หลังจากมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกมาแถลง กรณีพบสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานในข้าวสารบรรจุถุง ต่อมาทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงออกมาให้ข้อมูลการตกค้างและพิษภัยของเมทิลโบรไมด์ ซึ่งหลายฝ่ายที่ออกมาชี้แจงข้อมูลนั้นมีความหลากหลาย ฉะนั้นทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมำจัดศัตรูพืช มูลนิธิเพื่อผุ้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี จึงจัดเสวนาวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ ((Methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (Bromide ion) ขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยมี รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางบุษรา จันทร์แก้วมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.พ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิชีววิถี ดำเนินการเสวนา
ญี่ปุ่นทดลอง‘เมทิลโบรไมด์’ตกค้างในข้าว-ก๋วยเตี๋ยวจริง
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ประเด็นสำคัญเรื่องการตกค้างเมทิลโบรไมด์ในข้าว ที่หลายฝ่ายอ้างว่า เมื่อนำข้าวมาซาวน้ำเมทิลโบรไมด์จะหายไป หรือการนำข้าวมาหุงจะทำให้เมทิลโบร์ไมด์สลายไปได้ จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่าเมทิลโบร์ไมด์ตกค้างในข้าวนานเท่าไหร่ และสามารถซึมเข้าสู่เมล็ดข้าวได้หรือไม่ จากงานวิจัยของประเทศญี่ปุ่น ศึกษาเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างอยู่ในข้าวและเส้นก๋วยเตี๋ยวญี่ปุ่น (ราเม็ง) ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวมีการทดลอง นำข้าวเปลือกและข้าวกล้อง จำนวน 2 กิโลกรัม รมด้วยเมทิลโบร์ไมด์ 17 กรัมต่อลูกบาศน์เมตร เป็นเวลา 48 เมตร จากนั้นนำข้าวดังกล่าวเป็นไว้ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ก่อนจะแบ่งตัวอย่างออกมาครั้งละ 80 กรัม ในเวลาต่าง ๆ กันเพื่อศึกษาหาเมทิลโบร์ไมด์ที่ตกค้าง โดยแสดงออกมาในรูปของโบร์ไมด์ไอออน
“การกระจายตัวของเมทิลโบร์ไมด์พบว่า เมื่อมีการรมข้าวด้วยเมทิลโบร์ไมด์ จะสามารถซึมเข้าสู่เนื้อข้าวสารได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และสามารถกระจายได้เนื้อข้าวสารได้ดี ยาวนานและอยู่ตัว เพราะสารจับกับสารคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในเนื้อข้าวสารได้ดี ซึ่งจากการแสดงผลการทดลองพบว่า เมทิลโบร์ไมด์สามารถซึมเข้าสู่เนื้อข้าวสารได้วันที่ 34” ดร.จิราพรกล่าว
การวิจัยยังได้ออกแบบการทดลองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับประทานข้าว โดยนำข้าวสาร 150 กรัม ที่มีโบร์ไมด์อยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ นำมาล้างด้วยน้ำ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 นาที และปล่อยทิ้งให้แห้ง 1 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนำข้าวมาหุง และนำข้าวอีกส่วนหนึ่งมาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยการนำข้าวไปโม่เป็นแป้ง จากนั้นอบไอน้ำ 15 นาที จึงนำมานวดเป็นเส้น และนำไปอบไอน้ำต่ออีก 20 นาทีนำมาต้มเป็นเวลา 5 นาที แล้วจึงตัดเป็นเส้น และอบในตู้ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งการทดลองดังกล่าวจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ในแต่ละขั้นตอนมาทำการหาโบร์ไมด์
“ผลการศึกษาพบว่า เมื่อนำข้าวสารมาซาวน้ำ พบโบรไมด์ 51 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำมาหุงเป็นข้าวสวย พบโบร์ไมด์ 41.2 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับผลการทดลองในข้างต้นว่า เมทิลโบรไมด์ซึมเข้าสู่เนื้อข้าวจริง เพราะฉะนั้นข้าวที่นำมาทำความสะอาดและหุง จึงยังพบว่ามีเมทิลโบรไมด์อยู่ กรณีของเส้นก๋วยเตี๋ยว พบว่า เมื่อนำข้าวที่ซาวน้ำเรียบร้อยแล้วมาโม่เป็นแป้ง พบเมทิลโบรไมด์ 51 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำแป้งไปอบไอน้ำ 15 นาที พบเมทิลโบรไมด์ 40 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำมาอบไอน้ำครั้งที่ 2 เป็นเวลา 20 นาที พบเมทิลโบรไมด์ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และเมื่อนำส้นมาต้มพบเมทิลโบรไมด์ 5.2 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่า การทำให้เมทิลโบรไมด์ลดลงต้องใช้ระยะเวลา และความร้อนที่นานพอสมควร ชัดเจนว่า เมทิลโบรไมด์ไม่ได้จับอยู่ที่เปลือกเท่านั้น หากแต่ยังซึมเข้าไปสู่เนื้อข้าวสาร และเมื่อนำมาล้างทำความสะอาด นำมาหุงเมทิลโบรไมด์ก็ยังคงอยู่” ดร.จิราพรกล่าว
แพทย์ชี้เกิดพิษเฉียบพลัน-มีคนตายมาแล้ว
ด้าน ผศ.น.พ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของเมทิลโบรไมด์ว่า เกิดพิษแบบเฉียบพลัน ในผิวหนัง ก่อให้เกิดการอักเสบ พุพอง ในทางเดินหายใจ หลังการสัมผัส 4-12 ชั่วโมง จะเกิดอาการปอดบวมน้ำ เข้าไปกดระบบประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สั่น อ่อนแรง หลอน ชัดและท้ายที่สุดนำไปสู่การเสียชีวิต มีกรณีศึกษาว่ามีการนำสารเมทิลโบรไมด์มาพ่นรมในบ้าน เพื่อกำจัดแมลง และให้คนเข้ามาเช่า พบว่าคนที่ได้รับสารเกิดอาการชักกระตุก อวัยวะภายในล้มเหลว และเสียชีวิตใน 19 วันต่อมา
“ถ้ารับสารพิษแบบสะสม จะก่อให้เกิดอาการสติปัญญาเสื่อมถอย พฤติกรรมแปรปรวน ประสาทสัมผัสเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป มีผลต่อระบบสืบพันธุ์และเป็นพิษต่อยีนส์ เป็นพิษต่อทารกในครรภ์และก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ในระยะยาวมีการทำให้ระบบต่อมไร้ท่อ ทั้งต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ อัณฑะและรังไข่โตขึ้นและเปลี่ยนรูปร่างไป ทำให้ระบบสืบพันธุ์เป็นหมัน ในสหรัฐอเมริกามีงานศึกษาทางระบาดวิทยา Agricultural Health Study ศึกษาเกษตรกร 7,814 คน นาน 14 ปี พบว่าเกษตรที่ใช้เมทิลโบรไมด์เป็นมะเร็งในกระเพาะ 1.4-3.13 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ และยิ่งใช้นานจะยิ่งเป็นมากขึ้น และมะเร็งต่อมลูกหมาก 1.5-3.47 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช่ ซึ่งในทางระบาดวิทยาถือว่ามีสารพิษแน่นอน” น.พ.ปัตพงษ์ กล่าว
ความเข้มข้นของเมทิลโบรไมด์ที่เป็นอันตราย
เกษตรฯระบุต้องฉีดก่อนส่งออกและไม่เป็นอันตราย
ด้านนางบุษรา จันทร์แก้วมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สารรมนั้นมีมากกว่า 30 ชนิด แต่ถูกตัดออกไปเนื่องจากไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปัจจุบันจึงมีสารรมอยู่ทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน คือ 1.เมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) 2.ฟอสฟีน (Phosphine) 3.คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะการกำจัดแมลง เมื่อนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปแทนที่ออกซิเจน ก็ทำให้แมลงตายเช่นเดียวกัน
สารรมที่ใช้กำจัดแมลงทั้ง 3 ชนิด มีสภาพหนักกว่าอากาศ และมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเมทิลโบรไมด์ถูกผลิตขึ้นในรูปของน้ำ และถูกปล่อยออกมาในรูปของแก๊ส ในการรมจึงต้องปล่อยจากด้านบน และใช้เวลารม 24 ชั่วโมง ฟอสฟีนถูกผลิตมาในรูปของแข็งวิธีการใช้จึงต้องปล่อยออกมาด้านล่าง เนื่องจากต้องอาศัยความร้อนให้เกิดการสันดาบ ระเหิดขึ้นด้านบน ใช้เวลา 7 วัน และคาร์บอนไดออกไซด์ จะใช้วิธีการให้คาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปแทนที่ออกซิเจน เพื่อทำให้แมลงตายใช้เวลา 15 วัน
โดยเมทิลโบรไมด์อยู่ในโครงการลด ละ เลิก เนื่องจากเป็นตัวทำลายชั้นบรรยากาศ เริ่มตั้งแต่ 1995 จนถึงปี 2005 ยังไม่สามารถหาสารรมตัวใดมาทดแทนได้ จึงกลับมาตระหนักถึงข้อดีของสารเมทิลโบรไมด์ว่าสามารถรมเพื่อกำจัดแมลงได้ รมฆ่าเชื้อโรคในดิน รมห้องเพื่อปราศจากแมลงหรือรมเครื่องมือแพทย์เพื่อกำจัดเชื้อโรค แต่ต่อมาอนุญาตให้ใช้เมทิลโบรไมด์ในการส่งออก ซึ่งการส่งออกข้าวของไทยอยู่ภายใต้ FAO โดยที่ข้าวจะต้องปราศจากแมลงโดยเด็ดขาด
“สารรมใหม่ที่นำมาพัฒนาเพื่อใช้แทนเมทิลโบรไมด์คือ อีโคฟูม และซัลฟูริลฟลูออไรด์ ในสหรัฐอเมริกาใช้ซัลฟูริลฟลูออไรด์รมไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ยังไม่มีตัวใดที่ใช้เวลาในการรมเทียบเท่ากับเมทิลโบรไมด์ที่ใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมง เป็นผลดีต่อการส่งออก เพราะถ้าหากนานกว่านั้น หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และสารรมถูกผลิตในต่างประเทศ เมื่อผลิตออกมาจะมีการวิเคราะห์เรียบร้อย มีการทดลองมารองรับ ในสหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการใช้ซัลฟูริลฟลูออไรด์ในอาหาร เนื่องจากจะตกค้างเป็นฟลูออไรด์ เพราะในยาสีฟันหรือแม้แต่ในน้ำก็มีฟลูออไรด์ จึงเป็นความกังวลของผู้ผลิตว่า เด็กอาจจะได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดจึงต้องไปหาค่าความปลอดภัย เห็นได้ชัดสารรมไม่ว่าจะสารเก่าหรือสารใหม่ ต่างก็เป็นสารเคมีที่ช่วยเรา การตกค้างก็เช่นเดียวกับพาราเซตามอล เพราะฉะนั้นเราจึงต้องใช้อย่างถูกวิธี” นางบุษรากล่าว
นางบุษรากล่าวด้วยว่า ในการรมข้าวโดยใช้สารเมทิลโบรไมด์นั้น จะต้องอยู่ในพื้นที่ปิดสนิท เพราะสารดังกล่าวไม่มีสีและกลิ่น ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด ไม่กัดโลหะเครื่องมือหรือเครื่องใช้ มีความสามารถในการแทรกซึมสูง กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว ปริมาณที่ใช้ในการรมอยู่ที่ 2 ปอนด์ต่อเนื้อที่ 1,000 ลูกบาศก์ฟุต เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และหลังจากการรมแล้ว จะต้องเปิดให้อากาศถ่ายเทสะดวก 5-6 ชั่วโมง จะสลายตัวไป ซึ่งสารเมทิลโบรไมด์เป็นพิษต่อแมลงและสัตว์เลือดอุ่น แต่ไม่มีสารพิษตกค้าง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ