เมื่อนายทุนทุกสาขาทุกสายมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเคาะระฆังร้องเรียนรัฐบาล เรื่องค่าเงินบาทแข็ง ดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าที่ควรจะเป็น
ตามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยประธาน “พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” นำคณะเข้าพบ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการฯ และผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ตามด้วยเดินทางเข้าพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พร้อมหอบข้อเสนอ 5 ข้อ สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาค่าบาทแข็งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก
มาตรการ 5 ข้อที่ภาคเอกชน ตีฆ้อง รองขอ ประกอบด้วย
1.ให้แบงก์ชาติการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบวิกฤต
2.เปลี่ยนแปลงนโยบาย Inflating Targeting เป็นนโยบาย Exchange Rate Targeting เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
3.ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายลงจากปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.75 เปอร์เซนต์ ลงทันที 1 เปอร์เซนต์
4.ใช้นโยบายควบคุมเงินทุนไหลเข้า (Capital Control) 30 เปอร์เซนต์ อย่างน้อย 3 เดือน หากยังแก้ไขไม่ได้ให้เพิ่มเป็น 6 เดือน
5.ปรับปรุงการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเสนอนี้มาจากการคาดการณ์ ทำนายผลในแง่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้น ในอีก 1 ไตรมาสข้างหน้า การส่งออกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ภาพรวมการส่งออกไทยไปถึงเป้าหมายเพิ่มขึ้น 8-9 เปอร์เซนต์ หรือ 247,881-250,176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เคยยอมรับว่า การส่งออกในปีนี้ อาจขยายตัวได้เพียง 5 เปอร์เซนต์ เท่านั้น
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 พฤษภาคม) นายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลัง จึงเคร่งเครียดกับมาตรการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน
โดยเฉพาะวาระที่ต้องพิจารณา “จดหมายที่แบงก์ชาติ ตอบกระทรวงการคลัง เรื่องแนวทางแก้ไขเงินบาทแข็งค่า” โดยมี 4 มาตรการที่แบงก์ชาติจะดำเนินการ ผ่านแฟ้มเอกสาร “ลับ” 2 ชิ้น ชิ้นแรกเรื่องผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชิ้นที่สองหนังสือตอบโต้ของกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ
โดยมาตรการที่ 1 คือ การออกพันธบัตรของธปท. ที่กำหนดห้ามไม่ให้ต่างชาติซื้อพันธบัตร
มาตรการที่ 2 การออกพันธบัตรของกระทรวงการคลัง ให้กำหนดระยะเวลาการถือครอง เช่น 3 เดือน หรือ 6เดือน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร
มาตรการที่ 3 คือ เสนอให้เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เมื่อได้รับผลตอบแทน
มาตรการที่ 4 ยังไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ใช้กัน คือ กรณีที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามา ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบังคับไม่ให้ได้รับผลตอบแทนทางบวก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ
หลังการพิจารณาวาระ “ลับ” นี้ ทำให้คณะรัฐมนตรีสายเพื่อไทย เคร่งเครียดโมโหโกรธาอย่างยิ่ง ทั้งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และรมว.คลัง ต่างรุมวิจารณ์มาตรการไปในทางลบ และเงื้อง่าส่งสัญญาณต้องการเขี่ย ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้พ้นทางรัฐบาล
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ส่งสัญญาณคาดโทษ ผ่านจดหมายถึงผู้ว่าแบงก์ชาติ อีก 3 ข้อ คือ 1.การขาดทุนของแบงก์ชาติอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องเป็นเรื่องแบงก์ชาติจะต้องพิจารณาและทบทวนด้วย 2.เรื่องของดอกเบี้ย ที่มองว่าดอกเบี้ยเป็นปัจจัยรองที่ทำให้เงินทุนไหลเข้า น่าจะไม่สมเหตุสมผล ธปท.ก็ควรพิจารณาเรื่องนี้ด้วย และ 3.มาตรการที่แบงก์ชาติเสนอไว้เป็นแนวทาง กระทรวงการคลังมองว่า บางมาตรการแบงก์ชาติดำเนินการได้ด้วยตัวเอง และควรเลือกใช้ด้วยความรอบคอบและทันต่อสถานการณ์
ความตึงเครียดของพ่อค้า-นักธุรกิจ ที่นำคณะเข้าปะทะกับผู้ว่าการแบงก์ชาติ และฟาดงวงฟาดงากับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นับเป็นกลิ่นการเมือง ที่ทีมกุนซือของนายกรัฐมนตรี รับรู้ถึงสัญญาณที่อาจเป็นอุบัติเหตุอันตราย ที่ส่งผลต่อการอยู่-การไปของรัฐบาลอายุ 20 เดือนได้
การประชุมระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับทีม 5 เสือ-สิงห์กุนซือตึกแดง (ที่ทำการกุนซือนายกรัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาล) ที่เขตปกครองพิเศษเกาะฮ่องกง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงถกวาระร้อน ที่ว่าด้วย “เงินบาทแข็ง-ดอกเบี้ยสูง-หุ้นร้อน”
องค์ประชุมลับ-เล็ก ประกอบด้วย 5 สิงห์ตึกแดง คือ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายพันศักดิ์ วิญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) นายนิพัทธ พุกกะณะสุต กรรมการกยอ. และ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
วาระในหารือลับ คือ โจทย์ใหญ่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ที่จะต้องส่งสัญญาณกดดันให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติเร่งมือในการส่งสัญญาณผ่านกรรมการนโยบายการเงิน ให้ลดดอกเบี้ย และบริหารค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ในระยะเร่งด่วน
เพราะทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ และ 5 สิงห์ตึกแดง เชื่อว่าหากปล่อยเวลาให้ล่วงเลย ปล่อยให้ปัญหาค่าเงินแข็ง-ส่งออกไม่เป็นไปตามเป้า เกิดปัญหาเศรษฐกิจลุกลาม จะเป็น “จุดตาย” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
และแม้ว่า นายประสาน ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการจะส่งสัญญาณดื้อแพ่ง ไม่ยอมอ่อนข้อให้ฝ่ายการเมือง โดยถือคัมภีร์ ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่ระบุการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่า การแบงก์ชาติ ต้องเข้าข่าย 5 สาเหตุเท่านั้นคือ 1.ตาย 2.ลาออก 3.ขาดคุณสมบัติ 4.คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ออก โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ และ 5.ครม.มีมติให้ออก โดยคำแนะนำของบอร์ด ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
แต่ความพยายาม “ปลด” ก็ยังมีกระแสอย่างต่อเนื่อง และชัดยิ่งกว่าชัด เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงความพึงพอใจในการทำงานของผู้ว่าการแบงก์ชาติ ว่า “เราไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงได้ การทำงานจะใช้ในลักษณะพูดคุยได้อย่างเดียว เพราะในเชิงข้อกฎหมายไม่สามารถเอื้ออำนวยให้เราเข้าไปทำงานได้”
แน่นอนที่สุดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และ 5 สิงห์ตึกแดง ย่อมไม่ยอมให้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ต้องมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควร ก่อนพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน และพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2557 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฏหมายนิรโทษกรรม ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
ยิ่งไปกว่านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมไม่ยอมให้ ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง-ความแข็งขืนของผู้ว่าการแบงก์ชาติ ทำให้ “ขุนคลังกิตติรัตน์” ต้องกลายเป็น “แพะบูชายันต์” ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นตัวที่ 3 ตามรอย 2 อดีตขุนคลัง เช่น นายทนง พิทยะ และนายอำนวย วีรวรรณ
โจทย์จากวงประชุมลับ บนเกาะฮ่องกง จึงชัดยิ่งกว่าชัด ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเลือกระหว่างผลักนายกิตติรัตน์ ให้พ้นจากคณะรัฐมนตรี พ้นจากการเป็น “แพะ” กับการกด-บีบ-ดัน ให้นายประสาร ผู้ว่าการแบงก์ชาติ พ้นทางรัฐบาล เพื่อผ่าทางตัน ให้การสะสางปมปัญหาค่าเงิน-ออกจากกับดักดอกเบี้ยสูง เพื่อปูทางให้รัฐบาลปูเดินต่อไปได้ จึงถูกดำเนินการแก้เกมอย่างเร่งด่วน
แน่นอนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมไม่ยอมให้ นายกิตติรัตน์ รัฐมนตรีคลังคู่บารมี พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้ว่าทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและผู้มีบารมีฝ่ายหญิงนอกพรรคเพื่อไทย จะส่งสัญญาณให้ “ปรับ” มาแล้วถึง 3 ครั้ง
ทางเลือกจึงต้องตกไปอยู่ที่ดีกรีการกดดันผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผ่านห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ