัฒนาชลประทาน จะมีโครงการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 8,789 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มเติม 26,603 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเพิ่มปริมาณน้ำใช้ ที่สามารถควบคุมได้อีกประมาณ 57,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่ชลประทานทั้งสิ้นประมาณ 34.04 ล้านไร่

 

โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย โครงการขนาดใหญ่ประเภทอ่างเก็บน้ำ 2,356 โครงการ ฝาย 1,844 โครงการ ประตูระบายน้ำ 462 โครงการ สถานีสูบน้ำ 1,344 โครงกา และโครงการแก้มลิง 428 โครงการ  และโครงข่ายน้ำที่จะดำเนินการในอนาคต

 

 

 

 

เตรียมแผนพัฒนาโครงข่ายน้ำ 26 โครงการ

 

 

แผนการพัฒนาโครงข่ายน้ำของกรมชลประทาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อระบบน้ำของแหล่งน้ำที่ได้พัฒนาแล้ว ให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยมากขึ้น ระบบโครงข่ายน้ำ ประกอบด้วย โครงการผันน้ำภายในประเทศ 26 โครงการ และโครงการผันน้ำจากนอกประเทศ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือไทย-พม่า 1 โครงการ แบ่งเป็นโครงข่ายภาคเหนือ 5 โครงการ ภาคกลาง 9 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 โครงการ และภาคใต้ 1 โครงการ กรมชลประทานให้ข้อมูลว่า โครงข่ายน้ำในประเทศ จะสามารถผันน้ำได้ประมาณปีละ 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 18 ล้านไร่

 

ทั้งนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมแล้ว 7 โครงการ คือ โครงการกก-อิง-น่าน  โครงการผันน้ำแม่งัด-แม่กวง โครงการระบบผันน้ำอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนไปอ่างเก็บน้ำพุปลาก้างและอ่างเก็บน้ำห้วยทวีป โครงการระบบผันน้ำอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนไปหนองมะสังข์ โครงการผันน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก- อ่างเก็บน้ำบางพระ โครงการผันน้ำจากพื้นที่จ.จันทบุรี ไปจ.ระยอง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่า-อ่างเก็บน้ำมาบหวายโสม ซึ่งพบว่าเมื่อมีการพัฒนาโครงการแล้วจะมีปริมาณน้ำหมุนเวียนปีละมากกว่า 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

 

 

 

และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม 2 โครงการ คือ โครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล และโครงการผันน้ำตามความร่วมมือไทย-พม่า ซึ่งศึกษาโดยกรมทรัพยากรน้ำ สำหรับโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สามารถผันน้ำได้ประมาณปีละ  30,000-35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เปิดพื้นที่ชลประทานใหม่รวมทั้งสิ้น 15 ล้านไร่ เป็นการผันน้ำในฤดูฝน จากแม่น้ำโขงไปยังแหล่งเก็บกักที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจัดหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะสระเก็บน้ำในไร่นาองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ คือต้องมีระบบกระจายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เปิดใหม่ เพื่อให้สามารถใช้น้ำที่ผันได้ทันที เป็นการลดข้อจำกัดที่ต้องจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ต้องศึกษาความเหมาะสมอีก 18 โครงการ โดยขณะนี้ได้ศึกษาในระดับรายงานเบื้องต้นและแผนแม่บทแล้ว จากข้อมูลพบว่า สามารถผันน้ำได้รวมทั้งสิ้นประมาณปีละ 1,280 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่น โครงการผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำแม่กลอง สู่ จ.อุทัยธานี โครงการผันน้ำจากห้วยพระปรง ไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยยาง โครงการผันน้ำจากเขื่อนรัชชประภาไปเขตพื้นที่จังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน  ภูเก็ต กระบี่ พังงา และโครงการในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

 

นอกจากนี้ ข้อมูลรายงานสรุปโครงการจัดทำแผนพัฒนาดังกล่าว ของกรมชลประทาน ระบุว่า หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนการพัฒนาทั้งหมด เมื่อรวมกับการพัฒนาที่มีในปัจจุบันจะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งเก็บกักน้ำเท่ากับ 102,973 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำท่าของประเทศมีพื้นที่ชลประทาน 62.4 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๆ มีศักยภาพการชลประทานทั้งหมด นอกจากนี้ยังจะสามารถพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน ที่อยู่นอกพื้นที่ศักยภาพการชลประทานได้อีก 2.4 ล้านไร่ ด้วยโครงการที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่น โครงการสูบน้ำ และโครงการผันน้ำ

 

 

 

 

 

 

ประเทศไทยมีแล้ว 34 เขื่อนใหญ่

 

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมชลประทานที่ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพระบบชลประทานเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่แล้ว ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่กักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน รวมทั้งสิ้น 34 เขื่อน ภาคเหนือ 7 เขื่อน มี 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกักของอ่าง 13,462  ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) รองลงมาคือเขื่อนสิริกิตต์ 9,510 ล้านลบ.ม. เขื่อนแม่งัด 265 ล้านลบ.ม. เขื่อนกิ่วลม 106 ล้านลบ.ม. เขื่อนแม่กวง 263  ล้านลบ.ม.  เขื่อนกิ่วคอหมา 170 ล้านลบ.ม. และเขื่อนแควน้อย 939 ล้านลบ.ม. รวมความจุเก็บน้ำของเขื่อนในภาคเหนือ 24,715 ล้านลบ.ม.

 

 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน12 เขื่อน เขื่อนลำปาว1,980 ล้านลบ.ม.เขื่อนลำตะคอง314ล้านลบ.ม.  เขื่อนลำพระเพลิง110 ล้านลบ.ม. เขื่อนน้ำอูน 520 ล้านลบ.ม.เขื่อนอุบลรัตน์2,431ล้านลบ.ม.เขื่อนสิรินธร 1,966 ล้านลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์164ล้านลบ.ม. เขื่อนห้วยหลวง135 ล้านลบ.ม. เขื่อนลำนางรอง 121 ล้านลบ.ม. เขื่อนมูลบน141ล้านลบ.ม.เขื่อนน้ำพุง166ล้านลบ.ม.  และเขื่อนลำแซะ 275 ล้านลบ.ม.รวมความจุเก็บน้ำของเขื่อนในภาคอีสาน 8,323 ล้านลบ.ม.

 

ส่วนในพื้นที่ภาคกลาง มี 3 เขื่อนคือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 785 ล้านลบ.ม. มีระดับกักเก็บน้ำสูงสุดที่ 960 ล้านลบ.ม.เขื่อนกระเสียว 240 ล้านลบ.ม. และเขื่อนทับเสลา 160 ล้านลบ.ม. รวมความจุเก็บน้ำของเขื่อนในภาคกลาง1,185 ล้านลบ.ม.

 

ภาคตะวันตก มี 2 เขื่อน เขื่อนศรีนครินทร์ 17,745 ล้านลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ์  8,860 ล้านลบ.ม.รวมความจุ 26,605 ล้านลบ.ม.

 

 

 

ภาคตะวันออก มี 5 เขื่อน เขื่อนบางพระ 117 ล้านลบ.ม. เขื่อนหนองปลาไหล164 ล้านลบ.ม. เขื่อนคลองสียัด 420 ล้านลบ.ม.เขื่อนขุนด่านปราการชล 224 ล้านลบ.ม. และเขื่อนประแสร์  248 ล้านลบ.ม. และพื้นที่ภาคใต้ เขื่อนแก่งกระจาน 710 ล้านลบ.ม.เขื่อนปราณบุรี 347 ล้านลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา5,639ล้านลบ.ม.และเขื่อนบางลาง 1,454 ล้านลบ.ม.

 

ทั้งนี้จากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว แม้จะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้ว แต่จากข้อมูลและข่าวที่ปรากฏในสื่อ ยังมีการเรียกร้องจากชุมชน เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งบางเขื่อนสร้างมาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ เช่น เขื่อนปากมูล เป็นต้น

 

นอกจากนี้ปริมาณการเก็บกักที่กรมชลประทานระบุนั้น เป็นปริมาณที่หากมีน้ำเต็มอ่าง แต่ในความเป็นจริง ในเขื่อนบางแห่งมีระดับน้ำเพียงเล็กน้อยหรือไม่ถึงครึ่งของระดับเก็บกักเท่านั้น เช่น เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี ที่ปัจจุบันระดับน้ำเหลือน้อยมาก แม้แต่ในฤดูฝน และพื้นที่จำนวนมากในอ่างเก็บน้ำ ถูกบุกรุกจากชาวบ้านในจังหวัดอื่น เป็นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

 

 

มติครม.18 ธ.ค.50 โยนกรมชลฯ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

 

ในรายงานสรุปโครงการจัดทำแผนพัฒนา การชลประทานระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ (กรอบน้ำ 60 ล้านไร่) โดยกรมชลประทาน เมื่อปี 2553 ระบุด้วยว่า ในการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการชลประทาน มีแนวทางการดำเนินการทางวิชาการที่หลากหลาย ที่ต้องนำมาประยุกต์ ปรึกษาหารือ สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ในคณะทำงาน ทั้งด้านวางโครงการ อุทกวิทยา อุทกธรณีวิทยา การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเกษตร คุณภาพน้ำ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม สารสนเทศภูมิศาสตร์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำและการเกษตร ผลการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ได้จัดทำขึ้นตามข้อมูลและระยะเวลาจำกัด คือ ภายในปีงบประมาณ 2553 จึงอาจไม่ครอบคลุมบริบทเนื้อหาทางวิชาการในรายละเอียด แต่คาดหมายว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการพัฒนาข้อมูลเพื่อการจัดทำแผนงานโครงการ แผนการเตรียมความพร้อมของกรมชลประทาน อย่างเป็นระบบ ซึ่งข้อมูลและรายงานฉบับนี้ควรมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อนำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในส่วนที่เกี่ยวข้องตามบริบทที่เปลี่ยนไป

 

 

อย่างไรก็ตาม การประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เห็นชอบในหลักการตามที่กรมชลประทานเสนอ แต่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเรื่องนี้ไปพิจารณาทบทวนให้รอบคอบเหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วม การยอมรับและตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่  โดยให้รับความเห็นจากหน่วยงานอื่นไปพิจารณาด้วย เช่น สำนักงบประมาณ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: